กิติมา ขุนทอง
ท่ามกลางอากาศร้อนแรงไม่แพ้หัวใจของนักปกป้องสิทธิ ณ ที่นี้ทั้งหลาย ถือเป็นเกียรติอย่างมาก ที่นักวิชาการตัวเล็กๆ อย่างดิฉัน ได้รับโอกาสพูดคุยกับพี่น้องไทวานรนิวาส ผู้ยืนหยัดคัดค้านโครงการสำรวจเหมืองแร่โปแตช รวมทั้งพี่น้องเครือข่ายเหมืองแร่จากหลายพื้นที่ ทั้งจากบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ บ้านแหง จังหวัดลำปาง เหมืองทองคำ จังหวัดเลย รวมทั้ง ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา จังหวัดสงขลา และเหมืองหิน จังหวัดหนองบัวลำภู ตลอดจนภาคีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาและนโยบายของรัฐ ด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการทวงคืนผืนป่า นโยบายขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและการก่อสร้างไฟฟ้าชีวมวล การฮุบที่ดินสาธารณะของกลุ่มนายทุน อีกทั้ง นักศึกษา คนรุ่นใหม่ พ่อค้า และภาคประชาสังคมจังหวัดสกลนคร
ก่อนอื่น ดิฉันอยากคารวะทุกท่านทั้งหลายด้วยหัวใจ ที่ใช้สองเท้าก้าวเดินจากอำเภอวานรนิวาส สู่ตัวจังหวัดสกลนคร ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร มีทั้งพ่อแก่แม่เฒ่า คนหนุ่มสาวและเด็กน้อย บ้างเดินด้วยรองเท้าผ้าใบ บ้างสวมใส่รองเท้าแตะ บ้างย่างเดินด้วยสองเท้าเปล่าเปลือย ผู้มีอายุมากสุดในขบวน คือ 78 ปี น้อยสุด 4 ขวบ ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ร่วมเดินตลอด 6 วัน ตัดสินใจวางงาน ทิ้งนาไร่ ฝากลูก ฝากพ่อแก่แม่เฒ่าไว้กับญาติ เสียสละเวลาหาอยู่หากิน ทั้งที่ฐานะเศรษฐกิจต่างก็ต้องหาเช้ากินค่ำ ส่วนที่ไม่มีให้ฝากใครก็หอบลูก จูงหลาน ลากและแบกสังขารอันเหนื่อยล้าออกมาท้าทายกับระยะทางอันยาวไกล สู้ทนแสงแดดแผดเผาช่วงกลางวัน และความเหน็บหนาวยามค่ำคืน แม้จะทำงานร่วมกับพี่น้องมามากกว่า 2 ปี แต่ยิ่งเห็น ยิ่งมอง ก็ยิ่งทำให้แน่ใจถึงเหตุผลของการก้าวเดิน ในครั้งนี้ว่า แท้จริงแล้ว เป็นการเดินเพื่อประกาศสิทธิและศักดิ์ศรีของชุมชนท้องถิ่น
สิ่งที่ดิฉันจะพูดในวันนี้ คือ จะพุ่งเป้าไปที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาอีสานเป็นศูนย์กลางการผลิตเกลือหินและเหมืองแร่โปแตชที่รัฐบาลทุกยุค ทุกสมัยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า นโยบายดังกล่าว นำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนอย่างหนัก ตลอดจนสร้างความเหลื่อมล้ำและผลิตซ้ำวัฒนธรรมความไม่เสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม โดยจะพูดในฐานะนักวิชาที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา
ชุมชนผู้ปกป้องสิทธิ
ไทวานรที่ยืนอยู่ ณ ที่นี่แห่งนี้ ในความคิดเห็นของดิฉัน ไปไกลเกินกว่าแค่คำว่านักปกป้องสิทธิ เพราะเราไม่ได้พูดถึงใครคนใดคนหนึ่ง แต่ ท่านทั้งหลาย คือ ชุมชนผู้ปกป้องสิทธิ คือ กลุ่มก้อนที่เหนียวแน่น ใช้ความเป็นเครือญาติ พี่น้อง คนบ้านเดียวกัน คนกินน้ำสายเดียวกัน ร้อยรัดถักทอเข้าเป็นชุมชน คงต้องย้อนหลังไปต้นปี พ.ศ. 2559 เมื่อโครงการสำรวจแร่โปแตชปรากฏตัวขึ้น กระแสการต่อต้านเริ่มก่อตัว
ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส’ และ ‘กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด’ ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายอายุ เพศ วัย อาชีพ เรียกได้ว่า ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักการเมืองปัจจุบัน-อดีต คนทำงานด้านสาธารณสุข เจ้าของที่ดินรายใหญ่กว่า 200-300 ไร่ คนไร้ที่ดิน หมอดู นักธุรกิจ ทนาย แม่ค้า ยัน ชาวนา-ชาวสวน คนเลี้ยงวัว คนหาของป่า คนหาปลา คนขายไอศครีม ดีเจ หมอดู เด็กๆ ในชุมชนฯ เป็นการผนึกรวมผู้คนครั้งยิ่งใหญ่
การคัดค้านดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งรณรงค์ให้ความรู้แบบเคาะประตูบ้านหรือตามท้องถนน การจัดเวทีวิชาการ เวทีสาธารณะ กิจกรรมนารวม ไปจนกระทั่ง การยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปิดล้อมสถานที่ขุดเจาะ จนทำให้การดำเนินโครงการต้องหยุดชะงัก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี รวมกว่า 11 คน ในจำนวนนี้มี 9 คนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี ข้อหาข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำใดๆ อันเป็นการขัดขวางการสำรวจขุดเจาะ มีการเรียกร้องค่าเสียหาย 3.6 ล้านบาท
เคยถามว่าทำไมคนวานรนิวาสต้องต่อต้านสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนาในอนาคต เมื่อมันเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนชนบทอีสานที่จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาและความเจริญที่จะมาพร้อมๆ กับเหมืองแร่ คำตอบที่ได้รับกลับมาทุกครั้ง คือ “ย่าน” ความย่าน หรือ ความกลัวของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องคิดไปเองแบบวิตกจริต แต่มันวางอยู่บนประสบการณ์ที่เห็นด้วยตาตนเองและงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการ
ความเสี่ยงภัยในการดำรงชีพ
แล้วพวกเขา ‘ย่าน’ อะไร ห่างจากตัวอำเภอวานรนิวาสไปราว 30-40 กิโลเมตร บ้านกุดเรือคำ บ้านหนองกวั่ง บ้านม่วง จังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งผลิตเกลือแบบสูบน้ำใต้ดิน นาเกลือหลายพันไร่ บ่อต้มเกลือเกือบ 300 บ่อ การผลิตเกลือก่อปัญหาหลุมยุบ การไหลซึมของน้ำเค็มลงแม่น้ำ และนาข้าว แม้ที่ผ่านมาจะมีการรับมือแก้ไขปัญหาได้ในระดับดี นั่นเพราะยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น ยังพอสามารถต่อรองและพูดคุยกันได้ แต่การทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ ปริมาณสำรองกว่า 1 พันล้านตัน เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเงื้อมมือของบริษัทเอกชน แน่นอนว่า อำนาจการต่อรองย่อมหลุดลอยออกจากชุมชน
ชาวบ้านในชนบทอีสาน ไม่ได้อยู่ในโลกมืด ไม่ได้อยู่ในถ้ำ ข้อมูลข่าวสารเหมืองโปแตชทั่วโลกถูกค้นหาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ขวนขวายแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ประสบการณ์จากการทำเหมืองแร่โปแตชจากที่ต่างๆ ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ ‘งานวิจัยไทบ้าน’ ที่สะท้อนให้เห็นระบบนิเวศอันหลากหลายและละเอียดอ่อน เฉพาะของภาคอีสาน จนทำให้ประเมินได้ว่า หากเกิดเหมืองแร่ที่วานรนิวาส พวกเขาจะตกอยู่ท่ามกลาง “ความเสี่ยงภัยในการดำรงชีพ” ไม่ว่าจะเป็น
ความเสี่ยงภัยด้านสิ่งแวดล้อม การเกิดหลุมยุบ การแพร่กระจายของความเค็มไปยังพื้นที่การเกษตร แม่น้ำ จากกองหางเกลือขนาดมหึมา ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงภัยด้านอื่นๆ ตามมา อาทิ ความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ ความเสี่ยงภัยด้านสังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนความเสี่ยงภัยด้านเศรษฐกิจ อันเกิดจากการสูญเสียแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะ ป่าโคก ป่าทาม แม่น้ำและลำห้วยหลายสิบสาย ชาวบ้านประเมินว่า ค่าภาคหลวงที่จะกระจายมายังท้องถิ่นเพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชน หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงปุ๋ยราคาถูกลงอีกราวร้อยละ 20 ของราคาปุ๋ยในปัจจุบัน แต่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านยังมองว่าเป็นโอกาสที่ไม่คุ้มค่าเสี่ยง แล้ว ใครล่ะจะได้ประโยชน์จาก “การแบกรับความเสี่ยง” ของไทวานร
ดิฉันยังจำคำสัมภาษณ์ แม่ศรีฟอง ชันถาวร ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้อย่างขึ้นใจ ว่า
“สงครามปัจจุบันไม่ใช่สงครามแย่งชิงดินแดน แต่เป็นสงครามเศรษฐกิจที่ต้องการแย่งชิงทรัพยากร บริษัทที่เข้ามาทำเหมืองแร่ก็ไม่ใช่บริษัทไทย แต่เป็นของต่างชาติที่ได้อภิสิทธิ์เอาทรัพยากรของเราออกไปขาย แต่เรา-ชาวบ้าน กลับไม่ได้อะไร เราต้องสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม”
ความยุติธรรมสำหรับชาวบ้านไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าได้รับหรือถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากภาครัฐ แต่หากเลือกปฏิบัติ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง นั่นสะท้อนให้เห็นซึ่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคในสังคมนั่นเอง
ความเหลื่อมล้ำและการผลิตซ้ำวัฒนธรรมความไม่เสมอภาค
ความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคที่จะพูดถึงในที่นี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการผลักดันโครงการสำรวจแร่โปแตชที่วานรนิวาส จริงๆ แล้วมุมมองนี้ใช้ได้กับทุกโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำที่จะกล่าวถึงนี้ พัวพันกันจนแยกไม่ออกกับการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น อันเป็นมูลผลักสำคัญให้ไทวานรต้องออกมา ‘ก้าวเดิน’
ความเหลื่อมล้ำในที่นี้ ให้ความรู้สึก ‘สองมาตรฐาน’ จากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างทุนกับชาวบ้าน ซึ่งสะท้อนผ่านการผลิตใช้อำนาจจากรัฐเอื้ออำนวย สนับสนุน กลุ่มทุน เนื่องจากรัฐต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีแก่ภาคธุรกิจ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำอาจจะเกิดขึ้นได้ 4 ด้านด้วยกัน คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส อำนาจ สิทธิและศักดิ์ศรี ซึ่งไม่จำเป็นที่ความเหลื่อมล้ำนี้จะต้องเกิดจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแนวปฏิบัติ หรือเกิดในทางวัฒนธรรม ซึ่งดิฉันจะเรียกว่า “วัฒนธรรมความไม่เสมอภาค” ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในกรณีของโครงการเหมืองแร่โปแตช วัฒนธรรมความไม่เสมอภาคเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของภาครัฐ ระหว่างทุนจากจีนและชาวบ้าน โดยการปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติ ยกตัวอย่างที่เห็นชัด 3 ประการ
ความเหลื่อมล้ำอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสและรอบด้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบอกล่วงหน้าก่อนเกี่ยวกับโครงการ ว่าจะดำเนินการแบบไหน พื้นที่จุดไหนบ้างที่จะถูกขุดเจาะ ผลกระทบนอกจากด้านบวกแล้วมีประเด็นไหนที่ชุมชนต้องเตรียมรับมือ เป็นเวลามากกว่า 1 ปี ที่ทางกลุ่มมีการทำหนังสือร้องขอเอกสารแนบท้ายอาชญาบัตร แผนที่ขุดเจาะสำรวจและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร แต่ได้รับการยืนยันในต่างวาระของการไปยื่นแต่ละครั้งแตกต่างกันไป ในลักษณะของการประวิงเวลาระหว่างสำนักงานจังหวัดและกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประเด็นหลักคือการโยนประเด็นว่าส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจให้ข้อมูล แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ การยืนยันของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่าไม่มีเอกสารดังกล่าวในการครอบครองซึ่งในความเป็นจริงบริษัทจะต้องยื่นแผนการสำรวจทุก 3 หรือ 6 เดือนตามเงื่อนไข เป็นการรายงานผลสำรวจและแผนขุดเจาะในระยะถัดไป ในหนังสือตอบกลับ ชี้แจงการร้องขอของชาวบ้านอีกครั้ง ใจความว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้เนื่องจากจะกระทบต่อบริษัท การปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลจึงเป็นความจงใจอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัท แม้ว่าท้ายที่สุดอุตสาหกรรมจังหวัดจะให้ข้อมูล แต่ชาวบ้านก็ต้องใช้คำร้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ
ความเหลื่อมล้ำทางด้านกฎหมาย ตลอดระยะเวลา 3 ปี แกนนำชาวบ้านโดนรัฐและทุนฟ้องร้องรวมกว่า 8 คดี ในที่นี้ มี 4 คน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโรงพักวานรนิวาสเป็นผู้แจ้งความ ในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม อีก 7 คน (ซ้ำกับข้อหาแรก 2 คน) มีบริษัทเหมืองเป็นผู้ฟ้องข้อหาร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือ ไม่กระทำการใด อันเป็นการขัดขวางการขุดเจาะสำรวจ เมื่อวันที่ 9-15 พฤษภาคม 2561 โดยผู้จัดการบริษัทกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องฟ้องร้องแกนนำว่า บริษัทได้รับอาชญาบัตรมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กรอบความร่วมมือรัฐบาลไทยและจีน และที่ผ่านมาดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายมาตลอด ดังนั้น การที่ชาวบ้านทำการขัดขวางการขุดเจาะจนไม่สามารถขุดเจาะได้ ถือเป็นการกระทำที่ “ล้ำเส้นกฎหมาย” จึงจำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดี
ดิฉันเคยสัมภาษณ์ แม่สัมฤทธิ์ โบราณมูล 24 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่แม่สัมฤทธิ์ได้รับหมายเรียก ข้อหาข่มขืนใจ ในตอนนั้นเธอกล่าวว่า “ที่ผ่านมาชาวบ้านก็โดนข่มขืนใจ ยังให้เราต้องยอมรับเหมืองมาเจาะในบ้านเจ้าของ จริงๆ ชาวบ้านต่างหากที่โดนข่มขืนใจ แต่ทำไมเรากลับโดนแจ้งความ” อำนาจและความยุติธรรมทางกฎหมายรับใช้ใคร?
ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากร นอกเหนือจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.แร่ เพื่ออ้างสิทธิในทรัพยากรเหนืออำนาจของชุมชนท้องถิ่นแล้ว กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เป็นทางน้ำประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน พ.ศ. … ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยื่นเสนอให้มีการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์จากเขื่อนห้วยโทงไปในกิจการอื่นที่มิใช่เพื่อการเกษตรอันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ควบคุมปริมาณน้ำในระบบได้ เพื่อรองรับการขออนุญาตใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรม การประปาและภาคธุรกิจที่จะมีขึ้นในอนาคต สมควรให้มีการเรียกเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้ที่มิใช่เพื่อการเกษตรกรรม (ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ธันวาคม 2558) หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้ได้รับผลกระทบคือผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการปรึกษาหารือไม่มีการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม รัฐเตรียมตัวเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจโดยอาศัยกฎหมาย ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย ยิ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และจะยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอีสานให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเกลือหินและเหมืองแร่โปแตชนั้น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและผลิตซ้ำความไม่เสมอภาคมากมายแค่ไหน
ซึ่งหากมองลงไปให้ลึกอีก จะพบว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าว แท้ที่จริงคือ การแปรรูปทรัพยากรไปเป็นสินค้า ลดทอนคุณค่า ความหมายของผืนดิน ของบ้านเรือน ที่นา ที่สวน ป่าแหล่งน้ำ ให้กลายเป็นมองเห็นเพียง สินค้า ‘โปแตช’ เพื่อนำไปขายป้อนสู่ระบบอุตสาหกรรม พร้อมกับการกำหนดว่าธรรมชาตินั้นเป็นของ ‘ใคร’ และ ‘ใคร’ คือผู้ที่มีอำนาจเหนือทรัพยากรนั้นที่จะสามารถ (capabilities) เข้าใช้ประโยชน์ได้ จาก พ.ร.บ.แร่ ที่รัฐอ้างเป็นเจ้าของ ก่อนโอนถ่ายให้เป็นของเอกชนผ่านการสัมปทาน ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ในการแปรรูปมาเป็นวัตถุดิบและสินค้าในอุตสาหกรรม โดยชาวบ้าน ผู้คนในท้องถิ่นจะถูกกันออกและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้นได้เหมือนเดิม ย้ำว่าภายใต้กระบวนการดังกล่าว คนในท้องถิ่นจะต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ สูญเสียรายได้และทรัพยากรที่เคยเป็นของตนเอง จากรายได้ที่ผันผวนและความไม่มั่นคงในการดำรงชีพจะยิ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างมากขึ้น
เรารับรู้กันอยู่แล้วว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก จากรายงานของ CS Global Wealth Report ปี 2018 ชี้ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงแซงหน้ารัสเชียและอินเดียไปเป็นอันดับหนึ่ง คนไทย 1 เปอร์เซ็นต์มีทรัพย์สินรวม 66.9 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ ย้อนกลับมามองในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส ข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ระบุว่า คนที่นี่รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 56,531 บาท/คน/ปี และมีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 37,711 บาท/คน/ปี มีส่วนต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายอยู่ที่ 18,820 บาท/คน/ปี ชี้ว่า คุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของประชากรในวานรนิวาสอยู่ในเกณฑ์ดี หลุดพ้นจากเส้นความยากจนเกือบเท่าตัว แต่จากข้อมูลของสำนักงานที่ว่าการอำเภอวานรนิวาสระบุว่าปี พ.ศ. 2551 มีผู้ลงทะเบียนผู้ยากจน 20,482 คน หมายความว่ามีคนที่ว่างงาน หรือมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/คน/ปี คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปีนั้น (มีประชากร 118,890 คน)
และเมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังของสำนักงานสถิติจังหวัดสกลนคร พบการรายงานผลครัวเรือนที่ยากจนจริงๆ ปี พ.ศ. 2547 พบว่า อำเภอวานรนิวาสมีหมู่บ้านที่ยากจน 123 หมู่บ้านจาก 171 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 71.9 และมีครัวเรือนที่ยากจนจริงๆ 679 ครัวเรือน จาก 12,820 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ซึ่งยังไม่มีข้อสำรวจใหม่เกี่ยวกับครัวเรือนที่ยากจนจริงๆ หลังปี พ.ศ. 2547 แม้มีแนวโน้มโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ข้อมูลข้างต้นยังดูย้อนแย้งกันอยู่หลายจุด แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ประชากรในเขตอำเภอวานรนิวาสมีครัวเรือนที่ยากจนจริงๆ แฝงอยู่ท่ามกลางกลุ่มที่หลุดพ้นจากเส้นวัดดังกล่าว จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่าประชากรเกือบทั้งหมดของอำเภอพึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพ ทั้งในภาคการเกษตร แหล่งอาหารและแหล่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความอุดมสมบูรณ์บนความหลากหลายของระบบนิเวศข้างต้น อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้คนที่มีความต่างของเส้นความยากจนเกือบเท่าตัวดำรงอยู่ร่วมกันได้ แต่หากเกิดโครงการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรออกจากชุมชน แน่นอนว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น เพราะแหล่งอาหาร ระบบนิเวศ นา โคก บะ ทาม ห้วย ฮ่อง ฯลฯ จะเปลี่ยนสภาพ
สิทธิชุมชนที่หายไป
ต้องย้อนกลับไปถามว่า เมื่อชุมชนปกป้องชีวิตไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยง ทำไมถึงต้องถูกฟ้องร้อง คุกคามและปิดกั้นเสรีภาพในการมีจุดยืน นั่นเพราะเราดำรงอยู่ในสังคมที่ไม่มีบรรยากาศของประชาธิปไตย การพัฒนาแบบเผด็จการ ไม่เคยเอื้ออำนวยความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน การแสวงหาความเป็นธรรม ความยุติธรรมยากลำบาก
กิจกรรมไทวานรก้าวเดินในครั้งนี้ จึงมองเห็นได้เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ การประกาศทวงคืนสิทธิชุมชนที่หายไปด้วยสองเท้าของสามัญชน คนธรรมดา ที่อยากยืนยัดปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และชีวิต
แม้แดดร้อน ลมหนาว สองขาจะปวดพร่า อุ้งเท้าที่โป่งพองจากความร้อนของเปลวแดด แต่ทุกการย่ำเท้าก้าวย่าง คือ การประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นพลเมือง ความเป็นมนุษย์ และทวงคืนสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ด้วยจิตคารวะ ชุมชนผู้ปกป้องสิทธิ
|