…สมุดบันทึกภายในคุกของกรัมชี่กล่าวถึงประเด็นต่างๆ มากมาย แต่แก่นสำคัญที่กรัมชี่เสนอก็คือ ปัญหาของสังคมทุนนิยมและการแก้ปัญหาเหล่านั้น และหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือการอธิบายความสัมพันธ์ของ ‘ตัวแสดง’ ต่างๆ ในสังคมทุนนิยม…
– หน้า 133
จะว่าเป็นการเกาะเกี่ยวไปกับวาระ 200 ปีของชายที่ถือว่าเป็นนักคิดคนสำคัญในการวิพากษ์ทุนคนสำคัญก็ได้ แต่นัยของการหยิบ บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (A survey of Gramsci’s political thought) ของ วัชรพล พุทธรักษา ขึ้นมา ‘อ่าน’ ในช่วงที่ประเด็นซึ่งข้องเกี่ยวในขมองอันยุ่งขิงของผู้เขียนอยู่สองเรื่อง คือประเด็นเรื่องบ้านพักตุลาการที่ดอยสุเทพ กับประเด็นเรื่องเสือดำ
ทั้งสองประเด็นข้องเกี่ยวอยู่กับสองคำที่ทำให้นึกถึงงานของกรัมชี่เล่มนี้ขึ้นมาคือ นายทุนใหญ่ (the capitalist) และ เจ้าที่ดิน (landowner) โดยมีอีกคำห้อยท้ายคือ นายทุนน้อยหรือนายทุนในชนบท (petty bourgeoisie / the rural capitalist)
คำทั้งสามนี้ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นคำคำเดียวที่คาบเกี่ยวระหว่างสองความหมายด้วยกัน คำคำเดียวนั้นคือ ชนชั้นมั่งมี (propertied) หรืออีกนัยคือ ชนชั้นปกครอง
อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นใคร สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่องมาร์กซิสต์คงรู้จักดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้อ่านที่เพิ่งรู้จัก (เช่นผู้เขียนเป็นต้น) อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นปัญญาชนคนสำคัญของอิตาลี เป็นนักทฤษฎีทางการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และยังเป็นผู้ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวสภาโรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เรียกว่า Biennon Rosso หรือ ‘สองปีสีแดงแห่งการปฏิวัติ’ ในอิตาลีช่วงปี 1919-1920 โดยมีพื้นฐานสำคัญจากการปฏิวัติในรัสเซียปี 1917 เพื่อก่อร่างสร้างแนวคิดเรื่องสภาโรงงาน ก่อนจะนำมาสู่แนวคิดสำคัญที่กรัมชี่เขียนลงใน ‘สมุดบันทึกจากคุก’ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนล่างกับโครงร่างส่วนบน, รัฐแบบองค์รวม, กลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ ตลอดจนการครองอำนาจนำ และกลุ่มประวัติศาสตร์
สองแนวคิดหลังนี้เองที่ผู้เขียนสนใจ จนนำมาสู่การหยิบงานที่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนนิยามไว้ในคำนิยมว่าเป็น “รากฐานของการพัฒนาทางภูมิปัญญาของวัชรพล” ขึ้นมาแนะนำในสัปดาห์นี้
…ในทัศนะของกรัมชี่ ชนชั้นปกครองคือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการรัฐ กล่าวคือ เป็นกลุ่มของผู้คนที่เข้าถึงการใช้อำนาจบังคับ และสร้างความยินยอมพร้อมใจเหนือชนชั้นผู้ถูกปกครอง…
– หน้า 134
ใน ‘สมุดบันทึกจากคุก’ ของกรัมชี่ ตัวแสดงที่ถูกนำมาแจกแจง นอกจากชนชั้นปกครอง (ซึ่งในโลกสมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของความสัมพันธ์ไปสู่การร่วมมือกับราชการและกองทัพเพื่อสร้างการสนับสนุน และการสถาปนาความมั่นคงเชิงอำนาจให้กับชนชั้นนำ) ยังมีชนชั้นผู้ถูกปกครองที่วัชรพลอธิบายไว้ว่า
…นิยามของกลุ่มคนที่ถูกปกครอง / กดขี่ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่กลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนที่ปราศจากอิสระในการปกครองตัวเอง (lack of autonomy) และต้องตกอยู่ภายใต้การครองอำนาจนำของชนชั้น / กลุ่มอื่นในสังคม นอกจากนี้ กรัมชี่เสนอว่า คนที่ถูกกดขี่เป็นกลุ่มคนที่ ‘ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์’ (have no history of their own) ของตนเองในเอกสารทางการของรัฐ ไม่ได้รับการเหลียวแล และจมจ่อมอยู่ภายใต้เรื่องเล่าหลัก (master narrative) ของผู้ปกครอง…
– หน้า 141
จุดเด่นของงานชิ้นนี้ของวัชรพล แน่นอนอย่างไม่อาจปฏิเสธคือ การสังเขปความคิดทางการเมืองของกรัมชี่ผ่านร่องรอยที่ปรากฏอยู่ใน ‘สมุดบันทึกจากคุก’ ที่ตัวกรัมชี่เองปรารถนาให้คงอยู่ไปตลอดกาล แต่กล่าวเฉพาะผู้เขียน การอ่าน บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ กลับทำให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศหนึ่งผ่านกรอบความคิดของมาร์กซิสต์ ที่หากเปรียบไปแล้วก็เหมือนสายธารทางการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การกดขี่จากงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในเรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทย อีกทอดหนึ่ง
วัชรพลเขียนไว้ในหนังสือว่า ร่องรอยทางความคิดทางการเมืองของกรัมชี่สอดแทรกและแฝงฝังอยู่ในหน้ากระดาษของสมุดบันทึกทั้ง 33 เล่ม เพื่อเลี่ยงหลบการเซ็นเซอร์จากเจ้าหน้าที่เรือนจำ และผู้เขียนเองขออนุญาต ‘ตีความ’ ตามความเข้าใจในฐานะผู้อ่านว่า บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ของวัชรพลก็ใช้รูปรอยเดียวกัน เพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ในประเทศใกล้ๆ เรา โดยเฉพาะจากสองประเด็นในเรื่องชนชั้นปกครอง การครองอำนาจนำ และกลุ่มประวัติศาสตร์
กลับไปยังเรื่องบ้านพักตุลาการและเรื่องเสือดำที่ในไม่ช้าคงจะถูกกลืนหายไปในเรื่องเล่าอื่นๆ ที่ผุดโผล่ขึ้นมารายวัน งานศึกษาของวัชรพลอาจช่วยตอบโจทย์ในเชิงลักษณะความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครองที่ประกอบไปด้วยเจ้าที่ดินและนายทุนใหญ่ ไม่แต่เพียงเท่านี้ บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ยังอธิบายให้เห็นถึงสภาวะที่ชนชั้นผู้ถูกปกครองในบางประเทศแทบไม่เคยมีโอกาสก้าวขึ้นมาครอบครองกระทั่งสิทธิ์ในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง
พูดอีกแบบ เราต่างคือ ‘เสียง’ ที่พวกเขาแทบไม่เคยได้ยิน และในที่สุดก็เงียบหายไป