เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวไฟป่าอย่างต่อเนื่องและส่งตรงมาจากสำนักข่าวท้องถิ่นตั้งแต่เหนือจดใต้ เริ่มจากป่าพรุที่จังหวัดนราธิวาส (2-9 พฤษภาคม) ไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (8 พฤษภาคม) รวมทั้งกรณีไฟป่าที่ประเทศแคนาดาและอินเดีย
โดยการประเมินความเสียหาย ณ วันที่ 13 พฤษภาคม มีรายงานว่าไฟป่าสองจุด ที่จังหวัดนราธิวาส จุดที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี ราว 2,500 ไร่ และจุดที่ 2 ในเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะ อ.บาเจาะ และ อ.ยี่งอ กินพื้นที่ราว 200 ไร่ ขณะที่ไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ กินพื้นที่ราว 290 ไร่
ไฟป่าที่เมืองฟอร์ตแมคเมอร์เรย์ รัฐแอลเบอร์ตา แคนาดา กินพื้นที่ 494,211 เอเคอร์ หรือกว่า 1.2 ล้านไร่ โดยนักวิเคราะห์ประเมินความเสียหายว่าอาจเกิน 9,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือกว่า 247,000 ล้านบาท
ส่วนไฟป่าในรัฐอุตตราขัณฑ์ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย พบความเสียหาย 4,700 เอเคอร์ หรือราว 11,890 ไร่
หากเรามองเห็นแต่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยซากไม้ไหม้เกรียมและสภาพความเสียหายอันน่าสลดใจ อาจทำให้เราหลงลืมอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของไฟป่า สาเหตุของไฟป่าในบ้านเรา ไปจนถึงร่วมกันหาทางรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีป่าบางประเภทที่…ไฟมาป่า ‘ไม่’ หมด
“เราอาจแบ่งประเภทป่าอย่างกว้างๆ ได้ออกเป็น 2 ประเภทคือป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ ซึ่งในป่าผลัดใบนี้ ไฟคือส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของวงจรหรือวัฏจักรการเกิดป่า แต่ต้องย้ำว่ามันต้องไม่เกิดซ้ำที่เดิมทุกปี ขณะเดียวกันก็มีป่าชนิดที่ไฟไหม้ไม่ได้เลยคือป่าดงดิบ ป่าพรุ ถ้าไฟมาในป่าจำพวกนี้ ป่าหมดแน่นอน”
ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับไฟป่าอธิบายว่า ในป่าผลัดใบจำพวกป่าเต็งรัง ป่าสัก ป่ามรสุม ชนิดของพันธุ์ไม้ในป่าประเภทนี้จำต้องการไฟเพื่อช่วยกระตุ้นการเกิดใหม่ของพันธุ์ไม้ เพราะทั้งเมล็ดและเปลือกไม้มีลักษณะเฉพาะที่แข็งมาก หากไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยไฟก็อาจไม่เกิดการงอกใหม่หรือต้องใช้เวลานานมากในการแตกหน่อ
รวมทั้งพืชพรรณที่มีลักษณะเฉพาะบางประการ อาทิ เป็นต้นที่มีตาอยู่ใต้ดิน หรือเป็นเหง้า ที่มองจากภายนอกอาจเห็นว่าลำต้นตายแล้ว แต่เมื่อถึงฤดูถัดไป พอฝนชะลงมาก็ทำให้เกิดการงอกขึ้นมาใหม่
กรณีไฟป่าที่ดอยสุเทพ จากข้อมูลที่ได้รับ กอบศักดิ์เห็นว่าไฟไม่ได้ไหม้ที่บริเวณนั้นมาหลายปีแล้ว เมื่อถึงฤดูฝนในปีหน้า ลูกไม้ก็จะแทงยอดขึ้นมาใหม่ ป่าก็จะค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้โดยที่คนอาจไม่ต้องเข้าไปทำอะไรเพิ่มเติม
“สิ่งที่เราต้องทำคือ ควบคุมไม่ให้มีการเกิดไฟป่าซ้ำในบริเวณเดิมอีกในปีถัดไป เพื่อปล่อยให้ลูกไม้ได้แทงยอดเจริญขึ้นมาใหม่” กอบศักดิ์เสนอ
นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ไม้บางชนิดที่จะเจริญพันธุ์ได้ในช่วงเวลาหลังการเกิดไฟป่า เพราะไฟป่าจะเผาเศษใบไม้และหญ้าที่ปกคลุมหนาบริเวณผิวดิน ทำให้ลูกไม้ประเภทนี้สามารถฝังตัวลงในชั้นดินได้ แต่ในกรณีนี้ ไฟป่าที่เกิดก่อนหน้านั้น เปลวไฟต้องไม่ลามเลียกินความสูงของต้นไม้ไปจนถึงยอดจนเผาลูกไม้ไปหมด
หากเป็นไฟป่าที่เกิดในวงธรรมชาติตามปกติ เปลวไฟจะไม่สูงจนทำอันตรายลูกไม้ รวมทั้งไม่ทำให้ต้นไม้ตาย ขณะเดียวกันต้นไม้ยังเก็บพลังงานจากไฟเพื่อช่วยเร่งการแตกหน่อต่อไปได้อีก
“แต่ในป่าไม่ผลัดใบ จำพวกป่าดงดิบ ป่าพรุ ป่าสนเขา หากไฟเกิดในป่าจำพวกนี้ก็อาจทำให้ป่าหมดได้ และต้องใช้เวลายาวนานมากในการฟื้นฟู” กอบศักดิ์กล่าว
กรณีป่าพรุในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำที่นราธิวาสและชุมพรนั้นน่ากลัวตรงที่ธรรมชาติของป่าพรุไม่ควรจะเกิดไฟไหม้ เนื่องจากเป็นป่าที่มีน้ำอยู่บนผิวดิน แต่ภายในดินนั้นเป็นแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดี หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาแต่ละครั้งก็ยากที่จะดับ และความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรง เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูสภาพให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
จัดการไฟป่าด้วยวิทยาศาสตร์
“เป้าหมายสุดท้ายที่เราอยากไปถึงคือ ต้องการเห็นการจัดการไฟป่าได้ถูกต้องตามหลักวิชาการไฟป่า และตามสภาพนิเวศของป่าแต่ละพื้นที่ แต่ปัญหาที่เราเจอขณะนี้คือปัญหาเฉพาะหน้าจากการเกิดไฟป่าในหลายๆ พื้นที่และเกิดซ้ำในที่เดิม”
ซึ่งที่มาของปัญหานี้ กอบศักดิ์อธิบายว่า เมื่อถอยหลังกลับไปมองการจัดการไฟป่าในอดีต ต้องยอมรับว่าหน่วยงานภาครัฐพยายามดึงชุมชนออกไปจากการจัดการ ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างไฟกับป่า แล้วเข้าไปจัดการป่าไม้ด้วยแนวคิดควบคุมไม่ให้เกิดไฟในป่าทุกประเภท ทั้งๆ ที่การจัดการไฟในป่าแต่ละประเภทมีความแตกต่างและหลากหลายกว่านั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อป่าผลัดใบ หรือสลัดใบลงมามากเข้าในแต่ละปี เศษใบไม้ใบหญ้าจะกลายเป็นเชื้อเพลิงสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะไปขัดขวางระบบนิเวศการเกิดเป็นป่าใหม่และการหาอาหารของสัตว์ป่าแล้ว เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นก็จะกลายเป็นไฟป่าที่ควบคุมไม่ได้
ในช่วงสองสามปีมานี้ ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริ่มเห็นด้วยกับนโยบาย ‘การชิงเผา’ (controlled burning) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการป่า และกระทั่งปีนี้เองก็มีการชิงเผาขึ้นในหลายพื้นที่
“ปีนี้กรมป่าไม้ได้เริ่มกระบวนการชิงเผาไปก่อนแล้ว เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงจำพวกเศษใบไม้หญ้าไปก่อนหน้านี้แล้วปริมาณหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าถ้าไม่มีกระบวนการนี้เลย ไฟป่าที่ดอยสุเทพจะรุนแรงมากกว่านี้” กอบศักดิ์เสริมว่า การชิงเผาต้องไม่ทำทุกปีในที่ซ้ำเดิม และต้องมีการจัดการข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติกับกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย
“ปีหน้ามีการพยากรณ์กันว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลานินญา หรือปรากฏการณ์ที่จะมีฝนมาก เมื่อฝนมากขึ้นก็คาดการณ์ได้ว่าปีหน้าจะมีอากาศที่ชื้น โอกาสเกิดไฟป่าจะน้อยลง เพราะฉะนั้นการชิงเผาก็ไม่จำเป็นจะต้องทำในทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้น กรมอุตุฯเป็น play maker ที่จำเป็นที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่กรมควบคุมมลพิษจะต้องดึงข้อมูลของกรมอุตุฯมาใช้ให้มากที่สุด มากกว่านั้น หน่วยงานในพื้นที่ของภาคป่าไม้เองควรจะต้องมีข้อมูลตรงนี้เป็นของตัวเองด้วย”
เพราะชาวบ้านชอบเผาป่า!
“ประเด็นนี้อาจจะต้องทำให้ความเข้าใจเรื่องระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการใช้ป่า เพราะมีองค์ความรู้เรื่องการใช้ไฟในการเก็บหาของป่ากับชาวบ้านจริง และแนวคิดเรื่องไฟช่วยขยายและเร่งเร้าให้เกิดการแตกหน่อแตกพันธุ์และทำให้ผักบางชนิดมีรสชาติอร่อยขึ้นจริงๆ”
แต่สิ่งที่ต้องจัดการคือ การควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม ระยะเวลาอนุญาตในการเผา และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายครั้งความรู้ด้านทฤษฎีก็ย้อนแย้งและไม่สามารถใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆ ได้
กอบศักดิ์อธิบายว่า ในหน้างานจริงๆ ปัญหาจะซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยเฉพาะพื้นที่บนเขาที่การตัดตอไม้หรือไถกลบตามทฤษฎีนั้นทำในสถานการณ์จริงไม่ได้ การเผาจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในแง่การลงทำงานจริงๆ และมีผลในเรื่องการไล่แมลงศัตรูพืชผลด้วย
การเผาเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ภาครัฐทำในขณะนี้คือไม่ใช่ห้ามไม่ให้เผา แต่หากถึงช่วงเวลาที่จะเผานั้นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเกณฑ์เจ้าหน้าที่ไปควบคุมปริมาณไฟไม่ให้ลุกลาม เพราะฉะนั้นที่สื่อรายงานว่าปัญหาเกิดจากชาวบ้านจุดไฟหาของป่านั้นตามเนื้อความก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่นอกเหนือไปจากนั้น คือประชาชนและสื่อก็ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันตรงนี้ด้วย
กอบศักดิ์อธิบายภาวะการเกิดไฟป่าในธรรมชาติบ้านเราว่า โอกาสในการเกิดไฟป่าที่มาจากธรรมชาติมีน้อยมาก อย่างกรณีฟ้าผ่าแล้วจะเกิดไฟป่านั้น จะเกิดเฉพาะป่าในเขตอบอุ่น เช่นกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกา เพราะเป็นฟ้าผ่าแห้ง หรือฟ้าผ่าในช่วงเวลาไม่มีฝน แต่ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าในบ้านเรามักจะเกิดเฉพาะเวลาที่ฝนตกหนัก จึงไม่ได้เป็นมูลเหตุที่จะทำให้เกิดไฟป่าได้
หรือสาเหตุอย่างการเสียดสีกันของกิ่งไม้แล้วจะทำให้เกิดไฟป่านั้น ก็เป็นมูลเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จากผลการศึกษาเรื่องไฟป่าที่ผ่านมา พบว่าเกิดกรณีแบบนี้ได้น้อยมาก
ในฐานะนักวิชาการวนศาสตร์ที่มีโอกาสคลุกคลีในพื้นที่จริง กอบศักดิ์ยอมรับว่า ไฟป่าส่วนใหญ่อาจเกิดจากกิจกรรมของชาวบ้านจริง แต่การจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟหาของป่าคงทำไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านแล้ว ไฟยังเป็นส่วนหนึ่งในการคงระบบนิเวศของป่าไว้ได้ ทั้งเรื่องการทำให้เกิดการแตกหน่อของพันธุ์ไม้บางชนิด การทำให้เกิดหญ้าระบัดที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า
แต่ขณะเดียวกัน แนวคิดในการจัดการไฟป่าคงต้องอาศัยสามประสาน ทั้ง รัฐ ชุมชน และหลักวิชาการ ที่ต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน
เข้าใจไฟป่าอย่างเป็นระบบ
“การจัดการไฟป่ามีการบูรณาการกันมาตลอด คือการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชุมชน แต่มันเป็นกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์ เรายังไม่ได้เอาความรู้ทางวิชาการในการจัดการลงไป
“เรายังไม่รู้ว่าบ้านเรามีป่าประเภทไหนกระจายอยู่ที่ใด ด้วยพื้นที่เท่าไหร่บ้าง ยังไม่รู้ระบบนิเวศที่เฉพาะของป่าบ้านเรา เรายังขาดความรู้ทางวิชาการที่เป็นระบบ ขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่ได้เอาข้อมูลที่มีลงไปอยู่ในขั้นตอนการจัดการบูรณาการเพียงพอ”
กอบศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เห็นได้ชัดจากแนวทางการจัดการไฟที่มีบางหน่วยงานระดมเงินทุนเพื่อจะนำไปฟื้นฟูพื้นที่ป่าภูหลง จังหวัดชัยภูมิ หากป่าในบริเวณนั้นเป็นป่าผลัดใบที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปฟื้นฟู เพราะเมื่อฝนชะลงมาก็จะเกิดการฟื้นตัวของป่าได้ตามธรรมชาติ แต่การฟื้นฟูนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อป่าไม่ผลัดใบ อย่างกรณีไฟป่าที่เกิดขึ้นกับป่าพรุทางภาคใต้มากกว่า
โดยเขาได้ทิ้งท้ายว่า ไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของการคัดสรรทางธรรมชาติ เป็นวัฏจักร เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ แต่ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเกิดซ้ำที่เดิมทุกปี หรือเกิดในพื้นที่ป่าไม่ผลัดใบ
การทำงานจัดการไฟป่าในสังคมสมัยใหม่ที่วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปและปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างในขณะนี้ การจัดการไฟป่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่การควบคุมไม่ให้มีไฟเกิดขึ้นเลย หากต้องจัดการอย่างเข้าใจสภาพป่าในแต่ละพื้นที่ เข้าใจสภาพปัญหาและองค์ความรู้ของคนกับป่า ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างการพยากรณ์อากาศ เพื่อกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของปัญหาที่ต้องรับมือในแต่ละปี