ถึงเวลาแล้วที่ชาติต้องปฏิบัติกับเราเหมือนที่เราปฏิบัติกับชาติ
คือ ท่อนหนึ่งจากจดหมายของทหารผู้กล้าชาวเยอรมันที่เขียนให้กับชายผู้เป็นที่รักก่อนสิ้นใจ โดยไม่รู้เลยว่าจดหมายฉบับนี้ส่งไปไม่ถึงชื่อที่จ่าหน้าซองเอาไว้
เราขอเรียกทหารนิรนามผู้นี้ว่า เอส.
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ว่าจะฝั่งไหน ประเทศใด การเกณฑ์ทหารเพื่อเข้าร่วมรบต่างก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ ชายทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร นั่นหมายความว่า หากมองแค่เรื่องเพศสภาพภายนอก ชายชาว LGBT ทุกคนต้องออกไปรับใช้ชาติ
แน่นอนว่า พวกเขาต่างยินดีสละชีพเพื่อปกป้องชาติที่ตนรัก ไม่ยอมให้ใครหน้าไหนเข้ามาย่ำยีความเป็นชาติของพวกเขา แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1918 ทหารหลายคนไม่ได้กลับบ้านเกิด และอีกหลายคนแม้จะรอดชีวิตกลับมาได้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับไม่ใช่เกียรติยศ
โดยเฉพาะที่เยอรมนี ทหารชาว LGBT ล้วนต้องปกปิดความจริงในใจ เพราะหากความลับเรื่อง ‘ความรัก’ ถูกแพร่งพรายออกไป แม้แต่สิทธิความเป็นมนุษย์ พวกเขาก็ยังไม่ได้รับ
นี่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกทับทิ้งไว้จนหลายคนอาจหลงลืม หรือไม่เคยรู้เลยว่า ขบวนการเรียกร้องสิทธิเกย์และ LGBT ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์นี้ และมาจากเหล่าชายชาติทหาร
The Forgotten Origin
ย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เยอรมนีมีกฎหมายชัดเจนว่า การร่วมเพศระหว่างชายและชาย ถือเป็นอาชญากรรม หรือที่รู้จักกันว่า ‘sodomy law’
ประกอบกับบริบทสังคมที่ยังคงยึดติดเพียงสองเพศ ได้แก่ ชายและหญิง และแบ่งแยกชัดเจนว่าอาชีพไหนเป็นของเพศใด โดยเฉพาะทหารผู้รับใช้ชาติ ที่มักถูกมองและตัดสินเรียบร้อยแล้วว่า ชายทุกคนต้องเป็นชายชาตรี ความรักระหว่างชายและชาย จึงเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์
แต่เรื่องของความรัก ห้ามกันได้ด้วยเหรอ…
การถูกตราหน้าว่าเป็นพวกโฮโมเซ็กชวลในเยอรมนี จึงไม่ต่างอะไรกับนักโทษชั้นเลว พวกเขาถูกสังคมประณาม ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เสี่ยงที่จะโดนทำร้าย บางครั้งถึงขั้นต้องฆ่าให้ตาย
“เราสูญเสียชีวิตที่เคยสดใสในดินแดนมาตุภูมิของเราเอง” คืออีกประโยคที่มาจากจดหมายฉบับเดิมของเอส.
เรื่องราวในจดหมายของเอส. เป็นหนึ่งในอีกหลายร้อยฉบับที่ Scientific Humanitarian Committee ซึ่งเป็นองค์กรเรียกร้องสิทธิ LGBT แห่งแรกของโลก ได้หยิบมาตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนปี 1916 (แม้สงครามจะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม) โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 พฤษภาคม ปี 1867 ในกรุงเบอร์ลิน และหลังจากนั้นเป็นต้นมา องค์กรดังกล่าวกลายเป็นผู้นำกลุ่มปลดแอก LGBT และมีสมาชิกมากกว่า 100 คน
A New Phase of Gay Rights
เอาเข้าจริงแล้ว ณ เวลานั้น วาทกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิของ LGBT เป็นลักษณะโน้มน้าวผู้ต่อต้านความหลากหลายทางเพศด้วยการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อพิสูจน์ว่า โฮโมเซ็กชวลคือเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่ความป่วยไข้
แต่สำหรับชาว LGBT อีกกลุ่มมองว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่แค่ให้สังคมที่อยู่ร่วมกันนั้นเห็นว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่พวกเขาต้องการให้รัฐบาลเห็นว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ และพึงได้รับสิทธิมนุษยชนภายใต้คำว่า ‘พลเรือนของชาติ’ เฉกเช่นทุกคน
โดยเฉพาะกลุ่มคนอย่างเอส. ที่ยอมเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ในนามของประเทศ พวกเขายืนยันว่า รัฐบาลมีหน้าที่ผูกพันกับพวกเขา รัฐต้องตอบแทนสิ่งที่พวกเขาทำ อย่างน้อยก็สิทธิที่เหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ
สำหรับเหล่าชาย (ที่ยอมให้) มือเปื้อนเลือด ต่างมองว่าสุดท้ายแล้ว สงครามไม่เคยให้อะไรพวกเขา และประเทศนี้ก็ไม่เคยให้อะไรกับพวกเขา นอกจากความตายทั้งเป็น
ความยากลำบากทางสังคมของกลุ่มทหารเหล่านั้น จึงนำมาสู่การจุดประกายแรงบันดาลใจให้ชาว LGBT คนอื่นกล้าจะแสดงออกและยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตน
ขบวนการดังกล่าวจึงสร้างหลักที่ไม่ใช่เพียงวาทกรรมทางกายภาพขึ้นมา มุ่งเป้าไปที่การก่อร่างสร้างคาแรคเตอร์หรือนิยาม ‘สิทธิเกย์’ อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ กล่าวคือ ชาวชายรักชายทุกคนถือเป็นพลเรือน และสมควรที่จะได้รับการเคารพสิทธิเหมือนกับทุกคน
“รัฐต้องตระหนักถึงสิทธิการเป็นพลเมืองเต็มรูปแบบไม่ว่าพวกเขาจะมีเพศวิถีอย่างไร หรือเป็นโฮโมเซ็กชวลก็ตาม” เป็นอีกข้อความที่ไร้การบันทึกอย่างชัดเจนว่าใครเป็นคนเขียน รู้เพียงว่าเขาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิเกย์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ความต้องการของกลุ่มเรียกร้องสิทธิเกย์ต่างๆ ในหลายประเทศทั่วยุโรป จึงไม่ใช่เพียงเพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลถอดถอนกฎหมาย sodomy law ดังกล่าว แต่ร่วมกันทำความเข้าใจกับรัฐที่มีความเชื่อสุดโต่งอย่างผิดๆ เกี่ยวกับโฮโมเซ็กชวล เพื่อให้ได้สิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากเกินเอื้อมและใช้เวลาต่อสู้มาร่วมกว่าหลายทศวรรษ จนนำมาสู่กลุ่มขบวนการเรียกร้องสิทธิชาวเกย์และ LGBT ทั่วโลกอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
แม้กาลเวลาจะล่วงเลยกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม แต่การเรียกร้องของกลุ่ม LGBT ในหลายๆ ประเทศทุกวันนี้ ยังไม่ต่างจากสมัยศตวรรษที่ 19 มากนัก แม้เราจะพอได้ยินข่าวน่ายินดีจากบางประเทศที่สามารถผลักดันประเด็นต่อรัฐบาลได้สำเร็จก็ตาม