การวิ่งตามเก็บเหรียญบาทเหรียญสลึง

chaiyan 26 , จุดหมายที่่ปลายทาง

 

ไชยันต์ ไชยพร  / ภาพประกอบ: ปิยะ พรปัทมภิญโญ

ถ้าบังเอิญเกิดทำเหรียญบาทเหรียญสลึงตก หรือพบเหรียญบาทเหรียญสลึงของใครก็ไม่ทราบวิ่งผ่านหน้าไป น่าคิดว่าใครบ้างจะวิ่งตื๋อตามเก็บให้ทันการวิ่งหมุนปั่นจี๋ของเหรียญ ถ้าตามไม่ทัน มันอาจตกท่อหรือกลิ้งหายไปอยู่กลางถนน ยิ่งทำให้ยากต่อการเข้าไปเก็บมันมา เพราะมันเสี่ยงถูกรถชนตาย ใครบ้างจะมุ่งมั่นตามเก็บมัน ?

อาการวิ่งตามเก็บเหรียญสตางค์ที่กำลังทำตัวเป็นกงจักรที่เคลื่อนที่ได้เองนั้น เป็นอาการที่คนไทยจำนวนหนึ่งอาจจะรู้สึกเขินอาย ถ้าจะต้องวิ่งไล่ตามเก็บมัน หรือถ้ามันไม่วิ่งหนีไปไหน แต่ดันไปตกอยู่ที่ที่ลำบากต่อการเก็บอย่างมหันต์ อาการของความพยายามที่จะเก็บมันมาให้ได้นั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยถือว่ามันเป็นอาการที่ไม่น่าดู เพราะมันดูน่าอดสูแกมน่าสมเพชเวทนาอย่างไรชอบกลก็ไม่ทราบได้

คนจำนวนหนึ่งที่ว่านี้คือใคร ? คนที่รวยสัตว์นรก รวยสัตว์ รวยฉิบหาย รวยมหาศาล รวย ไม่รวยมาก ปานกลาง ปานกลาง (แบบไม่กลางจริง แต่ติดไปทางใกล้จน แต่ยอมรับไม่ได้) หรือประเภทที่จนแต่ก็ไม่ขอใครกิน หรือจนแบบไม่อายที่ขอยืมหรือกู้เงินคน (แต่คนเหล่านี้ก็ยังยืนยันว่า ยังมีศักดิ์ศรี ก็ไม่ได้ขอใครกินเปล่าๆ เพราะกูยอมเสียดอก และยอมให้ด่าให้ทวง แต่ก็ไม่ใช่จะให้ด่าทุกครั้งไป บางครั้งก็ต้องหลบหน้าหลบตา เพราะเป็นเชื่อว่ายังเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีอยู่ แม้จะเป็นหนี้ไม่มีเงินใช้ แต่ก็ใช่จะให้มึงมาจิกด่ากูอยู่ตลอด เพียงแต่กูยังไม่มีใช้ตอนหนี้เท่านั้น !)

หรือจนแบบขนาดที่จะขอยืมหรือขอกู้ใครก็ไม่มีใครยอมให้ เพราะเห็นๆ อยู่ว่า ไม่มีทางส่งดอกได้ ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงเงินต้น และด้วยเงื่อนไขที่ยืมใครก็ไม่ได้และทำมาหากินเองก็ไม่ได้ มีแต่ตัวเปล่าๆ ไม่มีอะไรให้ขาย ให้จำนำหรือจำนองได้  คนประเภทนี้คือคนจนประเภทที่ไม่สามารถยืนยันกับใครๆหรือแม้แต่กับตัวเองได้ว่า ‘ไม่ได้ขอใครกิน’

คนจนประเภทสุดท้ายนี้เข้าข่าย ‘จนสัตว์’ เพราะชีวิตใกล้สัตว์หรือไม่ต่างจากสัตว์ก็ว่าได้ และเข้าใจว่า น่าจะย่ำแย่กว่าพวกที่ ‘จนฉิบหาย’

แต่ก็แปลกที่ว่า เมื่อเปรียบองศาหรือดีกรีของคนจนกับคนรวยแล้ว ในขณะที่คนที่รวยที่สุดและงกสัตว์ (ซึ่งที่จริงแล้ว คนพวกนี้มันไม่เคยมีวันสุดของมัน  เพราะมันจะต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างน้อยก็ได้ดอกเบี้ยทุกวันทุกเดือน ความสุดของมันจึงเป็นความสุดในแบบสัมพัทธ์กับเวลาและสถานที่เท่านั้น) ควรถูกเรียกว่า ‘รวยสัตว์นรก’ ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจและปากนัก แต่สำหรับคนที่จนที่สุดนั้น ไม่สมควรเรียกว่า ‘จนสัตว์นรก’ หรือถ้าใครเรียก เขาคนนั้นก็ควรที่จะต้องตะขิดตะขวงใจและปากบ้าง เพราะถ้าจนขนาด ‘จนจนมีชีวิตคล้ายสัตว์’ แล้ว ยังจะไปเรียกว่า ‘สัตว์นรก’ ซ้ำเติมลงไปอีก มันก็กระไรอยู่

แต่สำหรับคนที่รวยแบบไม่สามารถหยุดได้ รวยแบบไม่มีวันสุด และแถมยังงกสัตว์ด้วย มันให้น่ากังขาว่า มันจะรวยไปถึงไหน และในความเป็นจริง การรวยและงกแบบหาทางหยุดไม่ได้นี้ มันส่อให้เห็นถึงความคิดจิตใจที่น่าจะน่าขยะแขยงขนลุกขนพองมากกว่าชื่นชมหรือเห็นใจ

โดยธรรมดาของสัตว์ มันอาจจะมีจิตใจและพฤติกรรมที่โหดร้ายในสายตามนุษย์ ยามที่มันขย้ำเหยื่อของมันอย่างไม่ปรานีปราศรัย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันจะหยุดเมื่ออิ่มหรือพอในอารมณ์ของมัน ซึ่งสัตว์มักจะมีจุดพอ แถมมันยังยอมให้ตัวอื่นได้อานิสงส์จากเศษเนื้อเศษกระดูกที่เหลือได้ด้วย แต่สำหรับคนรวยและงกแบบที่ไม่มีเคยสุดไม่เคยพอ มันคงร้ายกว่าสัตว์ธรรมดาๆ อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงสมควรที่จะถูกเรียกว่า ‘รวยสัตว์นรก’ นั่นเอง

ที่กล่าวมานี้ เราคงพอจะตอบคำถามข้างต้นได้บ้างแล้วว่า “ใครคือคนที่น่าจะวิ่งไล่เก็บเศษสตางค์ (เหรียญเงิน) ?”

จากเงื่อนไขของความยากแค้น ทำให้เชื่อได้ว่า คนกลุ่มแรกน่าจะเป็นคนจนประเภท ‘จนสัตว์’ อย่างแน่นอน ซึ่งไม่น่าต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมอะไรมากนัก เพราะเงินก็คือเงิน มากน้อยมันก็คือเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหาได้เอง หรือยืมหรือกู้ใครได้ จะทำได้ก็เพียงขอเท่านั้น และที่ได้มาก็มักจะได้เพียงเศษเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นก็คือ เหรียญสตางค์ นั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะได้รับจากมือผู้ใจบุญ หรือใครทำตก หรือตัวเองทำตก มันก็ย่อมมีค่า (อย่างยิ่ง) เสมอกันสำหรับพวกเขา

เหรียญบาทเหรียญสลึงหรือ ?  ตามเก็บตามล้วงตามตะครุบแน่ มิพักต้องพูดถึงเหรียญห้าหรือเหรียญสิบ

แต่สำหรับคนที่อยู่ในระดับที่ไม่ ‘จนสัตว์’ ขึ้นไป โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าตนมีศักดิ์ศรี พวกเขาอาจจะแยกแยะระหว่างเหรียญสลึง เหรียญบาท ห้าบาทและสิบบาท พวกเขาจะวิ่งไล่เก็บเหรียญสตางค์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับค่าเงินที่สัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์กับสถานะความรวย-ความยากจนของเขา และนอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับค่าเงินที่สัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์กับหน้าตาหรือหน้ากากหรือ ‘ศักดิ์ศรี’ ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมาให้สังคมหรือบริบทแวดล้อมตัวเขาในขณะนั้นๆ รับรู้รับทราบอีกด้วย

ในการที่จะตัดสินใจออกอาการวิ่งไล่เก็บเหรียญสตางค์ คนบางคนคิดหนักและคิดมาก เช่น คิดว่า ถ้าเป็นเหรียญสิบบาทถึงจะวิ่งไล่เก็บ แต่กระนั้น ใครเล่าจะรู้ใครเล่าจะเห็นว่า ไอ้เหรียญที่กำลังวิ่งหนีไปนั้นมันเป็นเหรียญอะไร ?  ในขณะที่เจ้าตัวอาจรู้ว่ามันเป็นเหรียญสิบบาท แต่คนอื่นเขาอาจจะคิดว่ามันเป็นเหรียญบาทหรือเหรียญสลึงก็ได้

ดังนั้น ในที่สุดแล้ว คนบางคนที่คิดหนักและคิดมากจึงตัดสินใจไม่แสดงอาการอันน่าอดสูวิ่งไล่ตามเก็บเหรียญสิบบาท ที่กลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าเป็นเหรียญหนึ่งบาท หรือถ้าตัดสินใจวิ่งไล่ตามเก็บมันจริงๆ ก็อาจจะต้องหาทางทำให้คนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์รู้ว่า มันเป็นเหรียญสิบบาทนะ ! แต่ถ้าไม่กล้าวิ่งไล่เก็บมันเพราะอาย แต่ก็ยังเสียดายอยู่มาก ก็ต้องทำใจ เก็บกดและแบกความเสียดายนั้นไปอีกหลายเพลา ส่วนความรู้สึกแบบนั้นจะหายช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับความจน (จริงๆ ที่ไม่ได้เสแสร้ง) มากจนน้อยของเขาคนนั้น

แต่ถ้าพิจารณาความโลภโมโทสันของคนรวยประเภท ‘สัตว์นรก’ แล้ว ก็น่าเป็นไปได้ว่า เขาน่าจะติดอยู่ในกลุ่มของคนที่จะวิ่งไล่ตามเก็บเศษสตางค์ไม่ต่างจากกลุ่มคน ‘จนสัตว์’ ด้วย แต่เราไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เห็นประจักษ์กับตาเท่าไรนัก เพราะคน ‘รวยสัตว์นรก’ ไม่ค่อยจะปรากฏให้คนอย่างเราได้เห็นในที่สาธารณะทั่วไปเหมือนเหล่าคน ‘จนสัตว์’

หลังจากได้มีโอกาสอภิปรายเรื่องความรวยความจนกับคนสองคน คนหนึ่งเป็นนักวิชาการ (เป็นนักวิชาการด้านไหน ไม่ระบุ เพราะเจ้าตัวไม่บอก บอกแต่เพียงว่าเป็นนักวิชาการ) เขาให้ความเห็นว่า ความรวย-ความจนเป็นเรื่องสัมพัทธ์ คนที่รวยน้อยกว่าอีกคน เขาคนนั้นย่อมจนกว่า หรือคนที่จนน้อยกว่าอีกคน ย่อมถือว่าเป็นคนรวยในสายตาของคนที่จนมากกว่า
แต่อีกคน (ซึ่งไม่ใช่นักวิชาการ) แย้งว่า ถ้าจนถึงขีดสุดคือ ‘จนสัตว์’ แล้ว ก็ไม่น่าจะมีใครจนกว่าได้ ถือว่าเป็นความจนสัมบูรณ์ (absolute) ไม่สามารถเป็นความจนสัมพัทธ์ได้ ส่วนความรวยนั้น ไม่มีทางสัมบูรณ์ เพราะไม่เคยหยุดนิ่ง มีแต่จะวิ่งขึ้นหรือวิ่งลง แต่ความจนสัมบูรณ์นั้นไม่มีทางวิ่งลงอีกต่อไปแล้ว

คนที่เป็นนักวิชาการเมื่อได้ฟังก็อึ้งไป และแสดงความเห็นด้วยกับกรณีของความรวย (เพราะมันไม่ได้ขัดกับทฤษฎีสัมพัทธภาพแห่งความรวยของเขา) แต่เขาไม่เห็นด้วยว่า จะมีความจนสัมบูรณ์อย่างที่อีกคนว่าไว้ เพราะเขาเห็นว่า ความจนนั้นก็ไม่นิ่งเช่นกัน เพราะแม้ว่าจะไม่สามารถดิ่งลงต่อไปได้แล้ว แต่มันน่าจะยังพอวิ่งขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยากก็ตามที แต่มันยังพอเป็นไปได้ เช่น อาจเก็บเงินก้อนโตหรือสลากกินแบ่งรัฐบาลจากกองขยะได้  เป็นต้น

คนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการยังไม่ยอมแพ้ แต่ให้เหตุผลที่ฟังแล้วสลดอย่างไรชอบกลไม่ทราบได้ นั่นคือ ความจนสัมบูรณ์หรือจุดที่ความจนนิ่งไม่วิ่งไปไหนแล้วก็คือ คือ “จุดที่คนจนสัตว์ตาย (เพราะความจน)” ส่วนคนรวยสัตว์นรกแม้ว่าจะตาย แต่ความรวยสัตว์นรกยังไม่หายไปไหน แต่ยังส่งผ่านไปสู่ทายาท และตัวเลขในบัญชีเงินฝากหรือผลตอบแทนจากการลงทุนก็ยังวิ่งขึ้นต่อไป ทำให้ความรวยสัมบูรณ์ไม่มีจริง ส่วนความจนสัมบูรณ์นั้นมันตายไปพร้อมๆ กับคนจนสัตว์คนนั้น ความจนสัมบูรณ์ไม่สามารถส่งมอบไปสู่ทายาทได้ เพราะถ้ามีทายาท ทายาทของคนจนสัตว์ที่จนสัมบูรณ์นั้นย่อมจนสัมบูรณ์อยู่แล้ว

หรือถ้าส่งผ่านกันได้ จะพบว่า เมื่อความจนสัมบูรณ์บวกกับความสัมบูรณ์ก็ยังได้ผลลัพธ์เท่าเดิมอยู่

***************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มิถุนายน 2552)

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า