จากกรณีมวลชนกลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าไปในอาคารสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา ข้อมูลล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 4 ราย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายเช่นนี้ขึ้น แม้กระทั่งเหตุการณ์ประท้วงของผู้สนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหลายมลรัฐเมื่อปี 2016 ก็พบว่ายังไม่มีการบุกรุกเข้าไปยังที่ประชุมสภาคองเกรสเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้
มีการเปรียบเทียบในโซเชียลมีเดียของไทยว่าอาจจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์การขัดขวางการเลือกตั้งในไทยเมื่อปี 2014
แต่ทั้ง 2 กรณี นอกจากจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้แล้ว อาจจะมีความแตกต่างในระดับที่ชวนให้เรามองกลับมาที่ปัญหาทางการเมืองไทยได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เกิดอะไรขึ้นที่ดีซี
วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่วอชิงตัน ดีซี ส่วนหนึ่งมีชนวนมาจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กระบวนการรับรองชัยชนะของ โจ ไบเดน ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดจากพรรคเดโมแครตหยุดชะงักลงกะทันหัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่ตามเวลาในประเทศไทย เปิดฉากขึ้นเมื่อผู้สนับสนุนทรัมป์หลายพันคนถือธงสีน้ำเงินบุกเข้าทำลายประตูและหน้าต่างของสภาคองเกรส ก่อนฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ที่ไม่ทันตั้งตัวเข้าไปในอาคารด้านในได้สำเร็จ
ที่ประชุมวุฒิสภาตัดสินใจยุติกระบวนการรับรอง โจ ไบเดน และสั่งปิดการประชุมกะทันหัน มีการล็อคประตูรัฐสภาไม่ให้เข้าออก เจ้าหน้าที่ตำรวจเตือนผู้ชุมนุมที่ขัดขืนให้อยู่ห่างจากหน้าต่าง-ประตูในอาคาร หากอยู่ด้านนอกก็ให้หาที่กำบัง
สมาชิกสภาคองเกรสหลบออกจากห้องประชุมทันอย่างหวุดหวิด เพียงไม่นานก่อนที่ขบวนติดอาวุธของผู้สนับสนุนทรัมป์จะบุกเข้ามาถึง เจ้าหน้าที่รักษาอาคารมีการยิงแก๊สน้ำตาคลุ้งไปทั่วพื้นหินอ่อนสีขาวของอาคารและถึงบันไดด้านนอก ในช่วงชุลมุนมีผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งถูกยิงที่หน้าอกได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา ส่วนอีก 3 ราย เสียชีวิตอันเนื่องมาจาก ‘เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์’
เจ้าหน้าที่ป้องกันอาคารสภาคองเกรสกว่า 1,100 นายเตรียมปฏิบัติการณ์ ขณะที่ มูเรียล โบว์เซอร์ (Muriel Bowser) นายกเทศมนตรีเมืองดีซี ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันพุธ จนถึง 6.00 น. ของวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ พร้อมระบุว่า ไม่อนุญาตให้ใครอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมืองนอกจากเจ้าหน้าที่
ทรัมป์กล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนหลายพันคนที่เดินทางมาสมทบในขบวนประท้วงกลางกรุงวอชิงตันก่อนหน้านี้ว่า “เราจะไม่ยอมแพ้”
แม้ว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อ โจ ไบเดน ทั้งจากคะแนนเลือกตั้งมหาชน (popular vote) และคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ได้ยอมรับให้ไบเดนชนะไปแล้วก็ตาม แต่ผู้สนับสนุนทรัมป์ต้องการที่จะปฏิเสธกระบวนการรับรองตำแหน่งของไบเดน
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ในฐานะประธานวุฒิสภา และเป็นผู้ประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งของคณะผู้เลือกตั้ง ยืนยันว่าเขาจะไม่ยับยั้งการรับรองว่านายไบเดนเป็นผู้ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี แม้ว่าจะมีการร้องขอจากนายทรัมป์ก็ตาม
ส่วนไบเดนเอง ออกมากล่าวเรียกร้องให้นายทรัมป์ “ทำตามคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ และปกป้องประชาธิปไตยด้วยการทำให้การชุมนุมยุติลง”
กระแสความนิยมของทรัมป์ตกต่ำลง?
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากคะแนนความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่ความพ่ายแพ้บนสนามเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และล่าสุด แนวโน้มการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกสหรัฐ 2 มลรัฐ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตจะคว้าชัยชนะได้ทั้ง 2 รัฐ ทำให้สมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครตมีจำนวนมากกว่าพรรครีพับลิกันทั้ง 2 สภา และเป็นที่คาดกันว่ากฎหมายที่ถูกผลักดันจากพรรคเดโมเครตหลายฉบับจะสามารถผ่านความเห็นชอบได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
แต่คำถามคือ กระแสความนิยมของทรัมป์ตกต่ำมากขนาดนั้นหรือไม่ หลักฐานจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 อาจจะให้คำตอบที่ชวนให้เข้าใจขึ้นว่าแท้จริงแล้วทรัมป์ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศและมีพลังมากพอในการกำหนดทิศทางการเมืองก่อนหน้านี้
ผลการเลือกตั้งทั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในหลายมลรัฐในปัจจุบัน ดูจะมิได้ขัดแย้งกับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 มากนัก ที่มักเข้าใจว่าคนอเมริกันเลือกที่จะเทใจให้แก่ทรัมป์ เพราะหากคิดอย่างระมัดระวังจะมองเห็นว่าผลการเลือกตั้งครังนั้นเป็นสัดส่วนที่ไม่มากถล่มทลายแบบที่กำลังเกิดขึ้นให้กับ โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครตในครั้งนี้
กล่าวคือในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 คลินตันได้รับคะแนนเลือกตั้งมหาชน (popular vote) ทั่วประเทศสูงกว่าทรัมป์ เหตุที่กระดานเลือกตั้ง ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ซึ่งหมายถึงชัยชนะของทรัมป์ในแต่ละมลรัฐ ก็เนื่องมาจากสหรัฐใช้ระบบเลือกตั้งแบบชนะกินรวบในแต่ละมลรัฐ
ดังนั้นใครที่ได้คะแนนมากกว่าอีกฝ่ายในรัฐนั้น ก็จะได้รัฐนั้นไปทั้งหมด คะแนนนี้ถูกเปลี่ยนเป็นจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวนไม่เท่ากัน และต้องไปเลือกประธานาธิบดีอีกที
ดังนั้น คำถามว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีจึงมักตัดสินกันในรัฐที่มีคะแนนสูสี หรือเรียกว่า ‘สวิงสเตท’ ไม่ใช่รัฐขนาดใหญ่ที่เป็นฐานเสียงที่แน่นหนาของพรรคนั้นยึดครองอยู่ ซึ่งในการเลือกตั้งในปี 2016 ทรัมป์ชนะในรัฐสวิงสเตทไปเกือบทั้งหมด ทว่าในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน ทำการบ้านมาอย่างดีจนสามารถพลิกกลับมายึดรัฐที่สำคัญได้ อาทิ เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน และมิชิแกน
ถึงกระนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศอย่างเปิดเผยมาตลอดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นธรรม โดยไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอในการขัดขวางการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน จนเป็นเหตุในการบุกอาคารสภาคองเกรสครั้งนี้
ปฏิเสธการเลือกตั้ง เหมือนกับ กปปส.?
ในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อเช้าตรู่ของวันนี้ (7 มกราคม) ผู้คนจำนวนมากมองว่า คนอเมริกันไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอาจจะมีลักษณะที่เหมือนกับขบวนการ กปปส. ที่ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014
ไม่แตกต่างไปจากการชุมนุมขอให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งของผู้สนับสนุน ฮิลราลี คลินตัน เมื่อปี 2016 ความเข้าใจนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรายงานข่าวของสื่อไทย (บางส่วน) อย่างเกินจริงและขยายความอย่างล้นเกิน ถึงการปฏิเสธระบบเลือกตั้งว่าเท่ากับการปฏิเสธคุณค่าของประชาธิปไตย
ในปี 2016 เหตุประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเด็นหลักของผู้ชุมนุมที่สนับสนุนคลินตันออกมาประท้วง คือ ‘ระบบเลือกตั้ง’ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมมองว่าไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชนที่แท้จริง และคะแนนเลือกตั้งมหาชน (popular vote) กับสัดส่วนคณะผู้เลือกตั้งไม่สัมพันธ์กัน
แน่นอนว่ามิใช่เหตุผลแบบไทยๆ ที่เมื่อไม่พอใจการเลือกตั้ง ก็อาจจะเลือกล้มวิถีทางประชาธิปไตยทั้งระบบ ฉะนั้นการออกมาแสดงความไม่พอใจระบบการเลือกตั้งของคนอเมริกันจึงเป็นความปรารถนาที่จะไปให้ถึงประชาธิปไตยที่เข้มข้นกว่า สะท้อนเสียงของประชาชนให้มากยิ่งกว่า (เราไม่ปฏิเสธข้อเรียกร้องบางส่วนที่มีการเสนอให้มีการทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุม)
ประเด็นถัดมาคือ แล้วเราจะเข้าใจกระบวนการขัดขวางในไทยเมื่อปี 2014 ได้อย่างไร โดยไม่ใช้กรอบการเคลื่อนไหวในสหรัฐทั้งในปี 2016 และ 2021
บทความเรื่อง Thailand’s Failed 2014 Election: The Anti-Election Movement, Violence and Democratic Breakdown เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ตีพิมพ์ใน Journal of Contemporary Asia ปี 2016 เสนอให้ทำความเข้าใจความรุนแรงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 ว่าเป็นผลของการที่รัฐไทยกำลังขาดฉันทามติร่วมกันของชนชั้นนำและคนในสังคม ซึ่งกินเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้
ความรุนแรงในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 (รวมถึงในช่วงของการรณรงค์เลือกตั้งและการเลือกตั้งล่วงหน้า) เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงให้เห็นความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการเปลี่ยนความรุนแรงในการเลือกตั้งจากการฆาตกรรมคู่แข่งทางการเมือง (ทศวรรษที่ 1980-1990) มาสู่ความรุนแรงโดยผู้ชุมนุม (2014) กรณีการปิดหน่วยเลือกตั้งเลือกตั้งของ กปปส. เตือนให้เรารับรู้ว่า ปฏิบัติการของการเมืองภาคประชาชน ในบางครั้งแล้วอาจจะสามารถก่อให้เกิดความรุนแรงถึงตายและหยุดยั้งประชาธิปไตยได้
การเคลื่อนไหวเพื่อล้มการเลือกตั้งในปี 2014 ของกลุ่ม กปปส. ให้ความรู้อย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางการเมืองไทย โดยการศึกษานี้พบว่าเป็นครั้งแรกที่ขบวนการเคลื่อนไหวล้มสถาบันการเลือกตั้ง (p.2) ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในทศวรรษก่อนหน้านั้นที่ชี้ว่าในหลายประเทศรวมทั้งไทย ประชาสังคมคือเมล็ดพันธ์ุของการมีส่วนร่วมทางการเมือง จิตสำนึกสาธารณะของพลเมือง หรือประชาธิปไตย
ข้อเสนอข้างต้นโต้แย้งกับงานวิชาการบางชิ้น ที่เสนอไว้ว่าการเมืองภาคประชาชนมีส่วนในการขยายพรมแดนประชาธิปไตยได้ เพราะในบางลักษณะประชาสังคมอาจจะกลายเป็นขบวนการอนารยะจนทำลายคุณค่าประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน และในหลายประเทศเอง ขบวนการประชาสังคมก็ไม่ได้มีพื้นฐานจากความเท่าเทียมหรือสิทธิส่วนบุคคล หากแต่มีพื้นมาจากช่วงชั้นทางสังคม ชาติพันธุ์และศาสนา และต่อต้านค่านิยมประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ
ขบวนการประชาสังคมจึงไม่สามารถอธิบายในฐานะหน่อเนื้อที่เป็นไปได้ทั้งดีหรือเลวให้กับประชาธิปไตย แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย อย่างบริบททางการเมืองความเข้มแข็งของรัฐประชาธิปไตยระหว่างระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
ประจักษ์ ย้อนกลับไปทบทวนการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้าความล้มเหลวจะมาถึงในปี 2014 เพียง 3 ปี ไว้ว่า “แม้ว่าการเลือกตั้งของไทยในเดือนกรกฎาคม 2011 จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างขบวนการเสื้อแดง และขบวนการเสื้อเหลือง หลังจากการนองเลือดของคนเสื้อแดงในปี 2010 แต่ก็ปราศจากการขัดขวางหรือปิดกั้น” (p.6) การเลือกตั้งครั้งนั้น (2011) เปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยังคงมุ่งมั่นที่จะเล่นตามกติกาของการเลือกตั้ง แต่การชุมนุมเพื่อล้มการเลือกตั้งของ กปปส. ในปี 2014 ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองนั้นให้แตกต่างออกไป
จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า คำปราศรัยใหญ่ของแกนนำขบวนการ กปปส. นอกจากลดทอนคุณค่าของหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่ประชาชนมีเท่าเทียมกันแล้ว ยังมีถ้อยแถลงจากแกนนำของขบวนการที่สนับสนุนความรุนแรงถูกให้ความชอบธรรมในฐานะสงครามระหว่างความดีกับความเลว และจากการสำรวจช่วงเวลาของความรุนแรงก่อนและระหว่างการเลือกตั้งในปี 2013-2014
พบว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนที่สนับสนุนการเลือกตั้งและต่อต้านการเลือกตั้ง ไม่ใช่นักการเมืองกับหัวคะแนนที่มักจะเกิดขึ้นก่อนและหลังการเลือกตั้ง แต่เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งที่มาจากการแบ่งขั้วทางการเมืองก่อนหน้านั้น และความรุนแรงครั้งนี้มีลักษณะสุ่มทำร้ายบุคคลไม่เลือกหน้า ต่างจากความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่มีการพุ่งเป้าในการสังหารหรือเอาชีวิตอย่างชัดเจน (p.15)
ข้อมูลจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าปฏิบัติการของ กปปส. แสดงให้เห็นการเปิดทางไปสู่การรัฐประหาร ที่กองทัพต้องการพาการเมืองไทยหวนกลับไปหาระบอบการเมืองแบบเผด็จการ ที่ระบบราชการและกองทัพมีบทบาทนำในการปกครอง
ฉะนั้น ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่ดีซี แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยให้เราเปรียบเทียบความรุนแรงในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2014 ที่ไทยได้จริง แต่ก็กระตุ้นให้ผู้คนหันกลับไปทบทวนความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตของไทย รวมไปถึงกระตุ้นให้เราสามารถพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมเสถียรภาพทางการเมืองได้ อาทิ ความเป็นอารยะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ระบบการเลือกตั้งและคุณค่าของประชาธิปไตย ที่วางอยู่บนการเคารพสิทธิทางการเมืองของเพื่อนร่วมชาติ มิให้มีการลดทอนทำลายกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
- หลังการจลาจลรอบอาคารสภาคองเกรสพบมีผู้เสียชีวิต 4 ราย
- เวลาประมาณ 3.00 น. ที่ดีซี สภาผู้แทนราษฎร มีมติคว่ำญัตติปฏิเสธการนับคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐแอริโซนา และมีมติคว่ำญัตติปฏิเสธการนับคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐเพนซิลเวเนีย เช่นเดียวกับที่ประชุมวุฒิสภามีมติคว่ำทั้งสองญัตติเช่นกัน
- สภาคองเกรสของสหรัฐ ประกาศรับรอง โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ และรับรอง กมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่