7 ปีแล้วที่ คสช. ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างประชาธิปไตย ทำลายระบบยุติธรรม
ก่อนรัฐประหาร 2557 ผูัคนจำนวนไม่น้อยเคยเห็นดีเห็นงาม ยินยอมเปิดทางให้คณะทหารเข้ามาปกครอง ด้วยเชื่อมั่นในพลังความดี ความจงรักภักดี และหวังว่าบ้านเมืองจะกลับคืนสู่ความสงบดังที่ คสช. กล่าวอ้าง
ไม่ใช่เรื่องผิดบาป หากใครจะเคยให้การสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนั้น ทั้งด้วยเหตุผลของความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยความเข้าใจผิดในหลักการ ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล และการถูกกล่อมเกลาด้วยระบบการศึกษาและโฆษณาชวนเชื่อมาตลอดทั้งชีวิต
ใช่ว่าทุกคนจะรอบรู้เรื่องการเมืองเหมือนกันหมด คนเราจึงย่อมผิดพลาดกันได้เสมอ
หลังรัฐประหารผ่านไป 7 ปี หลายคนเริ่มกระจ่างแก่ใจแล้วว่า สิ่งที่ประยุทธ์พูด กับสิ่งที่ประยุทธ์ทำ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องตรงข้ามกันแทบทั้งสิ้น หลักการประชาธิปไตยถูกทำลายลงอย่างราบคาบ การบริหารราชการบ้านเมืองพังพินาศยิ่งกว่าที่คิด
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ความคิดของคนก็เปลี่ยนได้เช่นกัน
นี่คือเสียงสะท้อนของคนตัวเล็กๆ ที่กล้าออกมาเผชิญความจริงและยอมรับอย่างผ่าเผยว่า ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยคิดผิด
7 ปีที่ผ่านมา นานเกินพอแล้วที่จะกลับใจ
เต๋า-นนทเดช บูรณะสิทธิพร
The Rock Pub
ก่อนและหลังรัฐประหาร อะไรคือจุดเปลี่ยนที่แตกต่าง
เมื่อก่อนผมไม่ได้ใส่ใจการเมืองมากนัก เรียกว่าเป็น ‘Ignorance’ ก็ว่าได้ เราสนใจการเมืองแค่ตามน้ำตามกระแสเท่านั้นเอง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารของ คสช. ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึก ‘เอ๊ะ’ ทางการเมือง ว่ามันกำลังมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้นทำให้เราทะเลาะเรื่องการเมืองกับครอบครัว แต่จากการที่ไม่เคยศึกษามาก่อน เราจำได้ว่าเราเคยพูดถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “ไม่เป็นไร เขายึดไปแล้ว แต่อย่าอยู่ต่อนะ เพราะมันจะพิสูจน์ทุกอย่าง” หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ได้ติดตามศึกษาการเมืองเพิ่มเติม
ทำไมประชาชนถึงควรสนใจการเมือง
ผมมองว่าคนที่ไม่สนใจการเมืองมี 2 ประเภท ประเภทแรก คือคนที่มีชีวิตดีอยู่แล้วและไม่เดือดร้อน กับประเภทที่สอง คือต้องทำงานหนัก ต้องทำมาหากินจนไม่มีเวลาได้สนใจการเมือง
ผมเชื่อประโยคที่ว่า “วันที่การเมืองไม่อยู่ในชีวิตคุณ คือวันที่คุณตาย” เพราะมันคือทุกอณูของชีวิต ถ้าคุณพูดว่าคุณไม่สนใจการเมืองก็คือคุณไม่สนใจชีวิต แต่ถ้าชีวิตคุณดีอยู่แล้ว เลยไม่สนใจการเมือง นั่นแปลว่าคุณไม่สนใจชีวิตคนอื่น ยิ่งเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ขึ้น ยิ่งพิสูจน์ว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราได้เป็นอย่างดี
คิดเห็นอย่างไรกับการ Call out
ผมเข้าใจว่า คนที่เป็น Ignorance เขาอาจจะมองการเมืองจากฐานอาชีพของตนเองเป็นหลัก คนแบบนี้มีอยู่ทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่ดารา แม้แต่ในวงการของผมเองก็มี คือเขาอาจจะคิดเห็นอะไรเหมือนเรา แต่ไม่ได้ออกมาพูด เพราะจะกระทบกับอาชีพของเขา
แต่ผมมองว่า เราต้องดูว่าอาชีพที่เขาทำนั้นหล่อเลี้ยงปากท้องเขาจากอะไร จากสังคมจากประชาชนหรือเปล่า วันที่สังคมถูกทำร้ายมันก็จะวัดกันได้ว่า คุณจะเอาแต่ได้อย่างเดียวหรือเปล่า สิทธิในการออกมาพูดนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย แต่แน่นอนว่า การอยู่เฉยก็มีราคาเช่นกัน
คิดเห็นอย่างไรกับสภาวะ ‘กลับใจ’
ขั้นแรกต้องยอมรับการโดนด่าก่อน เพราะการยอมรับผิด มันเริ่มมาจากการที่คุณทำผิด ดังนั้นขั้นแรกต้องยอมรับก่อนว่าคุณจะต้องโดนคนอื่นด่า เพราะสิ่งที่คุณทำมันผิดจริงๆ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในส่วนที่ทำให้เกิดการเพิกเฉยต่อการสร้างความรุนแรงและฆ่าคนตายด้วยเหตุผลทางการเมือง
ผมมีโอกาสได้ไปพบเจอและขอโทษพี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ครั้งหนึ่งที่ผมเพิกเฉยต่อการสังหารหมู่คนเสื้อแดง ขอโทษที่ผมไม่เคยสนใจพวกเขาว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ควรจะถูกสังหาร ปัจจุบันนี้หากผมเจอใครก็ตามที่ได้ต่อสู้มานานนั้น ผมก็ยังอยากขอโทษพวกเขาอยู่
เมื่อก่อนเราอาจจะมองการเมืองว่ามันมีสี มีฝ่าย มีแกนนำต่างๆ แต่ทุกวันนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว กลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม การ ‘กลับใจ’ นั้น ผมมองว่าไม่ใช่การเปลี่ยนฝั่ง แต่มันคือการลืมตากลับคืนมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง และไม่มีวันสายเกินไป
ไอซ์-รักชนก ศรีนอก
ธุรกิจส่วนตัว
มุมมองทางการเมืองก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหารเป็นอย่างไร
เท่าที่จำได้คือตอนเราเรียนมหา’ลัย มีการพูดถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เราก็ยังไม่เข้าใจการเมืองทั้งหมด เรารู้ว่ามีเสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วเราอยู่ฝั่งเสื้อเหลือง เพราะว่าเสื้อเหลือง กปปส. หรือพันธมิตรฯ เขาออกตัวว่าเขารักเจ้า เป็นฝั่งที่ทำเพื่อสถาบัน เราก็รู้สึกเราเป็นคนหนึ่งที่ royalist รักสถาบันเหมือนกัน ดังนั้นเราก็เลือกที่จะสนับสนุนเขา ส่วนเสื้อแดงคือฝั่งที่โดนโจมตีว่าล้มเจ้า ด้วยความที่เรารักสถาบัน ใครเป็นควายแดงล้มเจ้า เราก็ด่าหมด ตอนที่ กปปส. ชุมนุมแล้วเกิดรัฐประหาร เราก็คิดว่าดีแล้ว เพราะตอนนั้นการชุมนุมมันยืดเยื้อและมีข่าวทุกวัน เรารู้สึกเบื่อ เลยทำให้รู้สึกว่ารัฐประหารสักทีบ้านเมืองจะได้สงบ ซึ่งมันดูตื้นเขินมากเลยถ้ามองในตอนนี้ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ลงลึกว่าอะไรเป็นอะไร รู้แค่ว่าลุงตู่รักสถาบันก็พอแล้ว เรามองแค่นั้นในตอนนั้น
อะไรคือจุดเปลี่ยนทางความคิด
มันไม่มีจุดที่เปลี่ยนไปเลยทันที คือมันค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด แต่เรียกได้ว่าตอนนี้เราอยู่ฝั่งประชาธิปไตย
เมื่อก่อนเราเคยโพสต์เชียร์ลุงตู่ แล้วมีเพื่อนเข้ามาบอกว่า รัฐประหารจะทำให้ประเทศล้าหลังไป 10 ปี แล้วก็บอกว่าการทำให้ประเทศสงบสุขด้วยวิธีนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะเหมือนการเอากระบอกปืนมาจ่อว่าห้ามคุณพูด มันไม่ใช่สันติที่แท้จริง ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าไม่เห็นจะจริง แต่มันก็มีเอ๊ะๆ บ้าง
เราเคยแชร์โพสต์คุณทองแดงเลียหน้าลุงตู่ แล้วก็บอกว่านี่แหละนายกฯ ที่คู่ควร ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า แค่หมาเลียหน้าก็แปลว่ามีความชอบธรรมแล้วเหรอ แค่หมาเลียหน้าก็แปลว่าเป็นคนดีแล้วเหรอ เราก็เริ่มรู้สึกว่า เออ…จริงด้วย แค่หมาเลียหน้าเอง
อีกช่วงคือตอนรณรงค์รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ช่วงนั้นแตกออกเป็นสองฝ่าย ตอนนั้นฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับ เขาเรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย โดนจับ โดนคุกคาม โดนปรับทัศนคติบ้าง เราก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมแค่รณรงค์ต้องโดนขนาดนี้ ก็เริ่มรู้สึกว่ารัฐประหารมันมีปัญหา แต่เราก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร แต่ก็รับรู้หมด แล้วก็มาเจอทวิตเตอร์ที่เขาถามว่า ใครเซ็นรัฐประหาร 11 ครั้ง ใน 13 ครั้ง เป็นประโยคสั้นๆ แต่มัน enlightenment ขึ้นมาเลยว่า ทำไมเราไม่เคยคิดมาก่อน ว่าการรัฐประหารมันมีการเซ็นรับทราบด้วย มีคนเคยบอกว่ากษัตริย์สเปนเขาต่อต้านรัฐประหารโดยการไม่ยอมเซ็น แล้วสุดท้ายรัฐประหารก็ไม่สำเร็จ แต่ทำไมประเทศเรารัฐประหารกี่ครั้งมันก็สำเร็จทุกครั้ง
ยากแค่ไหนในการ ‘กลับใจ’
มันเป็นความผิดของตัวเรา แต่ถ้ามองในระดับประเทศมันก็ไม่ใช่แค่เราที่เป็น และเราก็ไม่ได้เป็นแบบนี้เพราะเราอยากเป็น เราไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นสลิ่มเลย แต่ตั้งแต่เกิดมา เข้าโรงเรียนก็จะเจอเพลง เจองานสำคัญต่างๆ ที่ต้องเขียนเรียงความชื่นชมสถาบัน มีเทศกาลประกาศความรักสถาบันอยู่ตลอดเวลา หรือแม้แต่แบบเรียนประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาก็เป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
บางคนอาจเป็นสลิ่มเพราะเขาเลือกแบบนั้น แต่บางคนเป็นสลิ่มเพราะเขาโดนระบบทำให้เป็นแบบนั้น ซึ่งสำหรับเรามันคือโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เรามองด้านเดียว แต่คนเราต้องใช้ชีวิตอย่างมีหลักการ ไม่ว่าจะเป็น royalist, liberal หรือ pro-democracy หมายความว่า คุณมีหลักการของความถูกต้อง หลักการของสิทธิมนุษยชน หลักการของการเคารพความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหน ถ้าฝั่งเดียวกันทำผิด เราก็ต้องแก้ไขกันเองด้วย ไม่ใช่ปล่อยผ่าน หรือถ้าไม่ชอบอีกฝั่งเพราะเขาเห็นต่าง แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างการอุ้มหาย การคุกคามเสรีภาพของคนอื่น มันก็เป็นหลักการพื้นฐานที่เราต้องยึดถือ ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามแล้วจะถูกกระทำเป็นหมูเป็นหมา โดนกระทืบ โดนคุกคามอย่างไรก็ได้ เราคิดว่าทั้งสองฝั่งต้องพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริง และรับฟังกัน
ทำไมสิทธิเสรีภาพจึงสำคัญสำหรับเรา
เสรีภาพเป็นเหมือนลมหายใจของเรา มนุษย์ทุกคนควรที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมเสรีภาพ คือคุณควรจะมีเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ควรมีเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต เสรีภาพในการแสดงออก คุณอาจไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญก็ได้ ถ้าตราบใดที่คุณยังไม่โดนกระทำ แต่ที่เราเห็นว่ามันสำคัญเพราะตอนนี้เราโดนพรากสิ่งเหล่านี้ไป เราไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เราไม่สามารถแสดงออกได้ว่าเราต่อต้านอะไรบางอย่างในสังคม ถ้าเราแสดงออกแล้วเราจะโดนรัฐคุกคาม เราจะโดนคนเห็นต่างคุกคามหรือล่าแม่มด เราไม่มีสิทธิเสรีภาพในการพูดบางอย่างเพราะมันมีกฎหมายบางอย่างที่ไม่ให้เราพูด เราไม่มีเสรีภาพในการเลือกจะใช้ชีวิต
อย่างเช่นเรื่องวัคซีน เรารู้สึกว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรจะเลือกได้ว่าจะฉีดตัวไหน มีสิทธิเลือกได้แค่จะฉีดหรือไม่ฉีด ซึ่งถ้าบางคนเขาไม่เห็นว่าตรงนี้มันสำคัญ หรือไม่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ เขาก็จะไม่เห็นว่าเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกว่าการได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากเป็น คุณก็จะเห็นคุณค่าของคำว่าเสรีภาพว่ามันสำคัญอย่างไร
หมิว-สิริลภัส กองตระการ
นักแสดง
ก่อนรัฐประหารมีมุมมองทางการเมืองอย่างไรบ้าง
เมื่อก่อนเราเป็นอีกฝ่ายหนึ่งค่อนข้างชัดเจน เรียกง่ายๆ ว่าเป็นสลิ่ม สลิ่มแบบตัวเอ้เลยก็ว่าได้ ใครมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันคือไม่ได้เลย แตะไม่ได้ เกลียดผู้นำประเทศตอนนั้น เกลียดพรรคการเมืองตอนนั้น เพราะคิดว่าจะมาล้มเจ้า จะมาโกงกิน จะมาขายชาติ
สมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลออนไลน์ที่ทั่วถึงเนอะ ข้อมูลก็จะมาจากหนังสือพิมพ์ เว็บ Pantip ทีวี แล้วก็วิทยุ แต่ส่วนมากจะเสพข่าวจากทีวีกับเพจเฟซบุ๊ค ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เฟสบุ๊คเกิดใหม่ๆ เลย
หลังจากรัฐประหาร อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเปลี่ยนข้าง
จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนว่าหมิวไม่ได้ออกไปไล่ใคร แต่ในความคิดหมิว มันคือสิ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติกำลังพัง ตอนนั้น (ก่อนรัฐประหาร) เราเข้าใจว่าพรรครัฐบาลคือพวกขายชาติ ทำให้ชาติพัง และกำลังจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เราเลยออกไปคัดค้านเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราไม่เอารัฐบาลนี้ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน คือเราเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศห่วย กำลังจะขายชาติ ประเทศชาติกำลังจะพังลง เราก็เลยออกไปแสดงจุดยืนเพื่อบอกว่าเราไม่เอารัฐบาลนี้
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร รู้สึกถึงผลกระทบอย่างไรบ้าง
เอาจริงๆ เพิ่งมารู้สึกว่าประเทศเราหยุดเดินเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะเราต้องเสียภาษีตลอด บางปีรู้สึกว่าเราเสียเยอะมากในระดับหลักแสน ก็เลยมาคิดว่า เอ๊ะ! แล้วภาษีที่เสียไปนี่มันไปไหนบ้าง จากนั้นจึงเริ่มติดตาม ศึกษา ค้นคว้า ก็เลยรู้สึกว่า ‘อ๋อ’ ยิ่งเข้าไปดู ยิ่งเห็นความไม่ซื่อสัตย์ ความหน้าด้านของรัฐบาลนี้ มันเห็นได้ชัดเลยว่า เขาไม่เคยเห็นหัวประชาชนเลยสักนิดเดียว
ช่วงที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เรารู้สึก ‘เอ๊ะ’ เพราะในขณะที่คนเสื้อเหลืองต่างสะใจและเห็นว่าสมควรแล้ว เรารู้สึกว่าทำไมถึงทำกันขนาดนี้เลยเหรอ แต่ก็ยังคิดอยู่ว่าพวกที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้ววัน Big Cleaning Day เรายอมรับตรงๆ เลยว่า เราไปทำแต่เช้าตรู่ โดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่านั่นคือการทำลายหลักฐาน ตอนนั้นเราคิดแค่ว่ากรุงเทพฯ มันเละเทะมากเพราะคนต่างจังหวัด เราต้องกลับไปกู้เมืองของเราให้กลับมาสะอาดเหมือนเดิม แต่ในขณะที่เราทำ เราก็สงสัยว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ เขามีอาวุธขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วยิ่งมีข่าวว่ามีคนถูกยิงเสียชีวิตโดยที่ไม่มีอาวุธ เรายิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่เลยว่าทำไมถึงทำกันขนาดนี้
ทีนี้เมื่อปัจจุบันมีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม หมิวเลยรู้สึกว่ามันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล คือการสลายม็อบมันต้องมีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มาทำรุนแรงแบบนี้เลย แต่สิ่งที่เราเห็นคือการกระทำรุนแรงต่อคนที่ไม่มีอาวุธ ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว
อีกอย่างหนึ่งคือ การที่เราได้ออกไปทำงาน ได้พบเจอชาวบ้านหรือผู้คนที่เขามีปัญหาจริงๆ เรายิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ ก็รู้สึกว่าทำไมประเทศเราถึงเหลื่อมล้ำขนาดนั้น คนรวยก็รวยฉิบหาย คนจนก็จนติดลบไปเลย เราเคยถามชาวบ้านว่า “พี่ทำงานทุกวัน พี่ไม่มีเงินเก็บเลยเหรอ” เขาบอกไม่มีเงินเก็บเลย เพราะเป็นหนี้นอกระบบ ต้องส่งดอกทุกวัน ไม่สามารถไปกู้ในระบบได้ เพราะไม่มีเอกสาร ไม่รู้ขั้นตอน ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะกู้ได้ ไม่ใช่เขาไม่ขยันนะคะ แต่ทางออกของเขามีแค่นั้นจริงๆ
เด็กคนหนึ่งที่เรียนดี แต่สุดท้ายต้องออกจากการเรียนเพื่อดูแลแม่ที่ป่วย เพราะไม่มีสวัสดิการสาธารณสุขของรัฐ ครอบครัวหนึ่งต้องทำงานหนักทั้งเดือนเพื่อผ่อนค่ารถ จะได้มีรถขับพาลูกไปโรงพยาบาลได้
เราก็เลยมานั่งคิดว่า ทำไมระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยถึงเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่เราเสียภาษีมากขนาดนี้ แต่คุณภาพชีวิตของคนกลับแตกต่างกันมากเลย
ช่วงที่มีกระแส Call out ในฐานะที่เป็นดารา ตัดสินใจยากแค่ไหนที่จะออกมาแสดงความเห็น
ถ้าใครติดตามเฟซบุ๊คหมิวจะรู้ว่าหมิวทำแบบนี้มานานมากแล้ว วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่มาเป็นประเด็นในวันที่หมิวขับรถไปรับส่งคนในม็อบ เชื่อไหมว่าวันนั้นหมิวไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ฝ่ายไหน อยู่ข้างไหน จำได้ว่าตอนนั้นนั่งฟัง Clubhouse อยู่ แล้วเขาบอกว่าตอนนี้ต้องยุติการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมหารถกลับบ้านไม่ได้เลย แท็กซี่ก็โดนสกัด ทางไปรถไฟฟ้าก็โดนปิด รถเมล์ก็ไม่วิ่งแล้ว สิ่งที่หมิวคิดอย่างเดียวคือ เรามีรถอยู่แล้ว บ้านอยู่ดอนเมืองขับไปดินแดงแค่นี้มันไม่ไกลเลยนะ แค่ส่งเขาไปให้ถึงจุดที่เขาจะกลับบ้านได้แค่นั้น ความมีมนุษยธรรมน่ะค่ะ แค่นั้นเอง
กลายเป็นว่ามีสำนักข่าวหนึ่ง หมิวขอไม่เรียกว่าเป็นสื่อก็แล้วกัน เขาไปเสนอว่าหมิวสนับสนุนม็อบ แล้วก็พูดลดทอนคุณค่าหมิวให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งหมิวถูกสอนมาว่าอย่าไปทำใครก่อน แต่ถ้ามีคนเดินมาตบหน้าหมิว หมิวตบกลับทันที เพราะฉะนั้นหมิวไม่ยืนนิ่งๆ ให้เขาทำอยู่แล้ว ก็เลยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา
7 ปีรัฐประหาร อยากบอกอะไรกับคนอื่นบ้าง
หมิวขอพูดถึงคนที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ในสังคมประชาธิปไตยเราไม่มีสิทธิไปบังคับเขาอยู่แล้วว่าเขาต้องออกมา หมิวอยากฝากบอกถึงคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยว่า
สิ่งที่เราทำได้คือทำเสียงเราให้ดังพอ ให้คนอีกฝั่งหันกลับมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ไปบังคับว่าเธอต้องมาอยู่ฝ่ายฉัน ไม่ใช่การฉุด ลาก จูง แต่เป็นการทำให้เขาเห็นแล้วเกิดความสงสัย ให้เขาเข้ามาดูว่าปัญหาคืออะไร แล้วเราค่อยให้ข้อมูลเขา หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของเขาว่าจะตัดสินใจอยู่ฝั่งไหน นี่คือหลักของประชาธิปไตย
หมิวอยากให้กำลังใจศิลปินทุกคนที่ออกมาแสดงจุดยืน หมิวเข้าใจว่ามันมีผลกระทบอะไรบ้าง เพราะหมิวเองก็โดนมาเหมือนกัน อยากให้กำลังใจทุกคนว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย แต่สักวันหนึ่งมันต้องเป็นวันของเราค่ะ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา นอกจากจะเป็นหมอรักษาคนป่วยแล้ว เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ภาพจำต่อนายแพทย์ผู้นี้จึงไม่ใช่เพียงภาพใดภาพหนึ่งเท่านั้น
วันที่ 14 สิงหาคม 2563 ปรากฏสเตตัสบนเฟซบุ๊คของนายแพทย์สุภัทร ข้อความนั้นกล่าวถึงความผิดพลาดในอดีตเมื่อครั้งที่เขาคือหนึ่งในผู้สนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. และเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่สร้างหายนะต่อประชาธิปไตย
โพสต์ของเขาถูกทัวร์ลงในเวลาไม่นานหลังจากเผยแพร่สู่สาธารณะ มีทั้งคำด่า คำขอบคุณ คำชื่นชม และการให้อภัย อีกทั้งเขายังถูกกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจากสเตตัสดังกล่าว
แน่นอนว่า ผลที่ตามมานั้นมีทั้งก้อนหินและดอกไม้จากผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง ข้อความถัดจากนี้จึงว่าด้วย ‘คำขอโทษจากหัวใจ’ ในวันที่บริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป และในวันที่เขาสามารถคลี่คลายตัวตนอย่างกระจ่างแจ้ง
สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
14 สิงหาคม 2563
“จากปรากฏการณ์ความตื่นตัวและความกล้าหาญของนักศึกษาและนักเรียนทั่วไทย ที่ออกมาแสดงเชิงสัญญะในการเรียกร้องให้เผด็จการอำนาจนิยมในระบอบประยุทธ์และพวกลงจากอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ผมต้องทบทวนตนเอง ทบทวนวิธีคิดของตนเอง และผมต้องยอมรับความจริงว่า
“ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ไปกวักมือเรียกทหารมา ทำให้เกิดการรัฐประหาร และสานต่ออำนาจอย่างฉ้อฉลมาถึงปัจจุบัน
“ผมคือส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่สร้างหายนะทำให้ประชาธิปไตยต้องถอยหลังไปอีกหลายสิบปี
“ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมาจากการรัฐประหาร คสช. เสียงเหล่านี้ดังอยู่ในหูของผมมาตลอด ดังบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่จังหวะชีวิตและสถานการณ์บ้านเมือง การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของผมในขบวน กปปส. นั้น ความตั้งใจของผมและพี่น้องจำนวนมาก มุ่งหวังเห็นการปฏิรูปและเห็นประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้า ทุกคนขับเคลื่อนอย่างมีความหวัง โดยที่ไม่ตระหนักเลยว่า การไม่ยอมรับการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนั้นซึ่งเป็นทางออกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย จะเท่ากับการสร้างเงื่อนไขและส่งเทียบเชิญให้กับคณะรัฐประหาร จนนำมาสู่การรัฐประหาร คสช. และฟื้นฟูระบอบทหารอำนาจนิยมและรัฐราชการ จนประเทศไทยถอยหลังไปนับสิบปี และเป็นภาระให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องมาต่อสู้อย่างกล้าหาญในวันนี้
“หลังจากที่ผมไปสังเกตการณ์ในเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ผมต้องกล่าวคำว่า ขอโทษกับน้องนักเรียนนักศึกษาและทุกคนในสังคมไทย ที่ผมได้เข้าร่วมการชุมนุม กปปส. จนนำมาซึ่งการรัฐประหารในครั้งนั้น
“ผมตระหนักชัดแล้วว่า ไม่มีหรอกทางลัดสำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคม อำนาจพิเศษใดๆ เช่น รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกิจ ก็คืออีกอำนาจเผด็จการชนชั้นนำหนึ่งทั้งสิ้น ก้าวไม่ข้ามและวนในวงจรเดิม การเปลี่ยนแปลงใหญ่ต้องขยับจากฐานราก ต้องกระเพื่อมมาจากประชาราษฎร์ ต้องไม่ส่งไม้ผลัดให้กับทหารหรือชนชั้นนำ ต้องอดทนตามหนทางในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงส่วนมากของสังคม
“ในวันนั้น ผมออกนอกลู่นอกทาง หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางลัด ซึ่งไม่มีจริง และยังถูกฉกฉวยพลังและความคาดหวังของประชาชนไปเสวยอำนาจในนามเผด็จการ คสช. ที่เลวร้าย
“นี่คือคำขอโทษจากใจ วันนี้ผมมีความสุขแล้วที่ได้ปล่อยวางอัตตาที่ผมได้ถือไว้ตลอดหกปี และผมก็ยืนยันที่จะเป็นอีกหนึ่งพลัง ในการร่วมขบวนการกับน้องๆนักศึกษาในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทยให้ก้าวข้ามจากอำนาจเผด็จการอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประเทศไทยนับจากวันนี้ไป จะต้องไม่เหมือนเดิม”