เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
เย็นดีนอนหลับในบ่ายวันอาทิตย์ ฝันถึงความฝันของบุคคลต่างๆ เป็นความฝันยาวนานราวไม่จบสิ้น จนนู่นแหละ…เมื่ออรุโณทัยเยี่ยมหน้าเข้ามาผ่านบานหน้าต่าง
ความฝันของเลอ คอร์บูซิเออร์
ในนิยายเรื่อง ‘โลกของจอม’ จอมเป็นวัยรุ่นร่างผอมผิวขาวซีด อาศัยอยู่บนคอนโดมิเนียมชั้น 58 เขาเหงาและโดดเดี่ยว เย็นดีวิเคราะห์สาเหตุที่จอมผอมและขาวซีดว่าคงเป็นเพราะในห้องพักบนชั้น 58 ไม่น่าจะสะดวกนักหากคิดลงมือผัดพริกแกงหมูสามชั้น และผิวขาวซีดก็คงไม่เกี่ยวกับไวเทนนิ่ง แต่คงเพราะแสงแดดส่องถึงเฉพาะระเบียง
เย็นดีคิด (ในความฝัน) ว่า จอมน่าจะเป็นผลผลิตจากความฝันที่เป็นจริงของสถาปนิกที่ชื่อเลอ คอร์บูซิเออร์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เลอ คอร์บูซิเออร์ แห่งสถาบันเบาเฮาส์ ประเทศเยอรมนี เสนอความคิดใหม่ในการจัดผังเมือง เขาเป็นคุรุที่เชิดชูลัทธิทันสมัยนิยม ผลักดันการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และมีรูปทรงเรขาคณิตเป็นเหลี่ยมมุม เขาเสนอให้สร้างที่อยู่อาศัยที่คนจำนวนหลายร้อยหลายพันคนสามารถอยู่อาศัยภายใต้หลังคาเดียวกันได้ หรือจะพูดให้ถูกคือชาวโลกจะย้ายเข้ามาอยู่ในกล่องเหลี่ยมตามตำราการออกแบบของเขา
ความฝันของอีเบนเนเซอร์ โฮวาร์ด
ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นเมืองแห่งโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งแออัดและมีมลพิษ
อีเบนเนเซอร์ โฮวาร์ด จึงฝันถึง ‘เมืองแห่งสวน’ เมืองที่ประชาชนจะออกมาจากกระป๋องสู่เมืองในความฝันที่จะสร้างขึ้น
เมืองแห่งสวนของโฮวาร์ดจะมีขนาดปานกลาง สมาชิกในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ล้อมรอบด้วยเขตเกษตรกรรม เขายังฝันถึงการมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน ฝันให้มีการซื้อขายที่ดินในราคาต่ำ ประเมินราคาตามคุณค่าทางเกษตรกรรม
การเพิ่มมูลค่าในที่ดินผืนใดก็ตามจะหมุนเวียนเฉพาะในชุมชน เงินส่วนเกินจากค่าเช่าจะถูกใช้ไปเพื่อตั้งกองทุนบำนาญและกองทุนเพื่อบริการชุมชน เมืองแห่งสวนจะมีความยั่งยืนทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
เมืองแห่งสวนของโฮวาร์ดถูกสร้างขึ้นจริง 2 แห่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งผลสุดท้ายเป็นเมืองแห่งสวนแต่ภายนอก ความฝันของโฮวาร์ดถูกปลุกด้วยข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมืองแห่งสวนของเขาจึงมีหน้าตาไม่ต่างจากหมู่บ้านจัดสรรย่านชานเมือง
ความฝันของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์
วิกฤติการเงินปี 1930 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเหนื่อยหน่ายใจต่อความไม่แน่นอนของการพึ่งพิงการจ้างงานจากอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ได้ฝันถึงการวางผังเมือง ‘เมืองอันไพศาล’ (Broadacre City) ขึ้น
ศูนย์กลางของเมืองจะเป็นบ้านสำหรับพักอาศัยของแต่ละครอบครัว การสร้างโครงข่ายถนนอย่างหนาแน่นเพื่อรถวิ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากกว่ารถไฟ
แต่ไรท์ก็มีความฝันที่เป็นส่วนผสมระหว่างอุตสาหกรรมสีน้ำตาลกับสิ่งแวดล้อมสีเขียว เขาเสนอว่าบ้านแต่ละหลังควรตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 เอเคอร์ เพื่อปลูกผักไว้บริโภคเองได้ เขาเชื่อว่าคนเราควรมีโอกาสเลือกที่จะเป็นชาวนา ศิลปิน นักธุรกิจ หรือคนงานได้บ้างในบางโอกาส แต่เขาเห็นว่าควรขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวเมืองแต่ละคนมากกว่าจะผลักดันในรูปสหกรณ์อย่างเมืองแห่งสวนของโฮวาร์ด ความฝันของไรท์เห็นชัดเป็นรูปธรรมเฉพาะโครงข่ายถนน ถนนผุดขึ้นทั่วไปในอเมริกา ยุโรป รวมถึงบริเวณห้าแยกลาดพร้าว
ความฝันของอังเดรส์ ดัวนี
ภาวะโลกร้อนส่งผลสะเทือนจิตใจผู้คน เป็นฝันร้ายที่บอกว่าความไม่แน่นอนของทุกชีวิตบนโลกอาจเป็นจริง
อังเดรส์ ดัวนี สถาปนิกลัทธิชุมชนเมืองยุคใหม่ (New Urbanism) ได้ประกาศความฝันของเขากลางที่ประชุม The Congress for the New Urbanism ครั้งที่ 18 เกี่ยวกับเมืองยุคใหม่ ที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการเพาะปลูกอาหาร เขาเรียกมันว่าลัทธิเมืองเกษตร (Agrarian Urbanism)
หลังจากที่ดัวนีร่วมก่อตั้ง The Congress of the New Urbanism เมื่อปี 1993 ด้วยการสร้างหลักการออกแบบและวางผังเมืองรวมถึงพยายามผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะให้เมืองหรือชุมชนมีความยั่งยืน
โปรเจ็คท์ต่างๆ จากสถาปนิกในกลุ่มเมืองยุคใหม่ต่างเป็นที่ยอมรับ ชาวอเมริกาเริ่มเข้าใจและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนซึ่งให้ความสำคัญต่อการเดินเท้าและระบบขนส่งสาธารณะ การใช้ที่ดินอย่างรัดกุม การเลือกที่พักอาศัยได้หลายๆ รูปแบบ การจัดสร้างอาคารให้เกาะกลุ่มกันและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างผสมผสาน การสงวนพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไว้เพื่อการเกษตรและรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ยาวนาน ฯลฯ
ความฝันเกี่ยวกับเมืองเกษตรของเขาเขยิบจากแนวทางของเมืองยุคใหม่ไปอีกขั้น ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งในเมืองยุคใหม่โดยมากมักจะเป็นการทำเกษตรโดยแรงงานเกษตร ผลผลิตอย่างผักไร้สารพิษเหล่านั้นจะถูกป้อนไปยังผู้มีอันจะกินในชุมชนรับประทาน
มีคนมองว่าความฝันของดัวนียากเป็นจริง เพราะเมืองยุคใหม่ที่ผุดขึ้นต่างจ้างแรงงานในการทำเกษตรเป็นหลัก ซึ่งดัวนีแจงว่าแรงงานเกษตรเหล่านั้นมีความสำคัญในการสร้างยูโทเปียที่ฝันไว้
และแอบเหน็บให้อีกว่า งบประมาณในการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญสำคัญในการสร้างเมืองเกษตร เขาบอก “เอาเงินจากสนามกอล์ฟไปสร้างฟาร์มเถอะ”
โครงการ Serenbe เป็นการสาธิตความจริงที่เกิดจากความฝันตามหลักการของเมืองยุคใหม่ แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นจริงนักหากยึดเอาความฝันสูงสุดของดัวนีเป็นที่ตั้ง
Serenbe เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กบริเวณ Chattahoochee Hills อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติแห่งเมืองแอตแลนตา 30 นาที เป็นหมู่บ้านที่ถูกออกแบบตามหลักของเมืองยุคใหม่ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, อาคารสีเขียว, ชุมชนที่ถูกออกแบบให้สามารถเดินเท้าได้ รวมถึงไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง ภายในชุมชนมีฟาร์มที่ทำเกษตรอินทรีย์
Serenbe farm เปิดโอกาสสำหรับผู้ต้องการเรียนรู้การปลูกผัก สามารถสมัครเป็นเด็กใหม่ฝึกงานได้ โดยแต่ละฤดูกาลจะเปิดรับ 2 รุ่น ซึ่งจะต้องเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวเกษตรประมาณ 8 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤศจิกายน แถมยังได้เบี้ยเลี้ยง 800 ดอลลาร์ต่อเดือน ทั้งยังมีสวัสดิการต่างๆ เพิ่มให้อีก
หากต้องการเลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพใน Serenbe สนนราคาบ้านอยู่ระหว่าง 260,000 – 455,000 ดอลลาร์…
ความฝันของเย็นดี
ตอนที่ความฝันดำเนินไปถึง ‘สนนราคาบ้านใน Serenbe 260,000 – 455,000 ดอลลาร์…’ เย็นดีก็สะดุ้งตื่น แต่ด้วยอากาศร้อนยามบ่าย ร่างกายก็อ่อนเพลีย ทำให้เธอม่อยหลับอีกรอบ และเริ่มต้นฝันวนกลับไปถึงจอมบนชั้น 58 ฝันต่อไปยังความฝันของสถาปนิกคนอื่นๆ แล้วสะดุ้งตื่นตอนที่ในฝันบอกราคาบ้านใน Serenbe แล้วก็ฝันว่าอากาศยามบ่ายร้อนและร่างกายก็อ่อนเพลียจึงม่อยหลับไปอีก และเริ่มต้นฝันอีก…
อรุโณทัยแย้ม เย็นดีตื่นจากความฝันจริงๆ เสียที แต่รู้สึกง่วงเหมือนหลับๆ ตื่นๆ มาทั้งคืน
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์โลกร้อนเย็นดี กุมภาพันธ์ 2554)