8888 Uprising ยังอวลกรุ่นในนิยายพม่า: สารจากนักต่อสู้รุ่นพี่

ดูเหมือนว่าเขาอยากจะหากระจกสักบานหนึ่งมามอบให้เขาและเธอ ไม่ใช่ให้เอาไว้ส่องสำรวจดูเรือนร่างหรอกนะ แต่ให้เอาไว้สะท้อนส่องร่องรอยประทับหนหลัง ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ เผื่อว่าลืมไป ไม่รู้ หรือมองไม่เห็น …

มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยพลัน เมื่ออ่านเรื่องของเขาจบลง

นิยายเรื่องที่ว่านี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า เน่าก์จิ๊หม่าน (နောက်ကြည့်မှန်) แปลว่า กระจกมองหลัง แต่งโดย มิน โก่ หน่าย (မင်းကိုနိုင် / Min Ko Naing) เขามีชื่อจริงว่า ป่อ อู ทุน (​ပေါ်ဦးထွန်း) นิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 หรือที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์พม่าในชื่อ เหตุการณ์ ชิดเลโลง (၈ လေးလုံး) หรือ 8888 อันเป็นวันที่นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์รวมกันนับล้านคนออกมาชุมนุมอย่างสันติที่เมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของ นายพลเนวิน ที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 26 ปี โดยสะสมด้วยความคับข้องใจของชาวบ้านร้านตลาด ที่ปีก่อนหน้านี้ อยู่ๆ รัฐบาลก็ประกาศให้ธนบัตรเงินจั๊ตบางหน่วยมีค่าเป็นศูนย์ในเย็นวันหนึ่ง

ปี 1964 ประเทศพม่าเกิดภาวะเงินเฟ้อ และรัฐบาลนายพลเนวินแก้ไขปัญหานั้นด้วยวิธีที่ไม่มีใครกล้าเลียนแบบ ด้วยการยกเลิกธนบัตรใบละ 100 จั๊ต และ 50 จั๊ต โดยไม่มีการชดใช้มูลค่าใดๆ ให้แก่ประชาชนเลยทั้งสิ้น เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำซากในปี 1985 และ 1987 ซึ่งในครั้งหลังสุดนั้น รัฐบาลประกาศยกเลิกธนบัตรใบละ 25  35 และ 75 ซึ่งเป็นธนบัตรย่อยที่ประชาชนส่วนมากในพม่าถือครอง ทำให้เงินในตลาดของพม่าหมดค่าอย่างสิ้นเชิงไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ความไม่พอใจของประชาชนมีมาอย่างต่อเนื่อง จนเค้าลางของความรุนแรงเริ่มก่อตัวในเดือนมีนาคมปี 1988 เมื่อกระสุนของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงพุ่งทะลุร่างของนักศึกษาชายสถาบันเทคโนโลยีแห่งย่างกุ้งจนเสียชีวิต ในเหตุการณ์คลี่คลายกรณีพิพาทของนักศึกษากับชาวบ้านคนหนึ่งในร้านน้ำชา ถึงแม้จะมีจุดเริ่มจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องสักเท่าไหร่ แต่มันก็นำไปสู่การรวมตัวของนักศึกษาและชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้มูลค่าของธนบัตรที่ยกเลิกโดยไม่มีเหตุผลเมื่อปี 1987 ให้แก่ประชาชน ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนโดนจับ

08.08.1988, 11 PM, Yangon, Burma

เสียงกระสุนนัดแรกของทหารดังขึ้น และดังระงมไปทั่วยาวนานถึง 4 วัน เพราะกระสุนไม่มีตา มันจึงไม่เลือกว่าจะพุ่งทะลุร่างใคร ไม่ว่าจะชายหนุ่ม คนแก่ ผู้หญิง เด็ก หรือพระสงฆ์ ล้วนได้รับสิทธิในการถูกสังหารเท่าเทียมกัน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงแตะ 10,000 คน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น กบฏคอมมิวนิสต์

5 พฤศจิกายน 1988 นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 8888 ได้จัดตั้งขบวนการ All Burma Student Democratic Front (ABSDF) เพื่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างพื้นที่ให้กับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคน ในเส้นขนานคู่กันไปนั้น ก็ได้สร้างงานวรรณกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตและการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวไปพร้อมกันเลยด้วย

นอกจากฉาก บรรยากาศ และอารมณ์ความรู้สึกอันพลุ่งพล่านที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ของหนุ่มสาวพม่าแล้ว ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ แม้นิยายตีพิมพ์หลังเหตุการณ์วันนั้นอีกหลายปี แต่ก็ยังเป็นช่วงที่เผด็จการทหารครองอำนาจและมีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มข้น กระนั้นนิยายเล่มนี้ก็พิมพ์ออกมาจนได้

ในท่ามกลางบริบททางการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพของนักเขียนและศิลปินพม่า เผด็จการทหารมิได้ทำให้แวดวงวรรณกรรมการเมืองพม่าถึงกับต้องเหือดแห้ง เหี่ยวตายไป เพียงแต่มันอาจส่งผลกระทบต่อลักษณะลีลาการเขียนบ้างไม่มากก็น้อย บริบทดังกล่าวสร้างความท้าทายให้นักเขียนพม่าสร้างสรรค์ผลงานที่แหลมคม เพื่อให้รอดจากเงื้อมเงากองเซ็นเซอร์และมั่นใจว่าจะได้รับการตีพิมพ์อย่างแน่นอน

ก็แน่ล่ะ เมื่อนักเขียนต้องประสบกับข้อจำกัดและอำนาจเบ็ดเสร็จของกองเซ็นเซอร์ ก็ต้องเลี่ยงหรือบางทีจำเป็นต้องปรับปรุงผลงานให้สอดคล้องกับกองเซ็นเซอร์ นักเขียนต้องใช้การเขียนแบบล้อเลียน อุปลักษณ์ อุปมานิทัศน์ และการเขียนในแนวทางใหม่ในเชิงอุปมาอุปไมย สารพัดวิธี

แวบแรกเมื่อหยิบ กระจกมองหลัง ขึ้นมา เห็นภาพปกหน้าซึ่งเป็นภาพกระจกมองหลังที่ติดด้านข้างของรถยนต์ ซึ่งมีทั้งหมด 4 บาน ในกระจกบานแรกสะท้อนภาพของหอประชุมมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง กระจกบานที่สองสะท้อนภาพการชุมนุมที่บริเวณเจดีย์ซูเหล่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง กระจกบานที่สามสะท้อนภาพหัวใจของคนหนุ่มสาวพม่า กระจกบานที่สี่สะท้อนภาพทหารถืออาวุธครบมือ ยิ่งทำให้แน่ใจไปอีกว่านิยายเรื่องนี้ต้องวิพากษ์เหตุการณ์นี้อย่างเข้มข้น แบบถึงพริกถึงขิงอย่างแน่แท้ทีเดียวเชียว และใช้ลูกเล่นลูกล้อเพื่อให้ได้พิมพ์เผยแพร่ และหลังจากจากนั้นก็มีฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่หน้าปกเป็นรูปหญิงสาวยืนถือถังน้ำอยู่ริมทางรถไฟ เหมือนกำลังรอคอยใครสักคน ต่อมาพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 หน้าปกเป็นรูปทางรถไฟ ข้างๆ มีจักรยานและร้านน้ำตั้งรอคอยใครสักคนหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้…

ที่คาดว่าจะเป็นอย่างนั้น  เพราะว่านักเขียน คือ มิน โก่ หน่าย เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงวันนั้น เขาเป็นแกนนำของสหภาพนักศึกษาพม่า (ဗမာနိုင်ငံလုံးဆိုင်ရာ ကျောင်းသားသမဂ္ဂများ အဖွဲ့ချုပ် / ABFSU) และเป็นแกนนำในการปลุกระดมนักศึกษาทั่วประเทศพม่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู่กับระบอบเนวิน หลังจากกองทัพออกมาปราบปรามขบวนการนักศึกษา ทำให้เขาถูกจับกุมและถูกนำตัวไปคุมขังในคุกเป็นเวลา 16 ปี

เขาเริ่มลงมือเขียนนิยายเรื่องนี้ในคุกขณะที่มีอายุ 26 ปี หลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 เขาได้เขียนบทสุดท้ายเพื่อเตรียมปิดเล่มนิยาย และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 เนื่องในวาระอายุครบปีที่ 47 ของเขา โดยการสนับสนุนของสมาคมสนับสนุนนักโทษการเมือง นิยายมีความยาว 170 หน้า แล้วมันก็เป็นนิยายเรื่องแรกของเขา เขาบอกว่าเหมือนดอกไม้ในดง ที่บางคนหลงว่าไม่สวย เอากรรไกรมาลิดเล็มมันก่อนมอบให้ใคร แต่สำหรับเขากลับรู้สึกว่าดอกไม้ในดงป่า มันสวยเป็นธรรมชาติโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องเสริมแต่งก่อนมอบให้ใคร

แต่ก็ผิดคาดไปนิด เพราะเมื่อเริ่มลงมืออ่านนิยายเรื่องนี้กลับไม่เป็นไปตามที่คิดไว้แต่แรก เนื้อหาในนิยายกลับไม่ได้ลงรายละเอียดเหตุการณ์ 8888 เลย เมื่ออ่านครึ่งแรกๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นนิยายรักๆ ใคร่ๆ ของหนุ่มสาวธรรมดา เหมือนนิยายรักกุ๊กกิ๊กของวัยรุ่นทั่วไป

เนื้อหาเป็นเรื่องราวความรักระหว่าง โหญ่ (ညို) หญิงสาวชาวบ้านป่าผู้ใสซื่อ กับ เผ่ตอง (ဖေ​သောင်း) หนุ่มนักศึกษาผู้กำลังเดินทางตามฝันและค้นหาตัวตน

บ่ายจนตะวันคล้อยเย็นแล้ว แต่ความร้อนยังระอุไม่ลดรา ใครคนหนึ่งสวมหมวกเดินดุ่มมาแต่ไกล สีหน้าท่าทางดูกระหายน้ำเต็มทน โหญ่เห็นใครคนนั้นรีบเดินปรี่เข้ามาที่ร้านน้ำหน้ารั้วบ้าน เธอจึงวิ่งลงไปต้อนรับ…”

โหญ่เป็นหญิงสาวที่ใจบุญสุนทาน เธอสร้างร้านน้ำไว้ที่รั้วหน้าบ้านหรือในที่สาธารณะ หลังเสร็จงานในตอนเช้าเธอมักนำน้ำมาเติมที่หม้อน้ำใต้ต้นจามจุรีทุกวัน ชาวพม่านิยมตั้งร้านน้ำเพื่อต้อนรับผู้ที่เดินทางผ่านมา โดยเชื่อว่าร้านน้ำเป็นเสมือนศาลาพักร้อน เป็นตู้ปันน้ำใจ และเป็นแหล่งน้ำดื่มฟรี แต่ตามธรรมเนียมต้องอนุโมทนาสาธุ เราพบร้านน้ำได้ทั่วไปก่อนการมาถึงของยุคขวดน้ำพลาสติก ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ เป็นบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ คนพุทธพม่าเชื่อว่าทำบุญด้วยน้ำได้กุศลแรงยิ่งถึง 10 ประการ ร้านน้ำนี่เองเป็นสื่อกลางที่ทำให้ เผ่ตอง มาพบกับ โหญ่ และเริ่มถักทอความสัมพันธ์ ผ่านการพูดคุยจนกลายเป็นความผูกพัน และได้รู้ตัวตนว่าเขาคือนักต่อสู้ในขณะนั้น …

แต่ผ่านมา ก็ผ่านไป ทั้งคู่ต้องพบเพื่อพรากจากกันเพราะเผ่ตองต้องเดินทางตามฝันของตัวเองที่ต้องการปลดปล่อยตัวตนและสังคมออกจากอำนาจบางอย่าง การลาจากทำให้โหญ่ผู้ซึ่งแอบหลงรักเผ่ตอง ต้องทุกข์ทรมานด้วยความคำนึง จนไม่ร่าเริงเหมือนโหญ่คนก่อน ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่านักเขียนมีน้ำเสียงฟูมฟาย หรือขึ้งโกรธอำนาจเผด็จการแต่อย่างใด บทสนทนาระหว่างโหญ่กับเผ่ตองก็มิได้แสดงออกถึงบทสนทนาทางการเมืองอย่างจริงจัง และมิได้วาดภาพให้เห็นการปะทะกันระหว่างนักศึกษาและเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 8888 อย่างที่มีในรายงานข่าว

แต่เมื่ออ่านมาถึง ตอนที่ မခင်​အေး (มะขิ่นเอ) เพื่อนสาวของโหญ่พูดกับโหญ่ในขณะที่เธอกำลังนั่งกินข้าวอย่างเหม่อลอยคิดถึงเผ่ตอง ความรู้สึกของมะขิ่นเอตอนนั้นคือ

เห็นเธอนั่งกินข้าวแบบนี้แล้ว รู้สึกใจไม่ดียังไงไม่รู้ สิ่งที่อยากบอกกับเธอตรงนี้เลย ก็คือว่า ถ้าเธอได้รับมันมาจากเผ่ตองสักนิดนึง ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เธอจะกล้าหาญ ในสายตาของฉันตอนนี้ เวลาที่ฉันเห็นเธอนั่งกินข้าว ฉันกลับเห็นเหมือนเด็กถูกตีและร้องไห้สะอึกสะอื้น น้ำตาไหล ขณะนั่งเคี้ยวข้าว ดูแล้วมันไม่สบายใจเลย…”

‘อะไร’ จากเผ่ตองนั่นคืออะไรหรือ หรือมันคือสิ่งที่เขากำลังปลุกคนรุ่นหลังให้กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ เหมือนกับที่เผ่ตองซึ่งเป็นตัวแทนของนักต่อสู้ได้เดินพุ่งสู่ฝันนั้น และยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกับโหญ่อีกทีเมื่อไหร่

น้ำเสียงเมื่อสักครู่ที่เพิ่งเงียบจบไป กำลังวิพากษ์คนรุ่นหลังจากเหตุการณ์ 8888 ว่า ไม่ควรฟูมฟาย และสยบยอม ควรรวบรวมความกล้าสักนิดและลุกขึ้นมาต่อสู้ เหมือนกับที่นักต่อสู้ในรุ่นแรกได้ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้ว และยังจะหยัดยืนที่จะก้าวอยู่บนถนนแห่งการต่อสู้ต่อไป (แม้ร่างกายจะถูกคุมขัง) ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของการต่อสู้ เพื่อให้บรรลุรอดตามประสงค์

ในตอนจบของนิยาย ครอบครัวของโหญ่ต้องย้ายที่อยู่แต่เธอก็ยังหวังว่าวันหนึ่งเผ่ตองจะกลับมาเจอเธอ เพราะเธอจะทิ้งร่องรอยไว้ คือ การสร้างร้านน้ำริมทาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความห่วงใยคนที่จากไปและเป็นการแสดงความยินดีต้อนรับการกลับมา (เช่นเดียวกับตอนที่ตัวนักเขียนถูกปล่อยออกจากเรือนจำและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี) แต่ภายหลังเมื่อเผ่ตองกลับมาตามหาโหญ่นั้น ร้านน้ำแบบพม่าโบราณก็ถูกแทนที่ด้วยขวดน้ำพลาสติกไปเสียแล้ว

กระจกมองหลัง มิได้กล่าวเสียดสีวิพากษ์อำนาจเผด็จการหรือระบอบเนวินว่าเป็นผู้ร้ายที่เป็นฝ่ายกระทำย่ำยีพระเอกนางเอก แต่เขากำลังปลุกเร้าจิตวิญญาณการต่อสู้ และส่งมอบหัวใจแห่งการต่อสู้ให้กับคนหนุ่มสาวที่อยู่ข้างหลังทุกคนให้เข้าร่วมในการต่อสู้ร่วมกัน เพื่อให้สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไหลเชี่ยวกรากต่อไป

หลังขบวนแห่ของตัวอักษรพม่าหน้าสุดท้ายผ่านเลยไปแล้ว เขาจะไปตามหาโหญ่ คนที่เขาเคยคิดว่ามีเรือนผมเหมือนหางกระรอกได้เจอไหม และจนป่านนี้มะขิ่นเอ เพื่อนของเธอก็มีลูกมีเต้าแล้ว…

ณ จุดหนึ่งนั้น นิยายเล่มนี้ก็ไม่ถึงขั้นปลุกเร้าอะไรที่ดูยิ่งใหญ่รุนแรงขนาดนั้นหรอก อย่างที่ชื่อของมันก็บอกไว้นั่นแหละ ‘กระจกมองหลัง’ หน้าที่ของมันคือกระตุกเตือนคนรุ่นใหม่ในยุคเผด็จการทหารหลังเหตุการณ์ 8888 มิให้หลงลืมเรื่องราว หรืออาจเรียกว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ ของคนรุ่นก่อนหน้า เพราะเรื่องเล่าของการต่อสู้นี้ไม่ได้รับการบอกเล่าแก่สาธารณะโดยทั่วไป นิยายเล่มนี้อาจมีหน้าที่แค่ระดับนั้น

อีกทั้งรัฐบาลทหารหลังเหตุการณ์ 8888 ก็หลีกเลี่ยงไม่อยากพูดถึงนักต่อสู้และพยายามลบลืมภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองพม่า โดยนัยนี้ ตัวบทจึงอวลกรุ่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยของคนหนุ่มสาวนักต่อสู้ ซึ่งหาสัมผัสลิ้มรสไม่ได้ง่ายเลยในเรื่องเล่ากระแสหลัก

ใช่ นิยายคือเรื่องแต่ง แต่บางทีส่วนผสมก็เอามาจากเรื่องจริงนี่แหละ

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า