นอกจากปริมาณน้ำที่ใช้ตลอดสายพานการผลิตเนื้อสัตว์ที่มากกว่าพืชผักต่างๆ จะเป็นประเด็นทำให้คนรักษ์โลกหันมาเลิกรับประทานเนื้อสัตว์กันแล้ว ความจริงที่เกิดขึ้นในโรงฆ่าสัตว์ก็อาจช่วยให้คนรักสัตว์อีกไม่น้อยเปลี่ยนใจหันมากินผักแทน
14 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักผู้ตรวจการ (Office of the Inspector General: OIG) กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) เผยแพร่รายงาน ‘Inspection and Enforcement Activities at Swine Slaughter Plants’ ถึงกรณีความไม่ถูกสุขลักษณะและการทารุณสัตว์ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 30 แห่ง จาก 600 กว่าโรงทั่วประเทศ โดยพุ่งเป้าไปที่ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูชำแหละเป็นหลัก
รายงานจากหน่วยอาหารปลอดภัย (Food Safety and Inspection Service: FSIS) ของ USDA ระหว่างปี 2008-2011 ก็เคยเสนอข้อมูลลักษณะนี้มาแล้วว่า มีโรงฆ่าสัตว์ถูกระงับใบอนุญาตชั่วคราวและถูกสั่งปิด 28 แห่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบแมลงวันบินวนเวียนรอบบริเวณที่เก็บเลือดหมูสำหรับบริโภค ขณะที่โรงฆ่าสัตว์ 22 ใน 28 แห่ง ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อได้หลังถูกสั่งปิดเพียงวันเดียว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทรวงเกษตรสหรัฐออกมาเตือนในประเด็นความปลอดภัยของผู้บริโภค รายงานปี 2010 OIG เคยเปิดเผยเรื่องที่เกษตรกรพยายามป้อนนมผสมยาอันตรายที่ถูกแบนในคนให้กับลูกโค แม้โคจะถูกเชือดไปแล้ว แต่ยังพบสารตกค้างอยู่ในเนื้อ ซึ่งจะถูกส่งไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคทันที
เชื้อโรค
จากสถิติโรงฆ่าสัตว์แต่ละโรงต้องเชือดหมูเฉลี่ยวันละ 19,000 ตัว การตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จึงต้องอาศัยการสุ่มตรวจ โดยหมูที่เข้าข่ายต้องสงสัยจะถูกตรวจทุกชิ้นส่วน ตั้งแต่หัว หาง ลิ้น ต่อมไธมัส และเครื่องในทั้งหมด ก่อนจะเจาะลึกไปที่ต่อมน้ำเหลืองและไตเพื่อหาปรสิตหรือรอยโรคที่อาจบ่งว่าหมูตัวนั้นติดเชื้อ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวก็อาจพบความผิดพลาดโดยมนุษย์ เพราะ OIG ระบุในรายงานว่า เจ้าหน้าที่หลายรายมักจะหลบเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
การมีเชื้อวัณโรคในต่อมน้ำเหลือง พยาธิลำไส้ รวมถึงการติดเชื้อในอวัยวะภายใน จะทำให้เนื้อหมูที่ได้มีลักษณะเหนียวกว่าปกติ
ความสะอาด
เรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในโรงฆ่าสัตว์ยังมีปัญหา เพราะพบการปนเปื้อนของอุจจาระในเนื้อหมูหลังชำแหละ นอกจากนี้ ยังพบของเหลวหนืดสีดำคล้ายจารบีในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป รวมถึงปัญหาการควบคุมและกำจัดแมลงรบกวนต่างๆ ที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพ
แม้ทุกการเยี่ยมเยือนของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้จัดการก่อนทุกครั้ง แต่ยังมีรายงานการพบแมลงสาบบนพื้นโรงฆ่าสัตว์
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นิตยสาร Rolling Stone ปี 2006 ลงภาพภูเขาซากหมูสีชมพูของ Smithfield Foods บริษัทผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ ขณะที่น้ำในหนองน้ำบริเวณโรงฆ่าสัตว์กลายเป็นสีชมพู
เจฟฟ์ เทียตซ์ เจ้าของบทความอธิบายที่มาของน้ำสีชมพูว่าเกิดจากการประกอบกันระหว่างแบคทีเรีย เลือด สิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมถึงสารเคมีและยาที่ตกค้างอยู่ในตัว เมื่อ Smithfield Foods มีสถิติฆ่าหมูเฉลี่ยเกือบ 30 ล้านตัวต่อปี เป็นไปไม่ได้เลยว่าของเหลวสีชมพูเหล่านี้จะไม่แพร่กระจายออกไปปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติ และตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม
สารตกค้าง
ยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิ วัคซีน การให้อาหารเสริมเร่งสี หรือฮอร์โมนเร่งเนื้อเร่งโต ไม่เคยปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สำเร็จรูป
สารบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แร็คโตปามีน (Ractopamine) เป็นสารเร่งเนื้อแดงที่สหรัฐยังอนุญาตให้ใช้ได้ ขณะที่สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทยได้ประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาดไปแล้วตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2542 แม้จะเป็นช่องทางทำให้มีสัดส่วนของเนื้อแดงเพิ่มขึ้น ไขมันน้อยลง แต่ทำให้สัตว์เกิดภาวะเครียด เนื่องจากสารนี้จะไปกระตุ้นอัตราการเต้นหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
ปกติสัตวแพทย์สหรัฐจะแนะนำให้งดยาช่วงก่อนวันเชือด แต่เอาเข้าจริงยาตัวนี้ยังคงถูกให้จนถึงวันก่อนฆ่า Elanco บริษัทลูกของ Eli Lilly บรรษัทยายักษ์ใหญ่ที่ดูแลทางด้านยาสัตว์ ยังคงให้ข้อมูลรับรองความปลอดภัยจากการใช้ยานี้แก่เกษตรกร แม้จะได้รับจดหมายเตือนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่ Elanco ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่ามีเกษตรกรโทรศัพท์มาร้องเรียนที่บริษัทกรณีหมูตาย บางตัวไม่ถึงตายก็สั่นและล้ม หลายตัวพบอาการไฮเปอร์แอคทีฟ และอาเจียนหลังได้รับยา
ปี 2009 องค์การอาหารปลอดภัยสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ให้ข้อมูลว่า ractopamine ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์อยู่ในสภาวะเครียดและเสี่ยงต่อสุขภาพสัตว์
การทารุณสัตว์
กฎหมายควบคุมโรงฆ่าสัตว์ในปี 1958 มีผลบังคับใช้เพื่อป้องกันการทารุณสัตว์หรือปล่อยให้มีขั้นตอนการฆ่าที่ยาวนานจนสัตว์ต้องทนทรมานขณะที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่
การฆ่าอย่างทารุณน้อยที่สุด คือการทำให้สัตว์อยู่ในอาการมึนงงหรือสลบไป โดยไม่มีเสียงร้องโหยหวน อาการต่อต้านดิ้นรน เตะถีบ หรือสะบัดหัวไปมา ซึ่งวิธีที่นิยมกันคือ การใช้ปืนยิงสลบ (captive bolt gun)
กรรมวิธีในการผลิตเลือดหมู มีความจำเป็นต้องนำเลือดออกจากตัวหมูขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ จึงต้องใช้ปืนชนิดนี้ แต่บ่อยครั้งเกิดการยิงพลาด กระสุนเจาะกะโหลกไปแล้วแต่มันยังได้สติอยู่ กว่าจะเปลี่ยนปืนได้ต้องใช้เวลาเป็นนาทีๆ
ผลกระทบข้ามทวีป
นี่เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคชาวไทยไม่อาจมองข้าม เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่เนื้อหมูสหรัฐอาจบินลัดฟ้ามาวางแผงอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน
หากรัฐบาลเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ เจ้าของตำแหน่งผู้ส่งออกเนื้อหมูอันดับหนึ่งของโลก นั่นก็แสดงว่า เรายอมให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ทั้งที่ประเทศไทยประกาศห้ามใช้สารดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542
โคเด็กซ์ (Codex) องค์กรสากลผู้กำหนดมาตรฐานอาหาร มีมติกำหนดปริมาณแร็คโตปามีนที่ยอมรับได้ในการประชุมที่กรุงโรม อิตาลี ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 แม้จะมีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ก็สามารถสร้างความชอบธรรมในการใช้สารเร่งเนื้อแดงให้กับสหรัฐได้
ชิ้นส่วนของหมูที่ผู้บริโภคสหรัฐไม่นิยม คือ หัว ขา และเครื่องใน การเปิดให้ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นกำลังการผลิต ขณะเดียวกันก็เป็นการกีดกันผลิตภัณฑ์เนื้อและชิ้นส่วนหมูในประเทศอีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น ด้วยราคาอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ต่ำกว่าประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอเมริกันแบกรับต้นทุนค่อนข้างต่ำ ทั้งยังได้รับงบอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์เนื้อหมูส่งออกจากสหรัฐสามารถแข่งกับเนื้อหมูในประเทศกำลังพัฒนาได้
ที่มา: alternet.org