แว่นตากรอบทอง: หมอเกย์ นักเขียนยิว และสุนัขพันทางคิดถึงลูกตัวหนึ่ง

 

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งใน waymagazine.org ทำให้เรานึกถึง อาตอส ฟาดิกาติ นายแพทย์ด้านหู คอ จมูก ชาวอิตาเลียนในนวนิยาย แว่นตากรอบทอง หรือในชื่อภาษาอิตาลี Gli occhiali d’oro ประพันธ์โดย จอร์โจ บัสซานี

รายงานข่าวชิ้นนี้ชื่อ world war 1: รักระหว่างรบ โดย ชลิตา สุนันทาภรณ์ เล่าถึงจดหมายรักจำนวนหนึ่งของนายทหารเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รักเร้นของชายชาติทหารเหล่านี้ถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916 โดย Scientific Humanitarian Committee องค์กรเรียกร้องสิทธิ LGBT แห่งแรกของโลก

จดหมายรักเหล่านี้เขียนจากสนามรบถึงชายคนรักของพวกเขา

การเป็นเกย์ในห้วงเวลานั้นของเยอรมนีจัดเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง เยอรมนีมีกฎหมาย ‘sodomy law’ และในช่วงฮิตเลอร์ขึ้นมีอำนาจในเวลาหลังจากนั้น (ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) รักร่วมเพศยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และต้องถูกลงโทษ ดั่งที่ ฮันส์ โชล พี่ชายของ โซฟี โชล เคยถูกกล่าวหาในคดีนี้โดยรัฐนาซีเมื่อครั้งอยู่ในกลุ่มยุวชนชาย (ในเวลาต่อมาเขาคือหนึ่งในขบวนการกุหลาบขาวแจกใบปลิวต่อต้านนาซี กระทั่งถูกจับได้ และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน)

นี่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกทับทิ้งไว้จนหลายคนอาจหลงลืม หรือไม่เคยรู้เลยว่า ขบวนการเรียกร้องสิทธิเกย์และ LGBT ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์นี้ และมาจากเหล่าชายชาติทหาร

คือข้อความจากรายงานข่าวชิ้นนี้

นายแพทย์ฟาดิกาติ เป็นชาวเมืองเวนิส ผู้มาเปิดคลินิกหู คอ จมูก อันโอ่อ่าในเมืองแฟร์รารา ในแคว้นเอมิเลีย-โรมัญญา เขาไม่หนุ่มแล้ว อ้วนตุ๊ต๊ะ แต่งกายภูมิฐาน โดดเด่นด้วยแว่นตากรอบทองบนใบหน้า

ภาพลักษณ์ภายนอกและเรื่องราวของหมอฟาดิกาติถูกเล่าโดย ‘ข้าพเจ้า’ ผู้ที่เรารับรู้ข้อมูลจากตัวเรื่องว่าเขาเป็นนักเขียน เป็นคนเชื้อชาติยิวในเมืองแฟร์รารา ตอนที่เขาเล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้กินเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 จนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1930

เป็นบรรยากาศที่ระบอบฟาสซิสต์ปกครองอิตาลี นำโดย เบนีโต มุสโสลินี ระบอบฟาสซิสต์ปกคลุมทั่วทุกแคว้น ไม่เว้นเมืองเล็กๆ อย่างแฟร์รารา ฉากหลักของเรื่อง

หลังจาก ‘ข้าพเจ้า’ พาเราไปรู้จักกับชีวิตประจำวัน บุคลิกเก็บตัวและทำอะไรซ้ำเดิมทุกวันของหมอฟาดิกาติ ผู้เป็นใจกลางของเรื่อง เราจะพบว่า หมอฟาดิกาติ ชนชั้นกลางผู้นิยมคลุกคลีกับพวกชนชั้นล่างผู้นี้ เป็นเกย์ และชาวเมืองแฟร์ราราต่างก็รู้ และจับจ้องมองเขาทุกฝีก้าว

นี่คือการมองและเล่าเรื่องเกย์โดยสายตาชาวยิว ทั้งหมดนี้ถูกจัดวางในบริบทที่การเป็นเกย์ในช่วงสงครามโลกเป็นเหมือนสงครามในสงคราม ประหนึ่งตุ๊กตารัสเซียที่เรียงซ้อนเหลื่อมขนาดลงไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นสงครามที่อาวุธคือถ้อยคำดูแคลน สไนเปอร์แห่งทัศนคติด้านลบและแคบลอบยิงและปลิดความเป็นมนุษย์ของหมอเกย์ แม้เชื่อว่าขาวคือความจริง แต่ถ้าเกย์คนนั้นเชื่อในสิ่งเดียวกัน ชาวเมืองแฟร์ราราก็พร้อมจะบอกว่า ดำต่างหากคือความจริง! ดาบปลายปืนแห่งถ้อยคำเหน็บแนม แดกดัน กัดให้ได้อาย ก็เพราะเกย์คือพวกไม่มีศีลธรรม ไม่มีความชอบธรรมที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ควรได้รับ

เกย์คือเชลยศึกของสงครามในสงคราม

ในขณะที่ทหารหนุ่มแห่งอิตาลีถูกส่งไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเมืองแฟร์ราราก็ลุกขึ้นทำสงครามยึดความเป็นมนุษย์ให้หมอบราบคาบจากพวกรักร่วมเพศ ทหารกล้าเหล่านี้เป็นทั้งหญิงแก่แม่หม้าย ชายฉกรรจ์หรือชรา ไม่เว้นแม้แต่คนหนุ่มสาว ยกเว้นบางคนที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่ต่างตนในชายร่างท้วมผู้มีรสนิยมในเพศเดียวกัน

แต่พวกเขาจะทำอะไรได้มากไปกว่าหยิบยื่นเศษขนมปังของความเห็นอกเห็นใจอย่างลับๆ ท่ามกลางห่ากระสุนสาธารณะของเพื่อนร่วมเมือง

แว่นตากรอบทอง ถูกเล่าผ่านสายตาตัวละครนักเขียนหนุ่มผู้เป็นยิวในอิตาลี ในบริบทที่การเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวยิวในอิตาลีและทั่วโลกตกเป็นเป้าหมายความเกลียดชัง

ตั้งแต่ปี 1922 จนกระทั่ง เบนีโต มุสโสลินี ถูกขับออกจากตำแหน่งในปี 1943 ราชอาณาจักรอิตาลีเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนี นโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติโดยเฉพาะชาวยิวจึงถูกพูดถึงในอิตาลี ตามมาด้วยการรณรงค์ โฆษณา ป่าวประกาศ โดยปฏิบัติการทางสังคม ยิวคือสิ่งชั่วร้าย!

เมื่อนักเขียนยิวเล่าเรื่องหมอเกย์ มันจึงเป็นเหมือนการลบทิ้งความเป็นยิวและความเป็นเกย์ออกไปจากเรือนร่างประชากรเมืองแฟร์รารา ชาวยิวในแฟร์ราราที่เคยบุกโจมตีความเป็นเกย์ของหมอฟาดิกาติจึงได้กลายมาเป็นเกย์ผู้ถูกรุกรานเอกราชเสียเอง เมื่ออิตาลีผูกสัมพันธ์กับรัฐนาซี และเริ่มมีการรณรงค์ให้ร้ายชาวยิวในอิตาลี

นี่คือการเปลือยและถอดอาภรณ์ชื่อยิวและเสื้อคลุมแห่งเกย์ออก ฉีกทึ้งไม่มีชิ้นดี สุดท้ายทั้งยิวและเกย์ก็ล่อนจ้อนเปลือยโป๊ในนามมนุษย์ไม่ต่างกัน บางทีอาจเหมือนหมาพันทางตัวหนึ่งในฉากหนึ่งที่ปรากฏตัวร่วมกับยิวและเกย์ในตัวเรื่อง และนี่ก็คือฉากที่เรียบง่าย งดงาม กินดวงใจ และทรงพลัง

“คุณดูมันสิ” ระหว่างนั้นฟาดิกาติพูดขึ้นพลางชี้ให้ข้าพเจ้าดูสุนัข “เราอาจต้องเป็นอย่างนี้กระมัง รู้จักยอมรับธรรมชาติของตัวเอง แต่จะว่าไป เราจะทำยังไงได้ล่ะ เป็นไปได้หรือที่ต้องจ่ายราคาแพงขนาดนั้น ในมนุษย์มีความเป็นสัตว์อยู่มาก แต่มนุษย์จะยอมจำนนได้หรือ จะยอมรับได้หรือว่าตัวเองเป็นสัตว์ เป็นเพียงสัตว์เท่านั้น”

“ตายล่ะ” ข้าพเจ้าอุทาน “คงเหมือนกับพูดว่า คนอิตาลีคนหนึ่ง ประชากรอิตาลีคนหนึ่ง จะยอมรับได้ไหมว่าตัวเองเป็นยิวเท่านั้น เป็นเพียงยิวเท่านั้น”

(หน้า 117-118)

 

คนสองคนคุยกัน คนหนึ่งเป็นเพียงยิวเท่านั้น อีกคนเป็นเพียงเกย์เท่านั้น อ้อ มีหมาพันทางตัวหนึ่งด้วย มันเป็นเพียงหมาตัวหนึ่งเท่านั้น

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า