ย้อนรอยคดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์

การเรียกบุคคลเข้าไปรายงานตัว หรือที่ถูกเรียกว่า ‘เรียกปรับทัศนคติ’ เป็นผลงานอันโดดเด่นอย่างแรกๆ ของ คสช. หลังทำการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวถึงสองครั้ง ครั้งแรก ในคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยในคำสั่งครั้งแรกนี้ยังไม่มีการกำหนดโทษของผู้ไม่ทำตามคำสั่ง จนกระทั่งได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และฉบับที่ 41/2557 ตามลำดับ เพื่อกำหนดโทษตามมาภายหลัง และครั้งที่สอง คำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 

วรเจตน์ไม่ได้เข้ารายงานตัวทั้งสองครั้ง เหตุจากตนกำลังรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ได้ให้ภรรยาและเพื่อนไปแจ้งแทนแล้ว

เป็นระยะเวลาเกือบ 7 ปี ที่ชีวิตของวรเจตน์ต้องพัวพันกับการสู้คดี จากการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. เขาสู้คดีเรื่อยมาตั้งแต่ศาลทหาร จนคดีถูกโอนมาพิจารณาที่ศาลพลเรือน

และหลังจากได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับที่บังคับใช้ในคดีนี้ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ หมายความว่า โทษที่มาจากประกาศทั้งสองฉบับนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ มีความสำคัญคือ มีผลส่งไปถึงกรณีของผู้ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. รายอื่นๆ ให้ไม่ต้องรับโทษอีกต่อไป

ทั้งนี้ ศาลแขวงกำหนดนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 8 มิถุนายน 2564

 

เปิดไทม์ไลน์คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

22 พ.ค. 2557 – คสช. ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง

24 พ.ค. 2557 – คำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ให้บุคคลมารายงานตัวจำนวน 35 คน มีชื่อ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ลำดับที่ 6 โดยยังไม่มีการกำหนดโทษ 

*วรเจตน์ไม่ได้เข้ารายงานตัว

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/085/11.PDF)

29 พ.ค. 2557 – ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 กำหนดโทษบุคคลไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/089/7.PDF)

30 พ.ค. 2557 – ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/092/7.PDF)

9 มิ.ย. 2557 – มีคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ปรากฏชื่อ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อีกครั้ง อยู่ลำดับที่ 9 

*วรเจตน์ไม่ได้เข้ารายงานตัว

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/109/7.PDF)

17 มิ.ย. 2557 – วรเจตน์ พบเจ้าหน้าที่ตามที่ได้ประสานงานไว้ ณ สนามบินดอนเมือง หลังเพิ่งกลับจากต่างประเทศ และถูกนำตัวไปควบคุมที่ ร.11 รอ. ในความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

18 มิ.ย. 2557 – กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บก.ป.) แจ้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ นำตัววรเจตน์ออกจากกองบังคับการปราบปรามไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขอฝากขัง

คณะตุลาการศาลทหาร พิจารณาคำร้องพนักงานสอบสวน อนุญาตฝากขังนายวรเจตน์เป็นระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 มิ.ย. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ทนายยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ให้เหตุผลที่นายวรเจตน์ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เพราะป่วยและอยู่ต่างประเทศ แต่ก็ให้คนใกล้ชิดมาชี้แจงต่อทหารแล้ว และยังมีการประสานกับ คสช. ไว้ด้วยตนเองแล้วในขณะที่อยู่ต่างประเทศ

ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้นายวรเจตน์ได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท 

และมีเงื่อนไข 3 ประการได้แก่ 1.ห้ามชุมนุมทางการเมือง 2.ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 3.ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

(https://www.thairath.co.th/content/430547 และ https://prachatai.com/journal/2014/06/54079

27 มิ.ย. 2557 – พิจารณาฝากขังผลัด 2 

พนักงานสอบสวนยืนยันตามคำขออำนาจศาลฝากขังผลัด 2 อีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. – 11 ก.ค. 

ศาลยืนตามคำขอของพนักงานสอบสวน แต่เนื่องจากสัญญาประกันตัวผลัดแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ยังมีผลอยู่ และยังต้องปฏิบัติตาม 3 เงื่อนไขของศาลตามเดิม จำเลยจึงไม่ต้องถูกคุมขัง

(https://prachatai.com/journal/2014/06/54285)

10 ก.ค. 2557 – วรเจตน์เข้ารายงานตัวตามกำหนดที่ศาลทหาร 

พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอควบคุมตัวต่อศาล ผลัดที่ 3 เป็นเวลา 12 วัน

ศาลได้อนุญาตฝากขังผลัดที่ 3 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-23 ก.ค. แต่เหตุต้องมีการสอบพยานเพิ่มเติม ทำให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากสัญญาประกันตัวเดิมยังมีผลอยู่ ตามเงื่อนไขเดิม

(https://prachatai.com/journal/2014/07/54520)

4 ส.ค. 2557 – อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องวรเจตน์ 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557 

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของวรเจตน์ แจ้งว่า *ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ฉบับ 57/2557 เพียงข้อหาเดียว แต่สำนวนส่งฟ้องกลับมีข้อหาเพิ่มในข้อหาคือ ขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557

ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 20,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามชุมนุมทางการเมืองอันเป็นการปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

(https://prachatai.com/journal/2014/08/54898)

8 ก.ย. 2557 – อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องวรเจตน์ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียก โดยไม่มารายงานตัวต่อ คสช. 

*วรเจตน์ปฏิเสธข้อกล่าวหา

(https://prachatai.com/journal/2014/09/55422)

27 พ.ย. 2557 – วันนัดตรวจพยานหลักฐาน

 ฝ่ายวรเจตน์ยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้พันธกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย

และตาม ICCPR ศาลต้องมีความเป็นอิสระ แต่เมื่อศาลทหารกรุงเทพเป็นองค์กรอยู่ในระบบกระทรวงกลาโหม จึงมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับ ICCPR อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นการขึ้นศาลทหารช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก

และในคดีอาญาจำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน แต่กรณีนี้ เมื่อศาลทหารตัดสินคดีก็จบลงทันที ไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับ ICCPR เช่นกัน 

ทั้งนี้ ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะสามารถโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมาย

ดังนั้น การตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียวไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ดังนั้นประกาศของ คสช. จึงถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4 และมาตรา 26

วรเจตน์จึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทย์

(https://prachatai.com/journal/2014/11/56668)

26 ม.ค. 2558 – นัดตรวจพยาน

ศาลทหารยกคำร้องของนายวรเจตน์ ที่ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่ และยังอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

(https://prachatai.com/journal/2015/01/57598)

26 พ.ค. 2558 – วันนัดสืบพยาน

ศาลสืบพยานฝ่ายโจทก์ปากแรก คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้นำตัววรเจตน์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน 

พ.อ.บุรินทร์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากผู้การ ร.11 ว่าวรเจตน์เดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศและเดินทางกลับมาแล้ว อยู่ค่ายทหารแห่งหนึ่งมาแล้ว 2 วัน ทาง คสช. จึงได้ให้เขาไปรับตัวมาดำเนินคดี 

ระหว่างร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน พ.อ.บุรินทร์ ไม่ทราบว่าภรรยาและเพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ได้แจ้งเหตุการไปรักษาตัวยังต่างประเทศแก่ คสช. แล้ว

(https://prachatai.com/journal/2015/05/59488)

21 ก.ค. 2558 – นัดสืบพยานโจทก์

ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานปากที่สอง พ.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ในขณะนั้น) ในฐานะผู้ติดต่อประสานกับวรเจตน์ในการเข้ารายงานตัว

แต่ พ.อ.ทรงวิทย์ ไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ เหตุติดราชการ โจทก์จึงจะนัดสืบ พ.อ.ทรงวิทย์ ใหม่อีกครั้ง

28 ต.ค. 2558 – นัดสืบพยานโจทก์

ทนายของวรเจตน์ขอค้านการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน เหตุอัยการเพิ่งยื่นเอกสารคำให้การของพยานในวันที่จะสืบพยาน โดยไม่ได้แจ้งศาลก่อน

ศาลเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 29 ม.ค. 2559 

29 ม.ค. 2559 – นัดสืบพยานโจทก์

ร.ท.เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ นายทหารคนสนิทของรองแม่ทัพภาคที่ 1 สังกัดกองทัพภาคที่ 1 พยานโจทก์อ้างคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 22/2557 มอบอำนาจผู้บัญชาการกองกำลังให้แต่งตั้งพยานเพื่อทำหน้าที่รับรายงานตัวดังกล่าว แต่ไม่ทราบกระบวนการแต่งตั้งนอกเหนือจากนั้น พยานไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการเรียกรายงานตัว เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง และถือว่าคำสั่ง คสช. เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

พยานยอมรับว่าอาการป่วยถือเป็นเหตุขัดข้อง ซึ่งพยานทราบว่ามีใบรับรองแพทย์ว่านายวรเจตน์มีอาการป่วย แต่จำไม่ได้ว่าเป็นตัววรเจตน์เองหรือภรรยาที่นำมาแสดง 

ศาลจึงนัดสืบพยานปากนี้ต่อวันที่ 20 มิ.ย. 2559

20 มิ.ย. 2559 – นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ร.ท.เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ ต่อ

มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่ศาลให้พยานกล่าวคำสาบาน แต่เมื่อกล่าวจบ ศาลกลับพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าพยานเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรไม่ต้องให้สาบาน

28 ก.พ. 2562 – ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งส่งความเห็นไปยังศาลแขวงดุสิตให้รับพิจารณา 1 จาก 2 ข้อหาที่ถูกฟ้อง ให้เหตุผลว่ากรรมแรก คือ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ 5/2557 ที่เรียกรายงานตัวไม่อยู่ในเขตอำนาจ

 (https://prachatai.com/journal/2019/02/81271)

29 ก.ค. 2563 – นัดสืบพยานจำเลย

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในวันนี้มีการสืบพยานจำเลยสองปาก ปากแรกคือ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยในคดี และตัวของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จำเลยในคดี

จำเลยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ขอให้ศาลแขวงดุสิตส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประกาศ คสช. ที่ใช้เป็นฐานในการลงโทษในคดีนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 60 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องที่จำเลยได้ขอ

(https://prachatai.com/journal/2020/07/88817)

2 ธ.ค. 2563 – ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 อย่างเป็นเอกฉันท์ และตุลาการมีมติเสียงข้างมากว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วย 

คำวินิฉัยนี้ยังมีผลต่อคดีอื่นด้วย คือ ผู้ถูกตั้งข้อหาไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. จะถูกลงโทษตามประกาศทั้งสองฉบับนี้ไม่ได้

(https://prachatai.com/journal/2020/12/90657)

26 เม.ย. 2564 – ศาลแขวงดุสิตอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 รับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมาย ไว้อยู่ 

ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับจึงยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปแม้ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้ว

แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และ 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย

ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 8 มิ.ย. 2564

(https://prachatai.com/journal/2021/04/92738?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2691100 และ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/104/T_0027.PDF?fbclid=IwAR1BzCkaY87ykPYjbFc2uXlGWWZEHxw4ZEZhgG0aa-Wm-FFBcYVWbVjwwWY)

อ้างอิง

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า