คิดจะเป็นลิเบอรัล จงอ่าน!

ภาพประกอบ: antizeptic

 

23 เมษายน คือวันหนังสือโลก World Book Day เราเชื่อว่ามนุษย์ยังอ่าน ‘หนังสือ’ ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปเล่ม ในคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งย้ายไปอยู่ในอุปกรณ์ออนไลน์ให้พกติดตัวตามสะดวก

เรารู้กันว่าโลกถูกขับเคลื่อนด้วยการอ่าน ความรู้และศาสตร์ต่างถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือมากกว่าปากต่อปาก นัยหนึ่งของหนังสือคือการบันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตำราทฤษฎี ปรัชญา กระทั่งแฝงอยู่ในวรรณกรรม เช่น สมัยอเมริกาใต้มีปัญหาทางการเมืองจนไม่สามารถแสดงความคิดความเห็นได้ตรงไปตรงมา ที่สุดแล้วก็เกิดเป็นงานเขียนสกุลหนึ่ง คือ Magical Realism

ทุกวันนี้ดูเหมือนเทคโนโลยีต่างจะทำให้โลกเปิดกว้าง แต่การจำกัดขอบเขตเสรีภาพไม่เคยหายไปไหน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของอำนาจรัฐ การสอดแนม ความยุติธรรมที่ฉ้อฉล ระบอบที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียม อำนาจและทรัพยากรถูกจัดสรรให้อยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม

เมื่อเริ่มมองเห็นว่าสังคมปัจจุบันมีบางอย่างไม่ชอบมาพากล ร่องรอยการลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้และแสดงออกปรากฏชัด แนวคิดเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่มักถูกหยิบมาทบทวน หลายประเทศทั่วโลกมีกลุ่มลิเบอรัลรุ่นใหม่เผยตัวและแสดงบทบาทมากขึ้น

ในวันหนังสือโลก (World Book Day) 2018 และครบรอบ 402 ปีการเสียชีวิตของ วิลเลียม เชคสเปียร์ WAY ย้อนกลับไปหยิบรายชื่อหนังสือสำหรับผู้เริ่มฝักใฝ่ในสายลิเบอรัลที่ The Independent เลือกไว้ 13 เล่ม ทั้งประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเป็นเครื่องมือและเป็นแว่นสายตาอันใหม่ที่จะทำให้มองโลกอีกมุมได้ชัดเจนขึ้น

1984: จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)

1984 เวอร์ชั่นแปลไทยโดยสำนักพิมพ์สมมติกลับมาขายดีอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2557 เช่นเดียวกับที่สหรัฐ 1984 ก็ฟื้นคืนอันดับขึ้นมาหลังการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ วรรณกรรมดิสโทเปียจากปี 1949 กล่าวถึง ‘Big Brother’ เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ โฆษณาชวนเชื่อโดยมีตำรวจความคิดคอยสอดส่งและจับกุมผู้คิดต่างจาก ‘พี่เบิ้ม’

นอกจากหนังสือ 1984 ยังเคยมีเวอร์ชั่นภาพยนตร์ออกมาในปี 1984 ซึ่งเมื่อ 4 เมษายน 2017 โรงภาพยนตร์อิสระในสหรัฐฉาย 1984 พร้อมกันเพื่อประท้วง โดนัลด์ ทรัมป์

The New Jim Crow: มิเชลล์ อเล็กซานเดอร์ (Michelle Alexander)

สมัย บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี อเมริกันชนเชื่อกันว่ายุคแห่งความเท่าเทียมจะเริ่มต้น แต่ มิเชลล์ อเล็กซานเดอร์ บอกว่า ยุคสมัยของการแบ่งชนชั้นวรรณะยังไม่จบ มันแค่ถูกออกแบบใหม่เท่านั้น The New Jim Crow: Mass Incarceration in the Age of Colorblindness ที่ตีพิมพ์ในปี 2010 ว่าด้วยเรื่องระบบยุติธรรมในสหรัฐ โดยเน้นไปที่คนดำที่ตกเป็นเหยื่อและการทำลายชุมชนคนผิวสี ซึ่งเป็นการหมิ่นเหยียดสีผิวที่มีอยู่ในระบบ

The Jungle: อัพตัน ซินแคลร์ (Upton Sinclair)

หนังสือจากปี 1906 พาผู้อ่านสำรวจสภาพชีวิตที่เลวร้ายและการใช้แรงงานผู้อพยพในชิคาโกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยอธิบายการกระทำรุนแรง สภาพการทำงานหนักในโรงฆ่าสัตว์ เพื่อกระตุ้นให้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลท์ ผ่านกฎหมายความปลอดภัยทางอาหาร

The Jungle เคยถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ชีวิตเปลี่ยน โดย ศริติ ภูริปัญญา นามปากกาของพี่สาว จิตร ภูมิศักดิ์

The Feminine Mystique: เบตตี ฟรีแดน (Betty Friedan)

เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะแม่บ้านชนบท ตั้งคำถามถึงสถานะ คุณค่า และตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในสังคมยุคนั้น นอกเหนือจากทำงานบ้าน หนังสือความเรียงในปี 1963 นี้เป็นหนึ่งในสิ่งกระตุ้นให้เกิดกระแสเฟมินิสต์ในสหรัฐขึ้นอีกครั้ง

Fahrenheit 451: เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury)

เรย์ แบรดบิวรี บรรยายภาพอนาคตดิสโทเปียใน Fahrenheit 451 ว่าหนังสือคือสิ่งผิดกฎหมายเป็นของต้องห้าม และต้องถูกเผาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อควบคุมความรู้และความคิดของคน ชื่อของวรรณกรรมเรื่องนี้มีความหมายเดียวกับชื่อในฉบับแปลไทย คือ อุณหภูมิเผาหนังสือ

Fahrenheit 451 ตีพิมพ์ในปี 1953 เคยถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1966

Understanding Power: โนม ชอมสกี (Noam Chomsky)

ผลงานของนักคิดแห่งยุคสมัยผู้รอบรู้ในหลายสาขา มีบทบาทด้านสังคมและวิชาการมาหลายทศวรรษ หนังสือในปี 2002 คือการรวบรวมเล็คเชอร์กับการเมืองของอำนาจ เชื่อมโยงระหว่างนโยบายการต่างประเทศและระบบสังคมสงเคราะห์ภายในประเทศ โดยตีกรอบไว้ว่า นี่คือก้าวย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม

Invisible Man: ราล์ฟ เอลลิสัน (Ralph Ellison)

หนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่ในปี 1952 และต่อมากลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการวรรณกรรมอเมริกัน ดำเนินเรื่องโดยชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ล่องหน ไม่มีตัวตน เนื่องจากสีผิวของเขา นอกจากจะเป็นการฉายภาพการแบ่งแยกสีผิว กลุ่มชาตินิยมผิวดำ ความสัมพันธ์กับมาร์กซิสต์ และนโยบายเรื่องสีผิวในสหรัฐ Invisible Man ยังได้รับรางวัล U.S. National Book Award สาขาวรรณกรรม ในปี 1953

An Inconvenient Truth: อัล กอร์ (Al Gore)

งานสารคดีชิ้นสำคัญของอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐออกมาในปี 2006 ช่วยปลุกกระแสโลกร้อนให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป โดยเป็นการรวบรวมการบรรยายเกี่ยวกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และทำให้สาธารณชนรู้ว่า เรากำลังทำอะไรกับโลกบ้าง
An Inconvenient Truth มีเวอร์ชั่นแปลไทยคือ โลกร้อน: ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง และถูกทำเป็นภาพยนตร์สองเรื่องคือ An Inconvenient Truth และ An Inconvenient Sequel: Truth to Power

The Handmaid’s Tale: มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood)

นวนิยายปี 1985 ที่ฝ่ายก้าวหน้าต้องอ่านยังคงเป็นเรื่องดิสโทเปีย ว่าด้วยสิทธิ์ของผู้หญิงในสังคมอนุรักษนิยมฝ่ายขวาว่าต้องถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนา และสังคมชายเป็นใหญ่ในสังคมที่การมีลูกเป็นเรื่องยาก ถึงขั้นหญิงวัยเจริญพันธุ์สุขภาพสมบูรณ์จะถูกคัดไว้เพื่อให้กำเนิดบุตร ขณะที่หญิงกลุ่มอื่นๆ ก็ถูกกันไว้ทำหน้าที่อื่นๆ

The Handmaid’s Tale มีการถ่ายทอดเป็นซีรีส์ และมีหนังสือเวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เรื่องเล่าของสาวรับใช้

A People’s History of the United States: โฮเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn)

หนังสือขายดีในยุค 1980 บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกันฉบับประชาชนแบบล่างขึ้นบน จากแรงงานยากจน ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย แรงงานอพยพ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่ออกมาจากฝ่ายรัฐบาล

The Grapes of Wrath: จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck)

หนึ่งในผลงานที่ทำให้ จอห์น สไตน์เบ็ค ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และโนเบล สาขาวรรณกรรม หนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 1939 ว่าด้วยครอบครัวเกษตรกรในโอกลาโฮมาที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ มีปัญหาหนี้สิน ประสบภัยธรรมชาติ การเข้ามาของระบบการผลิตทางเกษตรกรรมแบบใหม่ จนถูกธนาคารรุกไล่ออกจากที่ทำกิน ต้องเดินทางหาชีวิตใหม่ที่แคลิฟอร์เนีย และต้องพบกับชีวิตทุกข์ยากแสนเข็ญ สะสมเป็นความคับแค้นขึ้นมา

The Grapes of Wrath ถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ผลพวงแห่งความคับแค้น และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1940

War is a Racket: สเมดลีย์ ดี. บัตเลอร์ (Smedley D. Butler)

อดีตนายทหารเจ้าของสองเหรียญเชิดชูเกียรติเขียนหนังสือสารคดีขนาดสั้นว่าด้วยเรื่องอุตสาหกรรมกองทัพ ใครเป็นผู้ได้กำไรเมื่อเกิดสงคราม โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในอาชีพทหาร และออกเดินสายบรรยายในปี 1930 กับหัวข้อ ‘War is a Racket’ และถูกนำมาเรียบเรียงตีพิมพ์ในปี 1935

The Conscience of a Liberal: พอล ครุกแมน (Paul Krugman)

นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลใช้ประวัติศาสตร์ช่วง 80 ปีของสหรัฐเป็นพื้นเพื่อเขียน The Conscience of a Liberal ซึ่งเป็นช่วงตกต่ำในยุค 1920 ตามมาด้วยความไม่เท่าเทียมกันทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในยุค 1970 เชื่อกันว่าหนังสือที่ออกในปี 2007 เล่มนี้จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนตระหนักถึงสภาพเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ


อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า