WAY to READ: รบเถิดอรชุน

…นี่ไม่ใช่หนังสือส่งเสริมการรบราฆ่าฟัน ในทางตรงกันข้าม จุดประสงค์หนึ่งคือการแสดงให้เห็นว่าสงครามขนาดใหญ่ “สงครามที่ไม่จำเป็นตั้งแต่แรก” สามารถหลีกเลี่ยงได้…

– หน้า 37

ยามที่เกิดข่าวคราวการสู้รบสงครามที่นั่นที่นี่ ความสงสัยพลันบังเกิด เหตุปัจจัยใดทำให้คนหยิบอาวุธขึ้นมาห้ำหั่นกัน

พร้อมกันนั้น ความทรงจำหนึ่งผุดลอยขึ้นราวฟองอากาศจากบ่อลึกติดป้าย ‘ปฏิกูลที่ควรทิ้ง’

ความทรงจำที่ว่านั้นคือความทรงจำในช่วงเป็นทหารเกณฑ์ และรอลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังเครื่องบินที่ถูกจี้โดยผู้ก่อการร้ายพุ่งเข้าชนอาคารเวิล์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา

America First หรือ รบเถิดอรชุน โดย ภาณุ ตรัยเวช คือหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ชายสองคนที่มีพื้นเพแตกต่างกัน มีจุดมุ่งหมายในชีวิตแตกต่างกัน คนหนึ่งนั้นเป็นลูกชายของเศรษฐีชาวไร่ เป็นนักบิน และเป็นผู้สนับสนุนฮิตเลอร์ ชื่อของเขาคือ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์กห์ ขณะอีกคนหนึ่งนั้น เติบโตในครอบครัวที่มีแม่เป็นศิลปินวาดรูป ซึ่งนับว่าล้ำหน้าในยุคสมัยศตวรรษที่ 19 มีพ่อเป็นนักค้าหุ้นผู้เกลียดงานที่ตัวเองทำ แต่ยอมถมกลบความฝันในการเป็นนักประพันธ์เพราะรู้ว่าลำพังเงินจากการเขียนหนังสือไม่อาจเลี้ยงตัว โรเบิร์ต เชอร์วูด คือชายคนที่สอง

รบเถิดอรชุน เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของสองคนนี้ ผ่านประเด็นคำถามสำคัญ โลกควรจะมี ‘สงครามเพื่อหยุดยั้งสงครามทั้งปวง’ หรือไม่? โดยเล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 การเริ่มต้นสงครามที่เกิดจากการอ่านเกมการเมือง และการเทกั๊กอย่างผิดพลาดของบรรดาที่ปรึกษาการทหารของทั้งรัสเซีย เยอรมัน และอังกฤษ

ในห้วงเวลานั้น อเมริกายังสงวนท่าที จนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1917 รัฐสภาจึงโหวตสนับสนุนสงคราม กองทัพสหรัฐเคลื่อนพลเข้าสู่สมรภูมิยุโรปนับแสนนาย โรเบิร์ต เชอร์วูด เป็นหนึ่งในนั้น เขาร่วมรบแล้วได้รับผลกระทบจากแก๊สมัสตาร์ด มากกว่านั้นคือผลกระทบจากสงคราม

ขณะที่ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์กห์ ตัดสินใจเป็นนักบินเมื่ออุตสาหกรรมการบินในอเมริกาตกต่ำภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ ได้เป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์ (ให้น่าคิดยิ่งนัก วีรบุรุษการบินของอเมริกาอาจจะเคยบินผ่าน อองตวน เดอ แซ็งแตกซูเปรี ผู้เขียน เจ้าชายน้อย สักครั้งบนฟากฟ้าในความมืด)

…นักธุรกิจชาวเยอรมันกล่าวว่า ‘สงครามในศตวรรษที่ยี่สิบใช้เลือดทหารเพียงสามในห้าส่วน อีกสองส่วนที่เหลือคือหยาดเหงื่อของกรรมาชีพในโรงงาน โรงโม่ เหมือง และไร่นา…

– หน้า 59

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามไม่แยกคนรวยออกจากคนจน ความตายมาถึงทหารทุกนายได้อย่างเท่าเทียมในหลุมเพลาะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าไพร่พลที่สูญเสียไปในแต่ละสงครามล้วนแล้วแต่มาจากชนชั้นล่างของสังคมมากกว่าชนชั้นสูง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือคนแบบเชอร์วูดและลินด์เบิร์กห์ การที่เชอร์วูดเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก่อนอาจทำให้เขาได้แต้มต่อ แต่เราจะตีค่าประสบการณ์ของคนคนหนึ่งที่เรียนรู้จากมันและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน

ประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลต่อเชอร์วูดจนเขากลายเป็นนักเขียนผู้ต่อต้านสงคราม ใช้หน้ากระดาษแทนปะรำเวทีแห่งการแถลงอุดมการณ์ในการต่อต้านฮิตเลอร์ ขณะที่ลินด์เบิร์กห์บินข้ามฟากตามคำเชิญของรัฐบาลเยอรมันเพื่อกลับมาบอกว่านาซีไม่ได้เป็นภัยกับอเมริกา และการที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษพ่ายแพ้แก่กองทัพนาซีเป็นเพราะพวกเขาอ่อนแอเอง

ตลอดทุกๆ หน้าของหนังสือเล่มนี้ (ไม่นับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สอดแทรกใส่เข้ามา) พฤติกรรมของยอดนักบินอาจทำให้สงสัยว่าทำไมคนที่มีพื้นเพดีขนาดนั้นถึงไปฝักใฝ่ในลัทธิเผด็จการฟาสซิสม์ ขณะคนที่เขียนบทละครเวทีเพื่อต่อต้านสงครามทำไมถึงพยายามเรียกร้องให้อเมริกาลุกขึ้นมาหยุดยั้งฮิตเลอร์และกองทัพนาซี ด้วยการทำสงคราม

เมื่อคุณอ่านไปเรื่อยๆ คุณจะพบเองว่าหน้าตาของประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยใบหน้าของมนุษย์มากกว่าหนึ่งด้าน

คุณชี้ชัดลงไปไม่ได้จริงๆ ว่าลินด์เบิร์กห์ฝักใฝ่นาซี อย่างน้อยก็ใน รบเถิดอรชุน ขณะเดียวกันก็อดกังขาอาการต่อต้านสงครามของเชอร์วูดไม่ได้เช่นกัน

หากพิจารณาต่อประเด็นที่ว่าสงครามนั้นจำเป็นแค่ไหน ทั้งลินด์เบิร์กห์และเชอร์วูดต่างก็ผิดและถูกได้ในเวลาเดียวกัน

และเราในฐานะผู้อ่านก็เป็นได้แค่ผู้มองกลับไปยังประวัติศาสตร์ด้วยสายตาของปัจจุบัน

สิ่งที่น่าชื่นชมไล่รองลงมาจากแก่นความคิดที่ภาณุสอดแทรกลงไปโดยการมองภาพของโลกและสังคมตามแบบนักคิดที่ตระหนักในความเป็นจริง ไม่หวั่นไหว คือการค้นคว้าอย่างหนัก ชนิดที่อาจเรียกว่ามหาศาลเพื่อร้อยเรียงข้อมูลประดามีเหล่านั้นลงมาให้เราได้อ่านในฐานะหนังสือที่ไม่เพียงตั้งคำถามต่อสงคราม แต่ยังตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ต่างๆ ที่เรายึดถือ ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ฟากฝ่ายไหนของอุดมการณ์ทางการเมืองบนโลกนี้ กระทั่งตำแหน่งแห่งที่ของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

และเพียงเท่านี้ รบเถิดอรชุน ก็คุ้มค่าต่อเงินทุกบาทที่คุณต้องจ่ายเพื่ออ่านแล้ว

…ดูก่อนอรชุน ท่านไม่มีทางเลือกระหว่างสงครามและสันติภาพ ทั่วทั้งปฐพี มีเพียงคมศร อิทธิฤทธิ์รอนลดความรุนแรง หยุดธรรมะสงครามให้สูญเสียน้อยที่สุด…

– หน้า 37

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า