กระแสตีแผ่ความจริงในนักเก็ตไก่ยังแรงไม่เลิก ล่าสุดข้อมูลจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีระบุ นักเก็ตไก่ เมนูยอดนิยมของคุณหนูจากเชนฟาสต์ฟู้ดดัง 2 ราย มีปริมาณเนื้ออกไก่เป็นส่วนประกอบน้อยกว่าร้อยละ 50 โดยผลตรวจสอบนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร American Journal of Medicine กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ความจริงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่มาของส่วนผสมก่อนจะมาเป็นนักเก็ตและเนื้อบด เคยออกฉาย (และยังมีให้รับชมทางเว็บไซต์ยูทูบ) ในรายการของเชฟเซเล็บชื่อดังชาวอังกฤษ เจมี โอลิเวอร์ ที่ออกมาให้ข้อมูลชวนผวาแก่ผู้บริโภคที่นิยมอาหารเหล่านี้ตั้งแต่กลางปี 2011
ข้อมูลจากรายการชี้ให้เห็นว่า ชิ้นส่วนไก่ที่ได้รับเลือกให้มาผสมเป็นนักเก็ต ส่วนใหญ่คือส่วนที่ ‘เหลือ’ จากการชำแหละแยกชิ้นส่วน อก น่อง ปีก ขา และสารพัดอวัยวะไก่ไปแล้วนั่นเอง
นอกจากกรณีความน่าเคลือบแคลงในนักเก็ตไก่แล้ว วัตถุดิบที่ไม่สามารถรอดพ้นจากการตีแผ่ในรายการของเชฟเจมี รวมทั้งรายงานพิเศษรางวัลพูลิตเซอร์ของ ไมเคิล มอสส์ ใน New York Times เมื่อปลายปี 2009 ไปได้ก็คือ เนื้อบดละเอียดแบบ Pink Slime ในที่นี้คือเนื้อบดที่มีการเติมส่วนผสมอย่างอื่นนอกจากเนื้อล้วนๆ เข้าไปจนถือเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการ (Processed Food) นิยมใช้เป็นวัตถุดิบในแฮมเบอร์เกอร์
โดยพบว่าเนื้อบดจะมีการผสมส่วนที่เป็น Pink Slime เข้าไปร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นเนื้อส่วนที่เหลือจากการชำแหละขาย ซึ่งปกติจะถูกส่งไปผลิตอาหารสัตว์ อาทิ เนื้อบริเวณท้องที่มีสัดส่วนเนื้อค่อนข้างน้อยและไขมันสูงเกินไปสำหรับการบริโภคในคน
ที่สำคัญคือ พบว่ามีการเติมสารแอมโมเนียลงในเนื้อบดเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของอาหารเป็นพิษอย่าง อี. โคไล และซัลโมเนลลา แต่ก็ยังมีรายงานจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ (United States Department of Agriculture: USDA) พบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ในเนื้อบดอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2005-2009 พบเนื้อบดปนเปื้อนเชื้อ อี.โคไล 3 รายการ และพบเนื้อบดปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา 48 รายการ
ปี 2012 โรงเรียนในสหรัฐต่างออกมาประกาศเลิกใช้เนื้อบดในเมนูอาหารของโรงเรียน แต่ข่าวร้ายสำหรับนักเรียนที่จะเปิดเทอมใหม่ในปีการศึกษา 2013-2014 ก็คือ โรงเรียนมัธยมใน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐอิลลินอยส์ เพนน์ซิลเวเนีย เวอร์จิเนีย และเท็กซัส มีนโยบายรัดเข็มขัด ด้วยการปรับลดงบประมาณด้านอาหารกลางวันลงและหันกลับมาใช้เนื้อบดแบบ Pink Slime เนื่องจากต้นทุนที่ย่อมเยากว่าเนื้อบดทั่วไปราวร้อยละ 3
เรียบเรียงจาก: politico.com
nytimes.com
ibtimes.com