เลือกหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เบื้องต้นก็ด้วยชื่อคนเขียน
อยากรู้ว่าคุณพี่เขาเอาอะไรมาเขียนนักหนา นี่เป็นงานรวมเล่มปกที่เท่าไหร่เจ้าตัวจำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้
คนที่เขียนและแปลหนังสือออกมาเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 2-3 ปก ทำต่อเนื่องมาเกิน 20 ปี ต้องมีข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองอย่างรองรับ
หนึ่ง มีคนรออ่านผลงานของเขา จึงมีสำนักพิมพ์จัดพิมพ์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ
สอง เขาต้องรักการเขียนหนังสือมากๆ คุณสมบัติข้อนี้มีความจำเป็นไม่แพ้ฝีมือหรือความสามารถ เพราะมีข้ออ้างเยอะแยะที่คนเราจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น แทนที่จะเขียนหนังสือ
โตมรเขียนหนังสือไว้เยอะ เขียนได้หลากหลายแนว หลากหลายความสนใจ หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายท่าที อาทิ เขียนในพื้นที่อื่นเขาอาจอบอุ่นอ่อนโยนอย่างสุดซึ้ง แต่เวลาเขียนให้ WAY เขาก็เกรี้ยวกราด ดุดัน กวนตีน ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะได้สุดขั้ว
หนังสือเล่มนี้อยู่ในกลุ่มแรก คืออบอุ่น อ่อนโยน เขียนสั้นๆ แต่ละชิ้นจบใน 2-3 หน้า อ่านง่าย ปลายเปิด ใครๆ ก็อ่านได้
เอ่อ – พูดว่าใครๆ ก็อ่านได้ มันก็ออกจะด่วนรับรองไปหน่อย เพราะตัวหนังสือของโตมรมีจริตรสนิยมบางประการ จำเป็นต้องทำความรู้กันทำความคุ้นเคยกันพอสมควร
เรื่องแรกในเล่มพูดถึงลมหนาว (เข้ากับตอนที่กำลังรีวิวพอดี) จากนั้นเขาก็เล่าเรื่องโซฟา โต๊ะกินข้าว ห้องนั่งเล่น ต้นไม้ในสวน สิ่งของในตู้เย็น ชั้นหนังสือ แมลง ฯลฯ
ที่บอกว่าตัวหนังสือของโตมรมีจริตและรสนิยมก็คือ ในระหว่างที่เขาเล่าเรื่องเหล่านี้อย่างละเมียดละไม มันก็จะมีรายนามของคนแบบ อิกอร์ สตราวินสกี, ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน, เฮอร์มาน เฮสเส, วิลเลียม โฟล์คเนอร์, บาลซัค, วาณิช จรุงกิจอนันต์, แดนอรัญ แสงทอง, ลุดวิก มีส์ ฟาน เดอ โรห์, บาร์บรา สไตรแซนด์, เชอร์ลีย์ บาสซีย์, เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์, แฟรงค์ ซินาตรา ฯลฯ ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของเขา
ข้าวของ ความคิด เครื่องเครารสนิยมที่เสพผ่านทุกโสตสัมผัส ประกอบกันเป็นชิ้นส่วนของการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในเดือนตุลาคม 2561 ถ้าพิมพ์ออกมาช้ากว่านี้เพียง 1 ปี โตมร ศุขปรีชา ก็จะมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์
คนวัยริมห้าสิบ ยังเขียนเรื่องบ้านอย่างรื่นรมย์ โรแมนติก ละเมียดละไม อุดมไปด้วยรสนิยมวิไล ไม่ต้องมานั่งปะทะเวียนหัวกับรสนิยมการใช้ชีวิตภายในบ้านของลูกเมีย…ในแง่หนึ่งต้องนับเป็นชีวิตที่น่าริษยาพอประมาณ
บ้านที่อยู่ในบ้าน โตมร ศุขปรีชา สำนักพิมพ์ Salmon |