ครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และในวาระ 70 ปีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการรัฐศาสตร์เสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสภาองค์กรชุมชน จึงร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ ‘การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม’ เมื่อวันพุธที่ 19 กันยายน 2561 ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาและประเด็นสำคัญในวงเสวนาครั้งนี้อยู่ที่การนำเสนอบทความวิชาการจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสำรวจภูมิทัศน์การเมืองภาคประชาสังคมนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกนับให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับแรกและฉบับเดียว ปัจจุบัน ถ้อยคำต่างๆ ได้ถูกเพิ่มและถูกตัดออกหายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 บ่งบอกถึงสภาวะทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะคำว่า ‘การเมืองภาคประชาสังคม’ ที่เคยมีอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่กลับไม่มีคำนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด
เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองภาคประชาสังคมที่หายไป
เพื่อเป็นการสำรวจภูมิทัศน์ของการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ผศ.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเขียนบทความที่ชื่อ ‘สองทศวรรษการเมืองภาคประชาสังคมในบริบทที่เปลี่ยนแปลง’ นั้น ประเทศไทยเดินมาถึงวาระครบรอบ 12 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว ก่อนจะกล่าวต่อว่า ประเทศไทยถดถอยจากระบอบการเมืองแบบรัฐสภา การเมืองแบบมีการเลือกตั้ง มาสู่ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมอย่างชัดเจนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 ซึ่งโดยส่วนตัวนฤมลมองว่าเป็นรัฐประหารสองพี่น้อง ไม่ได้แตกต่างกันตามที่เข้าใจทั่วไป
“ถ้าเราดูในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งเราจะค่อนข้างเห็นอย่างชัดเจนว่าในรัฐธรรมนูญปี 50 และรัฐธรรมนูญปี 60 พื้นที่ของอำนาจขยายขึ้น ระบอบของสิ่งที่เราเรียกว่าอำนาจนิยมมันอาจจะไม่ใช่รัฐราชการ แต่ค่อนข้างชัดเจนมากว่าการขยายพื้นที่ของการฝ่ายปกครอง ของฝ่ายความมั่นคงค่อยๆ ขยายมากขึ้น
“ประเด็นที่สองก็คือ ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่แบบนี้ ดิฉันขอใช้คำเรียกว่าเป็นรัฐพัฒนาแบบอำนาจนิยมใหม่ ก็คือเราเจอสถานการณ์ของการกัดกันทางการเมือง คือการ execute ใครบ้างที่ควรจะมีสิทธิ์เข้าไปในวงการเมือง และใครบ้างที่ไม่มีสิทธิ์”
สิทธิ์ของประชาชนที่หายไป
ประเด็นต่อมา นฤมลกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องด้วยประเด็นการเลือกปฏิบัติทางสังคมภายใต้วิธีคิดแบบรัฐอำนาจนิยมแบบใหม่นั้น แท้จริงแล้วมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2500-2506) จนเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพันธมิตรได้ขยายอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูปสองชุด ทั้งปี 2549 และปี 2557 ไม่นับรวมการอนุญาตให้มีการใช้อำนาจพิเศษ หรือกฎหมายพิเศษ ดังนั้นในมุมของนฤมล มาตรา 44 จึงไม่ใช่ของใหม่ เพียงแต่ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นภายหลังรัฐประหาร 2557 เท่านั้น
ประชาสังคมไทยอยู่ที่ใด
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาสังคมไทยอยู่ตรงไหนท่ามกลางกระแสรัฐแบบอำนาจนิยม
นฤมลอธิบายภายใต้บริบทปัจจุบันว่า รัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันค่อนข้างมากบนสนามการเมือง หากนับจากพฤษภาคม 2535 ภาคประชาสังคมถูกคาดหวังและถูกมองว่าเป็นพลังเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งยืนยันคำกล่าวนั้นด้วยรัฐธรรมนูญปี 2540 ก่อนที่เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ภาคประชาสังคมกลับถูกตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ ไปจนถึงแท้จริงแล้ว ประชาสังคมคืออะไรกันแน่?
“ตกลงคุณคือส่วนหนึ่งของรัฐ หรือพรรคการเมือง หรืออยู่ตรงไหนกันแน่ และยิ่งในปัจจุบันคุณจะเจอมูลนิธิมากมายที่ตั้งโดยบริษัทธุรกิจ สิ่งที่เราอาจจะพบในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความสำคัญระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนมันซ้อนกันอยู่ตลอดเวลา และเราอาจจะไม่สามารถที่จะตอบได้ และดิฉันคิดว่าคนที่ขอทุน พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) แล้วทำโครงการอะไรทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งคนที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจทั้งหลาย คุณอาจต้องตอบว่าคุณอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์สามอันนี้”
นอกจากนี้ นฤมลยังตั้งคำถามว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเป็น civil หรือ uncivil society หรือกล่าวให้ชัดคือ สังคมไทยเป็นสังคมอารยะหรือสังคมที่ปราศจากอารยะกันแน่ แม้ไม่สำคัญว่าตัวบุคคลจะต้องตอบต่อสาธารณะ แต่อย่างน้อยหากเป็นคนที่ทำงานในด้านภาคประชาสังคม ควรต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าในช่วงของความขัดแย้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ตรงไหน
ในทางทฤษฎี นฤมลอธิบายถึงบทบาทภาคประชาสังคมว่าเป็นสังคมที่มีอารยะ ผ่านรูปแบบการจัดตั้ง การมีเครือข่าย แต่ขณะเดียวกันเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง บทบาทของภาคประชาสังคมอาจสลายกลายเป็นฝูงชน
“แปรสภาพจากประชาสังคม civil society เป็น uncivil society หรือเปล่า ดิฉันคิดว่าในรอบการเมืองก่อนการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 หลายๆ คนอาจจะต้องกลับไปถามตัวเอง”
สถาบันการเมืองที่ไร้ประชาชน
ก่อนจะกล่าวต่อในประเด็นสถาบันการเมืองที่ไร้ประชาชนในหัวข้อบทความต่อไป รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่าการจะเข้าใจบริบทสถาบันการเมืองในปัจจุบันจำต้องย้อนกลับไปในรอบสองทศวรรษเช่นเดียวกันกับนฤมล
ในระยะเริ่มต้น ภาคประชาสังคมไทยเฟื่องฟูขึ้นอย่างมากจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนเกิดมีรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดเครือข่ายของสมัชชาคนจน เกิดเครือข่ายของกลุ่มการเมืองภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวางและแพร่หลายมากกว่า โดยสมชายมองว่า การเคลื่อนไหวก่อนหน้าทศวรรษ 2530-2540 ค่อนข้างเป็นการเคลื่อนไหวในแนวทางของฝ่ายซ้ายที่ยึดโยงอยูกับการปฏิวัติโค่นล้มระบอบเก่ามากกว่า
“สิ่งที่เรียกว่าการเมือง มันไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทางการ คือหมายความว่าไม่ได้เป็นพื้นที่ในแบบรัฐสภา หรือผ่านนักการเมือง รวมถึงถ้าพูดถึงอำนาจ อำนาจไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่รัฐอย่างเดียว อำนาจมันต้องกระจาย หรือเอาสิ่งที่เป็นอุดมการณ์หลัก ต้องสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้เกิดขึ้น”
ในแง่ของการศึกษา มีการศึกษาบทบาทการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาสังคม/ประชาชนเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ผ่านการศึกษางานเขียนทั้ง ‘การเมืองบนท้องถนน’ ของ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ‘อารยะขัดขืน’ ของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ โดยมีงานของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ใน ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่มักจะถูกอ้างอิงถึงเสมอเมื่อต้องกล่าวถึงงานด้านวิชาการในการศึกษาเรื่องการเมืองภาคประชาสังคม
การเคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษนี้จนนำไปสู่การบัญญัติคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ ลงในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เป็นผลสำเร็จนั้น ทว่าในทางปฏิบัติจริงกลับผิดกฎหมายอื่น เช่น ผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ กระทั่งถูกปฏิเสธจากศาล เนื่องจากศาลไม่ได้มองตามสิทธิอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไปยึดอยู่กับกฎหมายพระราชบัญญัติ
“นัยหนึ่งที่มันสำคัญ คือมันทำให้เห็นว่าสถาบันต่างๆ ที่มันดำรงอยู่ มันไม่ได้ปรับตัว หรือไม่ได้ถูกทำให้สัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชนแต่อย่างใด โดยความพยายามที่จะผลักดันสิทธิชุมชนมันมีการปรับรูปร่างหน้าตาโดยในหลายพื้นที่ ชาวบ้านหันไปใช้วิธีการเข้าไปยึดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วสร้างข้อบัญญัติขึ้น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันมีนัยสำคัญ ในทางกฎหมายมันมีผลหรือไม่มีผลไม่รู้ แต่ในทางปฏิบัติมันมีผล คือพอชาวบ้านเข้าไปยึดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ก็ใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ออกข้อบัญญัติ ข้อกฎหมาย ทำให้สถาบันทางการเมืองอยู่ในมือของภาคประชาชนพอสมควร ซึ่งหลัง 2550 เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายๆ พื้นที่”
ต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวในปี 2550 จนมาถึง ‘กรณีป่าแหว่ง’ สมชายมองว่าสิ่งๆ หนึ่งของภาคประชาสังคมไทยที่ยังไม่มีการกล่าวถึงอย่างจริงจัง คือการไม่พูดถึงสถาบันการเมืองที่หลุดลอยออกจากสังคม เช่น สถาบันตุลาการที่การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องสนใจว่าสังคมคิดเช่นไร ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับองค์กรที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน เช่น สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ ที่ประธานศาลฎีกาจะต้องถูกเสนอชื่อเข้ารัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเห็นชอบ
แม้บทบาทของภาคประชาสังคมก่อนปี 2550 จะมีความเข้มแข็ง แต่สมชายก็ไม่ปฏิเสธว่าภายหลังจากนั้น เมื่อสังคมไม่ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันการเมืองอันเป็นทางการที่หลุดลอยออกไปจากสังคมจนไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับสถาบันการเมืองอื่นๆ ที่ถูกเลือกขึ้นมาโดยประชาชนแล้ว เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 ขึ้น สถาบันตุลาการ สถาบันทางการเมืองอื่นๆ เช่น กองทัพ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เองกลับไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับสังคม
อีกทั้งกระบวนการและกลไกต่างๆ กลับถูกทำลายลงด้วยคำสั่งของ คสช. ที่ขึ้นมามีอำนาจผ่านการรัฐประหาร ซึ่งในอีกแง่หนึ่งไม่เพียงไม่สัมพันธ์กับสังคม แต่ไม่สามารถแม้แต่ตรวจสอบใดๆ ได้เลยกับการดำรงอยู่ของ คสช. ด้วยซ้ำ
คำที่หายไปในรัฐธรรมนูญ 60
บทความ ‘การเมืองบนท้องถนน ภาคประชาชน/ประชาสังคม บนเส้นทางการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยไทย’ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการปรากฏตัวของคำ ‘ภาคประชาสังคม’ และ ‘ภาคประชาชน’ ว่าเกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการอธิบายกลุ่มก้อนของผู้คนที่ไม่ใช่ ‘ภาครัฐ’ หรือภาคราชการและไม่ใช่ ‘ภาคธุรกิจ’ ที่เติบโตในช่วงรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดังนั้น ในแง่มุมทางทฤษฎี ต่องานศึกษาของ เฟรด ดับเบิลยู. ริกส์ (Fred W. Riggs) ที่มองว่าสังคมไทยไม่มีองค์กรนอกภาครัฐ ประเด็นสำคัญในทัศนะของประภาสจึงอยู่ที่ว่า
“…เราไม่ควรแสวงหาว่าอะไรคือความจริงแท้แน่นอนของคำนิยาม ‘ประชาสังคม’ เพราะประชาสังคมในสายตาของคนกลุ่มหนึ่งอาจเป็น ‘สังคมอนารยะ’ (uncivil society) หรือสังคมปีศาจ/เปรต (evil society) ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังเช่นการมองสมัชชาคนจนด้วยทัศนะลบว่า พวกสมัชชาคนจนเป็นพวกชอบใช้กำลัง ไม่ใช้ปัญญา เป็นการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่เน้นการสร้างความสมานฉันท์…”
ประภาสยังอ้างอิงงานเขียนของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในเรื่อง ‘การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย’ ที่เสกสรรค์ได้ชี้ให้เห็นว่า การเมืองภาคประชาชนของไทยเกิดขึ้นในบริบททางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีลักษณะหนึ่งรัฐสองสังคม หรือสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม การเข้าถึงครอบครองทรัพยากร ฯลฯ ทำให้คนจน คนด้อยอำนาจ ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้
“เอาง่ายๆ นะครับ ผมมักจะให้นิสิตไปหาคำว่า ‘ประชาสังคม’ ‘ภาคพลเมือง’ ‘ภาคประชาชน’ ในรัฐธรรมนูญปี 60 หาเจอสักคำผมจะให้ 1,000 บาท แต่ถ้าเราไปดูในรัฐธรรมนูญปี 50 ปี 40 เราจะพบคำพวกนี้มากมาย เราจะพบแม้กระทั่งคำว่า ‘เอ็นจีโอ’ คำว่า ‘ภาคเอกชน’ ก็มี แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีนะ มีแต่คำว่า ‘ความมั่นคง’ ‘ความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ ที่เพิ่มเข้ามาเต็มไปหมด มันไม่มีที่มีทางของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบที่อาจารย์นฤมลได้พูดถึง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่เราจะต้องกลับไปนึกถึงคำว่าการเมืองที่เห็นหัวคนจน ถ้าไม่เห็นหัวก็เอาตีนให้ดู เพื่อสร้าง เพื่อจรรโลง เพื่อขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชน ซึ่งมันนำมาสู่ทางแพร่งนับตั้งแต่ปี 2549 ของการเมืองภาคประชาชน ภาคประชาสังคม”
โดยทางแพร่งในบทความของประภาส คือความถดถอยของการเมืองภาคประชาชนที่ได้ปรากฏชัดเจนในช่วงปลายทศวรรษ 2549 จากงานเขียนของ อุเชนทร์ เชียงแสน ในเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน: ความคิดและปฏิบัติการของ ‘นักกิจกรรมทางการเมือง’ ในปัจจุบัน’ โดยประภาสเขียนไว้ว่า
“…ได้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การสร้างตัวตนของการเมืองภาคประชาชน และความผันแปรไปจากการเมืองภาคประชาชนบนเส้นทางของคนจนไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การเมืองภาคประชาชนที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตย’ ซึ่งมีจุดผกผันที่สำคัญในช่วงปรากฏการณ์การชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย และต่อมาก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์โดย กปปส. ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการมองปัญหา สาเหตุของการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย รวมทั้งจินตภาพต่อสังคมการเมืองประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติที่แตกต่างกันออกไป…”
นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในบทความของประภาส
“…การเมืองภาคประชาชนในแนวทางดังกล่าวนี้จะไม่ให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เป็นหลักสากลโดยทั่วไป ซึ่งนำมาสู่การสร้างและออกแบบระบอบการเมืองไทยที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมาก ดังจะเห็นได้จากโครงสร้าง สถาบันทางการเมืองและกระบวนการทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 คำสั่ง/ประกาศของ คสช. ตัวบทกฎหมาย ระเบียบ ฯลฯ รวมทั้งปฏิบัติการทางการเมืองของรัฐบาล คสช.
“…แน่นอนว่าภายใต้เส้นทางของการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยแบบถดถอยเช่นนี้ก็คงไม่มีที่ทางให้ภาคประชาชน/ประชาสังอยู่ไม่น้อย (เช่น การมีพื้นที่ของภาคประชาสังคมในกรรมการปฏิรูปต่างๆ ฯลฯ) และพื้นที่ของการเมืองภาคประชาชนในเชิงสถาบันก็คงไม่ได้หดหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็หดแคบลงไปอย่างมาก หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ปรากฏคำว่า ‘การเมืองภาคประชาชน’ ‘ภาคประชาสังคม’ ‘ภาคพลเมือง’ ‘องค์กรพัฒนาเอกชน’
“หากรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกพยายามสถาปนา ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 น่าจะเป็นการสถาปนาแบบการเมืองชนชั้นนำ ‘เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน’ ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของภาคประชาสังคมว่าจะประเมินกันในเชิงคุณค่าต่อการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยอย่างไร…”
ประภาสให้ข้อเสนอบนเวทีสั้นๆ ไว้เพียงประการเดียวว่า
“ข้อเสนอของผมคือ เราต้องกลับไปสู่เส้นทางของประชาธิปไตยในลักษณะของการถ่ายโอนอำนาจสู่คนข้างล่าง ไม่ใช่มุ่งเอาอำนาจออกจากประชาชนและนำอำนาจไปสู่ข้างบน แม้จะมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างของระบอบใหม่ที่มันสถาปนามาจากความหลงลืมของเรา ที่เข้าไปร่วมสร้างอะไรบางอย่างกับเขามันจะมีผลต่อสิ่งที่เราได้สร้างเอาไว้”
ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของ นันทโชติ ชัยรัตน์ แกนนำสมัชชาคนจน ที่บอกไว้ดังนี้
“การเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอย่างสุดขั้วและโน้มเอียงหารัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จะคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองที่ยังประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริง และขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ข้อบกพร่องของระบบเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วยแนวทางประชาธิปไตย และต้องแก้ไขด้วยแนวทางประชาธิปไตย”