ข่าวลือคือบาปกำเนิดของมนุษย์ และพลังบ่อนเซาะระเบียบอำนาจ ถกปรัชญาว่าด้วยความจริงและคำลือกับ มลาเดน โดลาร์

#ข่าวลือ เป็นแฮชแท็กยอดนิยมที่มักขึ้นอันดับแรกๆ ในโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter อยู่เสมอ

“ได้ยินมาว่า…” “ว่ากันว่า…” “วงในบอกมาว่า…” ฯลฯ

เมื่อเห็นใครจั่วหัวมาแบบนี้ เราก็มักคลิกเข้าไปอ่านก่อน เพราะมันช่างกระตุ้นต่อมอยากรู้เสียเหลือเกิน แม้ภายหลังจะพบว่า ข่าวที่เขาลือๆ กันนั้น จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรือจริงบางส่วน ไม่จริงหลายส่วน แต่บางทีข่าวลือก็กลายเป็นเรื่องจริงเอาดื้อๆ 

กรณีที่ไม่จริง สักพักผู้คนก็ลืม แต่มักมีใครสักคนมั่นหน้ามั่นใจทำตัวเป็นผ้าเบรกสังคมก่อนเพื่อนว่า อย่าไปเชื่อข่าวอ้างข่าวลือ หรือที่ลือกันน่ะไม่ใช่เรื่องจริง แต่คำถามคือ ข่าวลือจะต้องเกี่ยวพันกับความจริงด้วยหรือ โดยเฉพาะในสังคมที่ชอบปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนความจริงเช่นนี้

มลาเดน โดลาร์ (Mladen Dolar) นักปรัชญาชาวสโลวีเนีย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักจิตวิเคราะห์แห่งสโลวีเนียร่วมกับ อเล็นกา ซูพานชิช (Alenka Zupančič) และ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) บรรยายเอาไว้ในหัวข้อ ‘การนินทา ข่าวลือ และปรัชญา’ (Gossip, Rumors and Philosophy) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2019 ว่า ข่าวลือแตกต่างจากความจริงและความคิดเห็น

ข่าวลือไม่ได้ทำงานภายใต้ตรรกะของการสืบหาเพื่อเข้าถึงความจริง หรือภายใต้ตรรกะของการแสดงจุดยืนหรือแสดงความคิดเห็น แต่มันทำงานภายใต้ตรรกะของประสิทธิภาพ (efficient) ซึ่งก็คือการแพร่กระจายไปทั่วทุกอณูสังคม 

นั่นคือ ข่าวลือไม่ต้องจริง แต่ต้องลือ

“ไม่มีการสื่อสารที่เป็นกลาง ไม่มีการส่งต่อข้อมูลโดยปราศจากความเห็น ไม่มีภาษาใดที่ปราศจากการซุบซิบนินทานับตั้งแต่อดัมกับอีฟตกจากสรวงสวรรค์”

มลาเดน โดลาร์ (Mladen Dolar) นักปรัชญาชาวสโลวีเนีย

ปรัชญาว่าด้วยความจริง ความเห็น และข่าวลือ

โดลาร์บรรยายว่า แรกเริ่มเดิมทีปรัชญาในยุคกรีกคือกิจกรรมทางปัญญาที่พยายามแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เรียกว่า doxa (ความคิดเห็น) กับ episteme (ความรู้)

doxa คือ ระบอบของความคิดเห็น (opinion) หรือความเชื่อ (belief) โดลาร์กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ ทุกคนเป็นเจ้าของความคิดเห็นได้ และความเห็นของผู้คนก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานรองรับ หากแต่ขึ้นอยู่กับมุมมอง รสนิยม และความชอบส่วนบุคคล

ตรงกันข้ามกับความคิดเห็น episteme หรือความรู้ (knowledge) จำเป็นต้องมีหลักฐานรองรับ และต้องสอดคล้องกับหลักตรรกะและเหตุผล ความรู้จึงเป็นเรื่องภววิสัย ไม่ใช่อัตวิสัย และไม่ขึ้นอยู่กับความชอบหรืออคติส่วนบุคคลของมนุษย์เหมือนอย่างความเห็น โดลาร์อธิบายว่า เป้าหมายสูงสุดของความรู้คือ ความจริง (truth) และการไต่สวนหรือสืบหาความจริงก็เป็นภารกิจสำคัญของนักปรัชญาหรือ ‘ผู้รักในความรู้’

โดลาร์เสนอว่า ภาพแทนสูงสุดของความจริงและเหตุผล (logos) ในกระแสธารปรัชญากรีก จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก โสเครติส (Socrates) ผู้มีงานหลักคือการรื้อถอนความคิดเห็น ทำลายความเชื่อ และชี้ให้เห็นความกลวงเปล่า ไร้ตรรกะ ไร้หลักฐานของความเห็นของผู้คนในเอเธนส์ โสเครติสใช้วิธีตั้งคำถามชวนอึดอัดใจ เพื่อทดสอบความเห็นของผู้คน แล้วค่อยๆ ตะล่อมให้พวกเขาขบคิดถึงความจริงด้วยเหตุผล

เบิ้มๆ คือลือ…พลังอำนาจของข่าวลือ

แม้หน้าประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตกที่ผ่านมา จะเป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่าง ‘ความจริง’ และ ‘ความเห็น’ แต่โดลาร์เสนอว่า มนุษย์ยังถกเถียงพูดคุยกันผ่านพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ ข่าวลือ (rumors) 

อย่างไรก็ตาม ในทางปรัชญา ข่าวลือกลับมีสถานะต้อยต่ำเสียยิ่งกว่าความเห็นด้วยซ้ำ เพราะความคิดเห็นยังเป็นสิ่งที่มีเจ้าของ (subscribe) ผู้คนมักภูมิใจในความเห็นของตน เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และหวงแหนความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ (possession) ในความเห็นนั้น

แต่คุณลักษณะเหล่านั้นทั้งปวงไม่พบในข่าวลือ นั่นคือ ข่าวลือไม่มีเจ้าของ เป็นคำที่ปราศจากผู้พูด (the word without the author) เวลาที่มนุษย์ลือเรื่องต่างๆ เราไม่เคยยืนยันได้ว่า เราเป็นต้นกำเนิดหรือเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์นั้นจริงๆ และต่อให้รู้เห็น ผู้ปล่อยข่าวลือชั้นต้นมักไม่ผูกมัดชื่อตนเองกับข่าวนั้น สิ่งที่เราทำก็แค่ส่งสาสน์นั้นต่อไปยังสังคม 

โดลาร์เสนอว่า ข่าวลือจึงแตกต่างจากทั้งความจริงที่สามารถไต่สวน/สืบหา ร่องรอยและหลักฐานต่างๆ ได้ และต่างจากความเห็นที่มีเจ้าของอย่างชัดเจน พูดให้ชัดกว่านั้น ข่าวลือไม่ได้ทำงานภายใต้ตรรกะของการสืบหาเพื่อเข้าถึงความจริง หรือภายใต้ตรรกะของการแสดงจุดยืน แต่มันทำงานภายใต้ตรรกะของประสิทธิภาพ (efficient) ซึ่งก็คือการแพร่กระจายข่าวลือ และทำให้ความจริงต่างๆ ถูกตั้งคำถามได้ สำหรับโดลาร์ ข่าวลือจึงเป็นด้านตรงข้ามของทั้งความจริงและความเห็น

แม้ไม่มีผู้พูด ผู้เขียน ผู้โพสต์ เจ้าของ หรือ author ที่แน่ชัด แต่ข่าวลือกลับมีอำนาจบางอย่าง (authority) ที่ทั้งลึกลับ (inscrutable) และจัดการรับมือได้ยาก (intractable) อย่างที่เราจะเห็นผ่านประโยคต่อไปนี้ 

“ฉันรู้ดีว่ามันก็แค่ข่าวลือ แต่…”

“ไม่มีมูล หมาไม่ขี้”

ด้วยพื้นฐานทางด้านจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) โดลาร์อธิบายว่า ถ้าความจริงเปรียบเสมือน Big Other (พี่เบิ้ม) คอยควบคุมระเบียบทางสัญลักษณ์ ความหมาย และความเข้าใจต่างๆของผู้คน ข่าวลือก็คือ ความเป็นอื่นที่ Big Other ไม่สามารถจัดการได้ มิหนำซ้ำ ข่าวลือยังมีพลังบ่อนเซาะระเบียบต่างๆ ของสังคมได้ 

และถ้าความจริงคือสิ่งที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลหรือ logos ข่าวลือก็คือ anti-logos ที่ไม่ได้อ้างอิงไปถึงความจริงอื่นใด นอกจากพลังของภาษาเองที่ทำให้คนฟังเชื่อว่ามี ‘ความจริง’ บางอย่างอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ 

ดังนั้น โดลาร์เห็นว่า Big Other ที่ ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) เสนอเอาไว้ไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว แต่มีสองด้าน ได้แก่ เหตุผล หรือ logos และข่าวลือหรือคำบอกเล่า (hearsay) ที่ลอยมาตามลม

ถึงตอนนี้ โดลาร์พูดถึงโสเครติสอีกรอบ เพื่ออธิบายว่า Big Other แบบเหตุผลถูก Big Other แบบข่าวลือทำลายได้อย่างไร กล่าวคือ สิ่งที่บ่อนทำลายและโจมตีชื่อเสียงของโสเครติส เป็นจุดเริ่มต้นของการพิพากษาคดี และนำโทษประหารมาสู่โสเครติสในท้ายที่สุด ไม่ใช่อะไรนอกเสียจากข่าวลือ

โดลาร์สรุปว่า แม้กระทั่งสุดยอดไอคอนของเหตุผลและความจริงอย่างโสเครติสยังพ่ายแพ่แก่พลังของข่าวลือ ศึกของโสเครติสไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้กับพลังอำนาจที่หาที่มาไม่เจอ

“เหมือนการต่อสู้กับเงาหรือผีของอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมีอยู่จริง และสุดท้ายเงานั้นย่อมชนะ”

ภาษาคือบาปกำเนิดของมนุษย์ สัตว์สังคมที่ถูกสาปให้ต้องลือ

“การพูดไม่ใช่อะไรนอกจากการซุบซิบนินทาและแพร่กระจายข่าวลือ”

โดลาร์อ้างอิงงานของ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) นักมานุษยวิทยา เรื่อง Grooming, Gossip and the Evolution of Language (1998) พบว่า แท้จริงแล้วมนุษย์คือสัตว์ที่ใช้เวลาอยู่กับข่าวลือมากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใด ดันบาร์พบว่า 2 ใน 3 ของบทสนทนามนุษย์ ไม่ใช่การพูดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงล้วน (hard fact) หากแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า การบริหารชื่อเสียงหรือหน้าตาในสังคม (reputation management) หรือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งก็หนีไม่พ้นการซุบซิบนินทา

นักมานุษยวิทยาสันนิษฐานกันมานานแล้วว่า ภาษาพูดของมนุษย์ถูกพัฒนาขึ้นผ่านความสัมพันธ์ของเหล่าผู้ชายระหว่างประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ล่าสัตว์ แต่ดันบาร์แย้งว่า ภาษาอาจไม่ได้กำเนิดจากพื้นที่แห่งการล่าหรือการรบ แต่จริงๆ แล้วภาษาอาจวิวัฒน์ขึ้นในชุมชนที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการอัปเดตข้อมูลข่าวสารระหว่างเพื่อนและครอบครัว เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องการบทสนทนาเพื่อติดต่อแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังต้องการ

“ไม่มีการสื่อสารที่เป็นกลาง ไม่มีการส่งต่อข้อมูลโดยปราศจากความเห็น ไม่มีภาษาใดที่ปราศจากการซุบซิบนินทานับตั้งแต่อดัมกับอีฟตกจากสรวงสวรรค์” โดลาร์เห็นว่าภาษาคือบาปกำเนิดของมนุษย์

แต่ภาษาและข่าวลือก็อาจถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อคัดง้างกับ Big Other ที่พยายามควบคุมความจริงและความเห็นในสังคมได้ โดยเฉพาะในสังคมที่ปิดบัง ซ่อนเร้นและบิดเบือนความจริง ข่าวลือจะยิ่งมีพลังและแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า