TAKEAWAYS
-
เยอรมนีมีระบบการเมืองการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มีบทบาทจำกัด ปัจจุบันคือ แฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ด้านอำนาจนิติบัญญัติแบ่งออกเป็นสองสภาได้แก่ สภาสหพันธ์ (Bundesrat) เป็นตัวแทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นตัวแทนของรัฐบาลในแต่ละรัฐ มีทั้งหมด 16 รัฐ และสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ที่มาจากการเลือกตั้ง
-
เยอรมนีไม่จำกัดวาระการทำงานอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ อังเกลา แมร์เคิล นั่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน แต่บุคคลที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดคือ เฮลมุต โคห์ล (Helmut Kohl) โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1982-1998 เป็นเวลาทั้งหมด 16 ปี
-
4,828 คือจำนวน สส. ที่เข้าร่วมชิงชัยในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีจำนวน สส.ผู้หญิง 29 เปอร์เซ็นต์ สส.อายุมากที่สุดอยู่ที่ 89 ปี และอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 18 ปี
ภาพประกอบ: antizeptic
Sunday’s Vote ถือเป็นวันที่ชาวเยอรมันทุกคนต้องไปใช้ ‘สิทธิ’ ของตัวเองในการตัดสินใจชะตาประเทศต่อจากนี้ไปอีกสี่ปี สำหรับเยอรมนีแล้ว การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นสิทธิที่พึงทำ
การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดไว้ครั้งนี้คือ วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2017
ในสายตาของผู้สนใจการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองยุโรป การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สี่ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในปี 2017 แต่กลับไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากเท่ากับการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศสหรือเนเธอร์แลนด์ แต่เมื่อเยอรมนียังเล่นบทบาทเป็น ‘พี่คนโต’ หรือ ‘คุณแม่’ ของสหภาพยุโรปอยู่ แน่นอนว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ต่อจากนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกที่เหลือในวงกว้างอย่างแน่นอน
เพราะอย่าลืมว่า หลังจากอังกฤษถอนตัวออกไปจากสหภาพยุโรปแล้ว เยอรมนีจะกลายเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจที่มีกำลังจ่ายมากพอในการฟื้นฟูระบบการเงินยูโร นั่นเท่ากับว่าเยอรมนีจะสามารถชี้เป็นชี้ตายทิศทางสหภาพยุโรปต่อจากนี้
ความท้าทายของแมร์เคิลคืออะไร
ความท้าทายของหญิงเหล็กวัย 63 ปีครั้งนี้จึงหนีไม่พ้นประเด็นหลักๆ ที่ยุโรปกำลังเผชิญ โดยเฉพาะวิกฤติผู้ลี้ภัย ปัญหาด้านการก่อการร้าย และการรับมือหลังจากการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ
อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค CDU (Christian Democratic Union of Germany) ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สามารถประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เธอได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไม่เคยตกตั้งแต่นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2005
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อาจกล่าวได้อย่างมั่นใจมากนักว่า นโยบายตัดสินใจเปิดประตูบ้านต้อนรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยให้เข้ามาพักพิงเมื่อปี 2015 ของเธอเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ เพราะได้ไปสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเยอรมันหัวขวาจัดที่เคยสนับสนุนเธอและออกมาโต้ตอบ เช่น เดินรณรงค์ไม่เอาผู้อพยพและต่อต้านมุสลิมอย่างที่เห็นกันเนื่องๆ
แม้ทางพรรค CDU ออกมายืนยันว่าจะลดภาษี และทำให้เยอรมนีมีการจ้างงานเต็มที (full employment) ภายในปี 2025 ก็ตาม แต่นั่นดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับชาวเยอรมันชาตินิยมมากนัก นำมาสู่โอกาสของพรรคขวาจัดอย่างพรรค AfD (Alternative for Germany) ที่กล้าชูนโยบายต่อต้านอิสลามผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในการหาเสียงครั้งนี้ และคาดการณ์กันว่าพรรค AfD อาจสามารถเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นครั้งแรกหลังจากก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2013 และเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่จะมีพรรคฝ่ายขวาเข้ามานั่งในสภาผู้แทนราษฎร
จุดยืนของแต่ละพรรค
พรรคการเมืองในยุโรปส่วนใหญ่มักมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดทางการเมืองที่พวกเขายึดมั่น เยอรมนีก็เช่นกัน สำหรับหกพรรคต่อไปนี้ คือพรรคที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Democratic Union of Germany หรือ Christlich Demokratische Union Deutschlands: CDU): พรรคขวากลาง นำโดย อังเกลา แมร์เคิล เป็นพรรคที่ครองที่นั่งสูงสุดในสภามาโดยตลอด นโยบายหลักๆ ส่วนใหญ่คือ ทำให้เยอรมนีมีอัตราจ้างงานเต็มที่ ลดภาษีและเพิ่มการลงทุนภาครัฐในส่วนต่างๆ
พรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Social Democratic Party หรือ Sozialdemokratische Partei Deutschlands: SDP): พรรคซ้ายกลาง ใหญ่รองลงมาจากพรรค CDU และเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอด ปัจจุบันมีอดีตประธานรัฐสภายุโรป (European Parliament) มาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schulz) นั่งเป็นหัวหน้าพรรค น่าสนใจกว่านั้น นี่คือสนามการเลือกตั้งครั้งแรกของเขา พรรค SDP เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมนี ก่อตั้งเมื่อปี 1863 ถือเป็นพรรคดั้งเดิมของชนชั้นแรงงาน ฉะนั้นจึงเน้นไปที่การลงทุนในด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานจากการนำภาษีของคนรวยมาใช้
พรรคทางเลือกเยอรมนี (Alternative for Germany หรือ Alternative für Deutschland: AfD): พรรคฝ่ายขวาจัด นำโดย อลิซ ไวเดิล (Alice Weidel) และ อเล็กซานเดอร์ กอแลนด์ (Alexander Gauland) เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 ชูนโยบายขวาจัดที่รุนแรงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นต่อต้านมุสลิม ต่อต้านผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงสนับสนุนให้เยอรมนีออกจากสหภาพยุโรป
ซ้าย (The Left หรือ Die Linke): เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีขนาดเล็ก โดยมีหัวหน้าพรรคคือ ซาห์รา วาเกินเนค (Sahra Wagenknecht) สืบทอดแนวคิดมาจากคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก ฉะนั้นจุดยืนของพรรคจึงเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำของชาติ ต่อต้านภารกิจทหารในต่างประเทศและสนับสนุนให้เยอรมันออกจากนาโต้
พรรคประชาธิปไตยเสรี (Free Democratic Party หรือ Freie Demokratische Partei: FDP): นำโดย คริสเตียน ลินด์เนอร์ (Christian Lindner) เป็นพรรคหัวเสรีนิยม และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของแมร์เคิลตั้งแต่วาระที่สองของแมร์เคิล นโยบายหลักๆ มักไปในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องตลาดเงินร่วม
กรีน (Green หรือ Grüne): เป็นพรรคที่คะแนนนิยมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คาดการณ์ว่าจะเป็น kingmaker ผู้กำหนดว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคคือ แคทริน เกอริง-เอคคาร์ดท์ (Katrin Göring-Eckardt) และ เซม อึซเดเมียร์ (Cem Özdemir) นโยบายส่วนใหญ่เกี่ยวกับการศึกษา สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่างๆ
ผลโพลว่าอย่างไร
จากผลโพลตั้งแต่ปลายปีจนปัจจุบัน แมร์เคิลยังคงได้รับความนิยมสูงสุดนำพรรคอื่นๆ มาโดยตลอด สอดคล้องแนวคิดของนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่า พรรค CDU จะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าแมร์เคิลจะยังคงรักษาตำแหน่งนี้ได้อีกสมัย และถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบสี่สมัยสำเร็จ
ล่าสุด Financial Times รวบรวมผลโพลจากเจ็ดสำนักเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา สรุปให้เห็นว่า พรรค CDU ยังคงมีคะแนนนิยมสูงสุดทิ้งห่างหลายๆ พรรค คือ 36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคที่มีความนิยมรองลงมาและเป็นคู่แข่งสำคัญในศึกนี้คือ พรรค SDP มีความนิยมอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ ถัดมามีคะแนนเท่ากันอยู่สามพรรคคือ 10 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ พรรคฝ่ายซ้ายจัด The Left ฝ่ายขวา FDP และพรรคสุดท้ายที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือฝ่ายขวาจัด AfD เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดภายในไม่กี่เดือน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และสื่อจำนวนมากมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแมร์เคิลจะได้รับความนิยมสูงสุดแต่ก็ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยว และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองเข้าไปร่วมนั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึงหกพรรค
ทำไมพรรคขวาจัด AfD จึงถูกกล่าวว่าเป็นม้ามืดในการเลือกตั้งครั้งนี้
“นาซีของจริงได้เดินทางมาถึงไรชส์ทาค (Reichstag) เป็นครั้งแรกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง”
คือสิ่งที่ ซิกมาร์ กาเบรียล (Sigmar Gabriel) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศพูดถึงพรรค AfD
แต่ดูเหมือนผู้นำพรรคทั้งสองจะไม่ใส่ใจไยดีกับคำดังกล่าวและยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมของตน อลิซ ไวเดิล และ อเล็กซานเดอร์ กอแลนด์ โต้กลับว่า
“เรามีสิทธิที่จะภาคภูมิใจในความสำเร็จของเหล่าทหารเยอรมันในสงครามโลกทั้งสองครั้ง”
ตั้งแต่แมร์เคิลประกาศให้เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางเข้ามาได้ ความนิยมของพรรค AfD ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกระแสที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศหลักและมีภาระต้องอุ้มเศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
อุดมการณ์ขวาจัดจึงเริ่มได้รับความสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น จากประชาชนทั่วไปที่มองว่ารัฐบาลจัดการกับภาษีที่พวกเขาจ่ายไปไม่ถูกต้อง และกำลังปล่อยให้ชาวเยอรมันต้องรู้สึกถูกทอดทิ้ง
“เพราะชาวเยอรมันเป็นพวกขี้อาย เราก็แค่พูดในสิ่งที่พวกเขาไม่กล้าพูด”
หากเป็นไปตามที่หลายโพลคาดการณ์เอาไว้ละก็ AfD จะเป็นพรรคการเมืองขวาจัดพรรคแรกที่ได้เข้าไปนั่งในสภาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และหากได้คะแนนเสียงมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป AfD จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 50 ที่ จากทั้งหมด 598 ที่นั่ง รวมกับจำนวนที่นั่งของ สว. ปัจจุบันในสภาสหพันธ์ที่ได้ถึง 13 ที่นั่ง จากทั้งหมด 16 ที่นั่ง จะส่งผลให้พรรค AfD เป็นพรรคขวาจัดกลุ่มแรกที่มีความเข้มแข็งที่สุดในเยอรมนี
หน้าตาของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร
มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะเป็น ‘รัฐบาลผสม’ อย่างแน่นอน และเป็นส่วนผสมระหว่างพรรคที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมเหมือนกัน
สูตรแรกคือ ส่วนผสมระหว่างสองพรรคใหญ่คือ CDU และ SDP ซึ่งนักวิเคราะห์และหลายๆ ผลโพลมองตรงกันว่า สูตรนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
สูตรต่อมาเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรค CDU และพรรคเล็กสองพรรค ได้แก่พรรค FPD และพรรค Green อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังอยู่บ้าง แม้ FDP จะเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของแมร์เคิลเมื่อปี 2009-2013 แต่ก็มีความอ่อนแอสูง อีกทั้งความนิยมในปัจจุบันของทั้งสองพรรคก็ลดลงอยู่เรื่อยๆ แต่หากจับมือกับแค่พรรคเล็กสองพรรคนี้ เท่ากับว่าอาจมีที่นั่งเหลือ ไม่ครบ 598 ที่ ที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
สูตรสุดท้ายคือ รัฐบาลผสมที่ไม่มีแมร์เคิล หากชูลซ์ผู้นำพรรค SDP มีความเข้มแข็ง และสามารถกอบโกยคะแนนเสียงได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ได้มากพอ เขาอาจโน้มน้าวและจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นโดยไม่มีแมร์เคิลได้ ในทางทฤษฎีแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่ SDP อาจหันไปจับมือกับพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆ เช่น พรรค Green พรรค The Left หรือพรรค FDP เป็นต้น
ส่วนพรรค AfD แม้จะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้ที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ทางผู้นำพรรคทั้งสองคนก็ออกมาประกาศเสียงแข็งชัดเจนว่า จะไม่จัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค CDU อย่างแน่นอน
ระบบการเลือกตั้งเยอรมนีเป็นอย่างไร และใครมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ชาวเยอรมันอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นทุกๆ สี่ปี สำหรับครั้งล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 61.5 ล้านคน
สำหรับบัตรลงคะแนน ประชาชนจะต้องโหวตสองช่อง ช่องแรกคือ เลือกผู้แทนเขตเลือกตั้งจำนวน 299 คน ส่วนช่องที่สองคือเลือกแบบบัญชีรายชื่อจากทั้งหมด 16 รัฐ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ ช่องแรกเลือกคนที่ชอบ ช่องสองเลือกพรรคที่ใช่ โดยพรรคที่จะมีสิทธิเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
ปัจจุบันที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 630 ที่นั่ง (ตามหลักการแล้ว จะต้องมีจำนวน สส. นั่งในสภาอย่างน้อย 598 คนถึงจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มี ‘overhang seat’ หรือจำนวนที่นั่งเกินมาเพื่อให้ทั้งสองฝั่งมีจำนวนสัดส่วนเท่ากัน) โดยมีสี่พรรคนั่งในสภา ได้แก่ พรรค CDU ครองที่นั่งสูงสุดถึง 309 ที่นั่ง รองลงมาคือ SDP 193 ที่นั่ง The Left 64 ที่นั่ง และ The Green 63 ที่นั่ง