WAY to READ: คำถามทางปรัชญาต่อสังคมที่หยุดคิด

…ทางออกจากเหตุผลสมัยใหม่ – สำหรับสเตราส์ – จึงเป็นการรื้อฟื้นวิถีชีวิตปรัชญาของโสเกรตีสกลับมาสู่โลกสมัยใหม่ เพราะวิถีชีวิตทางปรัชญาของโสเกรตีสคือรูปธรรมที่ชัดเจนของเหตุผลแบบโบราณ วิถีชีวิตแบบโสเกรตีสที่อุทิศให้แก่กิจกรรมทางปรัชญา ซึ่งไม่ใช่การครุ่นคิดตรรกะบนหอคอยงาช้าง แต่เป็นการสนทนากับผู้คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิทางปรัชญาสูงล้ำ ด้วยการตั้งคำถาม ตอบคำถาม และตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ ปราศจากข้อสรุป เพราะการมีข้อสรุปคือสัญญาณของการหยุดคิด…

หัวใจหลักของปรัชญากรีกในมุมมองของ ลีโอ สเตราส์ คือการตั้งคำถามอย่างไม่มีหยุดเพื่อกระตุ้นสังคมให้ตระหนักในปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เปรียบให้เห็นภาพขึ้นอีกนิด เราไม่ควรหยุดถามเมื่อ ประชาชนบอกว่านาฬิกาทั้ง 25 เรือนไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรืองาช้างในบ้านของนักธุรกิจผู้หนึ่งไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของภรรยา

ขณะที่มุมมองของ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ผู้เขียน บทสำรวจความคิดทางปรัชญาการเมืองของ ลีโอ สเตราส์ ซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเมื่อครั้งศึกษาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘ปรัชญาการเมืองกับเสรีประชาธิปไตย’ อรรถสิทธิ์สรุปแนวคิดของสเตราส์ในเรื่องปรัชญากับเสรีประชาธิปไตย (โดยอ้างอิงจาก Strauss. ‘Liberal Ediucation and Resonsibility’ , p 24) ที่สเตราส์ค่อนข้างต่อต้านไว้ว่า

…จริงอยู่ สเตราส์ในวัยหนุ่มอาจปฏิเสธเสรีประชาธิปไตย แต่เสรีประชาธิปไตยที่เขาปฏิเสธ คือเสรีประชาธิปไตยที่อ่อนแอในสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นเสรีประชาธิปไตยที่นอกจากปกป้องตนเองจากเสียงข้างมากไม่ได้แล้ว ยังวางตนเองอยู่บนเหตุผลสมัยใหม่ที่เชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาในเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์…

ขณะเดียวกันในวันวัยที่โตขึ้นของสเตราส์ อรรถสิทธิ์เสนอมุมมองว่า

…ในทางกลับกัน เพราะวิถีชีวิตทางปรัชญาคือวิถีชีวิตที่อุทิศให้แก่การตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง ระบอบการเมืองคู่ปรปักษ์กับเสรีประชาธิปไตยจึงย่อมจะถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของตัวมันเองเช่นกัน ที่สำคัญ เนื่องจากระบอบเสรีประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลในฐานะหลักการสำคัญขั้นพื้นฐาน…

หลักการพื้นฐานซึ่งรวมถึงการให้สิทธิ์ในการตั้งคำถามโดยไม่มีข้ออ้างของความมั่นคงแห่งชาติมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ จริงอยู่ว่าในมุมมองของสเตราส์ วิถีชีวิตทางปรัชญาอาจนำภยันตรายมาสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยเอง แต่สเตราส์เองก็มองว่าเสรีประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

นอกจากนี้สเตราส์ยังมองว่าแม้ระบอบประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง แต่ในคณะรัฐบาลจากเสียงข้างมากไม่ได้การันตีการเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง และเอาเข้าจริงแล้ว

…เสียงข้างมากที่ตัดสินว่าใครคือผู้บริหารแทนประชาชนทั้งประเทศ มีความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองพร้อมกับเบียดขับเสียงข้างน้อยให้กลายเป็นเพียงเศษซากของความเงียบงันที่ถูกดูดกลืนไว้ภายใต้ชัยชนะของอีกฝ่าย…

จริงอยู่แนวคิดในการมองประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีเลิศอะไร ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่หากมองบริบทสังคมการเมืองไทยนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา อีกทั้งไม่อาจปฏิเสธเช่นกันว่าการเลือกตั้งทำให้ได้เผด็จการรัฐสภา แต่การมองแต่เพียงด้านแคบของระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนการพยายามเคลมว่าระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของทหารนั้นทำให้บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักปรัชญาถึงจะทวงถามพื้นที่ให้กับคนเห็นต่างโดยไม่เสี่ยงถูกจับ นั่นเพราะใช่หรือไม่ว่าหากเราอยู่ในบรรยากาศของการถามและตอบได้อย่างเสรี เราคงไม่จำเป็นต้องทวงถามในสิ่งที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ และในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่าการสำรวจความคิดทางปรัชญาการเมืองของ ลีโอ สเตราส์ จะมีคำตอบสำเร็จรูป กระทั่งบอกว่าอย่าได้อ่านเลย หนังสือที่มองประชาธิปไตยแค่ในมิติของเผด็จการเสียงข้างมาก เพราะมันคงทั้งน่าเศร้าและน่าตลกที่เรานำความคิดความฝันไปฝากไว้กับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง หรือนักรบที่วางอาวุธหลังพบกับความพ่ายแพ้ยับเยิน

ก็ใช่, หากคุณผู้อ่านกำลังนึกว่าเขาเหล่านั้นเลือกทางเดินชีวิตของพวกเขาเอง แต่ในปัจจุบันที่เราต่างคิด ว่าเราก็สุขสบายดี ไม่ได้ถูกลิดรอนอะไร จริงๆ แล้ว อาจเป็นแค่เราไม่เคยตั้งคำถามถึงความสงบที่ปลายทางปรารถนาเดียวนั้นคือ การดำรงตนในฐานะพลเมืองที่คิดเป็นแต่ค่านิยม 12 ประการ

…เพราะไม่ว่าจะเชื่อในเหตุผลจนไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดของมนุษย์ หรือยึดติดกับหลักศีลธรรมความเชื่อจนไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้เหตุผล ก็ล้วนแต่เป็นการปักใจเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ เชื่ออย่างสุดหัวใจโดยไม่ฉุกคิด ไม่ตั้งคำถาม ไม่เปิดโอกาสให้ความเชื่อแบบอื่นๆ ที่ต่างไปจากตน นับเป็นการเชื่อที่ล้วนแต่เป็นอาการหลักของสภาวะสุญนิยมทั้งสิ้น…


บทสำรวจความคิดทางปรัชญาการเมืองของ ลีโอ สเตราส์
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง: เขียน
สำนักพิมพ์ สมมติ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า