กรุงเทพมหานครตกอยู่ในฝันร้ายอีกครั้ง เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทำให้ นายกฯ มีอำนาจในการออกประกาศและข้อกำหนด เช่น ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน
สลายชุมนุมย่ำรุ่ง
การประกาศเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ของผู้ชุมนุมที่ยังคงปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลตกอยู่ในความน่ากังวล ช่วงเวลาตั้งแต่ 04.30-06.00 น. จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เพราะรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพิเศษในยามวิกาล และใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมในเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งผิดหลักการสากลอย่างร้ายแรง
ตำรวจคุมฝูงชนหลายร้อยคน ได้รับคำสั่งให้กดดัน จับกุมผู้ชุมนุม ออกค้นหาผู้ชุมนุมในหลายจุดบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล แกนนำผู้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชน ได้ให้เวลาประชาชน 15 นาที ในการเก็บของ ส่วนเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลพร้อมโล่และหมวกกันน็อค ขยับเข้าใกล้ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุมที่มีจำนวนน้อยนิดและสื่อมวลชนที่ปักหลักทำหน้าที่ ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ชุมนุมบางส่วน กระทั่งผู้ชุมนุมสลายตัวแยกย้ายกันไป
กฎหมายพิเศษยามวิกาล
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ความว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นั้น
เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
- ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- ข้อ 2 ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
- ข้อ 3 ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ข้อ 4 ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ และให้ออกจากอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ข้อ 5 ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
ราษฎรประสงค์ชุมนุม
ในช่วงย่ำรุ่งจวบจนช่วงเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม มีการจับกลุ่มแกนนำและผู้ปราศรัยทั้งหมด 4 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกแถลงการณ์กรณีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตามด้วยการเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมและรัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวประณามการสลายการชุมนุมว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักสากล และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
สมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรกระทำคือการลาออก หาใช่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น “ผมก็ประกาศได้ว่า เย็นนี้กินแมคโดนัลด์ สาขาราชประสงค์ ใครใส่ชุดนักเรียนมารับแมคฟรี”
ขณะที่คณะราษฎรฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพราะการชุมนุมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดมา ไม่ควรมีใครสมควรถูกจับกุมจากการชุมนุมไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่ภาครัฐมีจุดมุ่งหมายบั่นทอนขบวนการประชาธิปไตย ขัดขวางประชาชน เป็นการกระทำเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพวกพ้อง หาใช่เพื่อส่วนรวมไม่ มีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนั่นอาจตีความได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย
ในแถลงการณ์ของคณะราษฎรฯ ยืนยันที่จะจัดการชุมนุมต่อไปในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 น. ณ แยกราชประสงค์
ขณะที่โลกโซเชียลออนไลน์ที่ไม่มีเวลากำหนดแม้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ณ เวลา 11.00 น. คือ #15ตุลาไปราชประสงค์
นี่คือสถานการณ์ที่ต้องจับตาตลอดทั้งวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อกรุงเทพมหานครตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงตามประกาศของรัฐบาล แต่ประชาชนยังยืนยันที่จะใช้สิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญ