วันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สิ้นสุดเส้นแบ่งระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก เมืองหลวงประเทศเยอรมนี หลังจากถูกใช้เป็นเขตกั้นระหว่างผู้คนสองฟากมาตั้งแต่ปี 1961 นำไปสู่การรวมประเทศอย่างเป็นทางการในปี 1990
กำแพงเบอร์ลินเคยเป็นทั้งเขตกั้นทางกายภาพ และทางอุดมการณ์การเมือง เยอรมนีตะวันตกถูกปกครองด้วยแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ภายใต้การปกครองของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่วนเยอรมนีตะวันออกกลายเป็นเขตปกครองด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์ ภายใต้การควบคุมดูแลของโซเวียต ส่วนกรุงเบอร์ลินในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของเยอรมนีก็ถูกแบ่งแยกเป็นสองฟากทางตะวันออก-ตะวันตก และถูกปกครองโดย 2 อุดมการณ์ทางการเมืองเช่นกัน
ในสายตาของคนนอก การทลายกำแพงเบอร์ลินถือเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะแสดงถึงจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่แนวคิดแบบประชาธิปไตยไปทั่วโซนยุโรปตะวันออก รวมไปถึงเบอร์ลินตะวันออกที่เคยเป็นของโซเวียต
เมื่อ ‘กำแพง’ ล่มสลาย
เมื่อกำแพงที่ก่อตัวขึ้นในปี 1961 และอยู่ยั้งยืนยงมาถึง 29 ปี จู่ๆ ก็พังทลาย จากมุมมอง ‘คนใน’ ของฝั่งตะวันออก ทุนนิยมที่เข้ามาเคาะถึงหน้าประตูบ้านภายในชั่วข้ามคืนสร้างความตระหนกตกใจที่ไม่คุ้นชิน บริษัทหลายพันแห่งปิดตัวลงกะทันหัน สินค้าถูกปล่อยขายเลหลัง และผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องตกงาน
ไดอานา เลห์มันน์ (Diana Lehmann) มีอายุครบ 6 ขวบเมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ในขณะนั้นเลห์มันน์มาจากฝั่งตะวันออก เธอเล่าว่า ในตอนนั้นรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกแจก ‘เงินขวัญถุง’ มูลค่า 50 ดอลลาร์ให้ทุกคนที่มาจากฝั่งตะวันออกได้จับจ่ายใช้สอยในฐานะของขวัญต้อนรับกลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง ครอบครัวของเลห์มันน์พาเธอไปร้านของเล่น แล้วต้องตื่นตาว่าในฝั่งตะวันตก แม้แต่ตุ๊กตาสัตว์ธรรมดายังมีให้เลือกหลากหลาย จากที่ครั้งอยู่ในเบอร์ลินตะวันออกเธอเคยมีตัวเลือกเพียงแค่จะเอาตุ๊กตา ‘สีน้ำตาลหรือสีเทา’ เท่านั้น
เลห์มันน์เล่าว่า เธอแทบไม่เห็นครอบครัวไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการทลายกำแพงให้คนจากสองฟาก สองความคิดได้ไปมาหาสู่กันได้เป็นครั้งแรก
พ่อของเธอตกงานจากบริษัทผลิตเลนส์คุณภาพสูง และพยายามสมัครงานใหม่ในตำแหน่งซาวด์เอนจิเนียร์ แต่ก็ไม่สำเร็จ พ่อของเลห์มันน์ได้งานเป็นพนักงานรถเข็นในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ส่วนเลห์มันน์ต้องดูแลตัวเองตั้งแต่เล็ก ทั้งทำอาหาร ทำการบ้าน โดยมีเพื่อนบ้านคอยดูแลเธอแทนพ่อให้อยู่ห่างๆ ความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างเสริมมุมมองส่วนตัวทางการเมืองให้เธอ เลห์มันน์เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ เธอเล่าว่า ในย่านคอมมิวนิสต์ที่โตมา ผู้คนจะมารวมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน ปัจจุบันธรรมเนียมปฏิบัตินั้นยังคงหลงเหลืออยู่ แม้ว่าลัทธิทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์จะล่มสลายลงไปแล้ว
“คนเยอรมันฝั่งตะวันตกแทบไม่เข้าใจเลยว่าการไปมาหาสู่กันระหว่างสองฝั่งมีความหมายอย่างไรในสายตาของคนฝั่งตะวันออก” เธอกล่าวขณะเดินผ่านตึกรามในเมืองเยนา (Jena) รัฐทูรินเจีย (Thuringia) ถิ่นเก่าที่เธอเคยอาศัยหลังเยอรมนีกลับมารวมประเทศอีกครั้ง
แม้กำแพงจะพังทลายและกลับมารวมชาติกันได้ครบ 30 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันกรุงเบอร์ลินตะวันออกก็ยังตามหลังฝั่งตะวันตกอยู่มาก ภาวะ ‘สมองไหล’ จากการอพยพของคนหนุ่มสาวเมื่อครั้งรวมประเทศใหม่ๆ ทำให้เบอร์ลินตะวันออกประสบปัญหาสังคมสูงวัย อัตราค่าแรงฝั่งตะวันออกน้อยกว่าอีกฝั่งถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่แทนที่ค่าแรงต่ำแล้วจะมีงานทำมากกว่า อัตราการว่างงานของคนฝั่งนี้กลับพุ่งทะยานจาก 4.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคม มาเป็นตัวเลขใหม่ที่สูงใกล้เคียงกับฝั่งตะวันตก
‘เส้นแบ่ง’ ที่ยังอยู่
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปตะวันตกได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ‘แผนฟื้นฟูยุโรป’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘แผนการมาร์แชลล์’ (Marshall Plan) ให้บูรณะเศรษฐกิจตะวันตกขึ้นใหม่ ในขณะที่คนยุโรปตะวันออกได้แต่ทำตาปริบๆ ขณะมองกองทัพแดงแห่งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Red Army) ขนเครื่องจักรอุตสาหกรรมขึ้นเรือกลับไปยังดินแดนโซเวียต
ปัจจุบันก็แทบไม่ต่าง เงินจากผู้มั่งคั่งหลั่งไหลไปยังธนาคารที่แฟรงก์เฟิร์ต เมืองที่ร่ำรวยที่สุดในสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศทางฝั่งตะวันออกอย่างกรีซประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ซ้ำยังต้องรองรับผู้อพยพจากซีเรียจำนวนมาก แผลเป็นจากการรวมชาติเยอรมนีกะทันหันในครั้งนั้นถูกกระตุ้นอีกครั้งด้วยพิษเศรษฐกิจในยุคที่ความคิดแบบโลกาภิวัตน์ (globalization) และประชานิยม (populism) กำลังฟาดฟันกันอย่างดุเดือดในประเทศตะวันตกทั่วโลก
ในปี 1991 หนึ่งปีหลังจากเยอรมนีรวมชาติได้อย่างเป็นทางการ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากร (Gross Domestic Product per capita: GDP) จากฝั่งเยอรมนีตะวันออกคิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ของฝั่งตะวันตก (หรือไม่ถึงครึ่งของ GDP ฝั่งตะวันตก) และค่อยๆ ไต่ขึ้นมาเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2018
อย่างไรก็ตาม สเตฟเฟน มาว (Steffen Mau) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยฮัมโบลท์ (Humboldt University) อธิบายว่า แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะขยับมาใกล้กัน แต่ผู้คนสองฝั่งยังมี “ทัศนคติและความคิดจิตใจที่ต่างกันอย่างมาก” เช่น มุมมองที่ผู้คนมีต่อสื่อหรือชนชั้นสูงในสังคม ความเชื่อมั่นในสถาบันทางประชาธิปไตย ความสัมพันธ์กับประเทศรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสหภาพโซเวียต หรือกระทั่งมุมมองที่คนเยอรมันมีต่อประเทศตนเอง
มาวกล่าวว่า หากถามคนเยอรมันตะวันตก มักได้รับคำตอบว่าความแตกต่างเหล่านั้นไม่มีอีกแล้ว แต่หากลองถามคำถามเดียวกันกับคนเยอรมันตะวันออก คำตอบที่ได้รับคือความต่างอย่างมากระหว่างคนสองฝั่งเมืองนั้นยังคงอยู่ โดยคนฝั่งตะวันออกมักมองตัวเองเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ ทั้งที่อยู่ในประเทศตนเอง เช่น มีรายได้ต่อเดือนราว 11-33 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าฝั่งตะวันตกที่เงินเดือนเริ่มต้นที่ 33 ไปจนถึงมากกว่า 55 ดอลลาร์
ที่น่าสนใจคือ เด็กนักเรียนในฝั่งเยอรมนีตะวันออกมักมีผลการเรียนคณิตศาสตร์และการอ่านที่ดีกว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) อธิบายว่า เป็นเพราะโรงเรียนคือสถานที่ที่เด็กชาวเยอรมันจะภูมิใจกับการเป็น ‘คนตะวันออก’ ของตัวเอง
OECD ยังบอกอีกว่า เดิมเยอรมนีตะวันตกนิยมแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ตามความสามารถ แต่ภายหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย เยอรมนีตะวันออกก็กระตือรือร้นที่จะปฏิรูปการศึกษาทุกอย่างให้เป็นแบบตะวันตก จนทำให้ระบบการศึกษาในฝั่งตะวันออกที่เคยยืดหยุ่นกลับเหลื่อมล้ำมากกว่าฝั่งตะวันตกด้วยซ้ำไป
เศรษฐกิจตกต่ำทำให้คอมมิวนิสต์เปลี่ยนเป็นขวาจัด
ที่ผ่านมาชาวเยอรมันตะวันออกเคยภาคภูมิใจกับการมี อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นักวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวไปเป็นนักการเมืองเป็นตัวแทนทางการเมืองที่ยืนหยัดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์/สังคมนิยมมาตั้งแต่สมัยปี 2005 เธอก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงสมัยแรก และชนะการเลือกตั้งเรื่อยมาจนสมัยที่ 4
เวลาผ่านไปเกือบ 15 ปีต่อมา ความภาคภูมิใจของชาวเยอรมันตะวันออกก็เริ่มก้าวสู่ช่วงขาลง แมร์เคิลกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่จัดการสถานการณ์การเมืองในแต่ละวันด้วยความขลุกขลัก และเริ่มแตกคอกับรัฐมนตรีในคณะของตัวเอง แนวโน้มการกลับมาของกระแสฝ่ายขวาและชาตินิยมแพร่ไปทั่วโลก โดยยิ่งแพร่ไปเร็วขึ้นและมากขึ้นในประเทศเยอรมนี
แนวคิดชาตินิยมเริ่มกลับมาเป็นกระแส ทั้งนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America Fisrt) ของ โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่แสดงถึงการให้ความสนใจกับประเทศตนเองก่อนประเทศอื่นๆ หรือมติ Brexit การตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษด้วยเหตุผลที่ว่าอังกฤษไม่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มเท่าที่ควรได้ ก็ทำให้ผู้คนในฝั่งตะวันออกเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลมากเท่าที่รัฐบาลอุทิศเวลาไปดูแลพวกคนรวย หรือพวกต่างชาติ
ความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวเยอรมันตะวันออกสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งรัฐทูรินเจียครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา พรรคฝ่ายขวา Alternative for Germany (AfD) ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเสียง 28 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรค Social Democrats ของ ไดอานา เลห์มันน์ รั้งมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่รัฐทูรินเจียเคยเป็นรัฐคอมมิวนิสต์มาก่อนในสมัยสงครามเย็น
ต่างจากเลห์มันน์ที่ยังคงเชื่อในแนวคิดคอมมิวนิสต์ มาวอธิบายปรากฏการณ์ที่คนจากฝั่งตะวันออก ซึ่งเคยถูกปกครองในระบอบซ้ายจัดแบบคอมมิวนิสต์มีแนวโน้มจะเลือกพรรคที่เป็นฝ่ายขวาจัด เช่น พรรค AfD ว่าเป็นเพราะความทุกข์ยากในอดีตเมื่อครั้งรวมประเทศ เช่น การตกงาน การอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่มั่นคงเป็นเวลานาน วิกฤตการณ์ในชีวิต รวมถึงความพยายามที่จะไล่กวดสังคมรอบข้างให้ทัน ทำให้ผู้คนบางส่วนหวงแหนผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากสังคมอีก และมองว่าประชานิยมแบบฝ่ายขวา (populism) ช่วยปกป้องผลประโยชน์ ดินแดน และวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก: bloomberg.com edition.cnn.com bbc.com |