ทำไมผนังหอศิลป์ต้องเป็นสีขาว? ประวัติศาสตร์ของอำนาจที่ถูกมองข้ามในโลกศิลปะ

วันหนึ่งคุณอยากชมงานศิลปะ (ขอเป็นศิลปะสมัยใหม่แล้วกันนะ จะได้ไม่กระจัดกระจายมาก) คุณเลยเลือกไปหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์สักที่หนึ่ง คุณเดินฝ่าเมืองสีเทา ฝ่าห้างสรรพสินค้าหลากสี ผ่านแก๊งพี่วินกั๊กส้ม ถนนที่เต็มไปด้วยแท็กซี่สีชมพู แดง เขียว และสีสันมากมายเท่าที่คุณจะคิดได้ เมื่อคุณเปิดประตูหอศิลป์หรือแกลลอรีเข้ามา สีสันเหล่านั้นก็หายไปหมด เหลือเพียงสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ของผนังที่ห่อหุ้มผลงานศิลปะเอาไว้ เหมือนกับได้ก้าวเข้ามาในพื้นที่อีกแบบหนึ่งที่ให้อารมณ์แบบหนังไซไฟ

หอศิลป์กับผนังสีขาวแทบจะเป็นของคู่กัน แม้ว่าผลงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือแม้ว่าบางนิทรรศการผนังจะถูกทาเป็นสีอื่นๆ อย่างหนึ่งที่คงไว้ในภาพจำของหอศิลป์ ความเป็น default ของหอศิลป์ ก็คือ ‘สีขาวนวล’

ฉันทำงานในหอศิลป์ ฉันคอยดูแลผนังสีขาวนั้นให้เนียน สีขาว TOA รหัส A1000 เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนทำงานหอศิลป์อย่างฉัน การกระทำอะไรก็ตามที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวช่างดูเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะนั่งนิ่งๆ อยู่กลางห้อง หรือจะเป็นการก้มขัดพื้นให้สะอาด ไม่เพียงแค่การกระทำ แต่อะไรก็ตามที่อยู่ๆ เอามาวางไว้ในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวนี้ ก็ดูจะเป็นผลงานศิลปะไปหมด ตั้งแต่ประติมากรรมทรง abstract ที่ศิลปินวางเอาไว้ ไปจนถึงแคปหมูรูปทรงหงิกงอที่ฉันแอบวางไว้ตอนที่ไม่มีใครเห็น

ทำไมกันนะ ทั้งที่เป็นแค่ผนังสีขาว แต่พอมีอะไรมาจัดวาง ก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกแห่งศิลปะได้แล้ว?

ประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่ยุคโมเดิร์นจนถึงร่วมสมัยส่วนใหญ่ถูกห่อหุ้มด้วยห้องสีขาว ในขณะที่ศิลปะพยายามจะแหกกรอบความเป็นห้องสีขาวมานักต่อนัก มันก็ไม่วายวนกลับมาทำงานในพื้นที่นั้นเหมือนเดิม จนห้องสี่เหลี่ยมสีขาวนี้มีศัพท์บัญญัติของมันเอง นั่นก็คือ ‘White Cube’ แปลตรงตัวได้ว่าห้องสี่เหลี่ยมสีขาวนั่นแหละ

คนที่บัญญัติมันขึ้นมาคือศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะ เขียนลงนิตยสาร Artforum ในปี 1976 เขาไม่ได้ตั้งใจบัญญัติหรอก แต่เขาเขียนบทความชื่อ ‘Inside the White Cube: Notes on the Gallery Space’ หลังจากนั้นโลกศิลปะก็ใช้ชื่อนี้ให้กับวิธีการจัดห้องแบบนี้

แต่ถึงจะมีคำบัญญัติมาแล้ว ‘ห้องสีขาว’ ที่ว่า ก็เพิ่งจะมีมาตรฐานในการจัดแสดงหลังจากนั้นไปหลายปี ทำไมล่ะ?

ก่อนหน้านั้น การจัดแสดงผลงานศิลปะ โดยเฉพาะภาพวาดตั้งแต่ช่วงปี 1667 ถูกจัดในลักษณะ Salon (ซาลง) หรือ Paris Salon ซึ่งมาจากนิทรรศการศิลปะโดยโรงเรียนวิจิตรศิลป์ในปารีส Academie des Beaux Arts

การจัดวางแบบซาลงมีเป้าหมายคือไม่เห็นผนัง เพราะทั้งผนัง ตั้งแต่พื้นยันเพดาน ถูกอัดแน่นไปด้วยภาพวาด จะมองไปทางไหนก็มีแต่ภาพวาดๆๆ มองขึ้นก็ภาพวาด มองลงก็ภาพวาด ผลงานแต่ละชิ้นถูกแยกออกจากกันด้วยกรอบรูปหนาบึ้ก เพื่อให้เรามองเข้าไปในกรอบสู่โลกของภาพวาด โดยเฉพาะภาพวาดสีน้ำมันในสมัยก่อน ที่ใช้แทนกล้องถ่ายรูปเพื่อจับภาพ หรือบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะภาพเหมือนบุคคล ภาพสิ่งของ ไปจนถึงภาพแสดงเหตุการณ์ ภาพสีน้ำมันเชิญชวนให้เรามองเข้าไปในโลกที่ภาพบันทึกเอาไว้ในกรอบรูป

การจัดแสดงงานแบบ Salon ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปี 1787
การจัดแสดงงานแบบ Salon ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปี 1787

การจัดแบบนี้มีข้อดีคือคุ้ม เอ้า! คุ้มสิ เข้ามาทีเดียวเห็นรูปตั้งหลายรูป อยากดูรูปไหนล่ะ คุ้มจะตาย คนทำงานมาก็อยากแสดงใช่มั้ยล่ะ ไม่ดีเหรอ มาที่เดียวดูได้ตั้งหลายรูป นอกจากจะคุ้มแล้ว เรายังเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและสไตล์ในแต่ละภาพ เกิดการเปรียบเทียบที่ง่ายดาย เพราะรูปอยู่ใกล้กันนิดเดียว พอเอามาเรียงๆ กันแล้ว ก็เกิดเป็นการเคลื่อนไหวของแต่ละรูปแต่ละยุคสมัย

แต่ข้อเสียของการจัดแบบนี้มีเยอะมาก อย่างแรกเลยก็คือ ปวดคอและปวดหลัง เฮ้ย! อันนี้พูดจริง ไม่มุก ก็เล่นวางรูปไว้สูงๆ คนต้องเงยคอมอง แถมเห็นไม่ค่อยชัดอีก รูปมันอยู่ไกล ก็ต้องถอยไปชี้ บางคนก็เอาไม้เท้าชี้ เสียบุคลิกมาก รูปต่ำๆ ก็ต้องก้มดู กว่าจะลุกขึ้นมาได้ โอ๊ย ลำบากลำบน

ข้อเสียอีกอย่างคือ การวางใกล้ๆ กันแบบนี้ พอเกิดการเปรียบเทียบ มันก็จะมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ รูปนี้อยากให้เด่นใช่มั้ย? ก็วางไว้ระดับสายตา รูปนี้ไม่ค่อยเด่น ก็วางไว้ต่ำๆ ละกัน รูปนี้ใหญ่มาก วางไว้สูงๆ คนจะได้ดูได้จากไกลๆ เอ้า แล้วถ้าศิลปินอยากให้รูปมองได้ระดับสายตาล่ะ? ไม่ได้ไง ก็งานคุณไม่เด่น คุณไม่ได้ถูกเลือกค่ะ ลงไปอยู่ข้างล่างซะ

ทีนี้พอเกิดการเปรียบเทียบ ก็เลยทำให้ผลงานไม่สามารถจัดแสดงความเป็นตัวมันออกมาได้เต็มที่ จะดูรูปนี้ที ก็ติดอีกรูปในสายตา จะดูรูปนี้ที กรอบของอีกรูปก็มาเกะกะๆ อีก

ไม่ใช่แค่นั้น พอผลงานเยอะขึ้น คนมาดูเยอะขึ้น หอศิลป์ก็แน่นไปด้วยคนและศิลปะ วุ่นวายไปหมด นี่มันสถานที่แสดงงานศิลปะนะคะ ไม่ใช่มหกรรมท่องเที่ยวลดกระหน่ำประจำปี โอ๊ย แน่น!

พอถึงช่วงกลางปี 1800 หอศิลป์แห่งชาติที่ลอนดอนก็เลยลองจัดวางผลงานให้อยู่ที่ระดับเดียว ซึ่งเป็นที่ดีที่สุดในการมอง ไม่ต้องเงย และไม่ต้องก้ม นั่นก็คือระดับสายตา

พอภาพวาดถูกวางอยู่ในระดับเดียวแล้ว พื้นที่โล่งบนผนังที่เคยถูกบังด้วยภาพวาดก็เด่นชัดขึ้นมา สีผนังเลยเข้ามามีบทบาทในวงสนทนา ข้ามฝั่งจากยุโรปมาอเมริกา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งเกิดการทดลองหาทางออกให้การจัดวางและสีผนังที่แตกต่างกันไป บางที่ก็เปลี่ยนจากผนังสีเขียวหม่นให้เป็นสีแดงชาด เพื่อขับสีทองบนกรอบรูปให้เด่นวิ้งขึ้นมา ในขณะที่บางที่เปลี่ยนจากสีโทนร้อนเป็นสีโทนเย็น เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบ บางที่ก็เปลี่ยนให้หลายๆ ห้องมีสีที่แตกต่างกัน ตามแต่ว่าใช้สีไหนแล้วจะเข้ากับรูปที่จัดแสดง

แต่ถึงจะลองเปลี่ยนสีผนังดูแล้ว ก็ยังมีปัญหาอีก เพราะพอสีผนังแต่ละที่ไม่ตรงกัน แถมบางที่ผนังเปลี่ยนสีเปลี่ยนมู้ดไปในแต่ละห้อง การจะจัดแสดงผลงานแต่ละอย่างก็เลยต้องเลือกให้เหมาะกับห้อง จัดงานได้ไม่หลากหลาย ส่วนคนดูงานก็เปลี่ยนอารมณ์จนเหนื่อย ไม่ใช่แค่นั้น เพราะถึงจะวางรูปในระดับสายตาแล้ว รูปที่วางชิดๆ กันหลายๆ แถว ก็ทำให้คนดูรูปจนล้าเหลือเกิน เพราะเห็นรูปตั้งแต่ทางเข้ายันทางออก

นอกจากสีผนัง สิ่งที่สำคัญต่อการจัดวางผลงานอีกอย่างหนึ่งก็คือ พื้นที่ว่าง

อย่างที่บอก พอรูปแต่ละรูปถูกวางเรียงชิดๆ กันเป็นแถบยาวๆ คนดูก็ล้าจากการดูรูปจนมากเกินไป แล้วยิ่งนานวันๆ งานศิลปะก็มีเยอะขึ้นๆ จนไม่มีที่จัดเก็บ พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ในเมืองบอสตัน Museum of Fine Art หรือ MFA ก็เลยเลือกที่จะเก็บผลงานบางส่วนเข้าห้องเก็บของ และเลือกแสดงเฉพาะผลงานที่เด่นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ยังลดจำนวนแถวของรูปที่แสดงให้เหลือแค่สองแถว การจัดให้แสดงแค่สองแถวทำให้รูปภาพแต่ละรูปได้มีพื้นที่ว่าง คนดูและภาพวาดเองได้หายใจหายคอ ไม่ต้องมาเบียดอัดแน่นเหมือนอยู่ในรถสองแถวตอนเย็นหลังเลิกงาน

การจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ Museum of Fine Art ในบอสตัน
การจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ Museum of Fine Art ในบอสตัน

จนกระทั่งช่วงปี 1930 ที่ Museum of Modern Art หรือ MOMA ในนิวยอร์ค เริ่มหาทางทำให้การจัดแสดงมีความเป็นกลาง เพื่อจัดแสดงศิลปะที่ไม่มีรูปธรรมชัดเจนและหลากหลายมากขึ้น อย่างผลงานแนว abstract และ cubism ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ อัลเฟรด บารร์ (Alfred Barr) เลยลองหาสีที่ใกล้เคียงกับจุดเริ่มต้นของภาพวาดทั่วไป นั่นก็คือสีของผ้าแคนวาสที่มีสีขาวอมเหลืองเทาหน่อยๆ และทาสีผนังด้วยสีนั้น สีที่เริ่มใช้ชื่อสีว่า Big Bend Beige ก่อนจะพัฒนามาใช้สีขาวในภายหลัง

นอกจากนั้นยังมีการใช้วัสดุปูพื้นที่ให้ความรู้สึกเป็นกลางกว่าเก่า นั่นก็คือพื้นไม้ และลดทอนมาใช้แสงที่พอดี ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป รวมทั้งถอดเอาของตกแต่งในห้องทั้งหมดออก เพื่อให้ผลงานได้ฉายแสงของมันได้อย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรมารบกวน ส่วนผลงานที่วางเรียงซ้อนกันสองแถวนั้น ก็ลดมันซะให้เหลือแถวเดียว เว้นพื้นที่ว่างๆ ให้คนถอยออกมาโฟกัสกับรูปได้แบบไม่ต้องมีรูปอื่นๆ มาเกะกะสายตา เกิดเป็นมาตรฐานขึ้นมาในอเมริกา

การจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ค
การจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ค

ข้ามฝั่งกลับมาที่ยุโรป ในเยอรมนีเองก็มีการทดลองเปลี่ยนสีผนังเช่นกัน โดยเฉพาะสไตล์ Bauhaus ที่เข้ามามีบทบาทในทั้งวงการศิลปะและวงการออกแบบ

Bauhaus เริ่มใช้สีขาวในการจัดแสดงผลงานศิลปะ จนแพร่หลายไปตามแกลลอรีทั่วเยอรมนี แต่ในทางกลับกัน สีขาวบนผนังในยุคนั้นเองก็มีความเคลือบแคลง ไม่ใช่แค่ชาว Bauhaus ที่ให้ไอเดียของความบริสุทธิ์กับสีขาว แต่ความ ‘บริสุทธิ์’ นั้น ก็ถูกใช้กับอีกฝั่งที่เชื่อในความบริสุทธิ์อีกแบบอย่างนาซีเยอรมันรุ่น Third Reich เช่นกัน

ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่า ตกลงแล้วสีขาวที่ใช้ในแกลลอรีในเยอรมนีนั้นมาจากความบริสุทธิ์แบบ Bauhaus หรือบริสุทธิ์ (ที่ไม่ค่อยจะบริสุทธิ์แถมเปื้อนเลือดเหลือเกิน) แบบนาซีกันแน่

การแสดงงานบนผนังสีขาวสไตล์ Bauhaus
การแสดงงานบนผนังสีขาวสไตล์ Bauhaus

ตัดภาพมาปัจจุบัน แม้ว่าศิลปะจะพยายามแหกคอกกล่องสีขาวออกไปแสดงในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะกลางแจ้ง ในอาคารร้าง ในห้างสรรพสินค้า บนหาดทราย หรือแม้แต่บนอินเทอร์เน็ต ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเป็นห้องสีขาวนั้น ถูกทำให้เป็นมาตรฐานที่ใช้ตามสถาบันศิลปะโดยทั่วไปแล้ว

ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่า ‘พื้นที่สีขาว’ นั้น เป็นพื้นที่แห่งศิลปะอันบริสุทธิ์ ก็เพราะว่าพื้นที่สีขาวอย่างหอศิลป์ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ไว้ นอกจากนั้น หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ถูกออกแบบมาให้ผู้เข้าชมรู้สึกตัดขาดออกจากโลกภายนอก เช่นเดียวกับการเข้าวัดหรือโบสถ์ ที่เมื่อเข้าไปข้างในแล้วจะรู้สึกสงบ

การออกแบบหอศิลป์มีความเหมือนกับการออกแบบพื้นที่ทางศาสนาตรงที่มีการเว้นพื้นที่ให้โลกข้างนอกไม่สามารถเข้ามารบกวนพื้นที่ข้างในได้ สิ่งที่อยู่ข้างใน ไม่ว่าจะเป็นรูปสักการะหรือผลงานศิลปะ จึงมีพื้นที่ของตัวมันเอง

ห้องสีขาวตามหอศิลป์จึงมีอำนาจ ไม่เพียงแค่จากภาพจำ แต่จากการสร้างโลกของมันเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย สิ่งที่ถูกจัดแสดงอยู่ข้างใน จึงให้ความรู้สึก ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ขึ้นมา

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า