องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการเฝ้าระวังหลักนิติธรรมทั่วโลกอย่าง World Justice Project (WJP) ระบุว่า หลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี 2022 อยู่อันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศ ขณะที่ปีก่อนหน้าอยู่อันดับที่ 80 จาก 139 ประเทศ ร่วงหล่นลงกว่าเดิมจากในปี 2020 ที่เคยได้อันดับที่ 71 จาก 128 ประเทศ
และเมื่อเทียบกับในระดับภูมิภาคที่มีทั้งสิ้น 15 ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ซึ่งอยู่ในโซนประเทศสีแดงอ่อนที่มีอัตราถดถอยของคะแนนโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากคะแนนทั้งหมดต่อปี ร่วมกับประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และมองโกเลีย ขณะที่เมียนมาเข้าสู่โซนประเทศสีแดง คือถดถอยมากกว่าร้อยละ 4.1 จากคะแนนโดยรวมต่อปีทั้งหมด
การประเมินคะแนนแบ่งออกเป็นหลายหมวด แต่หมวดที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำที่สุด คือ หมวดการบังคับใช้กฎหมายและนโยบาย โดยปีนี้ถูกจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 101 จาก 140 ประเทศ จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 95 จาก 139 ประเทศในปี 2021 โดยเฉพาะการเสียคะแนนในเกณฑ์ย่อย ได้แก่ ‘กระบวนการภาครัฐต้องดำเนินการอย่างไม่ชักช้าโดยไร้เหตุผล’ ‘รัฐบาลต้องไม่เวนคืนที่ดินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องและค่าชดเชยที่เป็นธรรม’ และ ‘กระบวนการทางกฎหมายได้รับความเคารพจากกระบวนการทางนโยบาย’
ข้อค้นพบสำคัญของ WJP ยังระบุต่อไปว่า หลักนิติธรรมในประเทศจะส่งผลโดยตรงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับสถิติสำคัญอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อคะแนนหลักนิติธรรมต่ำลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวก็จะต่ำลงเช่นกัน เนื่องจากอัตราการคอร์รัปชันก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยระหว่างปี 2021-2022 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘80 ประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชันถดถอย’ และจัดอยู่ในโซนประเทศสีมชมพู คือ มีอัตราการคอร์รัปชันมากขึ้นถึงร้อยละ 2 จากประเทศทั้งหมด
ดังนั้นผลจากเกณฑ์การประเมินเมื่อเทียบกับประชาคมโลกจึงสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่แย่ลงของไทย ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาขยายตัวต่อไปอาจจะนำมาสู่การหดตัวทางเศรษฐกิจ และเกิดปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป
ที่มา
- WJP Rule of Law Index 2022 https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/country/2022/Thailand
- The Business case for Rule of Law https://worldjusticeproject.org/news/business-case-rule-law