เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
10 เมษายน 2555 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใช้งบประมาณ 13,280.445 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2555-2562)
เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
เดาไม่ยาก สิ่งที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นเสียงคัดค้านของนักอนุรักษ์และเสียงสนับสนุนของคนเข้าอกเข้าใจโลกที่ว่า ไม่มีของฟรีในโลก อยากพัฒนา มันต้องมีรายจ่าย
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ออกจดหมายคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ โดยมีใจความหลักๆ ว่า เขื่อนไม่สามาถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง รวมถึงการก่อสร้างมีแต่เสียไม่คุ้มได้ เมื่อต้องเอาผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาสายพันธุ์เข้าแลก
ต่อเรื่องนี้ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ บอกกับเราในช่วงบ่ายวันหนึ่งว่า ปัญหานี้แก้ไม่ยาก แค่นั่งลง หากาแฟสักถ้วยมาจิบ แล้วเอาความจริงมาพูดกัน นี่มิใช่แค่เรื่องเขื่อน แต่หมายรวมถึงโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของรัฐทุกโปรเจ็คท์
Q : ความขัดแย้งในประเด็นการสร้างเขื่อนตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเขื่อนน้ำโจน ปากมูล แก่งเสือเต้น มาถึงล่าสุดที่รัฐบาลนำโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์มาปัดฝุ่น ทำไมเราถึงเถียงกันแค่เอาหรือไม่เอา มีมิติอื่นให้พูดถึงบ้างหรือไม่
ตอนน้ำโจนผมยังเป็นนักศึกษาอยู่นะ ช่วงนั้นทำกิจกรรมด้านอื่นอยู่ ติดตามข่าวเฉยๆ ที่คุณถามว่าเอาหรือไม่เอา คือต้องพูดแบบนี้ก่อน ตัวเขื่อนมันคือสัญลักษณ์ใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ เพราะการสร้างส่วนใหญ่ต้องใช้พื้นที่ป่า เขื่อนมีอยู่ 2 ส่วน คือผลิตไฟฟ้ากับจัดการเรื่องน้ำ ส่วนการป้องกันน้ำท่วมอย่างที่อ้างกันว่าเขื่อนแม่วงก์ทำได้ มันเป็นประเด็นขึ้นมาทีหลัง จริงๆ เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน
เขื่อนน้ำโจนก็เหมือนกัน มันคือสัญลักษณ์ใหญ่ของการสู้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มในประวัติศาสตร์ว่าคนเริ่มเห็นความสำคัญของป่า เป็นเรื่องของการปกป้องป่าจากการสร้าง สำหรับประวัติศาสตร์บ้านเรามันออกไปในลักษณะนั้น คนที่ทำงานด้านอนุรักษ์ มีความรู้สึกว่า เขื่อนเป็นสิ่งตรงข้ามกับการอนุรักษ์ เป็นความรู้สึกนะ จริงหรือไม่จริงต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์ เราโตมากับเรื่องแบบนี้
คนไทยที่อยากรักษาป่า พอมีเรื่องเขื่อนเข้ามากระทบ เข้ามาให้ได้ยินว่าจะมีโครงการสร้าง จึงรู้สึกว่าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว แต่ไม่ได้ต่อต้านว่าเขื่อนไม่ดี แค่ช่วยไปทำข้างนอกป่าได้ไหม จะไปทำในส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้วใช้เงินเวนคืนก็ว่ากันไป ซึ่งแน่นอน มันก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกอีก เพราะชุมชนที่เขาอยู่กันมาก่อนต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย
ชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ไม่เคยมีโฉนดที่ดิน พอจะไปออกเอกสารสิทธิ์อะไรต่อมิอะไรทับที่อยู่พวกเขา ก็อ้างถึงกฎหมายว่ามีการประเมินราคาที่ดินไว้ มีราคาเท่านั้นเท่านี้ จะเอาค่าชดเชยแค่ไหนเชียว นั่นคือโดนเอาเปรียบเรื่องค่าชดเชย ยังมีเรื่องของการไปเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมเวลาต้องอพยพคน มันเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว การจัดการไม่ดีเลย พาคนไปอยู่ในที่ดินที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปแบบหน้ามือป็นหลังมือ
ที่สุดแล้ว พื้นที่จัดสรรดังกล่าวถูกขายต่อไปสู่อีกกลุ่มคน แล้วพวกเขาก็ย้ายกลับไปอยู่ใกล้ๆ กับเขื่อนเหมือนเดิม เรื่องทั้งหมดจึงเกิดจากกระบวนการจัดการ ปัญหาอีกส่วนคือกระบวนการที่ไม่ตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้น
คนที่ทำงานอยู่กับเรื่องที่ดินและทรัพยากรทราบดีว่า เวลาสร้างเขื่อนที่ไม่ได้อยู่ในป่า ก็มีปัญหาเรื่องการหาประโยชน์ของคนที่พยายามรวมที่ดินเพื่อจะซื้อขาย เก็งกำไร หรือปลูกต้นไม้ไว้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งมันมีความไม่ชอบมาพากลเยอะ พอสร้างในป่าก็มีปัญหาอีก นี่พูดในเรื่องกระบวนการนะ ยังไม่แตะถึงระบบนิเวศ
ว่ากันว่าในสมัยสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ประเมินกันว่าน้ำจะท่วมแค่พื้นที่ระดับหนึ่ง แต่มีการปักเขตท่วมป่าไปถึงยอดเขา เพื่อถือโอกาสใช้ไม้ มันเป็นหลักการของเขื่อนอยู่แล้วว่าต้นไม้จะสูญไปกับน้ำ จะทำให้น้ำเน่า น้ำเสีย จึงต้องเอามาใช้ประโยชน์ รวมๆ คือ เขื่อนเป็นที่มาของแหล่งผลประโยชน์สารพัด เพราะเป็นโครงการใหญ่
คุณสืบ นาคะเสถียร เองก็แสดงภาพให้เห็นว่าตัวเขาช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นภาพที่ฟ้องชัดเจนว่าเขื่อนทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ โครงการที่มนุษย์ได้ประโยชน์ แต่สัตว์จมน้ำตาย นี่คือตัวเขื่อนเองทำลายธรรมชาติ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีภาพอย่างนี้ในใจคนรักป่า มีผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายเองก็ระบุว่าต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเขื่อนที่มีความจุมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิน 15 ตารางกิโลเมตร จึงช่วยไม่ได้ว่าเขื่อนคือความขัดแย้งในแง่ของการจัดการทรัพยากร มันก็ต้องอยู่อย่างนี้ เอาหรือไม่เอา
Q : มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ให้ความสำคัญเรื่องการคอรัปชั่นในการสร้างเขื่อนมากน้อยแค่ไหน
พูดมากก็ลำบาก เราเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม แต่อันแรกที่ผมอยากพูดคือ แรกๆ ที่ค้านในปี 2552 ราคามันอยู่ 7 พันล้าน นี่ขึ้นมาเท่าตัวภายใน 3 ปี โอเค มันเพิ่มเรื่องชลประทานระบบท่ออีกเป็นหมื่นไร่ ผมไม่รู้ว่าคุ้มไหม เพราะไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์
อีกช่องหนึ่งคือ บริษัทที่ได้ผลประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อน เป็นบริษัทเดียวกัน เครือเดียวกันมาหลายเขื่อนแล้วใช่หรือไม่ โยงใยกับพรรคการเมืองระดับกลางพรรคหนึ่งหรือเปล่า ตรงนี้น่าสนใจ ต้องตรวจสอบกัน เพราะเขามี่ชื่อเสียงด้านการก่อสร้างและการหาแหล่งน้ำมานาน ซึ่งอาจไม่ใช่ก็ได้
การตัดไม้มาใช้ก็เกี่ยว ใครจะไปควบคุมได้ ผลประโยชน์มันมหาศาล ผมเองมีหน้าที่ให้ความรู้ด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศก็จริง แต่ไม่แน่นะ ถ้าช่วยกันดีๆ เขื่อนแม่วงก์ อาจเป็นเคสที่ดีในการเปิดเรื่องผลประโยชน์ เพราะปัจจุบันการคอรัปชั่นไม่เฉพาะเขื่อนแล้ว ที่วิเคราะห์กันออกมา เกือบครึ่งเป็นเรื่องของเบี้ยใบ้รายทาง ทุกโครงการมีผลประโยชน์ลักษณะนี้เยอะแยะ
Q : ที่พูดมามีแต่แง่ลบทั้งนั้น ฝ่ายที่ต้องการเขื่อนไม่ทราบอย่างที่คุณว่าหรือ
คนที่ได้ประโยชน์จากมันมี ผมเองก็ไม่ปฏิเสธว่าใช้ไฟฟ้าจากเขื่อน ประโยชน์มันมีแน่ แต่ระยะหลังสังคมเริ่มรู้จักความสมดุลและสิ่งที่มันยั่งยืนกว่า จึงอยากเก็บป่าที่เหลือน้อยเอาไว้ หรือเสนอให้ไปทำที่อื่นที่น้ำจะไม่ท่วมผืนป่าสำคัญ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็ไม่มีใครต่อต้าน กรมชลประทานสร้างไปตั้งกี่เขื่อนแล้วทั้งประเทศ ไหนจะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ไปดูสิ…ทุกจังหวัดที่ติดภูเขา ติดลำห้วยสายหลักทุกแห่งมีอ่างหมด แล้วเขื่อนปราณบุรี เขื่อนกุยบุรี ล่ะ ทุกจังหวัดก็มีอ่างเก็บน้ำที่มันพอสมควร
ฉะนั้น ไม่ใช่มาเถียงกันว่าเขื่อนดีหรือไม่ดี มันดียู่แล้ว สร้างไปเถอะถ้ามันไม่กระทบพื้นที่สำคัญ มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันเขื่อนที่ไม่เป็นข่าว เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเขื่อนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ไม่ต้องทำอีไอเอ (การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ) ไม่ใช่ป่าที่มีเงื่อนไขก็ไม่ต้องทำรายงาน แต่อันที่มันเป็นข่าวคือที่เป็นผลกระทบ มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกิดความขัดแย้ง เราไม่ได้เป็นกลุ่มไปต่อต้านทุกเขื่อน ส่วนใหญ่สร้างได้ด้วยซ้ำ ตอนนี้เหลือแค่แก่งเสือเต้นกับแม่วงก์เท่านั้นที่ยังเป็นข้อถกเถียง
Q : เอาเฉพาะที่แม่วงก์ คนนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียงที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน บอกว่ารอมากว่า 30 ปีแล้ว พวกเขามีชุดข้อมูลที่แตกต่างจากเราอย่างไร
ก็ไม่ได้แตกต่างจากเรามากนักหรอก ถามว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์ไหม ก็มีโอกาสได้ประโยชน์ ลดน้ำท่วมได้ไหม ลดได้แน่ เพราะมีน้ำจากลำน้ำแม่วงก์มาท่วมบ้านเขา ส่วนได้มากได้น้อยเป็นอีกเรื่อง ถามว่าเป็นบ้านเรา เราเอาไหม ก็ต้องเอา น้ำเคยท่วม มีคนมาบอกว่าลดน้ำท่วมได้ 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ มันกระทบกับเราโดยตรง มีคนมาช่วย ใครก็เอา
เมื่อก่อนทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จากน้ำใต้ดินบ้าง น้ำฝนบ้าง นี่จะมีน้ำมาเพิ่มให้ ทำนาได้ 3 ครั้ง ไม่ต้องสูบจากใต้ดิน ไม่เสียค่าไฟ มีคนส่งมาให้ฟรี เอาอยู่แล้ว เป็นบ้านเรา เราก็เอา มันคือประโยชน์ตรงหน้า และเรามีสิทธิ์เรียกร้องตามรัฐธรรมมนูญให้รัฐจัดการน้ำด้วย ดังนั้นกรมชลประทานก็ไม่ผิด อย่างที่บอก เกษตรกรถูกส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบนี้
แต่วันนี้ทรัพยากรส่วนรวมจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีส่วนคัดค้าน ส่วนที่มาทัดทาน หน่วงเอาไว้ ไม่อย่างนั้นจะป่าสำคัญไม่สำคัญก็คิดสร้างเขื่อนมันเสียทั้งหมด อย่างนี้ไม่ได้ เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่มีสิ้นสุด จึงต้องมีตัวมาคาน อย่างแรกคือ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย สองคือ ภาคประชาชนที่มองภาพรวมของประเทศแล้วอยากอนุรักษ์ป่าไว้
คนมองเป็นความรำคาญว่าทะเลาะกันอยู่ได้ แต่ผมไม่คิดแบบนั้น มองว่าผมทำหน้าที่ของผม หน้าที่ถ่วงดุล เหมือนคุณบอกอยากสบาย อยากสนุก เป็นวัยรุ่น จะผิดศีลธรรมอย่างไรก็ช่าง ทำให้เต็มที่ แล้วเรามีศาสนาเอาไว้ทำไม อย่างน้อยมันคือการหน่วง การรั้งเอาไว้ เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ เพื่อให้เกิดสติ ถ้าเราปล่อยไปตามอารมณ์ ตามความอยาก มันก็เตลิดหมด ถามว่าพระมีประโยชน์ไหม คนเชื่อพระไหม ก็ไม่ทั้งหมดหรอก
ตอนนี้เราเชื่อเรื่องการพัฒนา คนที่ค้านเขื่อน ไม่ได้ทำงานด้านศีลธรรมขนาดพระหรอก แค่ทำหน้าที่ถ่วงเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรจนเกินขอบเขต ซึ่งในที่สุดผมเชื่อว่ามันอยู่กันได้ แต่คุณจะเรียกเราว่าการขัดขวางการพัฒนาก็เอาเถอะ ถึงอย่างไรการพัฒนามันก็ไปอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว ทุนนิยมมันขยายตัวได้อยู่แล้ว แค่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาหน่วงๆ ไว้บ้าง ดีไหม ในที่สุด มันก็ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้
Q : อยู่ร่วมกันอย่างไร ไหนเมื่อคนนครสวรรค์จะเอา ฝ่ายอนุรักษ์ก็อยากเก็บป่าไว้
ก็อยู่กันมาได้ตั้งหลายสิบปี ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดไม่มีเขื่อนแม่วงก์แล้วอยู่ไม่ได้เลย คุณมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ น้ำท่วมน้อยกว่าที่ราบภาคกลางตั้งเยอะ ตอนนี้พวกเขาทำนาปีละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง อยู่กันได้อยู่แล้ว ทีนี้พอมีคนไปบอกว่าสามารถได้มากกว่านี้ถ้ามีเขื่อน เป็นใครใครก็เอา ไม่มีใครผิด กรมชลประทานก็หวังดี ต้องการจัดการน้ำ ซึ่งเราก็หวังดีเหมือนกัน มันไม่คุ้ม เอาป่าไว้ในระยะยาวคุ้มกว่า
เราไม่ได้ทะเลาะกันนะ แต่ในเมื่อเป็นประชาชนด้วยกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องมีกระบวนการของมัน เราให้ข้อมูลไป พอคนมีอำนาจจัดการฟังข้อมูลจากฝ่ายไม่เห็นด้วย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทบทวนกันไป เช่น ฟังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือถ้าไปทำในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นกรรมการอุทยานแห่งชาติ ผมไม่เห็นว่าเราจะต้องทะเลาะอะไรกัน คนที่อยากได้น้ำ ก็เรียกร้องขอน้ำ ผมอยากอนุรักษ์ป่า ผมก็เรียกร้องว่า ไม่ควรทำตรงนี้ ควรหาวิธีอื่น ทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำ
ถามว่าผมมีความรู้พอไหม ในการไปบอกว่าต้องจัดการน้ำอย่างไร ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมรู้ว่าต้องบอกให้เก็บป่าไว้ และไม่ได้ไปทะเลาะอะไรกับคนลาดยาว (อำเภอในนครสวรรค์) ด้วย เพียงกระบวนการพัฒนาในที่นี้ มันไม่ใช่อยู่ในที่ดินของคุณนะ ไม่ใช่ฉโนดของคุณ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน คนลาดยาวเองมีสิทธิ์ในป่าผืนนี้เท่ากับผมนะ ป่าตรงนี้ไม่ใช่ป่าของใคร เป็นป่าของคนลาดยาวกับป่าของผมเท่าๆ กัน
หากคุณต้องการทำบ่อน้ำในที่ดินคุณ คุณมีที่ 10 ไร่ แบ่งทำบ่อ 1 ไร่ ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ใครจะไปว่าอะไรคุณล่ะ แต่นี่มันเป็นที่ของผมด้วย คนอื่นๆ มองว่า 2 ฝ่ายทะเลาะกัน เฮ้ย นี่ผมทะเลาะแทนคุณนะ เพราะมันที่คุณด้วย ซึ่งผมรู้สึกว่า เราต้องเก็บทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานของคุณ เราทำหน้าที่ของเรา คือทำอย่างไรให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเกิดการยั้งคิด ซึ่งเขาเปลี่ยนใจมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปี 2545-2546 รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ทั้งหมดยืนอยู่บนขั้นตอนที่สังคมพัฒนามาไกลแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการที่ปิดหูปิดตาประชาชน เราอยู่ในประเทศที่พัฒนากระบวนการตัดสินใจมาได้ระดับหนึ่งแล้ว
Q : ทำไมรัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงรีบชงเรื่องเข้ามติคณะรัฐมนตรี ฝ่ายคัดค้านมองว่ามันผิดปกติ
เฮ้ย ไม่ เราคิดแบบนั้นไม่ได้ คนที่อยากเอาน้ำไปใช้ อยากป้องกันน้ำท่วม มันไม่ได้ผิดอะไร ถูกด้วย เป็นกระแสหลักด้วยซ้ำไป
เอาอย่างนี้ ผมจะโยงกลไกให้เห็น แต่เดิม กรมชลประทานมีความพยายามมานานแล้ว ด้วยมีความเชื่อว่า ต้องจัดการลำน้ำแม่วงก์จึงจัดการน้ำได้ พูดง่ายๆ คือต้องจัดการน้ำทุกสายที่เป็นสายหลัก สายน้ำที่ไหลทั้งปีนั่นแหละ ต้องมีเขื่อน มีฝาย เพื่อประโยชน์ในการบังคับน้ำได้ ให้ไหลมากไหลน้อย วิศวกรเรียนมาอย่างนี้ คือต้องตรวจวัดเป็นลูกบาศก์เมตรได้เป็นส่วนใหญ่
จึงมีการเสนอโครงการมา แต่เมื่อมันแยกหน่วยงาน กรมชลประทานก็มีศักดิ์เท่ากับกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน ก็ค้านกันไปมา ชาวบ้านเชียร์กรมชลประทาน นักอนุรักษ์เชียร์กรมอุทยาน จนกว่าวันหนึ่งมันจะลงตัว ทำรายงานสิ่งแวดล้อมผ่าน เป็นอย่างนี้เกือบทุกที่ พอมีน้ำป็นท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์มันเปลี่ยน สถานภาพเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว คุณวีรพงษ์ รามางกูร ต้องการเรียกความเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่ท่วมประเทศอีก เลยต้องมีแพ็คเกจโครงการ ซึ่งป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ ดร.โกร่ง (วีรพงษ์) กับพวกคิดว่า ต้องทำลงในกระดาษก่อน จริงไม่จริง ทำได้หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ต้องแสดงความเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่ท่วมอีก เพื่อเงินนักลงทุนชาติต่างๆ จะยังอยู่ในประเทศไทย
นี่คือหลักเลย มันต้องทำโครงการก่อน รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยโครงการเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น การปลูกป่า การทำฟลัดเวย์ไปท่วมนครไชยศรี ทุกอย่างที่บวกเป็นตัวเลขได้ 3.5 แสนล้าน ก็ถูกเอาไปโชว์ว่าจะทำเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของชาติ กลายเป็นนโยบายรัฐบาลอย่างที่ผมบอก เขื่อนแม่วงก์มันจ่อมานานแล้ว ครม. ก็อนุมัติในกรอบงบประมาณ
Q : แล้วไม่ต้องฟังรายงานสิ่งแวดล้อมตัวไหนเลยหรือ
ต้องฟัง แต่อย่างน้อย คุณวีรพงษ์ก็ได้เครดิตแล้ว ว่ารัฐบาลไทยอนุมัติงบเรียบร้อย ทำแน่ ได้กรอบใหญ่ไปทำแล้ว ส่วนจะสร้างจริงหรือไม่ ผมคิดว่าประเทศเรายังต้องมีกฎหมายอยู่ เช่น รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องผ่าน เรายังใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ ยังไม่ยกเลิกมาตรา 67 ที่บอกว่า ต้องผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นประกอบ ต้องมีประชาพิจารณ์
ถ้ายังติด พ.ร.บ.อุทยาน กรมชลประทานไปทำสันเขื่อน มันก็ผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ต้องเพิกถอนออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติก่อน ต้องผ่านกรรมการอทุยานแห่งบชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยาน นี่ไม่ใช่เรื่องมากนะ แต่มันคือกฎหมาย ประเทศที่เจริญแล้ว ทำอะไรต้องมีการถ่วงดุล คือกระบวนการที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ เพื่อความสมดุลและยั่งยืน สังคมอื่นๆ ผ่านความขัดแย้งมาได้ เพราะมีกระบวนการแบบนี้แหละ เห็นต่างแล้วคุยกันบนกรอบ บนกระบวนการ
พูดส่วนตัว ถ้าผมไม่อยากให้สร้าง ผมอาจไปยืนประท้วงอยู่ตรงแม่เรวา (ลำห้วยแม่เรวาอยู่ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์) ถ้าผมยังยืนอยู่บนข้อกฎหมาย บนอารยะขัดขืนที่ผมไม่ได้ละเมิดใคร ไม่ไปสร้างความรุนแรง ผมก็มีสิทธิ์แสดงออก เช่นเดียวกับคนลาดยาวที่มีม็อบต้องการเขื่อน ผมคนน้อยกว่า ก็อาจไปยืนเขียนบทกวีอยู่ริมน้ำแม่วงก์ ไม่ยอมไปไหน นี่ไม่ได้บอกว่าจะทำนะ หมายถึงว่ามันทำได้ ซึ่งในที่สุดตำรวจอาจมาเชิญผมออกไป ก็ว่ากันตามกระบวนการ ตราบใดที่ผมยังไม่ไประเบิดสันเขือนทิ้ง ไม่ไปวางระเบิดกรมชลประทาน ผมอยู่ในประเทศที่มีสิทธิ์ที่จะทำ
เอาตามตรง พวกนักอนุรักษ์ต่างหากที่ตัวเล็ก เล็กนิดเดียว แต่ทำเป็นใหญ่โต เสียงดัง มาค้าน นักอนุรักษ์มีอะไร…ไม่มี ตัวเล็กนิดเดียว บังเอิญว่าเรามีเหตุมีผล ถึงอย่างนั้นเราแพ้มากกว่าชนะ ไม่เฉพาะเขื่อน ดูสิ ต่อไปเรากำลังจะทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง คุณลองมาชั่งข้อดีข้อเสีย ที่เสียแน่ๆ คือทางเดินของคนที่จะขึ้นไปซาบซึ้งกับธรรมชาติ ผ่านมา 40-50 ปี คนแฮปปี้กับการเดิน พอมีกระเช้า บอกอยากเดินก็เดินไป มันไม่ใช่เหตุผลเลย
Q : สิ่งที่คุณอยากเห็นคือการนั่งคุยกันอย่างจริงจัง ?
ตามที่รู้มา อบรมมา เพราะผมสนใจเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการใดก็ตาม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ทุกที่มันมีปัญหาหมด แล้วเขาสร้างกันได้อย่างไร เช่น จะทำบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่เจ้าของถิ่นบอก อย่ามาทำหลังบ้านชั้นแล้วกัน มีปัญหาแบบนี้หมด จะทำได้ก็ต้องได้รับการยินยอมพร้อมใจ ถ้ามีผลเสียหายต้องแก้ไขให้ได้
ถ้ามีโครงการที่มันต้องเกิดผลกระทบ ก่อนมีประชาพิจารณ์ กระบวนการควรเป็นอย่างไร ง่ายที่สุด ประชาธิปไตยคือการโหวต คนมีส่วนได้เสียมีสิทธิ์โหวต แล้วอย่างไร คนที่อยากได้ย่อมมีพลังกว่าคนอยากรักษา ก็อาจชนะ แต่นั่นต้องหมายถึงกระบวนการดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว จึงมีการลงประชามติ ก่อนหน้านั้นต้องมีเวทีคุยกัน ฟังกัน ก่อนโหวตฟังให้รอบด้าน มีเวทีเล็กๆ เรียกว่า Technical Hearing อย่างกรณีแม่วงก์ ต้องไม่ใช่เอาผู้ต้องการน้ำอย่างเดียวมาพูด อยากได้ท่าเดียว ต้องรู้จักวิธีการจัดการน้ำ ถ้าไม่คุยเหตุผล ไม่คุยข้อมูล ก็ไม่สามารถสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือหาทางออกได้
คุณจะสร้างโรงงานที่นี่ ชุมชนบอกมันทำลายวิถีชีวิต สร้างไม่ได้ ทางจังหวัดก็ต้องฟัง เข้ามาดู ไปหาที่ใหม่ได้ไหม มีชุมชนไหนที่อยากได้ หรือเขื่อน กรมอุทยานขอตรงนี้ มันเป็นพื้นที่ป่าสงวนนะ แต่มีชุมชนใช้ เราช่วยกันหางบประมาณมาเวนคืน แต่ต้องทำอย่างมีส่วนร่วม เอาข้อมูลมาเสนอว่า ถ้าแบบได้น้ำน้อย ไปเพิ่มเป็น 2 อ่างได้ไหม ผมจินตนาการนะ ที่ผมเรียกร้องคือวงที่คุยอย่างนี้ เป็นวงก่อนที่จะเกิดโครงการอะไรก็ตาม
เราควรเปิดโอกาสให้หลายๆ หน่วยงาน หลายมูลนิธิ ไม่ใช่แค่มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ไปหาข้อมูลมาอธิบายกัน มีโอกาสใหญ่ๆ ให้กรมอุทยานระดมทรัพยากรของเขามา ว่าทำไมอยากรักษาป่าไว้ มีเหตุผลอะไร ระดมตัวอย่างการจัดการน้ำของท้องถิ่นมา เอาตัวอย่างจากประชาคมท้องถิ่นแม่วงก์ที่ทำงานกันมานาน นำตัวอย่างที่ดีมาเสนอกัน ทำอย่างไรให้ลงตัว สรุปให้ชัดๆ ว่าชาวบ้านต้องการเขี่อนหรือต้องการน้ำ ถ้าไม่ต้องทำลายป่าแล้วได้น้ำด้วย มีวิธีอื่นไหม อาจยากกว่าทำเขื่อน ก็ต้องสร้างกลไลมาทำ อาจไม่ใช่กรมชลประทานรับผิดชอบ เป็นโยธาธิการร่วมกับท้องถิ่น ร่วมกับงบประมาณที่อื่น
เป็นเวทีหารือที่ไม่ใช่ทำครั้งเดียว ทำกันสัก 3 ปีก็ได้ ประชุมอยู่อย่างนี้ แต่ไม่ใช่เวทีใหญ่มาพรีเซนต์ว่าคุณเอา ไม่เอา อย่างนั้นไม่ได้ข้อคลี่คลายความขัดแย้ง มันต้องออกแบบร่วมกัน ฟังกันจนถึงที่สุด มันคือทางออกของทุกโครงการ
Q : จากข้อมูล ตัวเขื่อนแม่วงก์ที่จะสร้าง มีความจุ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปี 54 ประมาณ 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร อย่างนี้มันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงไหม
ช่วยได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาอ้างว่าเป็นเรื่องนโยบายรัฐ ก็พูดลำบากหน่อย กรมอุทยานเป็นข้าราชการ ต้องทำตามรัฐบาล ซึ่งถ้ามันเป็นนโยบายของอีกกรม ก็พอพูดกันได้ ถึงอย่างนั้น แม้เป็นนโยบายรัฐบาล แต่เราเองเห็นต่างกันได้ จะปล่อยรัฐพาประเทศไปอย่างนี้ไม่ได้ เราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ก็ทำหน้าที่ของเรา
Q : มูลนิธิสืบฯ บอกว่ามีเสือโคร่งอยู่ในผืนป่าอุทยานแม่วงก์ แต่รายงานอีไอเอบอกไม่มี ทำไมข้อมูลต่างกันได้ขนาดนี้
ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกเชื่อใคร คุณอยากให้มันมีไหมล่ะ
Q : ต้องเลือกเชื่อด้วยหรือ แค่อยากรู้ความจริง
ไม่มีใครเป็นพรานที่เข้าไปเจอเสือ เสือบ้านเราไม่ใช่เสือแอฟริกาที่วิ่งอยู่ตามหนองน้ำ คุณต้องเข้าไปในภาวะเหมาะสมถึงจะเจอ ไอ้ที่มาคุยๆ กันน่ะ ไม่ใช่คนที่เห็นเสือสักคน หรืออาจเป็นคนที่ไม่เคยเข้าไปเหยียบป่าตรงนั้นเลยด้วยซ้ำ
การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มีรายงานว่าไม่เจอ แต่ในงานศึกษาของกรมอุทยาน ที่เป็นงานของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือนักวิจัยที่ทำงานอยู่ในห้วยขาแข้ง ก็เล่าให้ฟังว่า เสือกำลังแพร่กระจายไปสู่แม่วงก์ มีหลักฐานการถ่ายภาพไว้ด้วยกล้องดักถ่าย ผมถึงบอกไง ทั้งหมดเราคุยกันผ่านสื่อ ไม่มีเวทีด้านเทคนิค
เรื่องแบบนี้ไม่มีใครโกหกกันหรอก คนที่บอกว่าไม่เจอ ก็คือไม่เจอจริงๆ ผมคิดอย่างนั้น เพราะกระบวนการในการทำอีไอเอมันสั้นมาก ปีเดียว เวลามันจำกัด แต่กรมอุทยานอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา เพียงแค่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงาน ถ้าเราจะรักษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์เสือ เราต้องฟังกัน เอาข้อมูลมาดูกัน กรมชลประทานควรเข้าใจ ขยับออกไปหน่อย เพื่อเราเก็บป่าแม่วงก์ไว้เชื่อมโยงกับห้วยขาแข้ง เพื่อนครสวรรค์จะเป็นบ้านของเสือ มันยังมีผลในแง่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว เสนอเป็นมรดกโลก ได้ชื่อเสียง เราควรมองให้เห็นเป็นประโยชน์ร่วม ดีกว่ามานั่งเถียงกันว่ามีเสือหรือไม่มีเสือ
Q : ตกลงว่าเราเชื่อรายงานอีไอเอได้มากน้อยแค่ไหน
เชื่อได้ในระยะเวลาการศึกษา 1 ปี เวลาเข้าไปศึกษา ก็ขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยคนนั้นเชี่ยวชาญหรือไม่อีก ฟลุคเจอเสือไหม งานทุกด้านมีข้อจำกัดของมัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว งานอีไอเอไม่ใช่งานวิจัย ระดับของการศึกษาความจริงต้องวิจัย ไม่อย่างนั้นคุณต้องบอกว่า เนื่องจากรายงานนี้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและเวลา ผลจึงได้แค่นี้ ดังนั้นพอมันเป็นงานวิจัยของคนที่ทำงานมาต่อเนื่อง จึงน่าเชื่อถือกว่า
ต้องย้อนกลับไปที่กระบวนการอีกนั่นแหละ ถ้าเรามีโต๊ะพูดคุย ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกกางออกมา มันคือวัฒนธรรมของการพูดการฟัง กินกาแฟกัน แล้วอย่าเบื่อ คุยกันก่อนหน้านี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอถึงให้ ครม. อนุมัติ ถ้าในวงประชุม วงคุย คุณเอาผมจนแต้ม ผมจะไปค้านได้อย่างไร ก็รับเหตุรับผลบนโต๊ะกินกาแฟด้วยกันแล้ว มาค้านอีก ผมเสียคนตาย ทำไมไม่คุยกันล่ะ ผมหมายถึงทุกโครงการใหญ่ พูดถึงโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบฯ พูดถึงนิคมอุตสาหกรรมที่ท่าศาลาด้วย พูดถึงท่าเรือที่ปากบาราด้วย ฟังเหตุฟังผลกันเยอะๆ ย้ายหน่อยได้ไหม แค่อาจเสียต้นทุนเพิ่มอีกหน่อย แต่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีใครมาขึ้นป้ายด่าคุณ
การคุยกัน ฟังกัน มันคือกรอบของธรรมาภิบาล เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศเจริญแล้วถึงไม่กลัวที่จะมีเวทีพูดคุย แต่ประเทศที่ไม่มีการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ ก็อ้างว่าลองโหวตสิ ใครเอาหรือไม่เอา
Q : ถ้ามีคนบอกว่า เรามีเวลาว่างกันขนาดนั้นเลยหรือ นั่งจิบกาแฟ คุยกัน คุณจะว่าอย่างไร
ถ้ามันไม่มีผลกระทบกับใคร อยากสร้างคุณก็สร้างไปสิ แต่นี่มันเรื่องใหญ่นะ คุณเอาป่า 11,000 ไร่ ที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายของเสือโคร่งมาทำเขื่อน เสื่อโคร่งทั้งโลกมี 3,500 ตัว ในไทยมี 300 ตัว ป่าตะวันตกมีอยู่ครึ่งหนึ่ง
โครงการเล็กๆ ไม่มีเวลาก็อยู่แบบไม่มีเวลาก็ได้ นี่มันใช่เรื่องของไฟไหม้ เรื่องของแผ่นดินไหว มันคือเรื่องของการทำนาที่พวกชาวบ้านอยู่กันมา 30 ปีแล้ว ส่วนเรื่องน้ำท่วม ถ้าเขื่อนแม่วงก์มันตอบโจทย์ว่า มีเขื่อนเเล้วน้ำมันจะหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ท่วมกรุงเทพฯ อันนั้นถึงจะเข้าเค้าว่าเรามีเวลาหรือไม่ นี่มันคนละเรื่องเลย แก้ปัญหาน้ำท่วมได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์
โอเค ถ้ามันช่วยน้ำท่วมได้ แต่กว่าจะเสร็จ แก้ได้อีกใน 8 ปี เป็นผม เอางบไปแก้ให้คนลาดยาวปีหน้าเลย ใช้ได้เลย เขื่อนก็เอานะ ถ้ามันแก้น้ำท่วมได้จริง ต้องอย่างนี้สิ ถึงจะเรียกว่าไม่มีเวลา
Q : ในเฟซบุ๊คของคุณ มีความเห็นประเภทเขื่อนคือสัญลักษณ์ของโครงการพระราชดำริ ตรงนี้คุณกังวลไหม
ทั้งหมดมันคือเรื่องของความจริงมากกว่า โครงการพระราชดำริก็อาจมีผลกระทบได้หรืออาจจะไม่มี ตรงนี้เราต้องยอมรับ ในหลวงเองก็ทรงบอก ว่าที่ท่านพูด ท้วงได้ ค้านได้ เกือบทุกโครงการท่านก็ดูในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่โครงการพระราชดำริที่ไม่ค่อยมีความขัดแย้งเนื่องจากอะไร เพราะพระองค์ทรงพระราชทานแนวทางการจัดการปัญหามาด้วย
อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จริงๆ มีปัญหาเยอะนะ แต่ก็มีแนวทางที่เป็นแพ็คเกจร่วมมากับโครงการ ว่า เราจะผ่านปัญหานั้นไปได้อย่างไร อีกอย่างเวลาเรามองโครงการพระราชดำริ มันมีหลายระดับ มีโครงการพระราชดำริ โครงการตามพระราชดำริ มีดำริให้สร้างตรงนี้ ดำริว่าตรงนี้ควรสร้างสิ่งนี้เพื่อแก้ปัญหาน้ำ ก็เฮกันล่ะ อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำรินี่ยิ่งไกลใหญ่เลย ไม่แน่ใจว่ามีระดับไหนบ้าง
พูดถึงที่สุด คนที่เอาความคิดแบบนี้มาโจมตีฝ่านค้านเขื่อน ผมว่ามันคนละเรื่อง เราต้องดูเป็นที่ที่ไป ผมคิดว่ามันไปโยงเรื่องการเมืองมากกว่า เรากำลังมีประเด็นเรื่องสถาบัน อะไรที่ดึงเข้ามาเกี่ยวได้ ก็พยายามดึงเข้ามา ผมมองแค่ว่าไม่ชอบเขื่อนที่อยู่ในป่าสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะให้ข้อมูลอีกด้านสู่สาธรณะ ว่าคุณจะเสียอะไรบ้าง คุณจะได้ฟรีๆ โดยไม่เสียอะไรได้อย่างไร
ผมเคยอยู่ในคณะกรรมการผู้ชำนาญการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีเรื่องแม่วงก์เข้ามาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ตัวรายงานยังไม่ได้เข้านะ แต่มีการคุยกันตลอดว่ากรมชลประทานยังไม่เลิกความคิดนี้ ครั้งหนึ่งตัวประธานคณะกรรมการเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วคิดกันเลยว่า ความเป็นธรรมของสังคมนี้อยู่ตรงไหน คนได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชลประทานไม่ต้องเสียอะไรเลย แต่ได้น้ำ ขณะที่คนไทยทั้งประเทศเสียป่า
มันมีพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า คือถัดออกไปหน่อย เรียกว่าเขาชนกัน ได้น้ำมากกว่า ซึ่งมันมีคนเข้าไปอยู่เยอะมาก อยู่หลังจากการสัมปทานไม้ และอาจผิดกฎหมายด้วยซ้ำ จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ยังเป็นที่ดินของนักการเมืองที่มีอิทธิพลในพื้นที่อยู่ด้วย จึงมีความพยายามให้กรมชลประทานไปตรวจสอบว่าใครครอบครองที่ดินตรงนี้ จนสามารถดันเขื่อนให้ไปสร้างในป่าแทน ถึงขนาดว่าพอสร้างเสร็จ จะมีชลประทานระบบท่อไปยังพื้นที่ตรงนี้ด้วย
โมเดลที่ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย เคยคิด คือคนที่อยากได้น้ำ ทำไมไม่เสียอะไรตอบแทนบ้าง ทำไมคุณไม่ยอมแบ่งที่ดินให้คนที่ไม่มีน้ำใช้ ไปอยู่ด้วยได้ไหม ไปอยู่ในที่ชลปประทานเหล่านั้น มันไม่ใช่เรื่องของนาย ก แบ่งให้นาย ข นะ แต่หมายถึงมีองค์กรขึ้นมาจัดการอย่างเป็นระบบ อพยพคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ด้วยกัน พอสร้างเขื่อนไป วิน-วินทั้งหมด แต่คุณต้องย้ายบ้านนะ คุณคุ้ม เพราะทำเกษตรได้อย่างดี แถมยังเป็นการรักษาป่าไว้
เหมือนฝันไปนะ ถ้าเราไปบอกประชาชนว่าทำเขื่อนในป่าไม่มีใครเสียอะไร มีแต่ได้กับได้ อ้าว…นั่นก็เท่ากับว่าเราส่งเสริมประชาชนเราว่า เอาเลย เฮ ได้อย่างเดียว อย่างนี้ความเป็นธรรมก็พูดยาก คงต้องให้ข้อมูลตรงนี้ไปอีกสักพัก
Q : ที่ออกมาดิสเครดิตฝ่ายค้านเขื่อนคือกล่าวหาว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล คือพูดง่ายๆ ว่าอยู่สีเหลือง คุณเห็นอย่างไร
ไม่ทราบสิครับ มูลนิธิสืบฯ ก็ค้านมาตั้งแต่ยังไม่มีสีเหลืองสีแดงแล้ว ตอนค้านเยอะๆ คือช่วงปีซึ่งคุณธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลรัฐประหารของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ คิดจะย้อนกลับมาทำอีกรอบ คนที่ไม่ชอบคุณทักษิณก็ยังรู้สึกดีกับรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ ผมก็ค้าน
ตอนนี้ คนที่เป็นศิษย์เก่า เคยทำงานกับคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ผมรู้จัก ชอบสีแดงเยอะด้วย ก็ยังมาค้าน คือมันอาจมีคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคุณปู (ยิ่งลักษณ์) แล้วเอาโครงการนี้ขึ้นมาดิสเครดิตด้วยหรือเปล่า มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ส่วนของเรา นโยบายของมูลนิธิสืบฯ คือถ่วงดุลโครงการที่มีผลกระทบกับผืนป่า ไม่ว่าเป็นรัฐบาลไหน
Q : พอมีเรื่องสีเข้ามา พลังมันดูน้อยลงไปไหม
ทำไมเราไม่คิดว่างานนี้ไม่มีสี หรือทุกสีค้านหมด เป็นเรื่องของคนที่ฟังเหตุฟังผล ผมคิดว่าเราฟังกันนะ เวลาเจอกัน คนที่เอียงเหลืองเอียงแดง ลงชื่อร่วมกันค้านเขื่อนตั้งหลายคน ผมคิดว่าการเกิดกรณีนี้ดีด้วยซ้ำ เพราะเรามีโอกาสหยิบโครงการ 3 แสน 5 หมื่นล้านของรัฐบาลมาตรวจสอบ เป็นจุดเล็กๆ ที่เห็นชัดว่า เราคิดกระบวนการกันแบบไหน รอบคอบไหม คุณวีรพงษ์ต้องการพัฒนาประเทศแบบไหนก็เห็นกันอยู่ ไปในทิศทางทุนนิยมเต็มรูปแบบ เป็นนักการเงิน นักธุรกิจ ซึ่งอีกฝ่ายก็รู้ว่าทุนนิยมมันไปไม่ได้ กำลังกลืนกืนตัวเอง น้ำมันไม่พอใช้ คุณผลิตเกษตรกรรรมแบบนี้ โลกมันไม่ไหวหรอก แทนที่จะคิดเรื่องการสร้างสมดุลและยั่งยืน เราเองมีสิทธิ์คิดอีกแบบหนึ่ง คนที่บอกว่าค้านเขื่อน ค้านแนวคิดในหลวง ผมว่าเราเป็นแนวร่วมกับเศรษฐกิจพอเพียงด้วยซ้ำ โลกมันก็ต้องมี 2 ด้าน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะแพ้ด้วยซ้ำ
ไม่ท้อนะ แต่เราต้องตระหนักว่า เราพัฒนาด้วยการทำลายมาเยอะแล้ว ผมก็แค่หน่วงๆ ไว้ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง คนที่ขวางท่าเรือปากบารา คุณกำลังขวางเส้นทางการค้าระหว่างแอฟริกากับออสเตรเลียเหรอ หรือกับจีนที่จะผ่านคาบสมุทรนี้ ชุมชนเล็กนิดเดียว คุณคิดว่ามันสู้กันได้เหรอ มันก็แค่ชะลอ ไม่รู้สิ แล้วที่พัฒนาจนพังไปหมดล่ะ
Q : โกรธไหมเวลาได้ยินคนค่อนขอดว่า ศศิน เฉลิมลาภ โรแมนติกเหลือเกิน รักป่า ไม่เอาการพัฒนา
ผมมีความรู้ ว่ากันด้วยข้อมูล คุณมาหลอกผมไม่ได้หรอก ผมไม่ได้โง่นะโว้ย ผมยอมตั้งหลายเรื่องแล้ว ผมไม่ยอมเรื่องป่า ไม่ได้หลับหู หลับตาค้าน ผมค้านอยู่บนพื้นฐานของคนทำงานอนุรักษ์ คนทำงานอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ทำงานมาตั้งแต่ยังไม่จบมัธยม 6 ด้วยซ้ำ เป็นสต๊าฟค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นคณะกรรมการต่างๆ มา ค้านอยู่บนเรื่องที่รู้ มีประสบการณ์มา 20-30 ปี คนที่บอกว่าโรแมนติกก็ต้องคิดให้ดีว่า สิ่งที่ผมค้าน มันน่าจะดีกับคนส่วนใหญ่มากกว่า
*******************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร way คอลัมน์ Interview : มิุถุนายน 2556)