ภาพต้นฉบับจากเฟซบุ๊คส่วนตัว ธีระพล อันมัย
เขาบอกว่านี่คือคำสารภาพบาป
นับปีตามปฏิทินสากล ค.ศ. 2005 หรือ พ.ศ. 2548 ขณะนั้นเขาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยไม่เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่หนึ่งปีหลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหาร มันเป็นการยึดอำนาจที่เขามีส่วนด้วยการแบกความฝันเล็กๆ ของตนเองที่แสนบริสุทธิ์เข้าร่วมชุมนุม ควักค่าใช้จ่ายด้วยสติปัญญาอันน้อยนิด แลกกับบทเรียนราคาแพง
“ทัศนคติทางการเมือง ตอนนั้นก็เหมือนกระแสหลักในหมู่นักพัฒนา หมู่ปัญญาชน คือรังเกียจทุนนิยม รังเกียจการเมือง โดยเฉพาะนักการเมือง (รังเกียจมันทุกพรรค ยิ่งพรรคที่ชอบตีฝีปาก เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นนี่ยิ่งเกลียดหนัก – ความคิดของเขาถูกใส่วงเล็บ) ขณะเดียวกัน ก็เกิดกระแสต้องการกำจัดคนโกงออกไปจากการเมืองแล้วเราก็หลงลม และต้องการให้การเมืองใสบริสุทธิ์ คือค่อนข้างไร้เดียงสาถึงขนาดสามารถมโนเอาเองได้ว่า การเมืองมันต้องบริสุทธิ์ ทั้งที่ทุกวงการแม้แต่วงการศาสนามันไม่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ตอนนั้นคิดแต่ ‘ทักษิณ ออกไป’ โดยไม่คิดต่อว่า ถ้าทักษิณออกไป ‘แล้วใครจะเข้ามา?’ คือไม่มีจินตนาการถึงอนาคตเลย
“ด้วยความไร้เดียงสา ด้วยใช้ปัญญาน้อยไป ก็ลงชื่อร่วมกับนักวิชาการทั่วประเทศให้ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นก็เริ่มรวมกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ ชนชั้นกลางในเมืองอุบลราชธานี เปิดเวทีประท้วงขับไล่ทักษิณที่อุบลฯ คู่ขนานกับเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่กรุงเทพฯ ก็ไปเพราะความไม่รู้สี่รู้แปดและความไร้เดียงสาอันน่าละอายนั่นล่ะ เลวร้ายถึงขนาดสามารถคิดว่า คนที่ไม่เข้าร่วมขับไล่ทักษิณเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม – ช่างน่าละอายเมื่อคิดทบทวนถึงห้วงเวลานั้น”
ในห้วงนั้นมีตัวละครหลายคนที่เกี่ยวดองหนองยุ่งในม่านหมอกการเมือง เราตั้งตุ๊กตาให้เขาตอบทีละคน ทีละเรื่อง ค่อยๆ สะสางความคิดแล้วคลี่มันออกมา
“ทักษิณ ชินวัตร – หลายอย่างต้องให้เครดิตเขา ทั้งเรื่องนโยบายที่ส่งผลดีกับประชาชนโดยตรง การปฏิรูประบบราชการ ที่ทำให้ข้าราชการได้สำเหนียกว่าเป็นผู้รับใช้ ไม่ใช่เจ้านายของประชาชน 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้คนบ้านผมสามารถเข้าถึงระบบการรักษาในโรงพยาบาลอย่างไม่ต้องกังวลว่าจะต้องขายนามาจ่ายหลังจากการรักษาอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ปัญหาการจัดการทรัพยากรอย่างเขื่อนปากมูล ก็รัฐบาลคุณทักษิณนี่ล่ะที่ให้วิจัยเพื่อเปิด-ปิดเขื่อน กรณีเขื่อนห้วยละห้า (หากคุณจำ ยายไฮ ขันจันทา ได้) ก็พบว่าคุณทักษิณไม่ดูดายกับปัญหาชาวบ้าน
“ผมไม่ค่อยติดใจเรื่องการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของคุณทักษิณ แต่ไม่ชอบการเหลิงอำนาจของเขาในห้วงเวลานั้น และกระแสตอนนั้นมันก็กระชากคนหลักลอยอย่างเราซึ่งลืมหลักการที่เคยยึดไว้เมื่อเมษายน – พฤษภาคม 2535 ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ตระหนักว่า คุณทักษิณ ชินวัตร นั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนนะ จะดีจะเลวอย่างไร ประชาชน พ่อแม่พี่น้องเขาก็เลือกมา
“คุณสนธิ ลิ้มทองกุล – ผมเคยทำงานให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการของเขามาก่อน ผมไม่ค่อยเชื่อแนวทางการต่อสู้ของเขา แต่ที่ไปประท้วงขับไล่คุณทักษิณ เพราะผมเชื่อมั่นแบบผิดๆ ว่า คุณทักษิณ (ที่กุมเสียงข้างมากในสภาได้ทำลายระบบการตรวจสอบของระบบรัฐสภา) จะลาออก แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากมีการเลือกตั้ง ผมในตอนนั้นก็จะยังยืนยันว่า ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยกาในช่อง ‘ไม่เลือกใคร’ อยู่นั่นแหละ แม้ว่าลีลาและข้อมูลของคุณสนธิจะน่าสนใจ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผมเชื่อแต่แรก เพราะผมรู้สึกว่า ทั้งคุณสนธิและคุณทักษิณเคยสนิทชิดเชื้อกัน แต่วันหนึ่งแตกหักกันและนำมาสู่การลุกขึ้นมาประท้วงของคุณสนธิ ผมรู้สึกว่ามันทะแม่งๆ คุณสนธิไม่ใช่ผู้นำความคิดของผมแน่นอน ไม่ว่าตอนไหนๆ
“พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย – ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง เพราะนับแต่วันแรกๆที่ร่วมเวทีที่อุบลราชธานีจนครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 2549 ที่ผมและเพื่อนมาเล่นดนตรีบนเวทีพันธมิตรฯ ที่สนามหลวงตอนตีสอง ผมก็พบว่า ใกล้ๆ เวทีพันธมิตรฯ มีเวที ‘มาตรา 7’ ด้วย ประกอบกับเนื้อหาสาระของการชุมนุมและวาทกรรมไล่คนโกงของพันธมิตรนั้นไม่ใช่แล้ว ผมไม่เชื่อสิ่งที่พวกเขาพูดเขาเสนออีกต่อไป และผมก็ไม่เคยใส่เสื้อเหลืองพันธมิตร”
“นายกฯ ม.7 – ก็เพราะมาตรา 7 นี่ล่ะ ที่ทำให้ผมไม่เอาด้วยกับพันธมิตร ผมไม่เอามาตรา 7 ผมไม่ต้องการนายกพระราชทาน คือช่วงเวลานับตั้งแต่ปลายปี 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผมเริ่มตระหนักแล้วว่า นี่เรากำลังมาทำอะไร เรากำลังทำอะไรเมื่อการเรียกร้องบานปลายมาสู่ มาตรา 7 มันไม่น่าจะใช่ จากนั้น ผมไม่เอาด้วยแล้ว”
ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แกนนำที่อุบลราชธานีคุยกันก่อนรัฐประหารสองวันว่าการเมืองไทยหลังทักษิณจะเป็นอย่างไร ก็ได้ข้อสรุปว่ามันจะมีทหารเข้ามา และจากนั้นก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ และ วันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มาถึง
“เมื่อเห็นประกาศข่าวด่วนพิเศษในตอนค่ำวันนั้น ผมกับเพื่อนโกรธแค้นและเสียใจที่มันเกิดรัฐประหาร ที่ทหารกลับเข้ามายึดอำนาจ มารุ่มร่ามกับการเมืองอีกครั้งทั้งที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 คนกรุงเทพฯ เคยรังเกียจทหารจนสามารถเอาน้ำร้อนสาดใส่ใครก็ตามที่แต่งกายคล้ายทหารผ่านหน้าร้าน ผมเคยจะทำร้ายเพื่อนที่มันเป็นทหารเกณฑ์และถูกเกณฑ์ไปประจำการที่ถนนราชดำเนินในเดือนพฤษภาคม 2535
“พอมีข่าวด่วนพิเศษเรื่องรัฐประหารไม่นาน แกนนำพันธมิตรในเมืองอุบลคนหนึ่งโทรศัพท์หาผมด้วยเสียงลิงโลด ด้วยดีใจ ในที่สุดทักษิณก็ไปจนได้ ผมตอบกลับเขาไปว่า ผมไม่ดีใจ ทักษิณต้องไปด้วยประชาชน ไม่ใช่ไปด้วยอำนาจกระบอกปืน คืนนั้นผมกับเพื่อนอาจารย์ที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตีต่อต้านคุณทักษิณก็นั่งคุยกันด้วยความรู้สึกผิดบาปที่มีส่วนผลักใสชะตากรรมประเทศให้เข้าสู่วังวนของรัฐประหาร อยู่ภายใต้อำนาจทหารที่เรารังเกียจนักหนาเมื่อปี 2535 เราเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งปฏิกิริยาให้วงจรอุบาทว์คือการรัฐประหารกลับมา
“ผมหันหลังให้แนวทางที่พันธมิตรเป็นผู้กำหนดตั้งแต่มีเรื่องมาตรา 7 แล้ว ผมไม่เชื่อว่า ประเทศชาติจะเดินหน้าด้วยการยึดอำนาจประชาชนแล้วมอบให้คนดีหนึ่งคน ผมไม่เชื่อว่าคนดีจะทำอะไรได้ทุกอย่างหรอก ประเทศนี้คนดีจอมปลอมมีเยอะ คนดีแต่ปากก็มากมาย
เป็น 11 ปีที่ได้ตระหนักและเสียใจเสมอเมื่อคิดถึงการมีส่วนก่อหวอดเพื่อปูทางให้ทหารกลับมาสู่การเมือง แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นตัวละครหลักที่ถูกนับ แต่การกระทำ การมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวขับไล่คุณทักษิณก็ถูกอ้างเพื่อเป็นเงื่อนไขสำหรับการก่อรัฐประหาร
“ก็บอกตัวเองเสมอว่า อำนาจที่ชอบธรรมคืออำนาจที่มาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจที่มาจากกระบอกปืนซึ่งมันกักขฬะน่าขยะแขยง การจะคิดจะทำอะไรทางการเมืองนั้นต้องตระหนักว่า เราได้มีส่วนสนับสนุนการละเมิดอำนาจของสถาบันประชาชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ซึ่งในนั้นก็มีเรา มีคุณ มีผมอยู่ด้วย) หรือไม่ หากมี ก็อย่าทำ”
เราถามเขาว่า จากวันนี้หากมองย้อนไปอีกครั้ง คุณจะคุยอะไรกับตัวเอง เขาใช้คำขึ้นต้นในคำตอบว่า “มึงจำได้ไหม”
“มึงจำได้ไหม เดือนพฤษภาคม 2535 ที่มึงเคยร่วมประท้วง เคยเรียกร้องว่าประเทศไทยต้องการได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ประชาชนให้ทุกคนเป็นคนตัดสินอนาคตของประเทศ ต้องกลับไปบอกมันว่า อย่าโง่นักเลย อย่าเกลียดอย่ากลัวนักเลยนักการเมือง จงเกลียดและกลัวคนมีปืนไว้ให้มาก จำได้ไหมว่าห้วงเวลาหนึ่ง ทหารกลับสู่กรมกองเป็นทหารมืออาชีพ เรื่องการเมืองให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน นักการเมืองจะดีจะเลว ก็มีวาระและสามารถตรวจสอบเอาผิดได้ แต่กับพวกที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ จงระวัง และอย่าเลือกข้างผิด ข้างที่ผิดก็คือข้างที่กดขี่และไม่เห็นหัวประชาชน”
11 ปี หลังรัฐประหาร นี่คือคำสารภาพบาปต่อประชาชนของธีระพล อันมัย