ยาโยย คุซามะ ‘ป้าจุด’ และโลกอันเต็มไปด้วยจุด จุด จุด

ถ้าไปเซ็นทรัลเวิลด์ตอนนี้ เราจะเห็นฟักทองลายจุดขาวแดงหลายลูก ห้อยตัวลงจากเพดานห้าง หลายๆ คนน่าจะเคยผ่านตาผลงานห้องจุดๆๆ ของเขา และหลายๆ คนคงรู้กันแล้ว ว่านี่คือผลงานของ ยายหยอย กุสมา เอ้ย ยาโยย คุซามะ หรือ ‘ป้าจุด’ ของเรานี่เอง

แต่จะมีใครรู้บ้าง ว่าป้าไม่ได้มีแค่จุดกับฟักทอง?

ยาโยย คุซามะ และผลงานที่เป็นไอคอน ‘Yellow Pumpkin’

เรื่องมีอยู่ว่า ยาโยยเกิดในครอบครัวญี่ปุ่นที่เคร่งมาก พ่อกับแม่แต่งงานกันด้วยการจัดแจงของญาติผู้ใหญ่ ครอบครัวฝั่งแม่เป็นเจ้าของบริษัทผลิตเมล็ดพืช ตามธรรมเนียมญี่ปุ่น เพื่อความเจริญก้าวหน้าและหน้าตาในสังคม พ่อเลยต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลแม่ที่เป็นตระกูลใหญ่กว่า ทำให้ครอบครัวของเธอขาดความรัก พ่อมีเมียน้อย

และแม่ก็ใช้ให้ยาโยยจัง ลูกสาวคนสุดท้อง ออกไปตามสืบว่าพ่อไปหาเมียน้อยที่ไหน น้องยาโยยในวัยเด็กๆ ต้องมาเห็นภาพที่บาดตา เลยทำให้เธอเกิดความกลัวอวัยวะเพศชายไปตั้งแต่ตอนนั้น

เธอก็เริ่มเห็นภาพหลอน ตั้งแต่ไปสวนดอกไม้หรือสวนผัก แล้วดอกไม้กับพืชผักก็เริ่มคุยกับเธอ หรือมองไปที่ผ้าปูโต๊ะ แล้วลายจุดก็เริ่มกลืนกินโลกของเธอ เกิดเป็นความครอบงำ ย้ำคิดย้ำทำ และมีความกลัวที่ฝังใจแต่เด็ก ยาโยยเลือกใช้การวาดรูปในการเอาชนะความกลัวนี้ ถึงแม้ว่าคุณแม่จะไม่ชอบให้วาดรูป และทำลายอุปกรณ์วาดรูปของเธอทิ้งก็ตาม

ต่อมา ยาโยยจังในวัย 13 ปี ได้ไปทำงานในโรงงานผลิตผ้าสำหรับพลร่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตวัยรุ่นของเธออยู่ภายใต้ความมืดของโรงงาน เหนือหัวของเธอคือเสียงหวอเตือนภัยและเสียงเครื่องบินรบตลอดเวลา จนอายุ 21 เธอได้เข้าเรียนในสถาบันศิลปะในเกียวโต (Kyoto Municipal School of Arts and Crafts) แต่เรียนได้ปีเดียว เธอก็ลาออก เพราะสถาบันสอนศิลปะในญี่ปุ่นตอนนั้นเน้นให้ศึกษาศิลปะแบบ Nihonga หรือศิลปะแบบญี่ปุ่นจ๋าๆ ไม่เอาความคิดแบบตะวันตกเลย

สาวสะพรั่งอย่างยาโยยก็รู้สึกว่าเธอไม่สามารถอยู่ในการถูกตีกรอบแบบนั้นได้ จึงออกจากเกียวโตไปเมืองหลวงอย่างโตเกียว ตั้งต้นแสดงงานที่นั่น จนกระทั่งปี 1957 เธอได้จดหมายจากศิลปิน modernism แนวหน้าอย่าง จอร์เจีย โอคีฟ (Georgia O’Keefe) เชิญให้เธอมาทำงานและลงหลักปักฐานที่อเมริกา แล้วชีวิตศิลปะของเจ๊จุดก็เริ่มดังเปรี้ยงปร้างในตอนนั้น

No. F. (1959)

ณ มหานครนิวยอร์ค เธอดึงเอาความ ‘จุด จุด จุด’ มาใส่ในงานจนเป็นที่จดจำ เริ่มจากผลงานภาพวาดซีรีส์ Infinity Net ในปี 1959 ในยุคที่ชาวบ้านชาวช่องว้าวกับงานศิลปะแนว action painting อย่าง แจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) ยาโยยรวมกลุ่มกับศิลปินคนอื่นๆ เพื่อดึงวงการศิลปะออกจากกระแส action painting นี้ Infinity Net รูปที่โด่งดังของเธอ คือรูปสีขาวในสีขาว ที่เธอจุดสีขาวโทนหนึ่งลงบนสีขาวอีกโทนหนึ่ง และโลก abstract expressionism และ minimalism ก็มาบรรจบกันที่ผลงานชิ้นนี้

*อภิธานศัพท์วันนี้ ‘action painting’ คือการทำงานจิตรกรรมที่ต้องออกท่าออกทางเยอะแยะ action painting เป็นเหมือนการทำงานจิตรกรรมที่ต่างจากเดิมที่จิตรกรวางแคนวาสไว้บนเฟรมแนวตั้ง ขยับแค่ข้อมือน้อยๆ แต่อันนี้คือพี่กวาดทั้งแขน บางคนก็เอาผมมาปาด บางคนก็เปลี่ยนจากพู่กันเป็นไม้ม็อบ นั่นล่ะค่ะ แอ็คชั่นสุดๆ ไปเลย*

ด้วยชื่อ ‘Infinity’ ก็บอกอยู่แล้วว่าเธอทำงานกับความไม่มีที่สิ้นสุด การสร้างลายที่ซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ดึงเอาจุดที่อยู่แค่ในแคนวาส ออกมาเป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดนอกแคนวาส แต่ความย้ำคิดย้ำทำ ทำอะไรซ้ำๆ ของเธอ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้

Accumulation No.1 (1962)

หลังจากผลงาน Infinity Net เธอกล่าวว่า “ห้องทั้งห้อง เฟอร์นิเจอร์ โซฟา เก้าอี้ เสื้อผ้า สิ่งของทุกอย่างเหมือนถูกปกคลุมโดยตาข่าย” ด้วยภาพหลอนที่ยังติดตา เธอเลยเริ่มทำงานโดยการเอาตาข่ายมาคลุมเฟอร์นิเจอร์ แล้วมันก็เลยพัฒนามาเป็นผ้ายัดนุ่นที่ทะลักออกมาจากเฟอร์นิเจอร์ เหมือนเนื้อที่ทะลักรูตาข่ายเหล่านั้น กลายมาเป็นผลงานชื่อ Accumulation No.1 หรือที่เธอเรียกว่า Compulsion Furniture เป็นเฟอร์นิเจอร์หลากชิ้นที่เหมือนมีก้อนเนื้อผุดเผละออกมาจากเนื้อของมัน

ชื่อ Compulsion Furniture ก็แปลเป็นไทยได้ว่า เครื่องเรือนที่โดนบังคับ ในที่นี้มันคงโดนบังคับโดยยาโยยที่เอาตาข่ายไปบีบมัน จนกลายเป็นรูปทรงนี้ แต่ในอีกนัยหนึ่ง มันก็สะท้อนกับการที่ยาโยยโดนแม่บังคับให้ไปตามดูพ่อและเมียน้อยในวัยเด็ก ทำให้เธอกลัวการมีเพศสัมพันธ์ และอวัยวะเพศชาย ถ้าดูดีๆ รูปทรงของก้อนขยุยขยุกที่เผละออกมา นอกจากจะดูน่าหัวเราะแล้ว ก็ยังรู้สึกน่ากลัว เหมือนทุ่งที่เต็มไปด้วยกระจู๋เหี่ยวๆ ย้อยออกมาจากเครื่องเรือนเหล่านี้ เป็นอีกรอบที่ยาโยยใช้งานศิลปะของเธอต่อสู้กับความกลัวจากวัยเด็กของตัวเอง

Sex Obsession Food Obsession Macaroni Infinity Nets & Kusama (1962)

แต่ทำแค่นี้จะพอสำหรับเจ๊จุดเหรอ? ไม่ค่ะ เพราะเจ๊ดันผลงานของตัวเองขึ้นไปอีกขั้น โดยการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในผลงานชื่อ Sex Obsession Food Obsession Macaroni Infinity Nets & Kusama (โอย แค่ชื่อก็เยอะแยะยุ่บยั่บแล้ว) ปี 1962 เธอสร้างโลกดึกดึ๋ยที่เต็มไปด้วยแท่งดุกดุ๋ยด้วยเส้นมักกะโรนี และแน่นอน เก้าอี้ขยุกขยุยที่โดนบังคับของเธอ ยาโยยเอาตัวเองที่เต็มไปด้วยจุดไปนอนเล่นในห้องนั้น แม้ว่าเธอจะดูเหมือนเป็น sex object ด้วยสายตาเย้ายวน หุ่นอันสาวสะพรั่ง แต่การเอาตัวเองไปใส่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า เธอโอเคที่จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานศิลปะ เธอไม่ใช่วัตถุทางความต้องการ เธอเป็นเพียงจุดเดียวในจักรวาลที่เต็มไปด้วยจุดอีกหลากหลายจุดของห้องที่เธอสร้างขึ้น

Infinity Mirror Room – Phalli’s Field (1965)

เธอเริ่มสร้างโลกจุดให้กว้างขึ้นด้วยการทำให้มันไม่มีที่สิ้นสุด และเชิญชวนคนมาอยู่ในโลกจุดด้วยกันในผลงาน Infinity Mirror Room – Phalli’s Field เพราะเธอเพิ่มเจ้าทุ่งแท่งดุกดุ๋ยลายจุดแสนนุ่มนิ่มอ่อนย้วยให้แผ่เต็มพื้น และเพิ่มความแหยงของห้อง ด้วยการติดตั้งกระจกรอบทิศทาง และห้องที่ใหญ่เพียง 25 ตารางเมตร ก็ดูกว้างขึ้นด้วยกระจกที่สะท้อนทุ่งแท่งดุ๋ยจนดูเหมือนมันกว้างซะจนสุดลูกหูลูกตา

ความกลัวที่เธอมีต่ออวัยวะเพศชายถูกเธอนำมาสร้างเป็นโลกใบใหม่ เธอกล่าวว่า “ก็เหมือนอลิซที่พาคุณไปในดินแดนมหัศจรรย์ ฉัน คุซามะ ก็ได้เปิดโลกอันเต็มไปด้วยแฟนตาซีและความอิสระเช่นกัน”

ความจริงแล้ว phalli หรือ phallus แปลเป็นไทยได้ประมาณว่าลึงค์ Phalli’s Field ก็น่าจะแปลไทยได้ว่า ‘ทุ่งของลึงค์’

ต่อมา เธอเริ่มฉีกกรอบการทำงานจากสิ่งที่แสดงแค่ตัวเองไปยังผู้คนมากขึ้น แล้วเจ๊จุดก็ทำตัวแสบขึ้น เมื่อปี 1966 ที่ Venice Biennale เธอร่วมแสดงผลงานชื่อ Narcissus Garden แต่ แต่ แต่ แต่ เธอไม่ได้รับเชิญจากพาวิลเลียนไหนเลย ยาโยยเอาลูกบอลพลาสติกสีเงิน 1,500 ลูกมาวางบนสนามหญ้าข้างอิตาเลียนพาวิลเลียน ลูกบอลสีเงินสะท้อนภาพอันบิดเบือนของผู้คน ถูกขายในราคา 2 ดอลลาร์ต่อลูกด้วยตัวยาโยยเองในชุดกิโมโนสีทอง พร้อมยื่นใบปลิวที่มีบทความที่กล่าวชมเธอ ความกิโมโนของเธอแสดงถึงความเป็นอื่น ความเป็นคนเอเชียที่แสนจะแปลกประหลาดสำหรับสังคมยุโรปในตอนนั้น

Narcissus Garden (1966)

ความจริง Narcissus เป็นเทพนิยายกรีก เกี่ยวกับชายที่หลงตัวเอง มองเงาสะท้อนในน้ำของตัวเองจนจมน้ำตาย และ Narcissus Garden นี้ ก็พูดถึงความหลงตัวเองเสียสุดๆ ตั้งแต่ลูกบอลที่สะท้อนตัวผู้ชม ยาโยยในชุดที่โคตรจะดึงดูดความสนใจ และความแสบในการแจกคำชมเกี่ยวกับตัวศิลปินให้ชาวบ้านชม ราวกับว่าเธอกำลังยัดเยียดความหลงตัวเองนี้ให้ผู้ผ่านมาชม

ในขณะเดียวกัน ผลงานชิ้นนี้ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความอวยกันเองของโลกศิลปะในงาน Venice Biennale ครั้งนั้น แน่นอนว่าการกระทำของเธอถูกขัดขวางโดยผู้จัดงาน Biennale (ก็แหงสิวะ) แต่เขาก็ยังเก็บลูกบอลสีเงินเหล่านั้นเอาไว้จนจบงาน (อ้าว…) แล้วลูกบอลของเธอก็ถูกนำไปจัดแสดงที่อื่นเรื่อยๆ มา กลายเป็นผลงานที่ดังเปรี้ยงอีกชิ้นของเธอ

ป้าโยยทำงานกับจุดเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1994 เธอก็กระโดดออกจากการทำผลงานแนว installation มาทำ sculpture ในพื้นที่สาธารณะ ด้วยผลงานที่ใครๆ ก็จะต้องเห็นผ่านตา และเป็นซิกเนเจอร์ของเธอมาจนทุกวันนี้ นั่นก็คือ ฟักทองงงงงงง หรือ Yellow Pumpkin ที่ตั้งตระหง่านหันหน้าประชันกับทะเลแห่งเกาะนาโอชิมะ

Yellow Pumpkin (1994)

แต่ความจริงแล้ว ยาโยยทำงานเกี่ยวกับฟักทองและพืชผักอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เพียงแค่นี่เป็นชิ้นที่เด่นขึ้นมาชิ้นแรกๆ ต่างหาก ก็ครอบครัวเธอทำงานเกี่ยวกับเมล็ดพันธ์ุใช่มั้ยล่ะ ตอนเด็กๆ เธอก็เคยตามตายายไปดูแปลงผัก แล้วเธอก็เห็นภาพหลอนว่าพืชผักพวกนี้คุยกับเธอ

แต่เหตุผลที่เป็นฟักทองไม่ใช่แค่ความทรงจำวัยเด็กเท่านั้น เพราะเธอเล่าว่า เหตุผลที่เป็นฟักทองเพราะ “ก็มันรูปทรงตลกดี” แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะ “ฟักทองให้ความรู้สึกอบอุ่น แล้วก็มีความคล้ายคลึงมนุษย์ด้วย”

หลังจากนั้น ลายจุดและฟักทองก็เป็นเหมือนภาพแทนของยาโยย เธอสร้างให้มันกลายเป็นไอคอน เหมือนกับที่ศิลปะแนวป็อปอาร์ต เหมือนกับถ้านึกถึง แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ต้องนึกถึงกระป๋องซุปแคมป์เบล พูดถึงยาโยย ก็ต้องคิดถึงป้าจุดฟักทอง

Obliteration Room (2002)

โลกจุดๆ ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะยาโยยเปลี่ยนจากการสร้างโลกจุดด้วยตัวเองไปให้คนอื่นมาร่วมสร้างโลกจุดด้วยกัน ในผลงาน Obliteration Room ปี 2002 โดยห้องนี้เริ่มจากการเป็นเหมือนแคนวาสเปล่าๆ ห้องสีขาวๆ แล้วเธอก็เชิญชวนให้ผู้ชม โดยเฉพาะเด็กๆ มาแต้มจุดเพิ่มขึ้นๆ นัยนึงเพื่อความสนุก แต่อีกนัยหนึ่ง เธอทำเพื่อให้เด็กๆ ได้หลุดออกจากกรอบของความคิดว่า “ไปดูงานศิลปะ ห้ามจับผลงานนะลูก” การแต่งแต้มจุดมากขึ้นๆ ของเด็กๆ ไม่ได้ทำลายผลงาน แต่กลับช่วยต่อเติมผลงานขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเป็นการบอกให้น้องๆ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่บ้างก็ได้ลูก เพราะเธอเองก็ไม่เชื่อฟังคุณแม่ที่อยากให้แต่งงาน และเป็นภรรยาผู้เรียบร้อยเชื่อฟังสามีเช่นกัน

Infinity Mirror Room: The Souls of Millions of Light Years Away (2016)

ผลงานล่าสุดในยุคหลังๆ ของเธอ คือ Infinity Mirror Room: The Souls of Millions of Light Years Away ปี 2016 เธอขยายโลกจุดที่เคยทำตั้งแต่ปี 1965 ให้โอบล้อมผู้ชมไปมากขึ้นกว่าเดิมอีก ด้วยการเปลี่ยนจากสีสันสดใสไปใช้ไฟ LED ในห้องกระจก ที่สร้างประสบการณ์เหมือนการอยู่ในจักรวาลจุดแห่งแสงอันไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ชมจะเข้าห้องนี้ได้รอบละคนเท่านั้น เพื่อได้รับประสบการณ์ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นของจักรวาลจุดระยิบระยับนี้

“My life is a dot lost among thousands of other dots.”

“ชีวิตฉันก็เหมือนจุดเพียงจุดเดียวที่หลงอยู่ท่ามกลางจุดอื่นๆ นับพัน”

คือคำที่ยาโยยเคยกล่าว และผลงานชิ้นนี้ ก็คงสะท้อนโลกที่เธอประสบ และเธอเอาชนะมัน จนสุดท้ายเธอก็นำออกมาให้คนได้เห็น ทั้งภาพหลอน ทั้งความกลัว ราวกับจะบอกผู้ชมว่า ดูสิ ฉันเอาชนะสิ่งที่ฉันกลัวได้ด้วยศิลปะ และฉันก็เอาออกมาให้พวกคุณเห็น และเหตุผลที่เธอทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กยันอายุ 90 ก็คงจะเป็นเพราะ

“ฉันหวังว่าพลังแห่งศิลปะจะช่วยให้โลกนี้สงบสุขขึ้น” ป้ายาโยยกล่าว

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า