การวัดผลคัดเลือกเด็กนักเรียน-นักศึกษาควรจะวัดจากสิ่งใดมากกว่า ระหว่างผลจากคะแนนสอบภาคปฏิบัติและทฤษฎี กับสอบสัมภาษณ์
นักเรียนที่มีผลคะแนนดีในทุกๆ ด้าน หรือนักเรียนที่อาจไม่ได้มีผลทดสอบดีเลิศอะไร หนำซ้ำ บุคลิกยังพานให้ปวดเศียรเวียนเกล้า แล้วนักเรียนแบบไหนที่เหมาะกว่า การตัดสินควรจะวางอยู่บนหลักการอะไร
The Graduation หรือ Le Concour ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องราวของสถาบันสอนทำภาพยนตร์ La femis ผ่านการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ปากเปล่า แบ่งเป็นสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทภาพยนตร์ การกำกับภาพยนตร์ ผู้บริหารโรงหนัง ซึ่งในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอนจะมีกรรมการทำหน้าที่คัดเลือกนักศึกษาที่สมัครเข้ามาผ่านการสอบปากเปล่าเป็นหลัก-อย่างน้อยก็ตามที่ภาพยนตร์นำเสนอ
จุดเด่นของ Le Concour มุมที่ถูกเล่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวนักศึกษาที่ต้องการสมัครเข้าเรียน แต่อยู่ที่การถกเถียงพูดคุยของคณะกรรมการแต่ละสาขาแต่ละชุดที่ล้วนมาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย มีประสบการณ์มากมายในแวดวงภาพยนตร์ฝรั่งเศส เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ขอจำลองสถานการณ์ตามแบบอย่างในภาพยนตร์ให้ลองอ่านเพื่อนึกตามให้เป็นภาพ
ฉาก ภายใน/เวลา กลางวัน
*ฉากและตัวละครเป็นเพียงเหตุการณ์เพื่อหนุนเสริมเรื่องราวในภาพยนตร์ หากบังเอิญพ้องต้องผู้ใด ขอให้ทราบว่าผู้เขียนไม่ได้มีเจตนา
คณะกรรมการสามคนนั่งอยู่หลังโต๊ะสีขาว มีปึกเอกสารหนาเป็นตั้ง ทั้งสองกำลังรอคอยการมาถึงของผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Le Concour รอบพรีเมียร์ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมฝรั่งเศสและ Documentary Club เสียงเคาะประตูดังขึ้น ก่อนจะเปิดให้เด็กสาวร่างเล็ก สวมแว่น สะพายกระเป๋าสีเหลือง ใบหน้าเปื้อนยิ้ม เดินเข้ามา
กรรมการหนึ่งในสาม ซึ่งบุคลิกลักษณะบ่งบอกความเป็นผู้ทรงภูมิ หากแต่ตามท่อนแขนเต็มไปด้วยรอยสักเชื้อเชิญให้เธอนั่งลงในเก้าอี้เดี่ยวตรงหน้า กรรมการที่เป็นหญิงสาวท่าทางอบอุ่น ใจดี ส่งยิ้มให้เด็กสาวร่างเล็ก กรรมการอีกคน สวมแว่น ศีรษะเตียนโล่งดูผิดผาดไม่ต่างจาก มิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศส กล่าวขึ้น
“ช่วยเล่าถึง Le Concour ที่คุณเพิ่งได้ดูจบไปได้ไหม คุณเห็นอะไรในภาพยนตร์เรื่องนี้”
“เห็นความเป็นฝรั้ง…ฝรั่งเศสค่ะ” เด็กสาวตอบอย่างร่าเริง
“ฝรั่งเศสยังไง” กรรมทรงภูมิถามขึ้น
“มีการถกเถียงกันอย่างถึงที่สุดค่ะ เพื่อจะตัดสินสินให้เด็กคนหนึ่งผ่านหรือไม่ผ่านเข้าเรียนใน La femis ยกตัวอย่างฉากหนึ่ง เป็นฉากที่ตัวละครคู่รักที่เคยเป็นแฟนเก่าจะกลับมาคบกัน แล้วหนึ่งในผู้สมัครได้แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงในการกำกับภาพ กำกับตัวละครผ่านการลดแสงในฉากนั้นจนได้อารมณ์ของถ่านไฟเก่า…” เด็กสาวเว้นจังหวะชั่วครู่ “อย่างที่กรรมการต้องการ แต่ก็มีกรรมการอีกคนไม่เห็นด้วยค่ะ กลับมองว่าฉากนี้เมื่อรวมกับคุณสมบัติในข้ออื่นๆ ของผู้สมัครแล้วไม่สมควรผ่านการคัดเลือกค่ะ”
“ตอนที่พูดถึงถ่านไฟเก่า คุณดูเหมือนคิดอะไรบางอย่างนะ บอกได้ไหม” กรรมการที่เป็นหญิงสาวคนเดียวเอ่ย
“กำลังนึกถึงตัวเองน่ะค่ะ แต่ไม่มีหรอก anyway ที่ชุ้น…เอ๊ย ดิฉันชอบฉากนี้เอามากๆ จริงๆ ต้องบอกว่าแทบทั้งหมดเลยก็ว่าได้ คือ การที่กรรมการแต่ละคนจะถกเถียงพูดคุยในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ประเด็นของคุณสมบัติที่กรรมการอาจตกหล่นกันเอง คำพูดหนึ่งที่ดิฉันชอบมากจากในหนังคือ การถกเถียงเรื่องผู้สมัครรายหนึ่งที่คะแนนรวมแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากกรรมการคนหนึ่งให้เพียง 6 คะแนน ขณะที่กรรมการอีกคนให้ถึง 19 คะแนน พวกเขาถกเถียงกันสักพักก่อนจะสรุปว่า ถึงอย่างไรเราก็ควรใส่ใจเสียงของกรรมการที่ให้ 6 คะแนน เท่าเทียมกับเสียงชื่นชมของกรรมการที่ให้ 19 คะแนน
“กับอีกฉากหนึ่ง ผู้มาสมัครมีบุคลิกท่าทาง…ขออนุญาตเรียกตามในหนังนะคะ ‘ประสาท’ และแน่นอนอีกน่ะแหละ มีการถกเถียงหน้าดำคร่ำเครียดในเรื่องคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อ La femis ซึ่งทำให้ดิฉันอดนึกถึงบางสถาบันในประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องเสาหลักของมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะกรรมการท่านหนึ่งได้พูดประโยคที่ได้ใจดิฉันมากๆ คือ ‘การที่เขาประสาทไม่ได้หมายความว่าเราจะขัดขวางเขาจากสิ่งที่เขาต้องการได้’ กับ ‘ที่ฉันกังวลจะเป็นการที่เราเลือกรับคนแค่เพราะเราชอบ’ ”
“ในมุมของคุณมันสะท้อนอะไร” กรรมการที่หน้าตาถอดพิมพ์มาจาก มิเชล ฟูโกต์ เอ่ยถาม
“มันสะท้อนสองแง่มุมค่ะ หนึ่งคือ กรรมการต่างรับฟังซึ่งกันและกัน แม้จะไม่เห็นด้วยกับกรรมการอีกคนก็จะไม่มีการเกณฑ์คนมาเป่านกหวีดค่ะ…”
“เดี๋ยวๆ”
“คะ?”
“ต่อเลย”
“อีกแง่คือ สะท้อนการไม่ด่วนตัดสินใจเด็กจากคุณสมบัติที่โดดเด่นเพียงข้อหนึ่งข้อใด หรือไม่โดดเด่น กระทั่งอาจเป็นปัญหาในอนาคต กรรมการก็จะไม่ยอมตัดสินให้เด็กคนนั้นไม่ผ่านการคัดเลือก เพียงเพราะฉันไม่ชอบเธอ กรรมการจะพิจารณาความเป็นไปได้ในศักยภาพของเด็กว่าตรงต่อทั้งหลักการของสถาบัน และสิ่งที่สถาบันนี้ต้องการผลิตคนทำหนังที่มีคุณภาพออกไปสู่แวดวงหนังฝรั่งเศส นอกจากนี้…”
“เนื่องจากเวลาเรามีน้อย และนี่ประเทศไทยไม่ใช่ฝรั่งเศส เราจึงจะขอเชิญเข้าร่วมชมภาพยนตร์รอบพิเศษท่านอื่นคนต่อไป ขอโทษด้วยนะคะ” กรรมสาวใบหน้ายิ้มละไม แต่พอถึงคราวตัดบทจบก็ตัดจบเสียดื้อๆ กล่าวขัดเด็กสาวกระเป๋าเหลือง ก่อนจะผายมือให้เธอกลับออกไปจากห้องด้วยสีหน้างุนงง
Mindset ใน Le Concour
แทบตลอดสองชั่วโมงของภาพยนตร์สารคดี ที่แม้ว่าต่อให้ดูอย่างตั้งใจ ก็มีบางห้วงบางจังหวะที่เผลอสัปหงกไปเล็กน้อย กระนั้น ด้วยชั้นเชิงของการเล่าที่มาจากเรื่องจริงของกรรมการแต่ละคน บวกรวมเข้ากับการตัดต่อที่ให้ทั้งบทสนทนาของกรรมการ สิ่งที่นักศึกษานำมาเสนอเพื่อขายไอเดีย ก็กลับกลายเป็นจุดจี้เส้นที่ทำให้เราตื่นได้เป็นพักๆ ไม่นับรวมประเด็นในเรื่องชาติพันธุ์ การรับหรือไม่รับนักศึกษาที่มีเชื้อชาติทางเอเชีย ชิลี อเมริกาใต้ ก็กลับกลายเป็นจุดร่วมสมัยของฝรั่งเศสเองในฐานะของหนึ่งในประเทศที่ต้องต้อนรับคลื่นอพยพจนถูกโจมตีเป็นประเทศแรกจากฝีมือของ IS
ความหลากหลายของตัวนักศึกษาที่มาเข้าสมัครแทบไม่ได้ถูกเล่า หรือเล่าถึงก็เป็นแต่เพียงจังหวะที่ถูกนำมาร้อยเรียงจัดวางใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาในภาพยนตร์สารคดีเท่านั้น ตัวละครหลักๆ ยังคงเป็นก้อนความคิดของกรรมการแต่ละคนที่ก่อเกิดเป็น mindset ในลักษณะภาพรวมของ Le Concour ที่มุ่งเน้นไปที่การพูดคุย ถกเถียงอย่างชนิดหน้าดำคร่ำเคร่ง ภายใต้ท่าทีของความสุภาพ และการรับฟังซึ่งกันและกัน จนสามารถกล่าวได้ด้วยซ้ำว่าเป็นหลักการที่ยึดโยง La femis ให้เป็นสถาบันที่จะไม่ทำหน้าที่ในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนแค่จากความชอบหรือไม่ชอบ แต่ยังรวมไปถึงการมองให้ครบด้านของความสามารถที่นักศึกษาคนหนึ่งๆ เป็นอยู่ และไม่ใช่แค่เพียงการวัดจากผลสอบคะแนนสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงผลต่ำสุดอีกด้วย
กล่าวอย่างถึงที่สุด ในแง่หนึ่ง Le Concour ไม่เพียงแต่บอกเล่าถึงเรื่องราวในแวดวงการศึกษาที่สอนเราให้ตระหนักถึงศักยภาพในความหลากหลายของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนสะท้อนภาพในด้านประชาธิปไตยของฝรั่งเศสที่แข็งแรงบนการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงระหว่างกรรมการด้วยกัน และตัดสินนักศึกษาคนหนึ่งให้ graduate หรือไม่นั้น ต้องวางอยู่บนหลักการของสถาบันที่จะไม่สั่นคลอนหรือโยกเอนไปเพียงเพราะผลคะแนน บุคลิกของผู้สมัคร มุมมองต่อโลก และต่อชีวิต โดยไม่สำคัญว่ามุมมองที่ว่าจะส่งผลยังไงต่อภาพยนตร์ที่พวกเขาต้องการนำเสนอ
ขอเพียงแต่เขารู้ในสิ่งที่ต้องการจะเรียน ตระหนักในความสามารถตัวเอง และนำเสนอมันออกมาอย่างซื่อตรง เป็นตัวของตัวเองอย่างที่สุด เหมือนชื่อภาพยนตร์สารคดีในภาคภาษาไทย อยากเรียนมั้ย มีอะไรดีก็ว่ามา!