สองล้อในเกลียวคลื่น

เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี / ภาพ: ปริตตา หวังเกียรติ

 

‘สองล้อรักษ์บ้านเกิด’ เป็นกลุ่มกิจกรรมของหนุ่มสาวชาวอำเภอละงู จังหวัดสตูล มีสมาชิกราว 300-500 คน ซึ่งพลิกอัตลักษณ์จาก ‘เด็กแว้น’ มาเป็นนักอนุรักษ์ ด้วยการเข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ยืดเยื้อมาตลอดหลายปี

วันที่ปากบารากำลังร้อนระอุ เราได้พบกับ จักรี โอ๊ค และ สา วัยรุ่นทั้งสามคน เป็นสมาชิกของกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด แม้ว่าแต่ละคนจะมีพื้นเพแตกต่างกัน จากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าทุกคนจะเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะนั่นคือโครงการที่เกี่ยวพันกับชะตากรรมของชาวอำเภอละงูและจังหวัดสตูลทั้งหมด

 

เราพบกัน

จักรี ปานช่วย นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนกำแพงวิทยา ที่นั่นมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับชั้นหินและฟอสซิลดึกดำบรรพ์ หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่ถูกค้นพบในพื้นที่อำเภอละงู นั่นทำให้เขาและผองเพื่อนสามารถอธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านของชั้นหินให้พวกเราฟังได้อย่างเป็นระบบและช่ำชอง

หน้าที่ของกลุ่มสองล้อฯ คือ อธิบายความเป็นมาและลักษณะเฉพาะของพื้นที่แก่ผู้ที่สนใจมาศึกษาท้องทะเลบริเวณอ่าวปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

แต่ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์ของพวกเขาและวัยรุ่นส่วนใหญ่ของอำเภอดูไม่สู้จะดีนัก

“แถวพื้นที่ในตำบล จะมีเด็กแว้นเยอะ ในวันหยุดหรือวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กวัยรุ่นในพื้นที่มักจะออกมารวมตัวกัน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ นั่งสุมหัวริมฟุตบาท กินลมชมวิว” จักรีบอกกับเรา

กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด

หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์บีบคั้นมากขึ้น การต่อสู้ของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่กับการรุกคืบของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐดำเนินมาหลายปี กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิดจึงรวมตัวกัน แปรเปลี่ยนพลังของคนหนุ่มสาวให้กลายเป็นพลังในการร่วมรักษาชุมชน

ก่อนหน้านี้เครือข่ายการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฯ กระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่หรือไม่ก็ผู้อาวุโสในพื้นที่ เช่น ‘กลุ่มรักษ์ปากน้ำ’ ที่รวมกลุ่มทำวิจัยชุมชน ศึกษาความเป็นมาในท้องถิ่นของตนเอง และกลุ่ม ‘Reef Guardian Thailand’ เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มารวมตัวกันพิทักษ์ปะการัง ประกอบไปด้วยนักประดาน้ำ ซึ่งคอยทำหน้าที่ดูแลความสะอาดของปะการัง และเฝ้าระวังปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่พึ่งพาระบบนิเวศเดียวกัน

เมื่อภารกิจของคนในชุมชนหนักหนามากขึ้น กลุ่มผู้อาวุโสรุ่นใหญ่เหล่านี้จึงจัดวงพูดคุยทบทวนปัญหา โดยสร้างแนวร่วมกับกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มแว้น-สาวสก๊อย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเปลี่ยนตัวตนของพวกเขาจากการใช้ชีวิตวัยรุ่นทอดเวลาไปวันๆ สู่การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ทำให้พวกเขาภูมิใจในสิ่งที่ทำ

ทำความรู้จัก

โอ๊ค – ธนพล หัตสคุญ อายุ 19 ปี วัยรุ่นอีกคนจากตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ที่เริ่มออกหาปลาคนเดียวตั้งแต่ผ่าน 14 ฝนของชีวิต ตัวเขาเองชอบออกทะเล ช่วยน้าจับปูด้วยอวนปู โดยมีแหล่งทำเลอยู่ที่บริเวณเกาะบุโหลน เกาะตะรุเตา เกาะเขาใหญ่

“บางวันจับได้ 4,000-5,000 บาท บางวันถ้าไม่ได้เลยก็ 800-900 บาท” โอ๊คบอกกับเรา

เมื่ออายุย่างเข้าวัย 17 ปี เขาเข้าร่วมกับกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด เหตุผลแรกก็เพียงแค่ “ชอบ เห็นเพื่อนๆ ทำกิจกรรมกันสนุกสนาน เลยอยากสนุกด้วย” ก่อนจะพัฒนาตนเองจนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทะเลและชายหาดของปากบารา

โอ๊คต่างไปจากจักรี ตรงที่เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนละงูพิทยาคม ก่อนจะมีเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะมีเรื่องทะเลาะวิวาท จนต้องทิ้งชีวิตวัยเรียนออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพ

กระทั่งโอ๊คพบว่า ทะเลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เขาสามารถทำมาหากินได้

“ทะเลมีให้เรากิน บางวันถ้าไม่มีเงิน ก็ยังพอได้กิน แต่ถ้าวันหนึ่งมีโครงการท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น ทะเลปากบาราที่เรารักจะเสียหาย ปู ปลา ปะการัง ก็จะเสียหาย” โอ๊คบอกกับเราเช่นนั้น

ขณะที่จักรี ซึ่งเป็นนักกรีฑาของจังหวัดสตูลมาก่อน เขาเริ่มจากความผูกพันกับเพื่อนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายหาด โดยมาซ้อมวิ่งกับเพื่อนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเป็นบรรยากาศการฝึกซ้อมที่เอื้อต่อสภาพร่างกายและจิตใจ

แต่ด้วยความที่ไม่ได้ผูกพันกับทะเลปากบารามาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ก่อนหน้านี้จักรีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฯ แต่เมื่อได้มารู้จักกับชาวบ้านและผองเพื่อนในย่านตาโละใส จักรีจึงเริ่มได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน

ปากบารา…ยามเย็น

พวกเขาจับกลุ่มกันศึกษา EHIA อย่างจริงๆ จังๆ และถกเถียงกันถึงข้อมูลที่ถูกต้อง

เขาเล่าว่า

“วันหนึ่งสังเกตเห็นป้ายโปรโมทท่าเรือฯ ที่อ้างว่าจะช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ได้ถ้ามีการสร้างท่าเรือเกิดขึ้น ผมก็เริ่มมองไปดูเพื่อนๆ รอบตัว และเริ่มศึกษาข้อเสีย จึงค่อยๆ ทบทวนความเข้าใจใหม่ ผมจึงมารู้ว่า ถ้ามีการก่อสร้างท่าเรือ โครงการนี้จะกระทบไปถึงภูเขาที่อาจจะถูกระเบิด กระทบไปถึงชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่ในสตูล เพราะเขาจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ซึ่งตำบลของผมอยู่ในเขตนั้นพอดี” จักรีบรรยายข้อมูลให้เราฟัง

ในความเห็นของจักรีแล้ว เป็นเรื่องปกติมากที่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะผูกพันกับอ่าวปากบารา ถึงแม้จะไม่ได้มาร่วมกับกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิดก็ตามที เพราะตลอดถนนเลียบชายหาด ภูเขา สายลม และแสงแดด คือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นความทรงจำอันดีของวัยรุ่นหนุ่มสาว

วัยรุ่นสาวร่วมขบวนรณรงค์

เมื่อมีการร่วมกลุ่มกันแล้วกิจกรรมหลักๆ ของพวกเขาคือเข้ามาช่วยกันดูแลความสะอาด รักษาความปลอดภัยและอุบัติเหตุของนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันอาทิตย์จะเป็นการนัดรวมตัวกันเพื่อทำความสะอาดชายหาดที่พวกเขาหวงแหน

การแห่ขบวนในวันสำคัญต่างๆ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำกันเป็นประจำ เช่น วันสิ่งแวดล้อมโลก และการปลูกป่าในพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงการทำฝายกั้นน้ำ

ความหมายของทะเลปากบารา นอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ลูกหลานต้องช่วยกันอนุรักษ์แล้ว ยังถือเป็นสนามแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่การสนับสนุนการต่อสู้อย่างเต็มตัว

ทุกวันนี้กลุ่มสองล้อฯ ทำหน้าที่สำรวจพื้นที่และประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเกาะเขาใหญ่ ชั้นหินโบราณ กองหินขาว รวมไปถึงประสาทหินพันยอด หรือเจดีย์พันยอด ซึ่งมีลักษณะเป็นปลายแหลม รูปทรงคล้ายเจดีย์ ต้องใช้วิธีพายเรือลอดอุโมงค์จึงจะเข้าถึงความงามได้

ปราสาทหินสามพันยอด เกาะเขาใหญ่ จังหวัดสตูล

ที่บริเวณเกาะเขาใหญ่เป็นภูเขาหินทั้งลูก จัดอยู่ในยุค ‘ออร์โดวิเชียน’ (Ordovician) ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวการก่อเกิดของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย และที่อ่าวมะขามสองยังปรากฏร่องรอยชิ้นส่วนฟอสซิลที่สำคัญให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาได้

ขณะที่เยาวชนสองล้อรักษ์บ้านเกิดเองก็ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในวิสาหกิจชุมชนของตำบลปากน้ำ ที่มีระบบการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน อันเป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเอง พบว่ามีการท่องเที่ยวแบบนี้มานานแล้ว หากเพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์สื่อสารออกไปในวงกว้าง

จนกระทั่งวันหนึ่งมีการจัดชุดประชาสัมพันธ์จากนักวิชาการเข้าไปถ่ายทำสารคดีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน หลังจากนั้นกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวก็พรั่งพรูสู่พื้นที่ตำบลปากน้ำ โดยเฉพาะชุมชนบ่อเจ็ดลูกที่อยู่ทางทิศเหนือของอ่าว ซึ่งชาวบ้านมีความรู้และความพร้อมอยู่แล้ว จึงเปิดเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมกับมีการประชุมร่วมระหว่างชาวบ้านในตำบลกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหมู่บ้านบ่อเจ็ดลูก หมู่บ้านตาโละใส และหมู่บ้านปากบารา

ความงามของถ้ำเขาใหญ่

หากใครได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ จะสัมผัสได้ทันทีว่า ชาวบ้านในพื้นที่ล้วนมีทักษะในการแนะนำให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สามารถทำหน้าที่ไกด์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาวชนเองก็ทำหน้าที่คอยเสริมความรู้เกี่ยวกับชั้นหิน ฟอสซิล และความเป็นมาของทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้เรียนรู้มา

ทักษะของกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มาจากการได้รับถ่ายทอดความรู้จาก ครูนก-ธรรมรัตน์ นุตะธีระ ครูโรงเรียนกำแพงวิทยา ซึ่งอุทิศตนให้แก่การศึกษาค้นคว้าในด้านธรณีวิทยา

สา เด็กสาวในกลุ่มสองล้อฯ อธิบายว่า “ครูมักจะย้ำให้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตกับความสำคัญของชั้นหินในจังหวัดสตูลยุคบรรพกาล ซึ่งทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ที่นี่คือเมืองทะเลดึกดำบรรพ์ หรือทะเลโบราณ”

สากับจักรี ทำหน้าที่ไกด์นำเที่ยว

ลาที…มิใช่ลาจาก

ทั้งเขาและเธอเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไปคือ การรณรงค์ให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอน อย่างเช่นแหล่งค้นพบฟอสซิลที่แม้กระทั่งคนในพื้นที่ก็ไม่ทราบถึงความสำคัญ บางคนอาจมองเห็นเป็นแค่ก้อนหินธรรมดา แต่หากมองจากการศึกษาทางธรณีวิทยาจะพบว่า หินเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อชุมชน

สำหรับเยาวชนกลุ่มสองล้อฯ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนจากภายในนั้นแยกไม่ได้จากกฎเกณฑ์ที่คนคนนั้นดำรงอยู่ ตัวตนจึงเป็นสิ่งที่เกิดทั้งจากกระบวนการภายในของมนุษย์และการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมมนุษย์ ในสถานะของปัจเจกที่มีความสามารถในการกระทำทางสังคมไปพร้อมๆ กัน

ท้ายที่สุด ไม่ว่าการรณรงค์ของเขาและเธอเหล่านั้นจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อได้แน่ว่า ‘สองล้อรักษ์บ้านเกิด’ เป็นทั้งผลผลิตที่พวกเขาและเธออาศัยอยู่ ในขณะเดียวกัน ผลจากการกระทำของพวกเขาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในการต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐไปแล้ว

สองล้อนักอนุรักษ์

เราจากพวกเขาในบ่ายวันที่ร้อนระอุ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านกระบวนการทำ EHIA อีกครั้ง ในวันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงเรียนบ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้แต่หวังใจไว้ลึกๆ ว่า การลาของพวกเราครั้งนี้ จะมิใช่เป็นการ ‘ลาจาก’

ปากบารา…เราจะกลับมาพบกันอีก


อ่านเพิ่มเติม: ‘ปากบารา’ โดมิโนชิ้นแรกในเมกะโปรเจ็คท์ภาคใต้

 

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า