“You are what you read” จริงไม่จริงไม่รู้ แต่เครื่องมือสื่อสารความคิดในยุคก่อนปี 2516 ไม่มีอะไรเก๋ โดนใจ ทันสมัย และทรงอิทธิพลไปกว่าสื่อสิ่งพิมพ์อีกแล้ว
อันที่จริง ไม่ใช่เพราะความเก๋หรอก แต่เพราะสื่อหลักในยุคนั้น วิทยุก็เป็นของทหาร โทรทัศน์ทั้งสี่ช่องก็ควบคุมโดยรัฐ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ก็พินอบพิเทารัฐบาล การพิมพ์หนังสือเล่มและวารสารจึงเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่
เราควรพูดได้ด้วยซ้ำว่า วัฒนธรรมการอ่านและการพิมพ์หนังสือเล่ม (pocket book) ในประเทศไทย ได้รับอานิสงส์แรงเหวี่ยงจากความตื่นตัวทางการอ่านและการพิมพ์ในหมู่นักศึกษาและประชาชนที่สนใจความรู้ ข้อมูล ข่าวสารในยุคนั้น มาจวบจนถึงปัจจุบัน
นี่คือตัวอย่างรายชื่อหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ 14 เล่ม ที่ส่งอิทธิพลทางความคิดไปสู่นักศึกษาและประชาชน ก่อนเกิดคลื่นขบวน 14 ตุลาคม 2516
กูเป็นนิสิตนักศึกษา / สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน
สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ใช่เพิ่งมาเปรี้ยวเอา พ.ศ. นี้ แต่เขาคือคนเขียนกลอนท้าทายบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ยุคขะโน้น กลอนบทนี้ขึ้นต้นว่า…
กูเป็นนิสิตนักศึกษา
วาสนาสูงส่งสโมสร
ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์
เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี…
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเล่มนี้ร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พ.ศ. 2512
ความเงียบ / สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ในขณะที่นักศึกษาและมวลชนในยุคนั้นพากันชูธงศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน รับใช้นั่นรับใช้นี่กันอุตลุด สุชาติ สวัสดิ์ศรี สวนกระแสด้วยการเขียนเรื่องสั้นและบทกวีชุดนี้ออกมา เป็นงานที่อ่านยาก เรียกร้องพลังงานในการตีความสูง กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางลบในหมู่ปัญญาชนด้วยกันไม่น้อย
แต่มันคือหลักฐานยืนยันว่า ศิลปะต้องการความเป็นอิสระ ขณะตัวผู้เขียนก็คงคุณลักษณะทางความคิดและการแสดงออกเยี่ยงนั้นมาตราบจนปัจจุบัน
พิมพ์ครั้งแรกปี 2515 โดย สำนักพิมพ์หนังสือ
คำขานรับ / ศรีบูรพา
พ.ศ. 2493 หลังจากนวนิยายต้นแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต จนกว่าเราจะพบกันอีก ตีพิมพ์ครั้งแรก และถือเป็นงานเล่มแรกในนามสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ศรีบูรพาเขียนเรื่องสั้นชื่อ ‘คำขานรับ’ ตีพิมพ์ลงใน เดลิเมล์ วันจันทร์
เรื่องสั้นเรื่องนี้ถือเป็นหลักกิโลเมตรแรกๆ ของจุดอ้างอิงอุดมคติคนหนุ่มสาว หรือที่เรียกภายหลังว่า ‘จิตสำนึกขบถ’ ซึ่งอีกเกือบ 20 ปีถัดมา ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล จึงได้ย้ำถึงจิตสำนึกขบถนี้อีกครั้งให้คนรู้จักในวงกว้าง
อนึ่ง ในปีเดียวกันนี้ศรีบูรพาเขียนบทความชื่อ ‘มองดูนักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว’ ในบทความมีประโยคอมตะว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล / ริชาร์ด บาค / ฉบับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปล
ทันทีที่ Jonathan Livingston Seagull ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2513 หนังสือเล่มนี้ก็ถูกพูดถึงในหมู่นักอ่านทั่วโลก จนกระทั่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยออกมาสองสำนวน
สำนวนหนึ่ง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตีความเป็นพุทธปรัชญา อีกสำนวนหนึ่ง แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2515
สำนวนของชาญวิทย์ได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาว มากกว่าสำนวนแปลตีความตะล่อมเข้าพุทธของคึกฤทธิ์ เนื่องจากจับใจความสาระสำคัญของต้นฉบับตามบริบทสังคมและยุคสมัย ริชาร์ด บาค เขียนงานเล่มนี้ขณะที่อเมริกันอยู่ในยุคสงครามเวียดนาม ยุคแสวงหา ยุคบุปผาชน การตั้งคำถามต่อระเบียบสังคมเดิม และแสวงหาคุณค่าใหม่ในยุคสมัยของตนเอง
ความรู้สึกร่วมสมัยเช่นนี้ไม่มีพรมแดน
ฉันจึงมาหาความหมาย / วิทยากร เชียงกูล
วรรคทอง “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย” มาจากกลอนชื่อ ‘เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน’ วิทยากร เชียงกูล เขียนในวาระวันสถาปนาธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในนิตยสารยูงทอง ปี 2511 ขณะยังเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์
ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกมีทั้งเรื่องสั้น บทละคร และบทกวี ในชื่อปก ฉันจึงมาหาความหมาย พ.ศ. 2514
โฉมหน้าศักดินาไทย / จิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา ‘สมสมัย ศรีสูทรพรรณ’ เขียนงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร นิติศาสตร์ฉบับศตวรรษใหม่ พ.ศ. 2500 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า โฉมหน้าศักดินาไทยในยุคปัจจุบัน
เป็นงานวิชาการที่ใช้ลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สังคมไทย จี๊ดกระชากใจคนยุคนั้นอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม ธรรมศาสตร์ สภากาแฟ เกษตรศาสตร์ แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่ และชมรมคนรุ่นใหม่ รามคำแหง ร่วมกันจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในปี 2517 ใช้ชื่อปก โฉมหน้าศักดินาไทย
ชีวทัศน์เยาวชน / อนุช อาภาภิรม
เนื้อหาต้นทางมาจากแนวทางปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวถึงการดัดแปลงตัวเองจากนักศึกษาให้เป็นนักปฏิวัติผู้มีจิตสำนึกเสียสละรับใช้ประชาชน
แนวคิดเรื่องการรับใช้มวลชนสั่งสมในความรู้สึกคนหนุ่มสาวยุคนั้นมาก่อน 14 ตุลาแล้ว แต่งานเล่มนี้ตีพิมพ์ช่วงหลังปี 2518 ท่ามกลางสถานการณ์ขมวดตึงเครียด เริ่มมีการลอบสังหารผู้นำมวลชน ทางเลือกของคนหนุ่มสาวที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐมีไม่มาก หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์เป็นเล่มกะทัดรัด นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าต้องมีติดย่ามหรือยัดใส่กระเป๋าหลังกางเกง เป็น accessory ท่าบังคับ
เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ / ศรีอุบล
ก่อนที่จะถูกใช้งานเป็นบังโคลนรถสิบล้อ และเป็นเครื่องมือป๊อปอาร์ตในยุคปัจจุบัน เออร์เนสโต เช เกวารา เคยเป็นไอคอนที่ซีเรียสของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ไม่ใช่ใครจะมาทำตลกล้อเลียนได้ง่ายๆ
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นผู้เขียนบทความแนะนำนักปฏิวัติคนนี้ให้สังคมไทยรู้จักครั้งแรก ตีพิมพ์ในนิตยสาร วิทยาสารปริทัศน์ ประมาณ 1-2 ปีก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม
ส่วนหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2516 จัดพิมพ์โดย ฝ่ายสาราณียกร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปรัชญาชีวิต / คาลิล ยิบราน / ระวี ภาวิไล แปล
งานอมตะของมหากวีชาวเลบานอน พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกปี 2469
20 ปีต่อมา ระวี ภาวิไล พบหนังสือเล่มนี้ในหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาคัดลอกบทกวีลงสมุดบันทึกทีละบทอย่างหลงใหล กระทั่งถ้อยคำภาษาไทยผุดขึ้นมาคำต่อคำประโยคต่อประโยค จึงเริ่มลงมือแปลเพื่อจะเก็บไว้อ่านเองและแบ่งปันเพื่อนที่สนใจ
ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา พบต้นฉบับนี้จึงนำมาตีพิมพ์ครั้งแรกในนามสำนักพิมพ์บริการทอง ในปี 2504 แต่เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักศึกษาปัญญาชนเมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง ในปี 2511
ความนิยมต่อกวีนิพนธ์เล่มนี้คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวไม่ได้สนใจแค่การเมือง แต่พวกเขาแสวงหาคุณค่าและความงามของชีวิตด้วย
ปีศาจ / เสนีย์ เสาวพงศ์
นวนิยายอุดมคติโรแมนติกอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวก่อนเล่ม ความรักของวัลยา เล่าเรื่อง สาย สีมา ทนายความหนุ่มจากชนชั้นชาวนากับหญิงสาวสูงศักดิ์ สาย สีมา ต้องต่อสู้กับความคิดเก่าของพ่อแม่หญิงสาว ทั้งเพื่อความรักและเพื่อยืนยันอุดมคติ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ร่วมสมัย พ.ศ. 2496 ทิ้งห่างไป 4 ปี ลาว คำหอม จึงนำมาจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2500 ในนามสำนักพิมพ์เกวียนทอง
แลไปข้างหน้า / ศรีบูรพา
ศรีบูรพาเขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยแบ่งเป็นสองภาค ภาคปฐมวัย ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2498 และภาคมัชฌิมวัย ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสาร ปิยมิตร ช่วงปี 2500 ก่อนจะพิมพ์รวมเล่มในปี 2518
เนื้อหาภาคปฐมวัยว่าด้วยชีวิตของเด็กบ้านนอกที่มีโอกาสเข้ามาเรียนร่วมกับชนชั้นสูง ฉากและบรรยากาศอยู่ในช่วงก่อนการปกครอง 2475 ประเด็นว่าด้วยความแตกต่างทางฐานะ ชนชั้นวรรณะ ส่วนภาคมัชฌิมวัย ฉากเหตุการณ์อยู่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นำเสนอแนวคิดประเด็นการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
นี่เป็นนวนิยายที่เขียนไม่จบ ศรีบูรพาเขียนงานชุดนี้ช่วงปี 2495-2500 ซึ่งอยู่ในช่วงถูกจับกุมคุมขังในฐานะนักโทษการเมือง และต้องลี้ภัยในปี 2501 เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร เกิดการกวาดล้างจับกุมนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กระทั่งเสียชีวิตที่ประเทศจีนในปี 2517
ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน / ทีปกร
จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา ‘ทีปกร’ อันหมายความถึงผู้ให้แสงสว่างหรือเทียนส่องทางในการเขียนงานชุดนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยบทความจำนวนสี่ชิ้น เพื่อตอบคำถามว่า ศิลปะคืออะไร ศิลปะสูงส่งอย่างไร ศิลปะเพื่อศิลปะมีจริงหรือไม่ ศิลปะเพื่อชีวิตคืออะไรและมีบทบาทความสำคัญอย่างไร
คำถามเหล่านี้ก่อให้เกิดประเด็นในวงเสวนาในยุคนั้นอย่างกว้างขวาง กระทั่งยังคงเป็นหัวข้อให้คนในแวดวงศิลปะและวรรณกรรมไทยทะเลาะกันอยู่ตราบจนปัจจุบัน
จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทความสี่ชิ้นนี้ในวาระต่างๆ ตั้งแต่ปี 2498 ก่อนได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2500 โดย สำนักพิมพ์เทวเวศม์
หนุ่มหน่ายคัมภีร์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ
หลักฐานยืนยันความเซี้ยว เปรี้ยวค่อด อีกเล่มของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าเรื่องของ ทองปน บางระจัน เฟรชชี่โข่งที่เข้าไปป่วนระบบโซตัส ระบบอาวุโส ในมหาวิทยาลัย ด้วยลีลาการเขียนเสียดสี เจืออารมณ์ขัน แต่อ่านแล้วเลือดลมสูบฉีดพล่าน ใครระงับอารมณ์ไม่อยู่ อ่านจบมีสิทธิ์ลุกขึ้นกระโดดถีบยอดอกรุ่นพี่ได้ง่ายๆ
ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น พ.ศ. 2512 นับอายุอานามก็ร่วมกึ่งศตวรรษ แต่ทุกวันนี้เรายังต้องแชร์ต้องเมนท์ข่าวรับน้องกันอยู่เลย
วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
บ่อน้ำทางปัญญาของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ก่อตั้งเมื่อปี 2506 ในนามสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยมี พระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงค์ประพันธ์ เป็นผู้ประทานนามวารสาร
บรรณาธิการคนแรกคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (พ.ศ. 2506-2512) บรรณาธิการคนต่อมาชื่อ สุชาติ สวัสดิ์ศรี (2512-2519) ซึ่งขณะที่รับตำแหน่งนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อายุเพียง 25 ปี
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นแหล่งชุมนุมงานเขียนของปัญญาชนทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ของการส่งผ่านความรู้ใหม่ และเปิดประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่เคยมีใครพูดถึง ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสิ่งพิมพ์รายวาระที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย
นอกเหนือจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยังมีนิตยสารรายปักษ์อีกเล่มหนึ่งที่มีบทบาทและอิทธิพลทางความคิดต่อคนหนุ่มสาวสูง ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ ชัยพฤกษ์ ฉบับนักศึกษา-ประชาชน ของบริษัทไทยวัฒนาพานิช โดยมี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ