หากไม่มีอะไรผิดคาด 7 พฤษภาคม 2566 คือวันเลือกตั้งทั่วไปหลังรัฐบาลประยุทธ์อยู่ครบวาระรอบแรก
เอกสารรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น (กกต. กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป)
ในปีนี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งในช่วงเวลาแหลมคมของการเมืองโลก
หากมองทิศทางการเมืองทั่วโลก ผลการเลือกตั้งในปี 2022 ที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของกระแสหันขวา-หันซ้าย ที่ชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้-ประธานาธิบดียูน ซุก โยล (Yoon Suk-Yoel) ชนะการเลือกตั้งด้วยการชูนโยบายต่อต้านเกาหลีเหนือสุดฤทธิ์ ฮังการี-วิกตอร์ โอร์บาน (Viktor Orbán) กับพรรคขวาสุดโต่งอย่าง Fidesz ยังคงครองเสียงข้างมากต่อไป ฟิลิปปินส์-บองบอง มาร์กอส (Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos, Jr.) ลูกชายของเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มากอส ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ออสเตรเลีย-แอนโทนี แอลบานีส (Anthony Albanese) จากพรรคแรงงาน ชนะเลือกตั้งต่อแนวร่วมฝั่งเสรีนิยม-ชาตินิยมอย่างฉิวเฉียด โคลอมเบีย-ได้ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกอย่างกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) อดีตนักรับกองโจร หรือการหวนกลับมาของ ‘ลูลา’ (Luiz Inácio Lula da Silva) ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล
ขณะที่สนามเลือกตั้งในปี 2023 ก็คึกคักไม่แพ้กัน ด้วยกระแสซ้ายหัน-ขวาหันทั่วโลก ประกอบกับปัจจัยเงินเฟ้อ ปัญหาปากท้อง และการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนทำให้การเลือกผู้แทนและผู้นำ ส่งผลโดยตรงกับชีวิตคนในสังคม
สิ่งที่น่าจับตามองคือ หากฝ่ายที่กุมอำนาจในปัจจุบันยังสามารถครองอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง ย่อมหนีไม่พ้นต้องแบกรับความผิดพลาดในการบริหารของตัวเองต่อไป แต่หากเสียงของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ อย่างน้อยผู้ที่แบกรับความเสียหายนั้นก็คือประชาชนเองจนกว่าจะครบวาระของผู้แทนที่เขาเลือกอย่างแท้จริง
ต่อไปนี้คือ 5 ประเทศในระบอบประชาธิปไตยสายอำนาจนิยมที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023
ตุรกี, 18 มิถุนายน
2 ทศวรรษของแอร์โดอันกับการเดิมพันผ่านคูหา
กว่า 20 ปีที่ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) แบ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2003-2014 และ 2014-2023 ในตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงอย่างไร ตำแหน่งหลังก็เป็นเพียงตำแหน่งในเชิงพิธีการของระบบรัฐสภาตุรกี ทำให้ในปี 2017 เขาพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของตุรกีไปสู่ระบอบประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว และทำให้เขามีอำนาจมากขึ้นอย่างมีนัยยะตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา กระนั้น ฐานอำนาจของแอร์โดอันกลับไม่มั่นคง แม้ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงก็ตาม
นอกจากจะทำลายระบอบประชาธิปไตยของตุรกีแล้ว การบริหารประเทศในยุคของแอร์โดอัน ยังทำให้ตุรกีมีอัตราเงินเฟ้อประจำปีร้อยละ 80 อัตราการว่างงานร้อยละ 10 และแอร์โดอันยังต้องเผชิญการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งชาวตุรกีต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ รวมถึงสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ทำให้การเลือกตั้งหนนี้ไม่ใช่เพียงการเดิมพัน ‘การเมือง’ ในความหมายแคบๆ หากแต่เป็นการกำหนดทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา หรือทุกองคาพยพของสังคม
สิ่งที่น่าวิตกคือ เสียงของฝ่ายค้านก็ไม่ได้เป็นเอกภาพมากนัก เพราะในสภาพร่อแร่เป็นทุนเดิม พวกเขามี 2 ฟากฝั่งที่แย่งฐานเสียงระหว่างกัน นั่นคือ The Millet (Nation) Alliance แนวร่วมหลักของฝ่ายค้านที่ยังไม่ตัดสินใจเรื่องผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และกลุ่มกลุ่ม Labor and Freedom Alliance ซึ่งมีพรรค People’s Democratic ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดเป็นพรรคหลัก รวมถึงกรณีส่งท้ายปี 2022 ที่บั่นทอนกำลังของฝ่ายต่อต้านแอร์โดอันลง เมื่อเอ็กเร็ม อิมาโมกลู (Ekrem İmamoğlu) นายกเทศมนตรีของนครอิสตันบูล ถูกตัดสินจำคุกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฐานดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเงื่อนไขว่า หากยื่นอุทธรณ์จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้แคนดิเดตที่ ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุดคนหนึ่งถูกเตะตัดขาไปเรียบร้อย
ข้างต้นจึงเสมือนการลดทอนแรงต้านเผด็จการอย่างแอร์โดอัน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากแอร์โดอันชนะการเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้ปัญหา ‘สมองไหล’ ย่ำแย่ลงอีกขั้นหนึ่ง เพราะทั้งหมอ นักวิชาการ นักธุรกิจ หรือกลุ่มคนที่มีการศึกษา ล้วนอพยพไปประเทศฝั่งตะวันตก และเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลง
มากไปกว่านั้น ผลของการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐด้วย เพราะคณะกรรมการกิจการศาสนาของตุรกี (Turkey’s Directorate of Religious Affairs) ซึ่งควบคุมมัสยิด 80,000 แห่ง เป็นพันธมิตรหลักของแอร์โดกัน ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในฝ่ายบริหารก็จะส่งผลต่ออำนาจของคณะกรรมการฯ ด้วยเช่นกัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2023 จะเป็นการต่อสู้กันในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา หากแอร์โดอันชนะ เขาอาจวางตัวเย่อหยิ่งราวกับเป็นรัฐบุรุษของตุรกีต่อจาก เคมัล อาทาทืร์ค (Kemal Atatürk) ผู้นำคนแรกหลังตุรกีล้มระบอบสุลต่าน แต่หากเขาแพ้ พันธมิตรทางการเมือง ธุรกิจ และเครือข่ายศาสนาขนาดใหญ่ของเขา ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงหรือถูก ‘เช็คบิล’ อย่างเลี่ยงไม่ได้
อาร์เจนตินา, 29 ตุลาคม
จุดเปลี่ยนของซ้ายจัดและขวาจัดในดินแดนฟ้าขาว
แม้ว่าการได้แชมป์ฟุตบอลโลกจะช่วยชุบชูจิตใจ แต่เศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาอยู่ในภาวะถดถอยมาเป็นเวลานาน โดยมีหนี้ต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีอัตราเงินเฟ้อถึงร้อยละ 60 ค่าจ้างต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 4 ใน 10 ของชาวอาร์เจนตินามีฐานะยากจน ค่าเงินเปโซแทบไร้ค่า และยิ่งแย่ลงไปอีกจากการจัดการโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ
แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกิดจากอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ (Alberto Fernández) ประธานาธิบดี และคริสตินา เฟอร์นานเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ (Cristina Fernández de Kirchner) รองประธานาธิบดี เพียงเท่านั้น (ทั้งสองเป็นฝ่ายซ้ายกลางสายเปโรนิสต์ [Peronism] หรือแนวคิดที่ผนวกชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตย เข้าไว้ด้วยกัน ริเริ่มโดยนายพลฆวน เปรอน ในสมัยปกครองอาร์เจนตินา ในปี 1945) อันที่จริง อดีตประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากริ (Mauricio Macri) ก่อหนี้ไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มหาศาล ก่อนที่จะถูกลงมติไม่ไว้วางใจให้ลงจากตำแหน่งในปี 2019 แต่ในฐานะรัฐบาลใหม่ เฟอร์นานเดซและเคิร์ชเนอร์ก็ยังถือว่าสอบตก เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้
แย่ไปกว่านั้น คู่หูสายเปโรนิสต์ยังประสบปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบเก่า รวมถึงการเป็นเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มั่งคั่งในภูมิภาค กลายเป็นประเทศที่ส่งผ่านโคเคนและเป็นฐานแปรรูป ซึ่งนับเป็นการคอร์รัปชันสมัยใหม่ของอาร์เจนตินา
ปัญหาคอร์รัปชันข้างต้น ส่งผลให้วันที่ 6 ธันวาคม 2022 เคิร์ชเนอร์ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ในคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับสินบน เพราะมีการทำสัญญาสาธารณะกว่า 51 ฉบับ ในจังหวัดปาตาโกเนีย โดยเจ้าของบริษัทเอกชนเจ้ากรรมก็คือ ลาซาโร บาเอซ (Lázaro Báez) เพื่อนและผู้ร่วมธุรกิจของเธอเอง
หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า การจัดการเศรษฐกิจแบบผิดๆ และเรื่องอื้อฉาวเกินเพดาน อาจทำให้ลัทธิเปโรนิซึม อันเป็นปรัชญาการเมืองการปกครองของอาร์เจนตินามากว่า 70 ปี ถึงคราวสิ้นสุดลง ขณะเดียวกัน พรรคขวากลางอย่าง Republican Proposal ของมากริ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายในพรรคของตัวเอง
สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจข้างต้น อาจเอื้อประโยชน์ต่อทางเลือกที่ 3 นั่นคือ ฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมจากพรรค The Liberty Advances ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ย้อนกลับไปในปี 2021 เขาได้รับเลือกให้เข้าสภาล่างของอาร์เจนตินา พร้อมโจมตีการเมืองกระแสหลักในประเทศอย่างไม่ประนีประนอม ซึ่งกลางปี 2022 Ricardo Rouvier & Asociados เผยผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง ข้อมูลชี้ว่า มิเลได้รับเสียงสนับสนุนถึงร้อยละ 37.7 เป็นรองเพียง โฮราซิโอ โรดริเกซ ลาร์เรตา (Horacio Rodríguez Larreta) นายกเทศมนตรีสายกลางของเมืองบัวโนสไอเรส ที่มีเสียงสนับสนุนร้อยละ 44.7
แต่ด้วยบุคลิกของมิเลในมาดอดีตฟร้อนท์แมนวงร็อกและอดีตนักกีฬาพราวเสน่ห์ รวมถึงสไตล์หยาบคายจนเทียบได้กับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แห่งทุ่งแปมปัส นั่นอาจทำให้เขาล้มล้างความคิดที่ว่า หากจะเป็นประธานาธิบดีในอาร์เจนตินา ก็ต้องเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเปโรนิสต์ขวาจัด หรือไม่ก็กลุ่มหัวรุนแรงอย่างพรรค Radical Civic Union (RCU) ฝ่ายซ้ายจัดในอาร์เจนตินา
ไนจีเรีย, 25 กุมภาพันธ์
การต่อสู้ของผู้แทนจากสามกลุ่มชาติพันธุ์
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค การเลือกตั้งหนนี้ จึงไม่เพียงส่งผลเฉพาะคนไนจีเรีย แต่ยังส่งผลสะเทือนทั่วแอฟริกาด้วย ขณะเดียวกัน การเมืองในประเทศยังเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์และศาสนา โดยภาคเหนือมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคใต้นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนมาก นำมาสู่ข้อถกเถียงในไนจีเรียว่า หลังจาก 8 ปีที่มูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ซึ่งเป็นชาวเหนือดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงเวลาที่อำนาจควร ‘เปลี่ยนมือ’ ไปทางใต้หรือไม่
เมื่อบูฮารีดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ พรรค All Progressives Congress (APC) จึงเสนอชื่อโบลา อาเหม็ด ทินูบู (Bola Ahmed Tinubu) อดีตผู้ว่าการกรุงลากอส เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ People’s Democratic หัวหอกของพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอชื่ออัลฮาจิ อะทิคู อะบูบาการ์ (Alhaji Atiku Abubakar) อดีตรองประธานาธิบดีที่แพ้การเลือกตั้งให้กับบูฮารีในปี 2019 ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก 16 พรรคเล็ก มีเพียงปีเตอร์ โอบี (Peter Obi) แคนดิเดตจากพรรคแรงงานที่มีภาษีกว่าคนอื่น ซึ่ง Bloomberg รายงานว่า ผลสำรวจปลายกันยายน 2022 ชี้ว่า โอบีได้รับความนิยมร้อยละ 72 ในหมู่ชาวไนจีเรียที่ตัดสินใจกาบัตรแล้ว
ถ้าการลงสนามจริงในเดือนกุมภาพันธ์ โอบียังได้รับคะแนนเสียมท่วมท้นเช่นนี้ ไนจีเรียจะมีผลการเลือกตั้งแบบขาดลอยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถึงอย่างไร นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้ง 3 กลุ่มในไนจีเรีย มีผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกันอย่างจริงจัง ได้แก่ อะบูบาการ์ ผู้มีเชื้อสายเฮาซา-ฟูลานี, ทินูบู ชาวโยรูบา และโอบี อดีตผู้ว่าการรัฐอะนัมบรา ผู้มีเชื้อสายอิกโบ
แม้ข้างต้นจะสะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผลสำรวจของ Afrobarometer (เครือข่ายการวิจัยทั่วแอฟริกาที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) ชี้ว่า ชาวไนจีเรียเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศชาติมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตน หมายความว่า ภายใต้สูตรของรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้ทั้งคะแนนเสียงส่วนใหญ่และการกระจายสัดส่วนทางภูมิศาสตร์ อาจไม่มีผู้ชนะที่ได้รับฉันทมติหรือเป็นที่ยอมรับได้ทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ชาวไนจีเรียมากกว่า 80 ล้านคนยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจน ประกอบกับปัญหาความรุนแรงในไนจีเรียทวีความรุนแรงเรื่อยมานับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดในปี 1970 ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ นำมาสู่การข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างพรรคและภายในพรรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปลายปี 2022
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของ 95 ล้านคน ต่อการเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่พ้นการวาดหวังว่าประเด็นความปลอดภัย การว่างงาน การศึกษา และปัญหาการทุจริต จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังหย่อนบัตร
ปากีสถาน, ตุลาคม
ความรุนแรงที่แยกไม่ขาดจากการเลือกตั้ง
เมษายน 2022 อิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีและอดีตนักกีฬาคริกเก็ต แพ้การลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถูกมองว่ามีความพยายามเพิ่มอำนาจให้กับ ‘มือที่มองไม่เห็น’ อย่างกองทัพ ทำให้ปากีสถานยังคงไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปีเต็ม ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่
หลังจากพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ข่านอ้างว่า การลงมติไม่มีความโปร่งใส และเป็นการรวมหัวกันของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม เขาจึงรวบรวมผู้สนับสนุนพร้อมจุดกระแสการชุมนุมประท้วงในกรุงอิสลามาบัด แต่สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อข่านได้รับบาดเจ็บจากการพยายามลอบสังหารของบุคคลไม่ทราบฝ่าย โดย เชห์บาซ ชารีฟ (Shebaz Sharif) นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาหลังข่านลงจากอำนาจ ก็ประณามเหตุการณ์นี้เช่นกัน กระนั้น ข่านเชื่อว่า ชารีฟและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
คำถามใหญ่คือการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะตามกฎหมาย รัฐบาลเฉพาะกาลต้องจัดเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน แต่ดูเหมือนว่าเทคโนแครตและรัฐสภาปากีสถานจะตั้งใจกุมอำนาจไว้ให้นานที่สุด
ถึงอย่างไร ผลการเลือกตั้งซ่อมในตุลาคม 2022 เผยว่า พรรคเทห์รีก-อี-อินซาฟ (Tehreek-e-Insaf หรือ Pakistan Movement for Justice) ของข่านกวาด 6 จาก 8 ที่นั่งในสภาแห่งชาติและสภาล่าง ขณะที่อีก 2 ที่นั่งเป็นของพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party: PPP) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในรัฐบาลของชารีฟ
การเลือกตั้งซ่อมอาจเปรียบได้กับผลคะแนนนิยมของข่านที่เป็นรูปธรรม รวมถึงแสดงภาพความกดดันของชาวปากีสถานต่อรัฐบาลผสมที่ต้องการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปให้ชัดเจนเสียที
ปัญหาการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ถาโถมปากีสถานในทศวรรษนี้ พวกเขากำลังเผชิญวิกฤตการเมือง วิกฤตพลังงาน รวมถึงปัญหาอุทกภัยที่กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาลในปี 2022 ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับความทุกข์ยากของชาวปากีสถาน เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเสียงข้างมาก พวกเขาอาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน ครั้นจะทำเช่นนั้นได้ อย่างน้อยกลุ่มการเมืองต้องร่วมมือกันให้มากกว่าที่เป็นมา
อายีชา จาลาล (Ayesha Jalal) อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า สังคมปากีสถานไม่สามารถแยกประเด็นความรุนแรงและการเลือกตั้งได้ เพราะปากีสถานมีกฎหมายห้ามครอบครองปืนโดยเด็ดขาด แต่กองกำลังความมั่นคงแห่งชาติกลับสามารถละเมิดข้อตกลงหยุดยิงตามแนวชายแดนได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การยิงไรเฟิลตามงานมงคลจะเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งปากีสถานมีจำนวนปืนกว่า 40 ล้านกระบอก หากเทียบเคียงกับการแบ่งขั้วทางการเมืองแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับข่านจึงถือเป็นเรื่องเข้าใจได้
แรงผลักจากผลการเลือกตั้งซ่อม สำทับกับปัญหากองพะเนิน อาจทำให้ผู้มีอำนาจหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 ของปากีสถาน ต้องลำบากใจขึ้นไม่น้อย
ซิมบับเว, สิงหาคม
การเลือกตั้งใหม่ถอดด้ามกับมรดกของเผด็จการมูกาเบ
นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของซิมบับเว หลังการหมดอำนาจของนักกอบกู้และผู้นำเผด็จการอย่าง โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) (1924-2019)
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2018 เป็นผลกระทบจากการรัฐประหารโดยกองทัพ แม้จะเป็นสัญญาณด้านบวกของประชาธิปไตยในซิมบับเว แต่ผลลัพธ์เข้าขั้นน่าผิดหวัง เนื่องจากปัญหาเชิงระบบของอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอย่างยาวนาน
ดั่งกรณีที่ผู้สังเกตการณ์จากสหรัฐฯ รายงานว่า พรรค ZANU PF (The Zimbabwe African National Union – Patriotic Front) ใช้กองทัพข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีการรายงานข่าวของพรรคฝ่ายค้านและผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยถัดจากวันเลือกตั้ง MDC (The Movement for Democratic Change) พรรคฝ่ายค้านประกาศชัยชนะ โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจากตัวแทนพรรคที่หน่วยเลือกตั้ง และยังอ้างว่า บัตรเลือกตั้งร้อยละ 21 ไม่ได้ถูกนับอย่างเป็นทางการที่หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายกำหนด ความสับสนและไม่ลงรอยนี้ นำมาสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่าย MDC ด้วยความรุนแรงโดยกองทัพ จนมีผู้เสียชีวิต 7 ราย
ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหนนี้ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่นำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารหรือปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงแล้ว ชาติตะวันตกหรือองค์กรระหว่างประเทศ มักใช้ ‘ความโปร่งใส’ ของการเลือกตั้ง เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางการทูต
ผู้สังเกตการณ์จากฝั่งตะวันตก ยังหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสัญญาณปรับปรุงสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงซิมบับเว เพราะแม้จะมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความเท่าเทียมทางเพศในทางการเมือง แต่ผู้หญิงกลับได้รับชัยชนะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ผู้หญิงได้ที่นั่งผู้นำท้องถิ่นในสภาแห่งชาติ 25 จาก 210 ที่นั่งของเขตเลือกตั้ง หรือเพียง 11.9 เปอร์เซ็นต์ และในสมัชชาแห่งชาติ มีผู้หญิงเพียง 85 จาก 270 ที่นั่ง คิดเป็น 31.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ที่สำคัญ อนาคตของฝ่ายค้านก็แขวนอยู่กับบัตรเลือกตั้ง เพราะตั้งแต่ปี 2018 ขบวนการเคลื่อนไหวในฝ่ายค้านต้องเผชิญทั้งการกลั่นแกล้งกดขี่จากรัฐ ขัดแย้งกันเอง รวมถึงเงินทุนที่น้อยเกินไป ซ้ำร้ายพวกเขายังไม่สามารถเพิ่มฐานเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่
เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศที่กล่าวมา หากพรรค DMC หรือฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ ต้นทุนของการต่อสู้ ตรวจสอบ หรือแม้แต่เปล่งเสียงเพื่อต้านเผด็จการก็จะสูงขึ้น และทำให้พรรค ZANU PF รวมถึงความเป็นอำนาจนิยม ค่อยๆ ฝังรากลึกผ่านสถาบันการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิง
- 5 elections to watch in 2023 – what’s at stake as millions head to the ballot box around the globe
- Five Elections to Watch in 2023
- กกต. ประกาศวันเลือกตั้งใหญ่ 7 พฤษภาคม 2566 รัฐบาลอยู่ครบเทอม
- กกต. เคาะวันเลือกตั้ง 7 พ.ค. 66 เตรียมรับแผนหากสภาครบวาระ
- IRI/NDI Zimbabwe International Election Observation Mission Final Report
- Even after Mugabe, Zimbabwe’s elections do not appear free or fair
- Ousted Pakistan PM Khan Sweeps Key By-Election
- Imran Khan, Ex-Prime Minister of Pakistan, Is Shot at Rally
- Even after Mugabe, Zimbabwe’s elections do not appear free or fair
- A Surprise Presidential Candidate Leads the Race to Lead Nigeria, Poll Shows
- An Argentine libertarian channels inner Trump to ‘blow up’ political status quo
- How Argentina Became the Newest Drug Trafficking Hub
- Why Istanbul’s mayor was sentenced to jail – and what it means for Turkey’s 2023 presidential race