What is Neoliberalism? ‘เสรีนิยมใหม่’ บนความหมายที่เลื่อนไหล

‘เสรีนิยมใหม่’ (neoliberalism) คืออะไร 

เหตุใดในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีใครบางคนใช้คำคำนี้ไปแปะป้ายนิยามให้ใครคนอื่น 

แล้วเหตุใดเมื่อใครสักคนถูกกล่าวหาว่าเป็นเสรีนิยมใหม่ ก็เท่ากับว่าเขากลายเป็น ‘ฝ่ายขวา’ ไปโดยปริยาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน 

เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดังอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ซึ่งกล่าวถึงเสรีนิยมใหม่เอาไว้ในคำบรรยายสาธารณะของเขาในปี 1979 ที่ชื่อ The Birth of Biopolitics กระทั่งกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในแวดวงวิชาการว่า ฟูโกต์สนับสนุนเสรีนิยมใหม่ด้วยหรือเปล่า? หากใช่ ก็จะถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ของนักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนมากอธิบายว่า แท้จริงแล้ว เสรีนิยมใหม่ก็ไม่ต่างจากคำใหญ่ๆ ในทางสังคมศาสตร์ทั้งหลายที่มีความหมายลื่นไหล หลากหลาย และแปรเปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆ 

เวนดี บราวน์ (Wendy Brown) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอว่า เสรีนิยมใหม่อาจเป็นได้ตั้งแต่ชุดของนโยบายทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับหลักการของตลาดเสรีแบบสุดโต่ง หรือรูปแบบหนึ่งของความเป็นเหตุเป็นผลและศิลปะในการปกครอง ซึ่งพยายามเอาตรรกะและวิธีคิดของกลไกตลาดไปอธิบายชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ ไปจนถึงกระทั่งขั้นตอนหรือรูปแบบหนึ่งของระบบทุนนิยมที่ปรากฏตัวขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นโครงการทางการเมืองที่ชนชั้นนายทุนพยายามสถาปนาอำนาจนำทางเศรษฐกิจของชนชั้นตนเหนือสังคม เช่นที่ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) มาร์กซิสต์คนสำคัญ เสนอไว้ในหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ 

ด้วยความไม่ชัดเจนของคำว่าเสรีนิยมใหม่ เราจึงเห็นคำคำนี้ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางในบริบทและความหมายที่แตกต่างกันไปมาก จนเกิดการทึกทักไปเองว่าคนฟังต้องเข้าใจคำว่าเสรีนิยมใหม่อย่างถ่องแท้และตรงกันกับผู้ใช้งาน การมีคำคำนี้อยู่ในบทความสักชิ้นหนึ่งอาจไม่ช่วยให้เข้าใจมากนักว่าจริงๆ แล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่ พร้อมทั้งยังมีแนวโน้มว่าเสรีนิยมใหม่จะถูกใช้เพียงเพื่อสื่อถึงสิ่งที่เราไม่ชอบใจ โดยเฉพาะเมื่อคำว่าเสรีนิยมใหม่เป็นที่นิยมขึ้นมาได้ก็เพราะฝ่ายซ้าย (โดยเฉพาะมาร์กซิสต์) ซึ่งเอามาผูกโยงกับคำว่าทุนนิยม (ซึ่งก็เป็นคำใหญ่อีกหนึ่งคำ) จนกลายเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ กระทั่งใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเสรีนิยมใหม่ก็เท่ากับกลายเป็นฝ่ายขวาไปโดยปริยาย

บทความชิ้นนี้ต้องการเสนอว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่นั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่แรกกำเนิด อีกทั้งยังไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเดิมเสมอในยามที่มันปรากฏตัวในแต่ละพื้นที่และเวลา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะติดตามพัฒนาการของมันเพื่อให้เข้าใจเสรีนิยมใหม่ได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น

โฉมหน้าเสรีนิยมดั้งเดิม (classical liberalism)

เสรีนิยม (liberalism) เป็นคำเจ้าปัญหาเสมอ แม้เริ่มปรากฏชัดในศตวรรษที่ 19 แต่แนวคิดเบื้องหลังก็ย้อนไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 17 อาทิ ในงานของ โธมัส ฮอบส์ และ จอห์น ล็อก ซึ่งใช้คำนี้เพื่อเน้นความสำคัญของอิสรภาพของปัจเจกบุคคล เมื่อถูกนำมาใช้ในทางเศรษฐกิจ เสรีนิยมหมายถึงการประกันเสรีภาพของปัจเจกแต่ละคน ซึ่งมีสิทธิในการใช้สินทรัพย์ตามเจตนารมณ์ของตน ตั้งแต่การครอบครอง แลกเปลี่ยน หรือค้าขายในตลาด โดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกอย่างรัฐ

รัฐบาลในอุดมคติของแนวคิดเสรีนิยมจึงเป็นรัฐบาลที่มีขอบเขตอำนาจจำกัด (minimal state) เช่น การออกกฎระเบียบและบังคับใช้ ส่วนที่เหลือจงปล่อยให้ตลาดทำงาน เพราะถึงที่สุดแล้ว การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของปัจเจกจะก่อให้เกิดผลดีต่อสังคม เนื่องจากกลไกตลาดบีบให้ทุกคนต้องแข่งขันกันเพื่อสร้างกำไร ผู้ผลิตจึงต้องนำเสนอสินค้าที่คุณภาพดีขึ้นในราคาที่ต่ำลง เพื่อช่วงชิงลูกค้า จนในที่สุดต้นทุนการผลิตจะอยู่ระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และราคาก็สมเหตุสมผลที่สุด ‘มือที่มองไม่เห็น’ อันเกิดจากการวิ่งตามผลประโยชน์ส่วนตนของปัจเจกแต่ละคนจะช่วยให้เกิดความมั่งคั่งของชาติได้ในที่สุด 

ตลาดเสรีจึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ปล่อยให้เป็นไป’ (laissez faire)

คนจำนวนมากเชื่อว่า การที่รัฐบาลของประเทศยุโรปตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการค้าเสรี (ไม่เก็บภาษีหรือควบคุมการค้าระหว่างประเทศ) และมีตลาดเสรี (รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด) ทำให้ทุนนิยมพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแรกๆ ที่สมาทานลัทธินี้ เมื่อถึงทศวรรษ 1870 นวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น จักรกลไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็ได้ช่วยให้การผลิตคราวละมากๆ (mass production) เกิดขึ้นได้

เมื่อการค้าระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้นจนสร้างความมั่งคั่ง นักคิดเสรีนิยมก็พากันเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดจากการค้าเสรีจะช่วยยึดโยงประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน จนทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งล้าสมัย เพราะโลกทั้งโลกจะมี ‘สันติภาพถาวร’ อย่างเช่นที่ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาสายเสรีนิยมเสนอไว้ 

อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อโลกเช่นนี้ของพวกเสรีนิยมได้พังทลายลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากการแก่งแย่งแข่งขันหาตลาดและทรัพยากรของประเทศมหาอำนาจต่างๆ จนความขัดแย้งลุกลามบานปลายนั่นเอง

เมื่อเสรีนิยมพบคู่แข่ง

ความเชื่อมั่นในแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเริ่มเกิดรอยปริแตกในปี 1917 เมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin, 1870-1924) ซึ่งนำเสนอระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ท้าทายความเชื่อของระบบทุนนิยม (แบบเสรีนิยม) ในหลายด้าน ตั้งแต่การยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์เอกชนในการถือครองปัจจัยการผลิต เช่น เครื่องจักร โรงงาน หรือที่ดิน ซึ่งเป็นแหล่งสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือครอง (ชนชั้นนายทุน) เปลี่ยนมาเป็นการถือครองของรัฐ รัฐเป็นผู้จัดการผลิตทุกด้านรวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยต้องมาทำงานในระบบสหกรณ์หรือที่เรียกว่า ‘นารวม’ 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียคือการที่ระบบการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางได้เข้าแทนที่กลไกตลาด ซึ่งจะปรากฏชัดที่สุดเมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนา 5 ปีฉบับแรก ในปี 1928 นับเป็นการทดลองเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่ครั้งแรกตามแนวทางของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งแม้แต่มาร์กซ์เองก็ไม่เคยทำ แม้จะเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมที่ล้าหลังและระบบการผลิตแบบทุนนิยมยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ตามที่มาร์กซ์วาดหวังไว้ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ก็ประสบความสำเร็จจนผลผลิตและรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่่นๆ ในโลกขณะนั้น 

โมเดลเศรษฐกิจของรัสเซียสร้างความประทับใจให้ชาวโลกไม่น้อย เนื่องจาก ณ เวลานั้น ยังไม่มีใครทราบตัวเลขผู้คนในชนบทนับล้านๆ ที่อดอยากและถูกปราบปรามอย่างหนักเนื่องจากทางการรัสเซียปกปิดไว้ 

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ปะทุขึ้นในปี 1929 ยิ่งทำให้ลัทธิเสรีนิยมถูกท้าทายหนักข้อขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับได้ว่าได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานที่สุด จนดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงเหว ผลผลิตมวลรวมของประเทศลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ การว่างงานเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัวภายระยะเวลาเพียง 3 ปี ทั้งนี้วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ยังส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง เมื่อคนจ่ายหนี้ไม่ได้ ธนาคารก็จะลดการปล่อยเงินกู้ลง ทำให้ธุรกิจต่างๆ และคนทั่วไปกู้เงินได้ยากขึ้นจึงลดการใช้จ่ายลง จนส่งผลให้อุปสงค์ในเศรษฐกิจทั้งระบบลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ธนาคารของประเทศต่างๆ ก็ไม่อาจเพิ่มเงินเข้าไปในระบบได้เอง เพราะยังต้องยึดโยงกับมาตรฐานทองคำ 

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ รัฐบาลจึงเป็นตัวแสดงทางเศรษฐกิจเพียงหนึ่งเดียวที่อาจช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในระบบได้ เมื่อประกอบกับความเสื่อมคลายของลัทธิเสรีนิยม แนวคิดการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางจึงเสนอตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยมีหัวหอกสำคัญคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes, 1883-1946) แม้เป็นคนอังกฤษแต่ความคิดของเคนส์กลับมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐ ในยุคประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt, 1882-1945) ผ่านนโยบาย ‘New Deal’ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930

นโยบาย New Deal มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซาตามแนวทางสำนักเคนส์ รัฐต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายอย่างแข็งขัน เพื่อเพิ่มระดับอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจโดยรวม นิวดีลฉบับแรกออกมาในปี 1933 ขยายและปรับปรุงระบบสินเชื่อของเกษตรกรรายย่อย บนฐานคิดว่าเมื่อคนกู้เงินได้ง่ายขึ้นก็จะลงทุนและใช้จ่ายมากขึ้น มีการอัดฉีดงบประมาณในโครงการก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น เขื่อน ถนน เพื่อกระตุ้นการจ้างงานจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น New Deal ในระยะต่อมายิ่งเข้มข้นขึ้น เมื่อรัฐพยายามเพิ่มสวัสดิการแก่ประชาชนผ่านการออกกฎหมายประกันสังคม (Social Security Act) ซึ่งเริ่มจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุและจ่ายเงินประกันให้คนว่างงาน

เสรีนิยมยังไม่ตาย: การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่

นโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางสำนักเคนส์ ทำให้การเติบโตทางธุรกิจในสหรัฐมีเสถียรภาพได้ อย่างน้อยก็จนกว่าจะจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเป็นเค้าโครงให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินตาม 

อย่างไรก็ดี วอลเทอร์ ลิพมัน (Walter Lippmann, 1889-1974) นักเขียนและนักข่าวชื่อดัง ได้เขียนหนังสือเรื่อง สังคมที่ดี (The Good Society, 1937) วิจารณ์ว่า การที่รัฐแทรกแซงด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ และยังเป็นการให้อำนาจรัฐมากเกินอย่างไม่จำเป็น ซึ่งแทบไม่ต่างจากรัฐบาลโซเวียตที่เป็นสังคมนิยมและเป็นเผด็จการเลย 

ลิพมันเสนอว่าการสร้างสังคมที่ดี ต้องจำกัดอำนาจรัฐลงตามแนวทางของเสรีนิยม ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพอ่อนแรง

หนังสือของลิพมันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในยุโรป จนมีการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในปี 1938 ช่วงที่มีการเปิดตัวหนังสือ ลิพมันถูกเชิญจากนักปรัชญาฝรั่งเศสนาม หลุยส์ รูแฌ (Louis Rougier) เข้าร่วมงานสัมมนา ณ กรุงปารีส พร้อมกับนักวิชาการสายเสรีนิยมอีก 25 คน ซึ่งมาจากประเทศต่างๆ ยุโรป โดยเฉพาะจากฝรั่งเศสและเยอรมนี เพื่อหาหนทางรื้อฟื้นความคิดแบบเสรีนิยมขึ้นมาใหม่ จนก่อกำเนิดคำว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ (libéralisme) ซึ่งเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน อเล็กซานเดอร์ รัสโตว์ (Alexander Rüstow)

อย่างไรก็ตาม แม้นักวิชาการทุกคนที่เข้าร่วมจะเห็นพ้องกันว่าเสรีนิยมแบบดั้งเดิมล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็ยังไม่อาจตกลงกันได้ว่าแนวคิดเสรีนิยมที่ต้องการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ควรมีหน้าตาเช่นไร ประเด็นหลักที่บรรดานักเสรีนิยมโต้เถียงกันคือ บทบาทของรัฐในด้านเศรษฐกิจ 

ในขณะที่กลุ่มหนึ่งเชื่อในความจำเป็นของการแทรกแซงจากรัฐบ้าง เพื่อให้ตลาดเสรีสามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับทฤษฎีมากที่สุด แม้จะไม่ถึงกับสร้างรัฐสวัสดิการอย่างสำนักเคนส์ แต่รัฐควรต้องเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แต่อีกกลุ่มกลับเชื่อว่าควรปล่อยให้ตลาดทำงานไปตามธรรมชาติของมันเอง ซึ่งเป็นหลักการดั้งเดิมของลัทธิเสรีนิยม บทบาทเดียวที่รัฐควรมีคือ การขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาด

แม้ไม่อาจตกลงกันได้ว่าเสรีนิยมใหม่ควรเป็นอย่างไร แต่งานสัมมนาของ วอลเทอร์ ลิพมัน ได้จุดประกายและเป็นโอกาสให้นักคิดเสรีนิยมรุ่นใหม่เหล่านี้ได้มาพบเจอกัน ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตั้งสมาคม Mont Pelegrin Society ภายหลังในปี 1947 โดยมีสมาชิกชื่อดังอย่าง ฟรีดิช ฮาเย็ก (Friedrich Hayek) มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) จอร์จ สติกเลอร์ (George Stigler) และ ลุดวิก ฟอน มิเซส (Ludwig von Mises) เป็นต้น นักคิดกลุ่มนี้เองจะเข้าไปมีอิทธิพลในการเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้เข้าไปสู่ภาคปฏิบัติในภายหลัง โดยเฉพาะฮาเย็กและฟอน มิเซส ซึ่งตั้งสำนักจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมายในมหาวิทยาลัยชิคาโก

หลากหลายสายธารของเสรีนิยมใหม่

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ มีความแตกต่างหลากหลายตั้งแต่แรกคลอด มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศส อธิบายการแยกสายของเหล่านักคิดเสรีนิยมใหม่ไว้เป็นอย่างดีในคำบรรยายสาธารณะของเขา ณ มหาวิทยาลัยฝรั่งเศส ปี 1979 ซึ่งถูกพิมพ์เป็นหนังสือในภายหลังในชื่อ The Birth of Biopolitics ในปี 2008 

มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)

ฟูโกต์อธิบายว่า ความเห็นที่ไม่ตรงกันเรื่องบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจได้แยกนักคิดเสรีนิยมที่เข้าร่วมงานสัมมนาของลิพมันเป็น 2 สาย ได้แก่ เสรีนิยมใหม่ตามระเบียบ (Ordoliberalsim) หรือโมเดลเยอรมัน และเสรีนิยมใหม่สายอเมริกัน ซึ่งได้อิทธิจากนักคิดเชื้อสายออสเตรียอย่างฮาเย็กและฟอน มิเซส และเป็นสายของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่สยายปีกไปทั่วโลกจนถึงบัดนี้

เสรีนิยมแบบใหม่เติบโตในเยอรมนีตะวันตกช่วงทศวรรษ 1950 ภายใต้การนำของ ลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ (ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี) และบรรดานักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่เข้าร่วมการสัมมนาของลิพมัน พวกเขาหวังใช้ลัทธิเสรีนิยมเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีฟื้นตัวจากความเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

เสรีนิยมตามระเบียบมองว่า ตลาดไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งหากปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ เพราะกลุ่มทุนใหญ่มีแนวโน้มจะทำลายตลาดลง ผ่านการเอารัดเอาเปรียบและรวมหัวกันกีดกันผู้เล่นรายย่อย พวกเขาจึงเสนอว่ารัฐต้องเข้ามาควบคุมผ่านการวางรากฐานทางกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องการแข่งขันในตลาดให้ดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐจะต้องไม่มีอำนาจมากเกินไปจนสามารถแทรกแซงกลไกตลาดตามอำเภอใจ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลนาซีมาแล้ว

กล่าวอีกนัย เสรีนิยมตามระเบียบ (Ordoliberalism) คือการนำหลักนิติรัฐมาใช้กับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยมีประสบการณ์อันขมขื่นในสมัยนาซีที่รัฐมีอำนาจล้นเกินเป็นบทเรียน จนสามารถวางรากฐานให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงได้ในที่สุด กระทั่งถูกเรียกว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์บนลุ่มน้ำไรน์’ 

อย่างไรก็ตาม การประสบผลสำเร็จของเสรีนิยมอีกครั้งในเยอรมนีกลับทำให้คำว่าเสรีนิยมใหม่เลือนหาย โดยถูกทดแทนด้วย ‘เสรีนิยมตามระเบียบ’ ซึ่งจะชูคำว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) มาแทนที่

ในขณะที่คำว่าเสรีนิยมใหม่หมดความสำคัญลงในเยอรมนี สหรัฐอเมริกากลับเปิดรับอิทธิพลทางความจาก ฟรีดิช ฮาเย็ก อย่างเต็มที่ ในฐานะผู้เขียนหนังสือ เส้นทางแห่งการเป็นทาส (The Road to Serfdom) ในปี  1944 ซึ่งอธิบายว่า การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางและการที่รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเป็นเผด็จการและทุบทำลายเสรีภาพของมนุษย์ในท้ายที่สุด ฮาเย็กยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งสมาคมมงต์เปเลแกร็ง ซึ่งทำให้เขาและ มิลตัน ฟรีดแมน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกได้ร่วมงานกันในการเผยแพร่แนวคิดมากขึ้น จนทำให้คำว่าเสรีนิยมใหม่เป็นที่นิยมในโลกภาษาอังกฤษ หลังจากถูกใช้ในรูปคำภาษาฝรั่งเศสมาอย่างยาวนาน

เสรีนิยมตามแนวทางนี้ก็ยังยึดหลักคิดว่า ความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมเศรษฐกิจรังแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง เพราะเศรษฐกิจและสังคมเป็นระบบที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าใจได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นการบังคับใช้นโยบายทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลโดยต้องการวัตถุประสงค์บางอย่าง จึงไม่อาจรับประกันว่าจะได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทั้งยังเป็นการบังคับให้ผู้คนกระทำการโดยปราศจากเสรีภาพอีกด้วย รัฐจึงควรต้องถูกลดบทบาทลงให้มากที่สุด

เมื่อเสรีนิยมใหม่สยายปีก

เวนดี บราวน์ อธิบายว่า ชุดนโยบายของเสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญกับหลักการตลาดเสรีอย่างมาก เช่น การลดกฎเกณฑ์กำกับที่มีต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน (deregulation) การตัดลดงบประมาณภาครัฐในการส่งเสริมสวัสดิการสังคม การแปรรูปกิจการรัฐและบริการสาธารณะให้กลายเป็นของเอกชน (privatization)

กล่าวกันว่าเสรีนิยมใหม่ถูกแปรเป็นนโยบายในภาคปฏิบัติครั้งแรกในโลกที่ประเทศชิลีในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารของนายพลเอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมภายใต้รัฐบาลฝ่ายซ้ายเดิมอย่าง ซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) ถูกรื้อใหม่หมด เพื่อเปิดทางให้การปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์ที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกภายใต้อิทธิพลของฟรีดแมน

ในห้วงเวลาดังกล่าว สหรัฐยุตินโยบายการแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำในปี 1971 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลก พัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลังฟื้นตัวจากสงคราม ผู้คนไม่ได้เห็นว่าเงินดอลลาร์มีค่ามากเท่าทองคำอีกต่อไป จึงพากันเอาเงินดอลลาร์ไปแลกจนทองคำสำรองของสหรัฐลดลง และเงินดอลลาร์ก็ลดมูลค่าลงด้วย ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดโลกอย่างมาก พร้อมกันนั้นก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 ขึ้นในปี 1973 เมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันรวมตัวกันผูกขาดแล้วขึ้นราคาน้ำมัน เมื่อวิกฤตการณ์น้ำมันปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 1979 ทั่วทั้งโลกจึงประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ในขณะที่ราคาสินค้าก็ดีดตัวสูงขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับการวางแผนเศรษฐกิจจากรัฐมากขึ้นด้วยข้อหาว่า เทอะทะ สิ้นเปลือง และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ทัน

จุดเปลี่ยนสำคัญในนโยบายทางเศรษฐกิจของตะวันตกเกิดขึ้นเมื่อ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Magaret Thatcher) ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในปี 1979 แธตเชอร์ดำเนินนโยบายตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ เช่น ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม ปราบสหภาพแรงงานอย่างหนัก แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นกิจการเอกชน ทั้งก๊าซ ประปา ไฟฟ้า เหล็กกล้า ฯลฯ รวมถึงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยโดยมุ่งหวังลดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะงักอย่างรุนแรง มีคนตกงานถึง 3 ล้านคน

เสรีนิยมใหม่ข้ามฟากไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 1981 เมื่อ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เสรีนิยมใหม่ในน้ำมือของเรแกนไม่เพียงมีนโยบายคล้ายคลึงกับของแธตเชอร์ แต่ยิ่งสุดโต่งมากขึ้น รัฐบาลลดภาษีให้ผู้มีรายได้สูง เพราะหวังจูงใจให้เหล่าคนรวยยากลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับเหล่าแรงงานในที่สุด (trickle-down theory) ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับตัดสวัสดิการที่อุดหนุนผู้ยากไร้ออกและไม่เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้ เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานหนักขึ้น 

โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)

นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ใช้งานในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย จนต้องหันมาใช้นโยบายแบบเสรีนิยมตามกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่กู้ยืมเงินปริมาณมากเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายใน เมื่อสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนประเทศเหล่านี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนด กระทั่งเกิดเป็นวิกฤตหนี้ประเทศโลกที่สาม (Third World Debt Crisis)

ท่ามกลางวิกฤตเช่นนั้น ประเทศลูกหนี้หลงเหลือทางเลือกไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นได้แก่การขอกู้เงินจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่นั่นก็มาพร้อมการยื่นเงื่อนไขให้ประเทศผู้กู้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (structural adjustment programme) ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการดำเนินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ อาทิ ลดบทบาทของรัฐในภาคเศรษฐกิจ ตัดสวัสดิการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ และผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน

เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1990 ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ได้แพร่ไปทั่วทุกมุมโลก จนกลายเป็นความจริงชุดใหม่ที่ทุกประเทศต้องเปิดรับการลงทุนและเปิดเสรีทางการค้า

เสรีนิยมใหม่ในฐานะปิศาจร้าย

นักเสรีนิยมใหม่ตามแนวทางสำนักชิคาโกไม่เพียงมองมนุษย์เป็นตัวแสดงทางเศรษฐกิจ ในยามที่อยู่ในพื้นที่ทางเศรษฐกิจหรือตลาดเหมือนอย่างเช่นลัทธิเสรีนิยมดั้งเดิมเท่านั้น หากแต่ยังพยายามขยายวิธีคิดแบบตลาดไปยังปริมณฑลอื่นๆ จนครอบคลุมทุกมิติในชีวิตของมนุษย์ หนึ่งในหัวหอกของการศึกษาในแนวทางนี้คือ แกรี เบคเกอร์ (Gary Becker) 

แกรี เบคเกอร์ (Gary Becker) 

เบคเกอร์พยายามเปลี่ยนตัวตนของมนุษย์ทุกคนให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) ซึ่งตัดสินใจผ่านการคิดคำนวณอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่างภายใต้ทรัพยากรจำกัด ไม่เฉพาะเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในความหมายคับแคบ เช่น การค้าขาย การทำงาน แต่ยังขยายไปยังด้านอื่นๆ ในชีวิตอาทิ การแต่งงาน การศึกษา การมีลูก อาชญากรรม หรือการเสพยาเสพติด

การมองมนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเสมือนบริษัทขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการ สอดคล้องกับนโยบายหลายด้านของนักคิดเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะการตัดสวัสดิการสังคมที่รัฐตามแนวทางสำนักเคนส์เคยจัดหาให้ประชาชน เพราะเมื่อเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็ย่อมรู้ว่าตนเองต้องการอะไร และสิ่งไหนที่จะตอบสนองความต้องการในชีวิตของตนได้ดีที่สุด 

ด้วยเหตุนี้ จึงเหมาะสมแล้วที่มนุษย์ต้องลงทุนในด้านต่างๆ ในชีวิตเอง ตั้งแต่การเลี้ยงดูบุตร การศึกษา การดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งล้วนกลายเป็นภาระรับผิดชอบของปัจเจกแต่ละคน แทนที่จะหวังพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐอย่างในอดีต เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า เสรีภาพมาพร้อมความรับผิดชอบ ทั้งหมดเหล่านี้คือมโนทัศน์ ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) อันโด่งดังของเบคเกอร์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การขยายตรรกะแบบตลาดจนครอบคลุมทุกมิติในชีวิตคนไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป ยิ่งเมื่อเสรีนิยมใหม่ให้คุณค่ากับแข่งขันในตลาดอย่างมาก การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ที่อยู่อาศัย การคมนาคม การรักษาพยาบาล ให้เป็นของเอกชน ก็ทำให้ประชาชนที่ต้องการใช้บริการเหล่านี้ต้องแบกรับต้นทุน (จ่ายค่าบริการ) เอง  เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนเกิดอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสูง ผู้คนนับล้านๆ กลับพบว่าแทบไม่มีตาข่ายความปลอดภัยใดๆ รองรับ ถูกทิ้งให้ต้องรับผิดชอบชีวิตตนเองและครอบครัวทั้งๆ ที่เพิ่งตกงานเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตซับไพรม์ ปี 2008 

การผลักภาระให้ปัจเจกชนทำให้เสรีนิยมใหม่ถูกโจมตีจากนักคิดฝ่ายซ้าย ทั้งมาร์กซิสต์และสังคมนิยม สำหรับฝ่ายซ้ายเหล่านี้ เสรีนิยมใหม่ไม่ใช่อะไรอื่นนอกเสียจากระบบทุนนิยมที่กลายร่างและบรรจุหีบห่อมาในชื่อใหม่ ทั้งยังขูดรีดมนุษย์และก่อให้เกิดความแปลกแยกอย่างเข้มข้นมากยิ่งกว่าเดิม ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนคนรวยก็รวยขึ้น จนมีทรัพย์สินมากกว่าคนที่เหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ รวมกันเสียอีก

กล่าวได้ว่า เสรีนิยมใหม่กลายเป็นปิศาจร้ายในสายตาของฝ่ายซ้ายนับแต่นั้น ดั่งตัวอย่างที่ชัดเจนในหนังสือของ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักคิดสายมาร์กซิสต์รุ่นใหม่ พวกเขาไม่ได้มองว่าเสรีนิยมใหม่กีดกันรัฐออกจากปริมณฑลทางเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่เป็นการจับมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างรัฐและนายทุน ซึ่งต่างฝ่ายก็ได้ประโยชน์จากการปล่อยให้กลไกตลาดรุกคืบเข้าสู่มิติต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ เพราะเมื่อสวัสดิการจากรัฐถูกตัด เอกชนก็มีโอกาสทำมาหากินจากตรงนั้น เสรีนิยมใหม่จึงต่างจากเสรีนิยมดั้งเดิมในแง่ที่ต้องการมีรัฐที่เข้มแข็ง เพื่อใช้กลไกของรัฐอย่างตำรวจในการปราบปรามการลุกฮือของชนชั้นแรงงานที่ไม่พอใจ 

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า นักเสรีนิยมใหม่ไม่มีปัญหาในการจับมือกับรัฐบาลเผด็จการและอำนาจนิยม เพื่อทำให้ตลาดเสรีดำเนินการต่อไปได้โดยไม่สะดุด เช่นที่เคยเกิดขึ้นในชิลี สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา 

เมื่อเห็นเช่นนี้ นักคิดฝ่ายซ้ายจึงจัดกลุ่มให้พวกเสรีนิยมใหม่กลายเป็น ‘ฝ่ายขวาใหม่’ จากจุดยืนของตน เมื่อคำว่าเสรีนิยมใหม่แพร่กระจายออกจากโลกวิชาการ อย่างน้อยก็ตั้งแต่การตีพิมพ์หนังสือของฮาร์วีย์และ The Birth of Biopolitics ของฟูโกต์ ช่วงกลางทศวรรษ 2000 คำว่าเสรีนิยมใหม่ซึ่งเคยมีความหลากหลาย ไม่ลงร่องลงรอยกัน ก็มีกลิ่นอายในแง่ลบจากการใช้งานของฝ่ายซ้ายเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งมีคำกล่าวว่า หากมาร์กซิสต์ยุคเก่ามุ่งโจมตีทุนนิยม มาร์กซิสต์รุ่นใหม่ก็มีเป้าหมายอยู่ที่การโจมตีเสรีนิยมใหม่

อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้เป็นเพียงบทสำรวจความเป็นมาและประวัติการใช้งานคำว่าเสรีนิยมใหม่เท่านั้น โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือเทียบเคียงว่า หากมีใครสักคนใช้คำนี้เพื่อนิยามใครนั้น เขาหมายถึงอะไร 

และใครคนนั้นที่ถูกปิดป้ายดังกล่าว มีคุณสมบัติส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าข่ายเสรีนิยมใหม่จริงหรือไม่

อ้างอิง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า