ในภาพยนตร์เรื่อง Red Sparrow มีฉากฝีกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่ทำหน้าที่แทรกซึมหาข่าวโดยไม่เกี่ยงวิธี
ขอเพียงรู้ให้ได้เป้าหมายต้องการสิ่งใด เงิน เซ็กส์ หรืออำนาจ
คำพูดหนึ่งของผู้ที่น่าจะเป็นผู้ควบคุมการฝึกบอกกล่าวแก่บรรดา ‘สายลับฝึกหัด’ ทั้งหลายคือร่างกายคุณเป็นของรัฐ รัฐให้การอุ้มชู ดูแลคุณตั้งแต่เกิดถึงเวลาที่คุณจะต้องตอบแทน
ในหนังสือ On Critical Discourse Analysis หรือ ว่าด้วยด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ ของ สามชาย ศรีสันต์ เป็นหนังสือที่มีแก่นกลางอยู่ที่การศึกษาการก่อตัวขึ้นมาของวาทกรรมต่างๆ เพื่อศึกษาที่มาที่ไปของวาทกรรม ตลอดจนโครงสร้าง และเบื้องหลังของโครงสร้างของวาทกรรมหนึ่งๆ นั้นส่งผลกระทบเช่นไร อาทิ วาทกรรมในเรื่องการพัฒนาที่สามชายเขียนไว้ว่า
…การพัฒนาไม่ต่างไปจากการฝึกวินัยให้กับประเทศในโลกที่สาม โดยสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นปกติ’ (normalization)ขึ้นมา กีดกันแบ่งแยกลักษณะที่แตกต่างจากตนเองให้กลายเป็นอื่น เป็นสิ่งผิดปกติ ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้เป็นปกติ…
– หน้า 27
หรือกระทั่งวาทกรรมที่เราคุ้นเคยอย่างคำว่า ‘พอเพียง’ ซึ่งมีอุดมการณ์ของชาติและความเป็นไทยเข้ามารองรับเป็นฐานรากของการก่อตัวเชิงโครงสร้างของคำว่าพอเพียงที่มีวาทกรรมย่อยๆ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน โดย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ นั้น มีความสัมพันธ์ไปถึงแนวคิดการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสถาบันพระมหากษัตริย์
ไม่เพียงแต่เท่านั้น สามชายยังอธิบายให้เห็นถึงวาทกรรมความเป็นอื่นที่ซ่อนอยู่ในคำว่าความพอเพียง เช่นการมองความทันสมัยแบบตะวันตกหรือเรียกอีกแบบว่าการทำให้ทันสมัย (modernization) เป็นสิ่งสร้างความเสื่อมโทรมต่อสังคมไทย ทำลายวัฒนธรรมจารีตอันดีงาม ทว่าการพัฒนาภายใต้วาทกรรมของคำว่าพอเพียงคือความยั่งยืน
สามชายอธิบายอำนาจของวาทกรรมออกเป็นสี่ลักษณะ ได้แก่
วาทกรรมในฐานะเป็นอุดมการณ์ (ideology) วาทกรรมที่เป็นตัวแทน (representation) วาทกรรมในฐานะที่เป็นสถาบัน (discursive institution) และการเข้าถึงวาทกรรม (discursive access)
– หน้า 77
รายละเอียดของลักษณะทั้งสี่ ผู้สนใจหาอ่านเพิ่มเติมได้ภายหลัง แต่วาทกรรมที่อยากจะยกมาบอกเล่าอยู่ในส่วนของวาทกรรมที่ 3 วาทกรรมในฐานะที่เป็นสถาบัน ซึ่งสามชายอธิบายอย่างจำเพาะเจาะจงไปที่สถาบันสูงสุดของสังคมไทยกับวาทกรรมของความพอเพียงที่ถูกรับและส่งต่อโดยสถาบันทางสังคมชั้นสูง กองทัพ รัฐบาล ข้าราชการเพื่อผลิตสร้างสิ่งซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เหมาะควรแก่คนไทย
…ซึ่งไม่เพียงชี้บอกแนวทางการพัฒนาตัวเองและการพัฒนาประเทศ แต่ยังแฝงการสร้างค่านิยมความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ให้มากขึ้นด้วย…
– หน้า 81
กล่าวอย่างตรงไปตรงมา สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องวาทกรรม อำนาจที่แฝงอยู่ในวาทกรรมต่างๆ On Critical Discourse Analysis อาจไม่ใช่หนังสือที่สะสางที่มาที่ไปของวาทกรรมที่ใหม่อะไร แต่ก็เหมือนที่ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เขียนไว้ในคำนิยมว่า
…อาจารย์สามชายมีความเห็นว่าการศึกษาการพัฒนาผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิเคราะห์’ ที่นำเสนอในงานชิ้นนี้ จะสามารถนำไปสู่การ ‘รื้อสร้าง’ วาทกรรมการพัฒนากระแสหลักที่ครองอำนาจอยู่ในแวดวงการศึกษาการพัฒนา ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ในฐานะที่เป็นวิธีวิทยาในการศึกษาการพัฒนา จะนำไปสู่การสร้างวาทกรรมการพัฒนาที่มาจากเบื้องล่าง จากชาวบ้านธรรมดา…
– หน้า 10
กลับไปที่ Red Sparrow ตอนจบของภาพยนตร์ ตัวละครเอกที่เป็นสายลับสาว หลังจากวางแผนยอกย้อนนำไปสู่การวางกับดักและช่วยเหลือคนรักที่เป็นสายลับฝ่ายตรงข้าม ถึงที่สุดแล้ว แม้ภาพยนตร์จะทำให้เรารู้สึกว่าการแก้แค้นต่อระบบที่กระทำกับเธอมาตลอดทั้งในนามของรัฐ ถึงที่สุดเธอก็ยังหลีกหนีไม่พ้นวาทกรรมที่ให้กำเนิดตัวเราและกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเราบนโลกใบนี้ นั่นคือ ‘แม่’ ที่ไม่เพียงมีความหมายในฐานะผู้ให้กำเนิดในเชิงชีวภาพแต่ยังหมายถึงผู้ให้กำเนิดในฐานะแผ่นดิน เป็นบ้านที่ประชาชนไม่ว่าจะพยายามหนีไปอยู่ที่ไหน
คุณยังคงเป็นลูกของแผ่นดินถิ่นเกิดไม่อาจเปลี่ยน