สารคดีนิพนธ์

 


IMG_7072-re

ภาพถ่าย: อนุช ยนตมุติ

 

ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง อภิชน รัตนาภายน เดินทางออกมาสำรวจยามย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 บนถนนหนทางของกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ระบุตำแหน่งให้ชัด บนผิวถนนที่มีหมุดเหล็กของคณะราษฎรปักอยู่ เขาเข้าไปปะปนกับคนกลุ่มเล็กๆ บางคนนำดอกไม้ไปวางประทับ กระทั่งพนักงานกวาดถนนนำไปทิ้ง “ตำรวจเขาบอกให้ทำ…มันปลิว” หล่อนชี้แจง ก็ตอนที่ กฤช เหลือลมัย ยืนอ่านบทกวีชื่อ บทสนทนาของผู้มาก่อนกาล แล้วนั่นแหละ…ฟ้าก็แจ้งแล้ว

คนกลุ่มนี้ออกมารวมตัวกันแสดงการรำลึกถึงคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2475 ในฐานะคนทำหนังสารคดี อภิชนต้องการสำรวจสิ่งที่เรียกว่า หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ประกาศภายหลังก่อการเปลี่ยนแปลงในเช้าวันนั้น

หลังจากนั้นเขาก็เข้าไปสำรวจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในห้วงนั้น เชื่อมร้อยมายังเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ทั้งหมดนี้ถูกเล่าผ่านไวยกรณ์ของหนังสารคดี นี่คือหนังสารคดีเรื่องแรกของเขา สัญญาของผู้มาก่อนกาล

 

87539628_640

 

 

hqdefault

ภาพจากสารคดี สัญญาของผู้มาก่อนกาล

 

“ความรู้มันเหมือนจิกซอว์ มันจะต่อของมันไปเรื่อยๆ ปัญหาทุกอย่างมันอธิบายได้นะ มันมีสาเหตุอยู่ เผลอๆ สาเหตุนั้นอาจจะมาจากจุดเดียวกันด้วยซ้ำ” อภิชนบอก

ต้นทุนเดิมของเขาคือนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ แต่สนใจถ่ายภาพ จึงนำบทหนังสารคดีเรื่องนี้เพื่อขอทุนจากโครงการ 110 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กระทั่งหนังสารคดีเรื่องแรกนำพาเขาไปสู่เรื่องที่ 10 ทุกวันนี้ อภิชนผลิตหนังสารคดีขนาดความยาวกว่า 30 นาทีป้อนรายการ ก(ล)างเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ความรู้เหมือนจิกซอว์ เรื่องเล่าเล็กๆ ก็สามารถปะติดปะต่อกันจนเห็นเป็นภาพสังคมขนาดใหญ่ เขาสนใจปัญหาชายขอบ คนไร้บ้าน คนที่ถูกประวัติศาสตร์ลืม ชีวิตคนธรรมดาที่อิหลักอิเหลื่อเพราะโครงสร้างระบบราชการ เหล่านี้คือประเด็นที่อภิชนสนใจ เพราะ “ผมมองว่ามันสามารถใช้สะท้อนปัญหาใหญ่ของประเทศได้”

ปลายทางของหนังสารคดีไม่ใช่การผลิตคำตอบสำเร็จรูปขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อที่มันจะได้ชื่อว่าควรเชื่อถือ นี่คือรสนิยมการทำหนังของเขา หนังสารคดีมันควรเป็นคำถามที่รอให้คนตั้งคำถามซ้ำกับมัน สกัดเอาปรัมปราทางความคิดออกไป

บ้านไม่มีเลขที่ เป็นชื่อหนังสารคดีเรื่องหนึ่งของอภิชน เขาเข้าไปสำรวจการอยู่กินของคนไร้บ้านใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ด้วยข้อสงสัยเล็กๆ ที่ว่า คนเหล่านั้นอยู่ได้อย่างไร

“ในฐานะที่อยู่บ้านมาตลอด เรานึกไม่ออกว่าคนเราสามารถอยู่แบบนั้นได้ด้วยหรือ มันขาดแคลนปัจจัย 4 อย่างร้ายแรงเลยนะ แต่พอลงไปทำก็ได้เปิดหูเปิดตาว่าคนมันก็มีความจำเป็นต่างกันไป มันกลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้นว่าปัญหาแบบนี้มันเกิดจากอะไร เศรษฐกิจ? การเมือง? หรือความไม่มั่นคงแบบไหน ถ้ามองย้อนไปเรื่อยๆ มันไปได้ไกลเรื่อยๆ มันพาความสนใจไปไกลเรื่อยๆ” อภิชนว่า

หนังสารคดีเรื่องล่าสุดของอภิชนชื่อ มหันตภัยแร่ใยหิน ซึ่งแต่เดิมมันเคยชื่อ ฝากไว้ในปอดเธอ แน่นอน คนมีอารมณ์ขันย่อมแลเห็นความน่ารักในชื่อหลัง มองรวมๆ หนังเรื่องนี้ให้ความรู้ทางการแพทย์ในเรื่องแร่ใยหิน ซึ่งแทรกซึมอยู่ในวัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือน แต่สิ่งที่ก่อคำถามแก่คนทำหนังสารคดีเรื่องนี้ก็คือโครงสร้างทางการเมืองของสังคมไทย

“เรามีมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อปี 2554 แต่แล้วยังไง ทำไมเราต้องมาเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินอีก มติคณะรัฐมนตรีไม่มีผล ไม่มีการปฏิบัติจริง ไม่มีกฎหมายออกมา กระทรวงไม่รับลูก ข้าราชการประจำก็ไม่สนใจ ยืดระยะเวลาต่อไป คนที่มีอำนาจตัดสินใจ มีอำนาจลงมือทำเขาทำอะไรอยู่ มันมีช่องว่างทางอำนาจอยู่ แล้วยิ่งตอนนี้ผู้นำประเทศไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ไม่ได้มีอะไรยึดโยงเลยว่าเขาจะต้องทำตามความต้องการของประชาชน”

“ภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ คนทำหนังพูดได้แค่ไหน?”

“เรียนตามตรง ไม่รู้เลย” เขาว่า

เช่นเดียวกับหนังสารคดี ประวัติศาสตร์คือกระบวนการเข้าถึงความรู้ และนี่คือท่าทีการประกอบสร้างข้อเท็จจริงในหนังสารคดีของเขา – ท่าทีแบบนักประวัติศาสตร์

“เราจะทำยังไงให้หนังมีความน่าเชื่อถือ เราจะรู้ว่าต้องทำถึงขั้นไหนจึงจะทำให้มันสมจริง แต่ว่าสารคดีมันก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดด้วยซ้ำ ตัวเราก็ต้องอยู่ในตำแหน่งหรือภาวะที่เป็นกลาง แต่ความเป็นกลางเอาเข้าจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอยู่จริงอีกนั่นแหละ แต่เราก็ใช้สามัญสำนึก สิ่งที่เป็นประโยชน์จากประวัติศาสตร์ก็คือการหาความรู้และการเชื่อมโยงความรู้มากกว่า”

เมื่อสารคดีไม่ใช่ความจริง ในตรรกะเดียวกัน ยังมีความจริงอยู่ในประวัติศาสตร์หรือ?

เหมือนวิทยาศาสตร์ – อภิชนว่า

“เหมือนวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันก็ไม่ได้มีความจริงแท้แน่นอนเสมอไป สิ่งที่เคยถูกในสมัยนิวตันกลายเป็นสิ่งผิดในสมัยไอน์สไตน์ ความรู้มันต้องถูกอัพเดตและสามารถวิพากษ์ถกเถียงเปลี่ยนแปลงได้ ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกัน สารคดีก็เหมือนกัน คนทำหนังสารคดีไม่ได้จะมาบอกคนดูว่า เฮ้ย…มึงเชื่อกูสิ จริงๆ แล้วหนังสารคดีคือการชวนคุยด้วยซ้ำ เป็นตัวเปิดประเด็น แล้วมาถกเถียงกันว่าเห็นด้วยไหม ทำไมมันเป็นแบบนี้ หนังมันทำให้เราได้คุยและทบทวนตัวเอง ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์กับคนดูในระยะยาว ไม่ใช่มาให้ข้อมูล 1…2…3 แล้วคนดูก็จำตามนั้น ไม่ใช่ค่านิยม 12 ประการที่ต้องจำแล้วเชื่อว่ามันดี และไม่มีข้อโต้แย้ง”

 

 

 

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า