เสียงด่า หมา เพื่อนบ้าน กับสนามบินสุวรรณภูมิ

คิดสลับขั้ว : นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เย็นวันหยุดผมมักชวนภรรยาและลูกออกไปปั่นจักรยานเล่นในหมู่บ้านที่สงบร่มรื่นของผม แต่ก็มักมีเรื่องต้องเดือดร้อนรำคาญใจ เพราะสุนัขที่บ้านบางหลังเลี้ยงไว้เฝ้าบ้านมักเห่ากรรโชกใส่เวลาเราปั่นจักรยานผ่านไป เพื่อความสบายใจ ผมนึกเล่นๆ เยาะเย้ยหมาว่า ชาตินี้มันคงไม่มีวันได้มาขี่จักรยานอย่างผมหรอก จะว่าไปแล้ว มันก็ไม่ต่างจากหมามองเครื่องบินที่อย่างมากก็ได้แค่เห่า  ต้องยอมรับว่า ระยะนี้ผมนึกคิดอะไรก็มักโยงใยไปถึงเครื่องบิน คงเป็นเพราะสนามบินสุวรรณ-ภูมิที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่งเปิดใช้  คนไทยที่เห่อความฟุ้งเฟ้อพอๆ กับเห่อเศรษฐกิจพอเพียงก็พากันไปเที่ยวชมกันเป็นหมื่นคนในระหว่างวันหยุดจนส้วมไม่พอใช้
ผมไม่แน่ใจว่าหมาจะเห่าเครื่องบินเสมอไปหรือไม่ หรือเสียงหมาเห่าจะรบกวนเครื่องบินหรือเปล่า แต่ที่ผมแน่ใจก็คือเสียงเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมินั้นดังรบกวนผู้ที่อยู่อาศัยใกล้กับสนามบิน เพราะไม่ทันจะสิ้นเสียงแซ่ซ้องฉลองเฉลิมที่ช่วยกลบกลิ่นคอรัปชั่นระดับโลกของสนามบินระดับโลก ก็เกิดเสียงเซ็งแซ่ขึ้นอีก คราวนี้ไม่ใช่เสียงอึกทึกของการเฉลิมฉลอง (หรือเสียงโกลาหลของผู้โดยสารที่หากระเป๋าเดินทางไม่เจอ) แต่เป็นเสียงบ่นและก่นด่าของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับสนามบิน ที่ต้องทนทุกข์กับเสียงเครื่องบินที่ดังสนั่นหวั่นไหวทั้งวันทั้งคืนวันละหลายร้อยเที่ยวจนไม่เป็นอันอยู่อันกิน

 

ปัญหาเรื่องเสียงจากสนามบินนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตระหนักกันทั่วโลกและหลายประเทศต้องหาทางออกใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การสร้างสนามบินใหม่ในผืนแผ่นดินที่เรียกว่า inland airport นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น สนามบินสร้างใหม่ทุกแห่งจะถูกชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเสียงประท้วงต่อต้าน อย่างเช่น สนามบินนาริตะที่ญี่ปุ่นที่เดิมมีแผนที่จะสร้างเป็นสนามบินหลายรันเวย์ แต่หลังเปิดทำการเมื่อสร้างเสร็จเพียงรันเวย์เดียวก็ถูกประท้วงอย่างหนัก จนต้องยกเลิกแผนการขยายรันเวย์ไปโดยปริยาย ปัจจุบัน การสร้างสนามบินในญี่ปุ่นจึงต้องหันไปสร้างโดยการถมทะเลหรือสร้างเป็นแท่นยื่นออกไปในทะเลแทน ซึ่งก็มีคนทักท้วงว่าจะทำความเดือดร้อนให้กับกุ้ง หอย ปู ปลาไม่น้อย เพราะธรรมชาติของเสียงนั้นเดินทางในตัวกลางที่เป็นน้ำได้ดีกว่าในอากาศ เสียงในน้ำจึงดังกว่าเสียงในอากาศไปด้วย จะว่าไปแล้วในแวดวงการศึกษาเรื่องผลกระทบของเสียงจากสนามบินนั้นต้องเข้าใจธรรมชาติของเสียงในหลายมิติ ทั้งเรื่องแหล่งกำเนิดเสียง ตัวกลาง และผู้รับเสียง เช่น เสียงเครื่องบินเป็นเสียงที่เปล่งออกจากต้นกำเนิดที่ลอยในอากาศ พลังงานเสียงจะถูกส่งผ่านพื้นดินและโครงสร้างบ้านเรือนพร้อมๆ กับคลื่นเสียงที่เดินทางในอากาศลักษณะที่ว่าทำให้การแก้ไขด้วยการเอาวัสดุกันเสียงไปกรุที่หน้าต่างหรือหลังคา มักไม่ค่อยได้ผล เพราะพลังเสียงต่างจากพลังงานแสงตรงที่เสียงมีความสามารถในการทะลุทะลวงและส่งผ่านข้ามตัวกลางต่างชนิดได้ง่าย

 

เครื่องบินยังบินตอนกลางคืนด้วย การวัดเสียงเพื่อประเมินผลกระทบสนามบินจึงมีการปรับเพิ่มค่าความดังสำหรับเสียงเครื่องบินในตอนกลางคืน คือ ต้องบวกเพิ่มไปอีก 30 เดซิเบลจากค่าที่วัดได้เพราะถือว่าเสียงดังตอนกลางคืนรบกวนมนุษย์มากกว่ากลางวัน นอกจากปรับเพิ่มสำหรับเสียงตอนกลางคืนแล้ว ยังมีการปรับค่าความดังตามธรรมชาติการรับรู้ของหูมนุษย์ที่ไวต่อเสียงในย่านความถี่ต่างๆ ไม่เท่ากัน คือเสียงที่สูงมากๆ หรือต่ำมากๆ แม้จะมี ‘ความดัง’ มาก แต่มนุษย์จะไม่ได้ยินเสียงนั้น เพราะหูของมนุษย์ไม่ไวต่อเสียงในความถี่นั้นๆ นั่นเอง

 

ต่างจากช้างซึ่งไวต่อเสียงความถี่ต่ำ จึงได้ยินเสียงดังสนั่นหวั่นไหวแต่ไกลของคลื่นสึนามิซึ่งมีความถี่ที่ต่ำมากๆ หรือสุนัขที่ไวต่อเสียงความถี่สูง จึงมักเห่าหอนเสียงกระดิ่งจักรยานซึ่งมีองค์ประกอบของเสียงความถี่สูงอยู่มาก (แต่ผมสาบานได้ ไอ้ตัวที่ผมพูดถึง มันเห่าใส่ผมโดยที่ผมไม่ได้ใช้กระดิ่งอะไรเลย)
การวัดเสียงที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญ จึงต้องมีการให้คะแนนหรือการถ่วงน้ำหนักเสียงสูงเสียงต่ำให้ไม่เท่ากัน เช่น ให้น้ำหนักการรบกวนมากกับเสียงในย่านความถี่ที่มนุษย์มีความไวในการได้ยิน เป็นต้น

 

ถือว่าเป็นวิธีการประเมินที่น่าสนใจเพราะมีการวัดทางภาวะวิสัย (ความจริงภายนอก) โดยเอามิติทางอัตวิสัย (หรือความจริงในความรู้สึก) มาประกอบการประเมินด้วย

แต่การวัดเสียงทั้งหลายที่ว่ามา แม้จะมีความละเอียดอ่อนก็ยังเน้นเฉพาะมิติทางกายภาพของพลังงานเสียงที่มีผลต่อมนุษย์เท่านั้น ในทางมานุษยวิทยาแล้ว เสียงไม่ได้มีคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ความถี่หรือความดังอย่างเดียว แต่มีมิติทางวัฒนธรรมและความหมายทางสังคมด้วย พูดอีกอย่าง เสียงไม่ได้เป็นแค่พลังงาน แต่มีคุณสมบัติในเชิงสัญลักษณ์ด้วย

หมายความว่า สุนัขในหมู่บ้านที่เห่าใส่ผมตอนที่ขี่จักรยานผ่านนั้น ผมไม่ได้เดือดร้อนจากเสียงเห่าที่ดังหนวกหูเท่าไรนัก แต่ที่ผมเดือดร้อนและเดือดดาลขึ้นทันที ก็เพราะเสียงเห่านั้นมันเป็นสัญลักษณ์ของความงี่เง่าของเจ้าของบ้าน ที่ปล่อยปละให้สุนัขของตนมาเที่ยวไล่เห่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน (อ้อ… แล้วก็อีกอย่าง ไอ้หมาพวกนี้แหละที่มันเที่ยวขี้เรี่ยราดไว้ทั่วซอยโดยเจ้าของมันก็ไม่สนใจเก็บกวาดด้วย) ยิ่งเห็นเจ้าของบ้านนั่งดูทีวีเฉยอยู่ โดยไม่แยแสกับชะตากรรมของคนชอบปั่นจักรยานอย่างผมแล้ว เสียงหมาเห่าก็น่ารำคาญและน่าโมโหยิ่งขึ้นไปอีก

 

เสียงหมาเห่าจึงเต็มไปด้วยความหมายที่บ่งบอกและตอกย้ำความรู้สึกนึกคิด และความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างผมกับเพื่อนบ้าน ผมติดตามข่าวการเรียกร้องให้รัฐและการท่าอากาศยานฯ มาดูแลแก้ปัญหาเรื่องเสียงดังจากเครื่องบินแล้ว ดูเหมือนการท่าอากาศ-ยานฯ จะมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าของหมาในหมู่บ้านผมที่ไม่แยแสกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ไม่เคยไปดู ไม่เคยไปเยี่ยมหรือไปรับฟังปัญหา ไม่เคยพูดอะไรให้ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาอย่างไร ในขณะที่ลูกหลานชาวบ้านร้องไห้กระจองอแง นอนไม่ได้ ตกใจสะดุ้งกับเสียงดังสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบิน หากการท่าอากาศยานไม่ใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของผู้ได้รับผลกระทบให้ดีพอ ก็จะทำให้เสียงของเครื่องบินที่มีความดังน่ารำคาญมากอยู่แล้ว กลายเป็นเสียงที่มีทั้งความดังที่น่ารำคาญและความหมายที่ตอกย้ำความรู้สึกที่เลวร้าย

เสียงเครื่องบินที่บินขึ้นบินลงทุกครั้งจะกลายเป็นเสียงของความไม่เป็นธรรม เสียงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสียงของการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เสียงของสัญญาที่ถูกหักหลัง หรือเสียงของรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรโดยไม่แยแสต่อชีวิตและครอบครัวที่กำลังถูกกระทำย่ำยี เสียงที่ทุกครั้งที่ได้ยินบ่งบอกและตอกย้ำความเกลียด และความเคียดแค้นที่ถูกละเมิดความเป็นมนุษย์ ถึงตอนนั้น การให้เงินค่าชดเชยความเสียหายตามระดับเดซิเบลก็หมดความหมาย เพราะไม่ว่ามันจะกี่เดซิเบล มันก็เป็นเสียงของการกระทำย่ำยีหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สร้างความเจ็บแค้นได้พอๆ กัน เหมือนกับเสียงคนที่มายืนด่าทอบุพการีของคุณ ไม่ว่าเสียงด่าจะดังอยู่ริมรั้วหรือดังแว่วมาจากปากซอยมันก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะมันมีความหมายเดียวกันคือมันกำลังล่อบุพการีคุณอยู่

 

ดังหรือเบาไปกี่เดซิเบลก็ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ มันทำให้เกิดอาการ กูยอมไม่ได้ (โว้ย)

 

การต่อสู้ด้วยกำลังความรุนแรง รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์การข่มขู่ที่จะใช้กำลัง หรือการสร้างสถานการณ์เพื่อหาทางใช้กำลังความรุนแรง หรือสร้างสถานการณ์หรือเงื่อนไขให้เกิดการใช้กำลังความรุนแรงเพื่อประโยชน์และอำนาจ  ถือเป็น ‘อนารยะขัดขืน’ ขัดขืนต่อสันติ ขัดขืนต่ออารยธรรมมนุษย์ และไม่ถือว่าเป็น‘การเมือง’

Author

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
มีตำแหน่งนำหน้าว่านายแพทย์ แต่เรียกตัวเองว่านักมานุษยวิทยา ขณะที่หมวกอีกใบคือผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า