WAY to READ: จดหมายรักถึงนักบุญ

 

…ท่านยังจำได้ไหมครั้งที่เราสองเดินเคียงกันไปตามแม่น้ำอาร์โน ขณะอยู่บนสะพาน อยู่ๆ ท่านก็หยุดเดินเพียงเพราะอยากสูดดมเรือนผมของข้า…

คำกล่าวประโยคข้างต้นหากเป็นคำกล่าวของคู่รักชายหญิงทั่วไปก็คงไม่มีอะไรพิเศษนัก เว้นแต่สำนวนที่อาจทำให้นึกถึงละครที่กำลังโด่งดังไปทั่วทั้งพระนครในตอนนี้ ทว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นประโยคในจดหมายที่ผู้หญิงนางหนึ่งเขียนถึง นักบุญออเรลีอุส ออกุสติน หรือที่นางเรียกเขาว่า ออเรลน้อยผู้ซุกซนของข้า

เจ้าของจดหมายนี้มีชื่อว่า ฟลอเรีย เอมิเลีย หญิงผู้ถูกสำนักวาติกันปฏิเสธการมีอยู่ของจดหมายที่เขียนถึงนักบุญออกุสติน และแม้จะสงสัยในความเป็นจริงของจดหมายนี้มากแค่ไหน กระนั้นด้วยชื่อเสียงของ โยสไตน์ การ์เดอร์ ผู้เขียน โลกของโซฟี ที่เป็นเหมือนตราประทับให้กับความน่าเชื่อของ Vita Brevis, A letter to St Augustine หรือ จดหมายรักถึงนักบุญ สำนวลแปลโดย กษมา สัตยาหุรักษ์

โยสไตน์ การ์เดอร์ เขียนไว้ในคำนำว่าค้นพบ Codex Floriae – จดหมายของฟลอเรีย ในงานเทศกาลหนังสือที่กรุงบูเอโนสไอเรส ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1995 ท่ามกลางกองหนังสือเก่าอื่นๆ โดยจดหมายทั้ง 70-80 แผ่นที่โยสไตน์อ้างถึงนั้นถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาละตินบนกระดาษที่แม้คะเนด้วยสายตาของผู้เขียนโลกของโซฟีเองก็บ่งบอกได้ว่าเป็นกระดาษที่เก่า เก่ามากๆ ด้วย 

ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น การปฏิเสธการมีอยู่ของ Codex Floriae ของสำนักวาติกันก็มีน้ำหนักและมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าจดหมายนี้ถูกเขียนในยุคสมัยนั้นจริง และผู้เขียนที่ชื่อฟลอเรียที่อ้างตนเป็นคนรักของนักบุญออกุสติน นั่นก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยใช่ไหม

ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องนักบุญคนสำคัญคนหนึ่งเคยมีความรักที่แอบซ่อนไว้เท่านั้นหรอก แต่มากกว่านั้นในยุคสมัยที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องความรู้ การอ่านออกเขียนหนังสือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปรัชญาทัดเทียมผู้ชายแล้ว การมีอยู่ของ Codex Floriae คือการบอกถึงความรอบรู้ และชาญฉลาดของผู้หญิงที่อาจเรียกได้ว่าเขยิบมาอีกชนชั้นหนึ่งให้ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับ ชายผู้เป็น การส่งถ่ายวัฒนธรรมจากกรีกโรมันไปสู่ยุคที่ศาสนจักรเป็นศูนย์กลางจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของยุโรปมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างมีสีสันเทียบเท่ากับบุคคลท่านนี้

แน่นอนเมื่อเป็นจดหมายรัก เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จึงหลีกไม่พ้นการพร่ำพรรณนาถึงความรักแต่เก่าก่อนของฟลอเรียที่มีต่อนักบุญออกุสตินอย่างที่ได้จั่วหัวขึ้นต้นไว้ แม้ในยุคสมัยนั้นการที่ผู้ชายจะทิ้งภรรยานอกสมรสไปแต่งงานกับหญิงที่เหมาะสมกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดศีลธรรมใดๆ แต่การที่ออกุสตินแสดงทัศนะไว้ในงานเขียนที่ชื่อ De Bono Coniugali (ประโยชน์ของการแต่งงาน)​ ว่า

บุรุษที่บอกเลิกคู่รักที่ซื่อสัตย์เพื่อไปแต่งงานกับหญิงอื่นนั้นมีความผิดในเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์

– หน้า 167

เปรียบไปแล้วก็เหมือนเป็นการแก้ต่างในสิ่งที่ออกุสตินไม่ได้ศรัทธา​ แต่เป็นการแก้ตัวให้กับความผิดที่ตนได้ทำไว้ในอดีตต่อฟลอเรียมากกว่า

เมื่อพิจารณาจากแกนกลางความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกชายคนรักทิ้งไปแต่งงานกับหญิงสาวที่อ่อนเยาว์กว่า โดยเป็นหญิงสาวที่มารดาของเขาได้ตระเตรียมไว้ให้ ในขณะที่ตัวเขากลับพยายามแก้ต่างให้ตัวเองและกล่าวคำขอโทษผ่านงานเขียนในฐานะของสังฆนายกแห่งฮิปโปแล้ว การมองจดหมายของฟลอเรียในแง่มุมของความรักเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้เรามองข้ามประเด็นที่สำคัญไม่น้อย เนื่องจากความพยายามของฟลอเรียในการขวนขวาย

ข้าอ่านทุกสิ่งที่จะทำให้เข้าถึงความหมายของปรัชญา เพราะข้าต้องการค้นหาว่ามีอะไรอยู่ในปรัชญาหรือจึงสามารถพรากคู่รักคู่หนึ่งได้

– หน้า 39

เป็นไปเพื่อจะตั้งคำถามถึงกรอบและเกณฑ์ประเพณีต่างๆ ที่ออกุสตินยึดถือในห้วงเวลาก่อนที่เขาจะได้รับ Codex Floriae

กล่าวให้ชัดกว่านั้น ฟลอเรียกำลังตั้งคำถามไปถึงระดับศาสนจักรผ่านจดหมายโดยใช้ทั้งการตัดพ้อ ทั้งการเสียดเย้ยจากสิ่งที่ออกุสตินเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ คำสารภาพ โดยโยสไตน์ได้เขียนถึงข้อสังเกตนี้ไว้ว่า

ผมคิดว่าคำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วออกุสตินซึ่งในภายหลังได้เขียนคำสารภาพขึ้นจะเปลี่ยนความคิดนี้ไปโดยการแก้ต่างให้กับสถานภาพ การแต่งงานหรือสิทธิ์ของภรรยานอกสมรสหรือไม่ หากเขาไม่ได้อ่านจดหมายจากฟลอเรีย ฉะนั้น ในที่สุดแล้ว บางทีเธออาจจะพูดถูกก็ได้ที่บอกว่าจดหมายของเธอที่มีถึงออเรลนั้นเป็นจดหมายที่มีถึงคริสตศาสนจักร

– หน้า 168

ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจดหมายจากฟลอเรียจะมีจริงหรือไม่ และไม่ว่าคุณจะอ่านจดหมายจากผู้หญิงที่ถูกทอดทิ้งไปด้วยสายตาแบบใด แต่ในความสวยงามของภาษาที่ผู้แปลรังสรรค์ขึ้นใหม่ในภาษาไทยได้อย่างไพเราะนี้ บอกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแน่นอนว่า ความรักและความสุขเปรียบเสมือนเหรียญคู่ขนาน ชั่วระยะเวลาที่เหรียญหมุนนั้นเป็นเพียงความสุขที่เหรียญทั้งสองด้านได้มาบรรจบ ก่อนความสุขนั้นจะหยุดลงเมื่อเหรียญหยุดหมุน

เมื่อความรักไม่ได้หมุนรอบตัวเราอีกต่อไป


จดหมายรักถึงนักบุญ
โยสไตน์ การ์เดอร์: เขียน
กษมา สัตยาหุรักษ์: แปล
สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า