จากกรณีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวในงานแถลงข่าว ‘Update สายพันธุ์ Delta และจะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่’ โดยให้คำแนะนำว่า หากฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกแล้ว จำเป็นต้องรีบฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้น ส่วนวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคและซิโนฟาร์ม เมื่อฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำอยู่ แต่หากฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้นได้ ซึ่งมี “ประสิทธิภาพน้องๆ ไฟเซอร์”[1]
ทันใด เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาจากสาธารณชนก็ตามมาว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงไม่สั่งวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาตั้งแต่แรกๆ ในเมื่อการฉีดวัคซีนเชื้อตาย ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มนั้นต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงระดับ ‘น้องๆ ไฟเซอร์’
นี่เป็นเพียงบทบาทบางส่วนของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ในการออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์วัคซีนของไทยที่ลักปิดลักเปิดไม่ต่างกับมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล รวมถึงก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ยังได้ออกมาให้ข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคเกินกว่าผลการวิจัยที่มีการตีพิมพ์ออกมา ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า การให้ข้อมูลของ ศ.นพ.ยง เอนเอียงไปในทางสนับสนุนวัคซีนซิโนแวคมากเกินไปหรือไม่ และจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนหรือเปล่า
อีกทั้ง ศ.นพ.ยง เองยังไม่เคยออกมาแนะนำ หรือให้ข้อมูลวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีกว่าซิโนแวค แม้จะปรากฏผลการศึกษาวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการออกมาเป็นจำนวนมาก หลายกรณีที่เกิดขึ้นจากการให้ความเห็นของ ศ.นพ.ยง ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจนนำไปสู่แคมเปญเรียกร้องให้ถอดถอน ศ.นพ.ยง ออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ซึ่งในขณะนี้มีผู้เข้าร่วมลงชื่อผ่าน change.org เป็นจำนวนกว่า 15,600 รายชื่อ
‘หมอยงค์’ ผู้สร้างชาติด้วยโภชนาการ
แม้ในเวลานี้เราจะคุ้นหูกับชื่อของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กันเป็นอย่างดีด้วยวลีอันโด่งดัง “วัคซีนเข็มที่ 3 ประสิทธิภาพน้องๆ ไฟเซอร์” และในบรรดาคำแซ่ซ้องต่อ ‘หมอยง’ จนเซ็งแซ่นี้ ก็ชวนให้เราระลึกได้ว่า สยามประเทศของเราเคยมีนายแพทย์ที่ชื่อ ‘ยงค์’ อีกคนที่เป็นผู้ผลักดันการสาธารณสุขไทยด้วยหลักวิชาการแพทย์สมัยใหม่ นั่นคือ
นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เจ้าของคำขวัญ “กินกับมากๆ กินข้าวแต่พอควร” ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างชาติด้วย ‘โภชนาการ’ ซึ่งก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของประชาชน จากรูปแบบเดิมที่กินตามคติความเชื่อในอดีต สู่การกินที่เป็นไปตามหลักโภชนาการสากลจนกลายเป็นบรรทัดฐานแห่งการกินอยู่ของราษฎรไทยจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป้าหมายสำคัญของคณะราษฎร คือ การเร่งพัฒนาประเทศไปสู่ความอารยะเทียบเคียงกับอารยประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่จุดนั้นได้คือ ประชากรจะต้องมีความพร้อมเป็นฟันเฟืองด้วยการประกอบอาชีพตามความถนัดของตนในการขับเคลื่อนประเทศชาติ เพราะหากสุขภาพของพลเมืองเจ็บป่วยได้ง่าย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีการกินอยู่ที่ไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ ร่างกายทรุดโทรม ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้รุดหน้าต่อไปได้ยาก
ดังนั้น แนวทางสำคัญที่รัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่ควรเร่งแก้ไขในทันทีในเวลานั้นคือ การปรับโภชนาการของประชาชนให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์
นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติรสชาติอาหารใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามวัย และสอดคล้องตามลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งเริ่มแรกนั้นนายแพทย์ยงค์ ได้บุกเบิกงานด้านโภชนาการตั้งแต่ก่อนปี 2475 แล้ว โดยมีการปรึกษากับ ดร.ตั้ว ลพานุกรม สมาชิกคณะราษฎร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในด้านโภชนาการเช่นเดียวกับนายแพทย์ยงค์[2]
ในปี 2477 นอกจากจะเป็นปีแห่งการเริ่ม ‘รัฐเวชกรรม’ โดยรัฐบาลคณะราษฎร ในปีเดียวกันยังมี ‘โครงการอาหารของชาติ’ เกิดขึ้น ต่อมาในปี 2482 จึงพัฒนาเป็น ‘กองส่งเสริมอาหาร’ หรืออีกชื่อเรียกคือ ‘สำนักโภชนาการ’ ตามที่รู้จักในปัจจุบัน ถือเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เริ่มมีบทบาทเกี่ยวกับด้านโภชนาการโดยตรง ซึ่งมีนายแพทย์ยงค์ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองรับผิดชอบในส่วนนี้
ทศวรรษ 2480 จึงเป็นช่วงแห่งการรณรงค์อย่างหนัก ทำงานโดยไม่ต้องปิดทองหลังพระ หรือตามที่นายแพทย์ยงค์ได้กล่าวไว้ว่าเป็น ‘การโปรปะกันดา’ เกี่ยวกับการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักบริโภคศาสตร์สู่ประชาชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เพื่อเร่งพัฒนาสุขภาพพลานามัยของพลเมืองให้แข็งแรง สอดคล้องกับนโยบายการสร้างชาติของคณะราษฎร ซึ่งสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงคือ ‘โปรตีน’
การผลักดันที่ต้องโปรปะกันดาโดยไม่ต้องปิดทองหลังพระเช่นนี้ ก็เนื่องจากนายแพทย์ยงค์มองว่า คนไทยในสมัยนั้นยังขาดสารอาหารนี้อยู่มาก โดยพื้นฐานเดิม ผู้คนไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์และไข่ ซึ่งตามคติเดิมเชื่อว่า ของเหล่านี้เป็นพิษหรือของแสลง อีกทั้งกรรมวิธีการปรุงอาหารก็ยังไม่ถูกหลักอนามัย ดังนั้น สารอาหารที่ได้มาย่อมเป็นประโยชน์ต่อร่างกายน้อย ส่งผลต่อสุขภาพของประชากรให้เจ็บป่วยได้ง่าย
การรับรู้ในการบริโภค และกรรมวิธีการปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ และนมของคนสมัยนั้น ยังเป็นชุดข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงตามหลักการสาธารณสุข ในช่วงนี้ นายแพทย์ยงค์จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ และนมที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนได้ทราบผ่านช่องทางต่างๆ เพื่ิอเปลี่ยนทัศนคติต่ออาหารเหล่านี้แก่ประชาชนใหม่
ถั่วเหลือง: อาหารชั้นยอดที่เพิ่งถูกบุกเบิก
การจะสรรหาอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ ไข่ และนม ดูจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในห้วงเวลานั้น โดยเฉพาะนมที่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนเนื้อสัตว์ต่างๆ ประชาชนไทยก็ยังไม่นิยมบริโภค อีกทั้งมีราคาสูงเกินกำลังทรัพย์ของตน
นายแพทย์ยงค์จึงเสนอทางเลือกที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคนในยุคนั้น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งโปรตีนอันสำคัญไม่แพ้กับอาหารที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อันได้แก่ ‘ถั่วเหลือง’ ธัญพืชชั้นดีที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีราคาย่อมเยา ผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ก็สามารถบริโภคถั่วเหลืองทดแทนได้
ความรอบรู้เช่นนี้ เราอาจจะเข้าใจได้ผ่านพื้นเพของนายแพทย์ยงค์ ซึ่งเติบโตมาในจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกถั่วเหลืองไว้ใช้บริโภคมาอย่างยาวนาน เมื่อนายแพทย์ยงค์เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของถั่วเหลืองที่นอกจากจะใช้เพื่อบริโภคแล้ว ยังสนับสนุนให้ประชาชนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำไร่ถั่วเหลือง ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย เป็นต้น[3]
ถั่วเหลืองจึงกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาปรุงอาหารของประชาชนทั่วไป จนได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการถึงขั้นต้องมีการลำเลียงถั่วเหลืองผ่านรถไฟเป็นจำนวนหลายร้อยตู้ไปยังพระนคร มูลค่ากว่า 2 แสนบาท[4] การขนส่งพันธุ์พืชผ่านรถไฟ จึงเกิดขึ้น ณ บัดนั้น โดยไม่ต้องรอรถไฟความเร็วสูง ที่ ณ บัดนี้ ประชาชนไทยยังไม่มีโอกาสเห็นสักขบวน
ถึงที่สุด การดำเนินงานด้านโภชนาการเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ยากหากขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ถูกหลักวิชาชีพจากกองส่งเสริมอาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของกองที่มีส่วนช่วยให้การรับรู้ของประชาชนที่มีต่อโภชนาการแบบใหม่เป็นไปได้รวดเร็วและตื่นตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยอาศัยช่องทางการกระจายข้อมูลอย่างหลากหลาย อาทิ การกระจายเสียงทางวิทยุ ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนนิยมอย่างแพร่หลาย สื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ ใบปลิว ภาพยนตร์ การอบรมตามกลุ่มต่างๆ หรือกระทั่งการเขียนเรื่องโภชนาการในหนังสืออนุสรณ์งานศพ ก็กลายเป็นอีกสิ่งที่เคยได้รับความนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 2480
การผลักดันงานด้านโภชนาการได้ปรากฏเป็นประจักษ์ในแผนการสร้างชาติให้มีรากฐานเข้มแข็งด้วยสุขภาพของพลเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งนั้นมาจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายแพทย์ยงค์ ที่มองเห็นเส้นทางพัฒนาสุขภาพประชากรให้สมบูรณ์แข็งแรงตามแบบอารยประเทศ โดยนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามหลักการสาธารณสุขมามอบให้แก่ประชาชน นับแต่นั้นสุขภาพของประชาชนก็ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดสรร และมอบสิ่งที่ดีให้แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับความตายรายวัน
แด่ ‘นายแพทย์ยงค์’ ยงค์ ชุติมา
เชิงอรรถ
[1] ‘นพ.ยง’ เผยซิโนแวค 3 เข็มอาจได้ผลดีเท่าไฟเซอร์ l คุยให้จบข่าว l 22 มิถุนายน 2564
[2] ชาติชาย มุกสง. (2556). รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. (ปริญญานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ). สืบค้นจาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42833 หน้า 63.
[3] ยงค์ ชุติมา. (2507). ประมวลบทความ ของ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. หน้า 27.
[4] อ้างแล้ว. หน้าเดียวกัน.