What We Think About When We Think About Football: กีฬาลูกกลมๆ มีมากกว่าลมอยู่ข้างใน

ขึ้นชื่อว่า ‘ฟุตบอล’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ภายในสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้าและกรอบเวลาแข่งขัน 90 นาที เหตุการณ์ต่างๆ เคลื่อนเปลี่ยนไปมาพร้อมๆ กับพิกัดของลูกฟุตบอลที่ลอยสลับช้าเร็วไปตามแรงเตะ บางจังหวะอาจเกิดปรากฏการณ์ระดับปาฏิหาริย์ที่ทำให้หัวใจกองเชียร์สูบฉีดพลุ่งพล่าน ไม่ก็เป็นความน่าเบื่อจืดสนิทเป็นน้ำยาเย็น หรือแย่ที่สุดอาจเป็นการเผยตัวของความโชคร้ายในรูปของโศกนาฏกรรม

หนังสือ What We Think About When We Think About Football ของ ไซมอน คลิชลีย์ (Simon Critchley, 2017) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่พยายามใช้ปรัชญาเข้าคลี่คลายความซับซ้อนที่พันเกี่ยวเคี้ยวคดอยู่ในโลกฟุตบอล กีฬาซึ่งเขามองว่างดงามดุจ ‘บทกวี’ 

Simon Critchley (image: nybooks.com)

ทำไมต้องปรัชญา? 

คลิชลีย์ออกตัวตั้งแต่บทแรกว่า เขาไม่ได้พยายามเขียนเกี่ยวกับปรัชญาของฟุตบอล แต่ที่เขาเลือกใช้ปรัชญาเป็นตัวงัดแงะ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาสาย Phenomenology (ปรากฏการณ์วิทยา) เป็นเครื่องมือที่เขาหยิบจับได้ถนัดมือเท่านั้นเอง 

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความถนัดมือ การเลือกใช้ปรัชญาสาย Phenomenology ยังเป็นเพราะมันเป็นปรัชญาของ “การอธิบายสิ่งที่แสดงตัวอยู่ต่อหน้าเราในชีวิตแต่ละวัน … เป็นความพยายามสร้างความชัดเจนให้กับอะไรที่คลุมเครือในประสบการณ์ของเรา … เป็นการเรียนรู้ที่จะมองโลกใหม่” (p.15) “เพื่อสะท้อนประสบการณ์ของฟุตบอลให้ใกล้เคียงที่สุด” (p.19) 

ทำไมต้องฟุตบอล? 

คลิชลีย์ให้เหตุผลว่าเพราะ “ฟุตบอลเป็นความลุ่มหลงตลอดชั่วชีวิตของผม และเอาเข้าจริง มันเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่สามารถพูดได้ว่า ได้ผูกรวมหลากชีวิตเข้าด้วยกัน และในเวลาเดียวกันยังเชื่อมต่อไปยังชีวิตอื่นๆ อีกด้วย” (p.19) ตามนัยนี้ ฟุตบอลจึงไม่ได้ต่างอะไรจากศาสนามากนัก โดยคลิชลีย์แสดงตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ‘ลิเวอร์พูล’ คือศาสนาเดียวที่เขามี

ทำไมฟุตบอลถึงเป็นศาสนา? สำหรับประเด็นนี้คลิชลีย์ไม่ได้ให้ความสนใจตรงๆ นัก แต่อาจหาร่องรอยคำตอบได้ในบทที่ 9 ‘Stupidity’ ที่ว่า “การเป็นแฟนบอล เรียกร้องให้มีความเชื่อเรื่องเทพนิยาย ความเขลา และการมองเห็นโลกอุดมคติ (utopianism)… [เพราะ] มันมีความเกี่ยวโยงกันอยู่ระหว่างการโง่กับความเชื่อในยูโทเปีย (There is link between folly and the belief in utopia)” (p.88) ฟุตบอลจะอนุญาตให้ผู้คนฝันถึงสถานที่ซึ่งตนไม่เคยไป กระทั่งอาจไม่มีวันได้ไป เหมือนกับที่ศาสนิกชนจำนวนมากเฝ้าฝันถึงการไปเยือนสวรรค์ชั้นฟ้า มันเปิดให้จินตนาการถึงสิ่งที่ (คล้ายจะ) อยู่เหนือเงื่อนไขความเป็นไปได้ ทำให้ชนชั้นแรงงานในไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับสโมสรร่ำรวยในอังกฤษ หรือทำให้คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติสักชาติหนึ่งในทวีปยุโรป การส่งแรงเชียร์ครั้งแล้วครั้งเล่าของคนเหล่านี้ยังดำเนินไปในลักษณะเดียวกับการเข้าพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อถึงวันแข่งขัน พวกเขาแต่งยูนิฟอร์มของสโมสร/ทีมชาติ เข้าร่วมสถานประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะสนามการแข่งขันหรือนั่งชมการถ่ายทอดสดจากอีกซีกโลกอันห่างไกล โห่ร้องสวดภาวนาให้ลูกกลมๆ ที่มีลมอยู่ข้างใน พุ่งเสียดเสาผ่านเส้นประตูไปตุงตาข่ายฝั่งตรงข้าม และเพ่งสมาธิอ้อนวอนไม่ให้มันย้อนกลับมาจอดหลังเส้นประตูฝั่งตัวเอง ทั้งหมดนี้ดำเนินไปพร้อมกันกับ ‘ความหวัง’ ทั้งในระยะสั้นที่จะเป็นผู้ชนะเมื่อกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา และในระยะยาวว่าจะได้ครองตำแหน่งแชมป์ในตอนท้าย และหากจบฤดูกาลแล้วยังไม่ได้แชมป์ ความหวังก็ยังหล่อเลี้ยงต่อไปอีกว่า ‘ไม่เป็นไร ฤดูกาลหน้าเอาใหม่’ การมีความหวังใหม่เรื่อยๆ (the ever-renewed hope) นี้เอง ที่คลิชลีย์เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งกัดกินแฟนบอล ไม่ใช่ความผิดหวังหรือการปราชัยแต่อย่างใด (p.96, 131) 

การทำซ้ำไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้คลิชลีย์เห็นว่า สารัตถะหรือแก่นแท้อย่างหนึ่งของฟุตบอล คือ ‘การเล่นซ้ำ’ (repetition) เขาบอกว่า ทุกนัดการแข่งขันจะมีความเป็นต้นแบบ (original) อยู่ ซึ่งเมื่อทุกนัดเป็นต้นแบบเหมือนกันหมด ย่อมทำให้ไม่มีนัดไหนเป็นต้นแบบ/ต้นกำเนิดที่แท้จริง ทั้งหมดเป็นเพียงการเล่นซ้ำทำซ้ำเพียงเท่านั้น (p.55-59) 

(image: talksport.com)

ความวิตกกังวลในฟุตบอล

การต้องเผชิญกับความซ้ำซาก ย่อมนำมาซึ่งความเบื่อหน่าย แต่ชีวิตของคนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องเจอหรือสร้างอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ตรงกันข้าม ชีวิตปกติประจำวันคือการทำอะไรเป็นกิจวัตร (routine) อย่างการตื่นขึ้นมาเช็ดขี้ตาล้างหน้าแปรงฟัน และหากนั่งกางตารางชีวิตของแต่ละอาชีพดูแล้ว คงไม่มีอาชีพไหนซ้ำซากไปกว่า ‘นักกีฬา’ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อความซ้ำซากของชีวิตประจำวันปะทะเข้ากับสำนึกสมัยใหม่ (modernity) ที่เรียกร้องให้มีอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เรียกร้องให้ชีวิตต้องออกจากจุดปลอดภัย (out of comfort zone) มันจึงไปด้วยกันได้กับเกมการแข่งขันฟุตบอล เพราะในทางหนึ่งฟุตบอลก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการแตกหักชั่วคราวกับชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน (p.106) 

การรอคอยสถานการณ์ที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยน คือสิ่งที่แฟนบอลโหยหาตลอดเวลาการแข่งขัน 90 นาที พวกเขาต้องการเพียงแค่ไม่กี่วินาทีที่ลูกบอลเข้าไปตุงตาข่ายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น การเชียร์บอลจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความวิตกกังวล (anxiety) ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลที่ทีมตัวเองไม่สามารถทำประตูได้เสียที หรือความวิตกกังวลว่าทีมตัวเองจะเสียประตูในไม่กี่นาทีข้างหน้า แต่ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์เหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หลายๆ ครั้ง ผู้ชมอาจไม่ได้เห็นอะไรมากไปกว่าการเคาะบอลไปมาตลอดเวลาการแข่งขัน 

คลิชลีย์ได้อธิบายสภาวะของการเป็นแฟนบอล ผ่านปรัชญาของ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ว่า ความวิตกกังวลเป็นสิ่งพื้นฐานที่สิ่งมีชีวิตต้องเผชิญเมื่อเข้าปะทะประสบการณ์แห่งเวลา และความวิตกกังวลนี้เองจะย้ำเตือนถึงการมีอยู่ของชีวิตและความรื่นรมย์ (p.147) 

เวลาและพื้นที่ ในฐานะประสบการณ์อันบิดเบี้ยว หลอมเหลว ไม่ตายตัว 

แม้เกมการแข่งขันฟุตบอลจะถูกกำกับไว้ด้วยเวลา 90 นาที บนหน้าปัดนาฬิกา แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับประสบการณ์ที่แฟนบอลมีต่อเวลา ‘เวลา’ ในความรู้สึกของแฟนบอลเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่แข็งทื่อตายตัว หากเป็นสิ่งที่สับเปลี่ยนได้ บิดเบี้ยวได้ (malleable) หลอมเหลว (plastic) และไม่ตายตัว (elastic) (p.28) ตัวอย่างเช่น แม้ในการแข่งขันนัดหนึ่งจะมีเวลา 90 นาทีก็จริง แต่ความรู้สึกต่อเวลาของแฟนบอลฝั่งที่ถูกขึ้นนำ กับฝั่งที่กำลังขึ้นนำก็เป็นคนละเรื่องกัน 5 นาทีของฝั่งหนึ่งอาจยาวนานราวกับเป็นชั่วโมง ในขณะที่ 5 นาทีของอีกฝั่งหนึ่งอาจสั้นเพียงไม่กี่ลมหายใจ 

ความวิตกกังวล (ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของความรื่นรมย์) ในประสบการณ์ทางเวลานี้เอง คือองค์ประกอบสำคัญที่คลิชลีย์เห็นว่า ทำให้การไล่ดูไฮไลท์ย้อนหลังกับการดูถ่ายทอดสดมีความแตกต่างกันอย่างมาก (p.31)

เมื่อพูดถึงเวลาก็ไม่อาจแยกออกจาก ‘พื้นที่’ (space) นอกจากเรื่องเวลาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งฟุตบอลยังเป็นเรื่องของพื้นที่ เช่น เส้นขาวที่ถูกตีบนสนามจะกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่คอยโอบล้อมการกระทำของผู้เล่นในสนาม ในแง่นี้ ฟุตบอลจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความพื้นที่อีกด้วย (interpretation of space) โดยคลิชลีย์กล่าวว่า การเล่นกับพื้นที่ในกีฬาฟุตบอลก็เป็นไปในแบบเดียวกับเวลา ที่จะบิดเบี้ยว หลอมเหลว ไม่ตายตัว (p.28-30) นอกจากนั้นแล้ว เส้นขอบสนามยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกำกับผู้ที่อยู่นอกตัวเส้น ไม่ว่าจะทั้งผู้เล่นสำรอง ผู้จัดการทีม และที่สำคัญ ‘ผู้ชม’

ผู้ชมในฐานะนักทฤษฎี และตัวแบบของสังคมประชาธิปไตย

บทที่ 8 ‘Theory and Praxis’ คลิชลีย์ได้หยิบกรอบคิดที่เดิมใช้กับการละครของ ฮันส์-เก-ออร์ก กาดาเมอร์ (Hans-Georg Gadamer) นักปรัชญาเยอรมัน อย่างกรอบคิด ‘absolute distance’ หรืออาจแปลได้ว่า ‘ระยะห่างสัมบูรณ์’ เข้าปรับใช้เข้ากับการเป็นผู้ชมฟุตบอล 

ระยะห่างสัมบูรณ์ หมายถึง ระยะห่างที่ผู้ชมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่น อันจะกลายเป็นการก่อกวนเกมการแข่งขัน ทำให้การมีส่วนร่วมของผู้ชมจะมีก็แต่การมองเพียงเท่านั้น

การมองเป็นสิ่งสำคัญของทฤษฎี คำว่า theory เองก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า theoria และ theoros แปลว่า การจ้องมองอย่างตั้งใจ รวมถึงยังแปลว่า ‘ผู้ชม’ ดังนั้น การรับชมการแข่งขันแต่ละนัด จึงเป็นการมองผ่านระยะห่างทางทฤษฎี (thoretical distance) ไปยังปฏิบัติการ/การกระทำ หรือ praxis ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างผู้เล่นบนสนาม (p.76, 95)

ระยะห่างที่ถูกแบ่งแยกโดยเส้นขอบสนามนี้เอง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนดูและผู้เล่น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ อันเป็นระยะห่างที่ไม่สามารถเข้ามาหลอมรวมกันได้เป็นอันขาด (p.76) มิเช่นนั้นสภาวะของทฤษฎีและการปฏิบัติ การชมและการเล่น จะอันตรธานไปในทันที

เมื่อผู้ชมพร้อมเสมอที่จะกลายร่างเป็นนักทฤษฎี การถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หากข้ามไปดูบทที่ 10 ‘Intelligence’ คลิชลีย์ได้เสนอว่า ฟุตบอลเป็นกิจกรรมซึ่งแสดงออกถึงการกระทำเชิงสื่อสารแลกเปลี่ยน (communicative action) อย่างที่นักปรัชญาเยอรมันชื่อดัง เยอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) มองหาในสังคมประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) การแลกเปลี่ยนความเห็นนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งกับแฟนบอลทีมเดียวกันเอง ไปจนถึงแลกเปลี่ยนกับแฟนบอลทีมอื่นๆ กระนั้น สำหรับคลิชลีย์แล้ว แม้ฟุตบอลจะเอื้อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนได้ แต่มันก็ไม่ต่างกับวงการทางการเมืองหรือปรัชญาเท่าไรนัก ในแง่ว่า การถกเถียงเป็นไปได้ยากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนใจ (p.101-105) บางทีนั่นอาจเป็นเพราะฟุตบอลเรียกร้องความจงรักภักดีต่อต้นสังกัดในลักษณะเดียวกับศาสนาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และแน่นอนว่า ‘การเปลี่ยนศาสนา’ ‘การเข้ารีตศาสนา’ หรือ ‘การเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง’ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ การเปลี่ยนแปลงระดับนี้ต้องอาศัยปรากฏการณ์ระดับ ‘ปาฏิหาริย์’ เลยทีเดียว 

Praxis ของผู้เล่น และความเป็นสังคมนิยมในฟุตบอล

คลิชลีย์ได้ยกเอาปรัชญาเกี่ยวกับ praxis ของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศสมาใช้ ซึ่งอธิบายว่า praxis คือ การกระทำหรือกิจกรรมอันเสรีของผู้เล่นแต่ละคน ที่ถูกกำกับอยู่ภายใต้การเล่นเป็นทีม โครงสร้างหรือแผนการเล่นของทีมจะเป็นตัวบอกตำแหน่งและหน้าที่ของผู้เล่นแต่ละคน โดยการประเมินผลงานของผู้เล่นก็จะสัมพันธ์กับผลงานของทีมอีกด้วย (p.5) จนกล่าวได้ว่า การกระทำของผู้เล่นบนสนามเป็นการกระทำแบบกลุ่ม (collective action) ที่ผู้เล่นแต่ละคนสามารถตัดสินใจได้อย่างเสรีเพื่อให้ผลงานของทีมออกมาเป็นที่น่าพอใจ (p.5, 92) สารัตถะอีกอย่างหนึ่งของฟุตบอลจึงเป็นการทำงานร่วมกัน (collaborative) มากกว่าจะเป็นการเล่นแบบตัวใครตัวมันอย่างในกีฬาบางประเภท (p.4)

ด้วยเหตุนี้คลิชลีย์จึงเสนอว่า เมื่อมองในทางการเมือง ฟุตบอลจึงมีรูปแบบเป็นขบวนการทางสังคม (movement of socius) ที่มนุษย์สามารถเข้าปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเสรี อย่างที่ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เคยพูดถึง ซึ่งรูปแบบทางการเมืองลักษณะนี้เป็นรูปแบบของ ‘สังคมนิยม’ มันเป็นรูปแบบที่สามารถทำให้เสรีภาพเกิดขึ้นและเป็นไปได้ (p.7) ฟุตบอลยังเปิดความเป็นไปได้ให้บรรดาแฟนบอลได้เข้ารวมกลุ่มสมาคมกันอย่างเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นอีกด้วย (p.138) ความเหนียวแน่นเช่นนี้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา โดยมีฟุตบอลเป็น common ที่พวกเขาสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน (p.6) 

การล่มสลายของผู้เล่น และตลกร้ายในโลกฟุตบอล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายๆ โอกาส ผู้เล่นบางคนมีผลต่อรูปเกมเป็นอย่างมาก ผู้เล่นระดับโลก เช่น ลีโอเนล เมสซี (Lionel Messi) หรือ คริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) ก็เป็นผู้เล่นที่นำพาความยากลำบากมาให้ฝ่ายตรงข้ามได้เสมอ ฝ่ายตรงข้ามอาจต้องใช้ผู้เล่นถึง 2-3 คน เพื่อรับมือกับผู้เล่นระดับนี้เพียงคนเดียว อย่างไรก็ดี การมีอยู่ของผู้เล่นระดับมหัศจรรย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่สารัตถะของฟุตบอล เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีมตามที่ได้ว่าไปแล้ว คลิชลีย์ยกตัวอย่างของ ซีเนดีน ซีดาน (Zinedine Zidane) ตำนานนักเตะชาวฝรั่งเศส ที่แม้คลิชลีย์จะชื่นชมซีดานมากถึงขนาดเขียนอุทิศถึงเขาเป็นจำนวนหนึ่งบทเต็มๆ ในบทที่ 11 ‘Zizou’ แต่เขาก็เห็นว่า เมื่อซีดานถูกเชิดชูจนถึงขั้นกลายเป็นฮีโร่ไปแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงการพังทลายและล่มสลายโดยตนเองไปไม่พ้น (“Heroism always leads to self-destruction and ruination. And it is governed by the black card of melancholy.”) (p.117) 

นี่ยังไม่นับว่า ‘ลูกฟุตบอล’ พร้อมที่จะแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายทรงกลม และเล่นตลกกับผู้เล่นระดับโลกจนอาจกลายเป็นไอ้งั่งได้ตลอดเวลา อย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ลื่นล้มของ สตีเวน เจอร์ราร์ด (Steven Gerrard) นัดที่เจอกับเชลซีในปลายฤดูกาล 2013-2014 จนนำไปสู่การเสียประตูและพลาดแชมป์ในท้ายฤดูกาลไปอย่างน่าเสียดาย 

ความตลกร้ายในโลกฟุตบอลยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะแม้ฟุตบอลจะมีความเป็นสังคมนิยมแฝงอยู่ภายในก็ตาม แต่มันอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางอำนาจของประเทศเจ้าอาณานิคม (แม้หลายคนจะบอกว่ายุคล่าอาณานิคมจบไปแล้วก็ตาม) คลิชลีย์ยกตัวอย่างเช่น แม้องค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎกติกาทางฟุตบอลจะมีอยู่มากมายหลายประเทศก็ตาม แต่หากกฎนั้นไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษแล้วไซร้ มันก็ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติแต่ประการใด (p.165) การคอร์รัปชันในบรรดาองค์กรฟุตบอลต่างๆ ก็เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในวงการฟุตบอล หนำซ้ำฟุตบอลยังแยกไม่ออกจากธุรกิจและกำไรในโลกทุนนิยม (p.10) จนอาจกล่าวได้ว่า สังคมนิยมในฟุตบอลได้ถูกกลืนกินจากทุนนิยมไปแล้วก็ว่าได้ 

กระทั่ง ‘ความรุนแรง’ ก็แยกไม่ออกจากโลกของฟุตบอลมาตลอดประวัติศาสตร์ จนคลิชลีย์เสนอว่า ฟุตบอลเป็นการใช้กฎหมายเข้าไปจัดระเบียบความรุนแรง (legal organization of violence) ซึ่งความรุนแรงที่ถูกจัดระเบียบควบคุมนี้ก็พร้อมเสมอที่จะปะทุกลายเป็นความรุนแรงดิบเถื่อนจริงๆ พวก Hooliganism เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่ง (p.164) หรือการที่กฎกติกาจำนวนมากก็มักถูกละเมิด/โกงจากผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นประเด็นที่คนมักพูดถึงด้วยเช่นกัน 

แต่ถึงที่สุดแล้ว ความตลกร้ายเหล่านี้มักถูกมองเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของฟุตบอล มันคือความพึงพอใจที่จะได้ชมการฝ่าฝืนกฎกติกา (p.42-43) ได้มองเห็นอดีตประเทศอาณานิคมมีชัยชนะเหนือประเทศเจ้าอาณานิคม ได้เห็นสโมสร/ประเทศที่ยากจนกว่า ไล่บี้สโมสร/ประเทศร่ำรวยจนหมดสภาพ ดังคำกล่าวของนักเตะระดับตำนานอย่าง โยฮัน ไกรฟฟ์ (Johan Cruyff) (ที่แม้จะเตะบอลเป็นอาชีพ แต่ก็ได้ฉายาเป็น ‘นักเตะเทวดา’) “ทำไมคุณจะไม่สามารถเอาชนะสโมสรที่รวยกว่าได้ล่ะ ผมไม่เคยเห็นถุงเงินที่ไหนทำประตูนะ” (p.10) บางทีอะไรเหล่านี้เองคือมนตร์วิเศษของฟุตบอล เป็นปาฏิหาริย์ที่แฟนบอลสวดภาวนาให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ และแม้เมื่อจบการแข่งขันหรือฤดูกาลแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เป็นไปตามหวัง ความหวังก็จะคอยบอกว่า “ไม่เป็นไร อดทนไว้ ครั้งหน้าเราจะชนะแน่นอน!”

อ้างอิง

Simon Critchley. (2017). What We Think About When We Think About Football. UK: Profile Books.

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า