ถ้าเรื่องสั้นชุด ‘เหมืองแร่’ คือผลผลิตวัยหนุ่มของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นวนิยาย เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง ก็คืองานที่ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำมาทั้งชีวิต
อาจินต์เขียนงานชุดเหมืองแร่ ทยอยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารชาวกรุง พ.ศ. 2497 ขณะนั้นอายุ 27 ปี ส่วนเจ้าพ่อ-เจ้าเมือง ทยอยตีพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ช่วงปี 2529-2531 และตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์หมึกจีนเมื่อปี 2533 ขณะนั้นอาจินต์อายุ 63 ปี
มีคนเคยถามอาจินต์ว่า ชอบงานเขียนชิ้นไหนของตัวเองมากที่สุด
อาจินต์ตอบว่า เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง
แล้วถ้าเช่นนั้นจะเอาเหมืองแร่ไปวางไว้ตรงไหน
อาจินต์ตอบว่า เหมืองแร่เป็นงานที่เขารักที่สุด
เรื่องเล่านี้ฟังเผินๆ เหมือนตีสำนวน แต่ถ้าพิจารณาตัวบทและข้อเท็จจริง จะเข้าใจสิ่งที่อาจินต์พูด
เหมืองแร่ เป็นงานแจ้งเกิด เป็นงานเล่าเรื่องชีวิตตนเอง เมื่อครั้งถูกรีไทร์จากคณะวิศวะ จุฬาฯ ขุนปัญจพรรค์พิบูล อดีตข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และนครปฐมผู้เป็นบิดา จึงเนรเทศให้ไปทำงานหนักในเหมืองแร่จังหวัดพังงา
งานแจ้งเกิด เป็นหมุดหมายระบุตัวตน ตำแหน่งแห่งที่เหยียบยืน ย่อมเป็นงานที่ผู้เขียนรัก
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ เหมืองแร่ จัดประเภทอยู่ในงานเรื่องสั้นชุด (ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ ใครเคยดูภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ ที่ทำจากหนังสือเล่มนี้จะสังเกตได้ว่าตัวหนังไม่มีพล็อตเรื่องหลัก เพราะมันเกิดจากการเอาส่วนสำคัญในเรื่องสั้นมาประกอบกันเป็นหนังหนึ่งเรื่อง) ฐานะในงานเขียนจึงอยู่ในวรรณะหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้คนเขียนหนังสือด้วยกันรู้ดี
อาจินต์เอ่ยถึงประเด็นนี้ไว้ในคำนำ ขอบคุณนักเขียนรุ่นพี่ สุรพงษ์ บุนนาค ผู้จุดประกายว่า “นักเขียนต้องเขียนเรื่องยาวอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง งานเรื่องสั้น สารคดี บทความ คอลัมน์นั้น ยังไม่พอ”
เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง เป็นนวนิยาย (novel) ทั้งรูปแบบและปริมาณ
ปริมาณหมายความว่ามีจำนวนคำจำนวนหน้าเกินกว่า novella
รูปแบบหมายถึงมีโครงเรื่องหลักและมี sub plot ตามขนบการเป็นนวนิยาย
ตัวเรื่องเล่าเรื่องสามตระกูลสามชั่วคน ซึ่งถ้าเราเชื่อว่าแต่ละครอบครัวมีนวนิยายเป็นของตนเองครอบครัวละอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง ก็คือนวนิยายอันมีวัตถุดิบต้นทางจากสาแหรกครอบครัวนักเขียน
นักเขียนผู้ได้รับพรวิเศษจากเทพเจ้าแห่งการประพันธ์ และอยู่ในช่วงวัยที่จัดเจน ตกผลึก คัมภีรภาพ เขียนหนังสือแบบผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็กหนุ่ม
ภาษาของอาจินต์โอ่อ่า นักเลง แต่กระชับ ไร้ไขมัน
.
“ทำงานอำเภอต้องระวังคนที่มาติดต่อ” จีนชราสอน “เวลาเราพูดกับใคร ถ้ามันมองบนเพดาน มองท้องฟ้า แปลว่ามันไม่ได้เชื่อฟังเรา”
“ถ้าเขามองต่ำๆ ล่ะ”
“ถ้ามันมองดูดิน ระวังให้ดี มันจะมายิงเรา, ที่มันดูต่ำๆ เพราะมันสังเกตทางหนี”
“อ้าว ที่เขาทะเลาะกัน ชี้หน้ากัน ท้ากัน ยิงกัน นั่นทำไมเขาจ้องตากันล่ะ”
“นั่นมันยิงเพราะโกรธ แต่ที่อั๊วว่านี่ มันรับจ้างเขามายิงเรา”
.
กระทั่งการบรรยายถึงความงามของผู้หญิง ภาษาของอาจินต์ยังมีลักษณะดังกล่าว คือไม่ได้แพรวพราวอย่างไร้ความหมาย แต่ทุกพยางค์ล้วนมีหน้าที่
“กลิ่นหอมหนักๆ ของขี้ผึ้งที่แม่ผาดทาจอนผมให้อ่อนสลวยทัดหู โชยอำนาจลึกลับ
…เป็นหญิงที่มีเรือนร่างแบบผู้ชาย ใบหน้าทาแป้งนวลอย่างจงใจจะลบผิวเผือดคล้ำ ลำคอระหงและลาดไหล่กว้าง นุ่ม ต้นแขนอวบตึง เนินทรวงโผล่ออกมาจากเสื้อชั้นในคอกระเช้าหลวมๆ อันเป็นกระเช้าที่อุ้มทรวงออกขนาดใหญ่กระเพื่อมสองพุ่ม น่าละลานใจ หล่อนนุ่งซิ่นไหมคาดเข็มขัดทองอร่าม แต่โลหะอันมีราคานั้น ไม่มีค่าเท่ารอยจีบอันมากมายรอบเอวซึ่งบอกถึงความกว้างใหญ่ลึกลับแห่งตะโพกของสาวใหญ่ที่ห่างไกลมือชายมาจนสุกงอมเต็มที่
…ผู้หญิงแท้ ไม่ใช่สวยอย่างนางละครเอวบางแบบแม่ปลั่งลูกขุนเขียนฯ แต่เต็มไปด้วยเลือดลมและการงาน”
ฉากในนวนิยายเจ้าพ่อ-เจ้าเมือง เป็นยุคของเรือเมล์ เส้นทางสัญจรถิ่นแม่น้ำสุพรรณ อาจินต์บรรยายฉากและบรรยากาศราวกับเดาได้ว่า ถัดจากนั้นอีกไม่นาน ตลาดโบราณ ตลาดร้อยปี ตลาดริมน้ำ จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้คนที่โหยหาอดีต
นี่คืองานเขียนที่จงใจออกแบบมาเพื่อบำเรอความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ตามขนบวิธีทำงานของนักเขียนดั้งเดิม
มีเกร็ดเรื่องเล่าจากปากสนานจิตต์ บางสพาน เกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้ว่า ตอนที่พิมพ์รวมเล่มออกมาครั้งแรก ปรากฏชื่อเจ้าพ่อ-เจ้าเมือง ไปอยู่ในรายชื่อหนังสือส่งเข้าประกวดชิงรางวัลซีไรต์
วันนั้นสนานจิตต์กับจำลอง ฝั่งชลจิตร แวะเข้าไปสำนักงานของอาจินต์ สิ่งที่สนานจิตต์เห็นก็คือ เมื่ออาจินต์รับทราบว่ามีคนส่งหนังสือเล่มนี้เข้าประกวด เขาหัวเราะหึๆ เขียนจดหมายแจ้งถอนชื่อ แล้วให้มอเตอร์ไซค์ขับไปยื่นที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยไม่เอ่ยปากตำหนิใครสักคำ
“รางวัลนี้ควรให้กับนักเขียนรุ่นพวกลื้อ” อาจินต์กล่าวกับจำลองและสนานจิตต์
อาจินต์เคยแสดงทัศนะผ่านบทสัมภาษณ์ว่า เทพเจ้าแห่งการประพันธ์อาจประทานพรให้ใครสักคนเขียนหนังสือดีได้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว
แต่ความยิ่งใหญ่ของใครสักคนล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำ – ข้อนี้อาจินต์ไม่ได้พูด แต่ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง
เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9) อาจินต์ ปัญจพรรค์ สำนักพิมพ์ มติชน |