เลือกตั้ง ’66: เมื่อประชาชนโต้กลับผ่านคูหาเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยต่างตั้งตารอคอยมากที่สุดครั้งหนึ่ง ประหนึ่งการโต้กลับการปกครองของรัฐบาลทหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 และแปรรูปเปลี่ยนร่างมาฉายภาพนักประชาธิปไตยจำแลง ทั้งยังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ได้ชื่อว่ามีความบิดเบี้ยวมากที่สุด 

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 39.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75.22 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการ ‘หักปากกา’ เซียนคอการเมืองทั้งหลายที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า พรรคก้าวไกลที่มีพรรษาทางการเมืองเพียง 4 ปี ตั้งแต่เข้าสภาในนามพรรคอนาคตใหม่ ก่อนถูกยุบพรรค และก่อตั้งพรรคใหม่ จะสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุด 151 ที่นั่ง แยกเป็น สส.แบ่งเขต 112 ที่นั่ง และ สส.บัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง รวมเสียงสนับสนุน 14 ล้านเสียง ภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าสมัยพรรคอนาคตใหม่ 70 ที่นั่ง สามารถเจาะพื้นที่บ้านใหญ่ในหลายเขต ในบางจังหวัดกวาด สส. ยกจังหวัด โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดปริมณฑล

ด้านพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 2 แคนดิเดตหลักๆ คือ แพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้เสียงสนับสนุนมาเป็นลำดับที่ 2 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 141 คน แบ่งเป็น สส.แบบเบ่งเขต ได้รับเลือกตั้ง 112 เขต จำนวน 9.3 ล้านเสียง และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ 29 ที่นั่ง จำนวน 10 ล้านเสียง โดยพรรคเพื่อไทยสูญเสียที่นั่ง สส. ในหลายเขตให้กับพรรคก้าวไกลอันเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยเอง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย รวมไปถึงนนทบุรีด้วย 

การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนเป็นฝันร้ายของพรรคอนุรักษนิยม โดยเฉพาะ 2 พรรคพี่น้อง 3 ป. ที่ตัดกันไม่ขาด แต่ต้องแยกกันอยู่เพราะความร้าวฉานยาวนานในพรรคพลังประชารัฐ พรรครัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่มีสมาชิกแยกตัวออกมาตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ชูพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ชู พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี 

ทั้งสองพรรคพี่น้องนี้ ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรตํ่ากว่าครึ่ง โดยพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 4 รวม 40 ที่นั่ง โดยพลเอกประวิตร เป็น สส.บัญชีรายชื่อ เพียงคนเดียวของพรรคเท่านั้น ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 5 รวม 36 ที่นั่ง 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนุรักษนิยมเก่าแก่ได้ที่นั่งเพียง 25 ที่นั่ง ประกอบกับความวุ่นวายระหว่างมุ้งการเมืองภายในพรรคที่ยังคงเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน ขณะที่พรรคภูมิใจไทย น่าจะเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์ฯ ที่ทำผลงานได้ดีที่สุด สามารถกวาดเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ 70 ที่นั่ง แบ่งเป็น 68 เขต และ 3 บัญชีรายชื่อ แม้จะถูกกระแสต่อต้านจาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักแฉชื่อดัง ที่ออกมาแฉและรณรงค์ไม่เลือกพรรคภูมิใจไทยจากประเด็นกัญชาเสรีก็ตาม

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ สามารถไล่เลียงเหตุการณ์ย้อนหลังได้ยาวนานอย่างน้อย 2-3 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกตํ่าของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เริ่มเสื่อมถอยอย่างหนักในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 ที่ผ่านมา อันส่งผลสำคัญทางการเมืองคือ กระแสม็อบสามนิ้ว ไล่รัฐบาลประยุทธ์ การยกระดับเพดานการเมืองของประชาชนในการพูดคุยประเด็นสถาบันกษัตริย์และยกเลิกมาตรา 112 การถกเถียงในประเด็นการศึกษา สมรสเท่าเทียม รวมถึงก้าวหน้าแห่งยุคสมัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ทว่า เต็มไปด้วยแรงกดทางการเมืองจากรัฐบาลอนุรักษนิยมที่นำโดยขุนทหารของพี่น้อง 3 ป. ดังนั้น ประชาชนจึงแสดงออกด้วยการโต้กลับในคูหาเลือกตั้งครั้งนี้ 

มกราคม: เริ่มปีใหม่ แต่รัฐบาลเดิม ยักแย่ยักยันจนครบเทอม

นับตั้งแต่ปลายปี 2565 มีการคาดการณ์ว่า ประยุทธ์จะ ‘ยุบสภา’ เนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มอยู่หลายครั้ง จนไม่สามารถผลักดันการออกกฎหมายต่างๆ ได้ ขณะที่สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ้งการเมืองระหว่าง ‘สายประวิตร’ และ ‘สายประยุทธ์’ ซัดกันนัว จนในที่สุดประยุทธ์ส่งสัญญาณแยกทางกับพรรคพลังประชารัฐ แล้วไปต่อบนเส้นทางการเมืองกับพรรคใหม่คือ รวมไทยสร้างชาติ และเปิดตัวในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มกราคม 2566 ท่ามกลางบรรยากาศในฟากฝั่งรัฐบาลที่ดูจะไปไม่รอด 

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้เริ่มแคมเปญในการนำเสนอนโยบายที่เข้มข้นขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา เช่น พรรคก้าวไกล นำเสนอนโยบายการศึกษาก้าวหน้า ในวันเด็ก 2566 ด้านพรรคเพื่อไทยเปิดตัว เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันตรุษจีน

กุมภาพันธ์: ฤดูกาลย้ายพรรค ปูทางเลือกตั้งใหญ่

การเมืองในรอบเดือนกุมภาพันธ์ เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายในพรรครัฐบาลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสภาล่มซํ้าซากต่อเนื่อง สส. มากกว่า 20 คน จากพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ย้ายซบพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังอยู่ในระหว่างการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จ เพื่อเปิดทางรัฐบาลได้หารือเกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา

มีนาคม: ยุบสภา เปิดสนามเลือกตั้ง 

พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มีนาคม 2566 เพื่อชิงความได้เปรียบในเกมการเมือง เพราะจะต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน ซึ่ง สส. ที่เพิ่งย้ายเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้เปรียบเพราะสังกัดพรรคการเมืองเพียง 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง โดย กกต. ออกมาประกาศวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

ก่อนหน้าการยุบสภาไม่กี่วัน สส. พลังประชารัฐในระดับแกนนำอย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ตัดสินใจประกาศย้ายพรรคซบเพื่อไทย 

เมษายน: ศึกเลือกตั้ง ‘สองขั้ว’ ก้าวไกลคะแนนนิยมพุ่ง

ภายหลังการยุบสภาและ กกต. ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทาง กกต. จึงได้รับสมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน และรับสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน หลังจากนั้นพรรคการเมืองต่างๆ เดินหน้ารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันอย่างดุเดือด ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเดือนเมษายน

ในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลงัดกลยุทธ์แคมเปญผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อใช้ในการหาเสียงในครั้งนี้ จนเกิดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล อย่าง #ด้อมส้ม ที่หมายถึงตัวผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล การทำชาเลนจ์ต่างๆ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มของ TikTok เช่น แคทก้าวไกล บัตรประชาชนหมา-แมว ซึ่งนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เอาใจทาสแมว-ทาสหมา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมไปถึงนโยบายรายประเด็นเฉพาะกลุ่มที่สนใจเช่น กลุ่ม LGBTQ+ สุราก้าวหน้า รัฐสวัสดิการ เป็นต้น ทำให้คะแนนนิยมพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพุ่งสูงขึ้นเท่าตัว

แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะถูกโจมตีในประเด็นยกเลิก ม.112 ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ได้ใช้พื้นที่เวทีดีเบตนโยบาย ส่งสารและแสดงจุดยืนความชัดเจนว่าจะแก้ไข ม.112 และที่สำคัญที่สุดคือ การยืนยันอย่างชัดเจนในทุกเวทีว่า ‘มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง’ ที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหารคือ พรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลจึงทะยานขึ้นไปอีก 

ฝั่งพรรคเพื่อไทยเองต้องหันมาใช้เทคนิคนี้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ขณะที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ แทบตามไม่ทันอย่างไม่ต้องสงสัย และยิ่งทำให้แคมเปญ PR แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร ‘เสียของ’ ทันที 

พฤษภาคม: ฝ่ากระแสหุ้นสื่อ หักปากกาเซียน 

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลพุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางกระแสการโจมตีนโยบายของพรรคโดยเฉพาะประเด็ม ม.112 แต่ไม่เพียงแค่นี้ เพียง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร สส.กทม. เขต 17 พรรคภูมิใจไทย อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาแฉพิธา กรณีถือหุ้นสื่อ ITV และในวันที่ 9 พฤษภาคม เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. ตรวจสอบพิธา ตามมาตรา 98 (3) ในรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ว่าขาดคุณสมบัติการลงรับสมัคร สส. 

แม้พิธาจะต้องฝ่ากระแสหุ้นสื่อ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมลดลงแต่อย่างใด กระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยจำนวน สส. 151 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร 

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคือการส่งสัญญาณโต้กลับของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ด้วยความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง และเศรษฐกิจขนานใหญ่ในไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เผยให้เห็นความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวในการบริหารราชการของรัฐบาลประยุทธ์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน อำนาจอนุรักษนิยมจารีตก็เสื่อมถอยลงและสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญจากการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ไม่ได้ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมละทิ้งความพยายามในการรักษาอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะหลายเดือนให้หลัง การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็เปิดพื้นที่ให้กลุ่มอนุรักษนิยมจารีตเหล่านี้ ‘ดิ้น’ เฮือกสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง 

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า