ท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม เรียนรัฐศาสตร์ผ่านลูกกลมๆ ที่เรียกว่าฟุตบอล

ฟุตบอลโลก

เรื่อง: กนกอร แซ่เบ๊, รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ และ เวชะรดา มะเวชะ
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

สิ้นสุดการรอคอย มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่อย่าง ‘ฟุตบอลโลก’ ได้เกิดขึ้นแล้วในดินแดนหมีขาว รัสเซีย ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพครั้งแรก กับ ‘Russia 2018’

แต่นอกจากเรื่องความสนุกของเกมการแข่งขัน เราจะมองฟุตบอลในแง่อื่นได้อีกหรือไม่ ชาลินี สนพลาย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ชื่นชอบการชมฟุตบอลตั้งแต่วัยเด็ก จนเลือกทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเกี่ยวกับฟุตบอลไทย แฟนบอลสโมสรชลบุรีเอฟซี ขาประจำของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และเจ้าของบทความ ‘ฟุตบอล อำนาจต่างจังหวัด และพื้นที่วัฒนธรรมใหม่’ จากหนังสือ ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่ มาช่วยอธิบายถึงความเป็นมาของฟุตบอล ที่จะขยายไปถึงการใช้ฟุตบอลเพื่อสร้างชาติ หรือแม้กระทั่งแบ่งความเป็นชาติออกจากกัน

บทสัมภาษณ์ขนาดสั้นเกี่ยวกับกีฬาลูกกลมๆ นี้ ชาลินีอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของฟุตบอลที่มีผลต่อการเมืองในประเทศ และระหว่างประเทศ ไล่มาถึงประเทศไทยว่าฟุตบอลสำคัญอย่างไรทั้งในระดับทีมชาติ ทีมสโมสร และท้ายที่สุดทีมสโมสรจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้บอลไทยก้าวไกลไปบอลโลก

“ฟุตบอลโลกสี่ปีครั้ง ไปหรือไม่ไปก็ไม่เป็นไร แต่ลีกคือของเรา ลีกคือของจริง ฟุตบอลลีกคือฟุตบอลของทุกคนอย่างแท้จริง ฟุตบอลลีกจะทำให้ทีมชาติแข็งแรง”

ชาลินี สนพลาย

ทำไมฟุตบอลถึงเป็นกีฬาฮอตฮิตไปทั่วโลก

ฟุตบอลในอังกฤษสมัยหนึ่งถูกมองว่าเป็นกีฬาของชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นล่าง โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน พ้นจากเวลางานก็เล่นฟุตบอลคลายเครียด ฟุตบอลจึงเป็นกีฬาของ working class มีคนพูดถึงขนาดว่า อังกฤษไม่ได้มีการปฏิวัติแรงงานจริงๆ แต่ที่คนออกมาเล่น ออกมาดูฟุตบอล เพราะฟุตบอลเป็นตัวช่วยระบายอารมณ์ความรู้สึก ความคับแค้นใจจากการทำงาน เมืองที่ฟุตบอลบูมจะเป็นเมืองอุตสาหกรรม แล้วคนชนชั้นแรงงานเมื่อเลิกงานจะกลับไปเล่น จนผ่านไปพักนึงฟุตบอลถึงได้เข้าไปสู่โรงเรียนของชนชั้นนำ แล้วสร้างกฎกติกาจริงจังขึ้นมา แล้วฟุตบอลเลยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการจัดการระเบียบวินัยและร่างกายคน แต่กรณีของไทยมันเข้ามาอีกสถานะหนึ่ง เพราะคนที่เอาเข้ามาคือชนชั้นสูง ก็จะเป็นคนละแบบกัน

แล้วที่ฟุตบอลเป็นที่นิยม เพราะฟุตบอลแพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมกับอาณานิคมอังกฤษ สมัยอังกฤษไปล่าอาณานิคม พอได้ที่ไหนก็จะพาเอาวัฒนธรรมฟุตบอลไปด้วย และฟุตบอลสมัยใหม่ถูกทำให้กลายเป็นธุรกิจมากขึ้น ยิ่งผนวกกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น คนก็สามารถเสพฟุตบอลได้ง่ายขึ้น ผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไปกับยุคโลกาภิวัตน์

บอลไทยไม่ได้ไปบอลโลก แล้วเราจะสนุกอะไรกับการดูฟุตบอลโลก

ทีมชาติไทยไม่ได้ไปแข่งบอลโลก แต่ว่าฟุตบอลโลกก็ยังบูมในประเทศไทยอยู่ดี ส่วนตัวมองว่ามันเป็นเรื่องของธุรกิจ ฟุตบอลคือ mass sport สปอนเซอร์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เอามาทำแคมเปญในประเทศ อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไทยเองก็ดูฟุตบอลเป็นกีฬายอดฮิตอยู่แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ก็จะดูบอลอังกฤษ ลีกอื่นๆ ก็มีเยอรมนี สเปน อิตาลี ก็จะตามเชียร์นักฟุตบอลที่ตัวเองรู้จักจากลีกเหล่านั้น หรือตามเชียร์ทีมชาติเหล่านั้น

สาเหตุแบบวิธีการเลือกทีมเชียร์เชื่อว่ามาจากความรู้สึกผูกพัน ความผูกพันทางความรู้สึกของคนไทยกับนักฟุตบอลหรือทีมชาตินั้นๆ สมมุติว่าคนไทยดูบอลอังกฤษเยอะ แล้วก็ผูกพันกับฟุตบอลอังกฤษ คนไทยก็มีแนวโน้มที่จะเชียร์อังกฤษ หรือสมัยหนึ่งทีมลิเวอร์พูลเต็มไปด้วยทีมชาติสเปน คนที่เชียร์ลิเวอร์พูลก็จะรู้สึกมีความผูกพันกับตัวนักฟุตบอลที่มาจากสเปน ก็จะเชียร์สเปน

เหมือนเป็นการ identified ตัวเองเข้ากับของอะไรบางอย่าง คล้ายๆ กับว่าในนั้นมีบางส่วนของเรา หรือมีความสัมพันธ์บางอย่างกับเรา เช่น เรา identified ตัวเองเข้ากับสโมสรลิเวอร์พูล แล้วในทีมชาติสเปนมีนักฟุตบอลลิเวอร์พูล ก็คือมีส่วนหนึ่งของตัวเราอยู่ในนั้น เราก็มีความผูกพันกับนักฟุตบอลหรือกับทีมก็จะส่งผลให้เราเลือกเชียร์ชาตินั้น

ฟุตบอลสัมพันธ์กับการสร้างชาติ หรือสร้างสำนึกร่วมให้กับคนในชาติอย่างไร

‘ชาติ’ เป็น imagined community (ชุมชนในจินตกรรม) ผู้คนที่อยู่ในชาติไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด แต่มันมีเครื่องมือหลายอย่างของรัฐที่ทำให้คนรู้สึกว่าเชื่อมโยงกัน รู้สึกว่ามีคนเหมือนๆ กับเราอยู่ในที่อื่นๆ ในพรมแดนของรัฐนี้ เช่น ภาษา สำมะโนประชากร พิพิธภัณฑ์ที่บรรจุประวัติศาสตร์ร่วมกัน ฟุตบอลเป็นอีกพื้นที่ที่เวลาดู หรือเข้าไปอยู่ในสนาม แล้วเราจะเห็นชาติปรากฏอยู่ตรงหน้าเราได้ เราเห็นยูนิฟอร์มที่นักเตะใส่ คนที่เล่นก็อยู่บนฐานของชาติ การเปิดเพลงชาติ ทุกอย่างกระตุ้นเร้าความรู้สึก

ชาลินี สนพลาย

กรณีฟุตบอลไทย ถ้าเราเข้าไปดูฟุตบอลทีมชาติจะมีสัญลักษณ์ของชาติปรากฏอยู่เต็มไปหมด เวลาที่เราจ้องมองไปมันจะเตือนให้เราระลึกถึงความเป็นชาติ หรือชุมชนที่เราสังกัดอยู่ได้ ทำให้ชาติไม่ได้อยู่แค่ในหัว แต่ปรากฏออกมาในสนามตรงหน้าเรา

ฟุตบอลเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นเราจะปรากฏมากขึ้น ชัดขึ้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับความเป็นอื่น ฟุตบอลเป็นการแข่งขันระหว่างเรากับคนอื่น ฉะนั้นยิ่งเวลาที่เราเห็นคู่อริ คู่แข่งศัตรูของชาติอยู่ตรงหน้า ก็จะยิ่งทำให้ความเป็นเราถูกปลุกขึ้นมาได้ง่ายขึ้น

ชาลินี สนพลาย

หมายถึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือสร้างชาติและเป็นเครื่องมือแบ่งเขาแบ่งเรา?

ที่น่าสนใจคือฟุตบอลสร้างชาติได้ แล้วก็แยกชาติได้ด้วยเหมือนกัน แล้วฟุตบอลไม่ได้รับใช้เฉพาะชาติ แต่มันรับใช้หน่วยที่มันเป็นตัวแทน อย่างเคสของสโมสรบาร์เซโลนา ในสเปน สโมสรเป็นตัวแทนของคาตาลุญญา ทีนี้พออัตลักษณ์ของคาตาลันไปด้วยกันไม่ได้กับอัตลักษณ์ของสเปน สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีบทบาทมาตลอด ตอนทำประชามติแยกแคว้น สโมสรฟุตบอลมันเป็นที่หนึ่งที่ใช้ในการกระตุ้นและแสดงออกถึงความรู้สึกที่คาตาลันอยากที่จะออกจากสเปน

มีกรณีที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศเลยหรือเปล่า

จริงๆ ก็มีหลายเคส ที่นึกได้อันนึงคือกรณีเกมฟุตบอลยูโร 2016 รอบคัดเลือก ระหว่าง เซอร์เบีย กับ แอลเบเนีย ในนาทีที่ 34 ของเกมมีโดรนแขวนธงที่มีแผนที่ ‘Greater Albania’ ซึ่งเป็นแผนที่ดินแดนแอลเบเนียที่รวมเอาโคโซโว รัฐอิสระที่แยกตัวจากเซอร์เบีย และดินแดนอื่นๆ บางส่วนโดยรอบเข้ามา บินเข้ามาในสนาม จนเป็นเหตุทะเลาะวิวาท มีแฟนบอลวิ่งลงมาในสนามและหยิบเก้าอี้พลาสติกฟาดเข้าใส่นักเตะอัลเบเนีย ทำให้ต้องยุติการแข่งขัน แต่ความวุ่นวายยังดำเนินต่อไปจนกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่โต แอลเบเนียถูกปรับแพ้ 3-0 ในเกมนั้น และเซอร์เบียถูกลงโทษขนานหนัก

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ คิดว่าถ้ามีเพื่อนบ้านในละแวกนี้เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก คนไทยก็อาจจะไม่เชียร์ เพราะคือศัตรูของชาติเรา ที่จะแย่งความยิ่งใหญ่ (หัวเราะ) ต่อให้ประเทศเราไม่ได้เข้าไป แต่ประเทศข้างๆ เราได้เข้าไป เราคิดว่าคนน่าจะไม่เชียร์บนฐานที่ว่าคนมักจะผูกพันตัวเองกับอัตลักษณ์แห่งชาติไทยมากกว่า คือคนไทยถูกสอนมาว่าชาติเรายิ่งใหญ่ในละแวกนี้ ฟุตบอลทีมชาติของเราก็ยิ่งใหญ่ในละแวกนี้ นี่ยังไม่รวมว่าคนไทยมีความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกในด้านดีกับเพื่อนบ้านค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นก็คงเป็นไปได้ยากที่เราจะทำใจเชียร์เพื่อนบ้าน

ฟุตบอลเป็นเกมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แล้วมันเผชิญหน้ากับคนอื่น ฟุตบอลเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งในการที่ชาติจะสู้กัน เช่นตอนแข่ง AFF Suzuki Cup หรือ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ก่อนแข่งพวกแฟนบอลไทยก็จะทำเป็นแบบการ์ตูนจำลองสงคราม มีรูปซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) หรือนักฟุตบอลคนสำคัญๆ ใส่ชุดนักรบโบราณนำทัพ ขี่ช้าง นี่คือสัญลักษณ์ของรัฐชาติไทย แล้วก็ประวัติศาสตร์ที่ชาติไทยภูมิใจ เป็นของที่เราภูมิใจ แล้วคนขี่อยู่บนช้างใส่ชุดนักรบ เหมือนสมัยอยุธยาอะไรอย่างนี้ แล้วก็เผชิญหน้ากับ…สมมุติว่าเจอมาเลเซียก็จะเป็นเสือ แต่ว่าเป็นเสือตัวเล็กๆ

ฟุตบอลสโมสรกับทีมชาติอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องชาติเหมือนกันไหม

ฟุตบอลสโมสรในแง่หนึ่งมันเป็นตัวแทนของหน่วยที่ย่อยกว่าชาติ อย่างที่บอก ในแง่นี้สโมสรก็อาจจะไม่ได้รับใช้ชาติ ก็จะรับใช้ชุมชนที่เป็นตัวแทน แต่มันก็จะมีเคสที่สโมสรต้องไปแข่งในนามของชาติ แม้ไม่เชิงในนามของชาติโดยตรง อย่างไปแข่ง AFC Champions League วิธีคิดก็คือคิดบนฐานของชาติ วิธีคิดยังอยู่บนฐานของรัฐชาติ เพียงแต่ว่าบริบทว่าอันไหนเข้มข้นกว่ากัน สมมุติของไทยจะมีคำที่ว่า “ถ้าตอนที่แข่งบอลลีกคุณจะเชียร์ใครก็เชียร์ไป แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่บุรีรัมย์ไปแข่ง AFC Champions League คุณก็ต้องเชียร์ในฐานะเป็นทีมจากไทย”

ชาลินี สนพลาย

แต่กับกรณีแมนเชสเตอร์ซิตี้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตอนทีมใดทีมหนึ่งไปแข่งในระดับทวีปก็เป็นตัวแทนของชาติ แต่ในฐานะอริร่วมเมือง แบ่งอัตลักษณ์กัน คนก็ไม่เชียร์?

อันนั้นก็คงอธิบายได้ด้วยว่าคือความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึก คนที่เชียร์แมนฯ ซิตี้มันถูกถักทอในเวลามายาวนาน ทำให้ความผูกพันมันเข้มข้น ในขณะที่สโมสรฟุตบอลของไทยที่ยกตัวอย่างไป มันอาจจะยังไม่ได้มีระยะเวลาในการทำงานยาวนานขนาดนั้น

เหมือนที่ แกรี เนวิลล์ โพสต์ทวิตเตอร์ในวันที่ลิเวอร์พูลแข่งนัดชิง UEFA Champians League?

ถ้าลิเวอร์พูลได้แชมป์เราต้องไปอยู่อะเมซอน (หัวเราะ)

ตัวบุคคลกับสโมสรหรือทีมชาติ อะไรมีส่วนทำให้เลือกทีมเชียร์มากกว่ากัน

ก็คงขึ้นอยู่กับว่าคนเรา identified ตัวเองเข้ากับอะไรมากกว่ากัน มันคงบอกขนาดนั้นไม่ได้

คล้ายๆ กับคนส่วนใหญ่มักบอกว่า “เดี๋ยวปีนี้ขอคิดก่อน…เชียร์สเปนแล้วกันว่ะ” หรือ “ตูนิเซียอันดับโลกสูงนะ เชียร์แล้วกัน” มันไม่มีคำอธิบายเหมือนกันใช่ไหม

ใช่ อันนี้มันอธิบายแบบนั้นไม่ได้ คนจำนวนหนึ่งที่ชอบดูฟุตบอลเพราะความสนุกของเกมฟุตบอลก็อาจจะมีเหตุผลในการเลือกต่างไป แต่ก็มีกรณีที่คนเลือกด้วยเหตุผลที่บอกไป อย่างสมัยมัธยม ที่ตอนนั้นบอลโลกที่ญี่ปุ่น-เกาหลี พออังกฤษแข่ง ทั้งโรงเรียนเลิก ไม่สอนใช่ไหม เพื่อเชียร์อังกฤษ เหมือนคล้ายๆ กับว่าทีมนี้ก็คือทีมที่คนไทยน่าจะผูกพันมากที่สุด ถ้าคำอธิบายจากมุมของเรา เราคงคิดว่ามันคือความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

ไม่ได้เชียร์เกาหลีใต้เหรอครับ ทวีปเดียวกัน ตอนนั้นเข้ารอบลึกๆ

(หัวเราะ) เกาหลีแข่งนี่โรงเรียนยังไม่หยุดเลยนะ แต่อังกฤษแข่งโรงเรียนหยุดแล้วให้ดูกันในชั่วโมงเรียน

ชาลินี สนพลาย

ความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักเตะสโมสร ทำให้เรื่องชาติถูกมองข้ามไหม

ในทางทฤษฎีมีคนอธิบายไว้ว่าพวกสโมสรฟุตบอลอาชีพและนักกีฬาดังๆ อย่างพวกค้าแข้งข้ามชาติ มีส่วนในการทำงานของ denationalization และ deterritorialization คือทำให้ความรู้สึกความเป็นชาติหรือความผูกพันกับอาณาเขตของชาติลดลงได้

สโมสรฟุตบอลอาชีพไม่ได้จำกัดเฉพาะนักบอลหรือกีฬาที่เป็นชาติเราอย่างเดียว มันเอาชาติอื่นมาแข่งได้ แล้วเวลาที่เรา identified ตัวเองเข้ากับสโมสร นักกีฬาชาติอื่นที่เข้ามาอยู่ในทีมก็ถูกทำให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเราไปด้วย ในทางทฤษฎีก็จะช่วยให้คนมองข้ามความรู้สึกเรื่องอคติเชิงชาติพันธุ์ไปได้

แต่ในอีกแง่หนึ่งสโมสรฟุตบอลก็ยังขับเคลื่อนด้วยความเป็นธุรกิจ การขยายฐานแฟนบอลก็ไม่ได้ต้องการจำกัดอยู่แค่ขอบเขตของรัฐชาติ หรือคนในชาติอย่างเดียว

อย่างกรณี อ่อง ธู คนที่เชียร์ อ่อง ธู ส่วนใหญ่คือคนพม่า แล้วที่สนามของโปลิศ เทโร จะมีภาษาพม่า มีโฆษกพูดภาษาพม่า มีการเชียร์ที่ใช้ภาษาพม่า แต่ยังเคลมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าในทางปฏิบัติ อ่อง ธู ทำให้คนไทยลดอคติเชิงชาติพันธุ์ไปหรือเปล่า แต่ในแง่หนึ่ง การมี อ่อง ธู อยู่ในไทยลีกมันทำให้แฟนบอลเห็นถึงความสามารถของนักเตะ ทำให้ ‘ความสามารถ’ ชนะประเด็นเรื่องชาติได้ แฟนบอลไทยก็ชื่นชมฝีเท้าของ อ่อง ธู

เอาเข้าจริงเริ่มแรกการแข่งฟุตบอลหรือกีฬาระดับสากลไม่ได้แบ่งแยกบนฐานของเชื้อชาติ หรือสัญชาติเสียทีเดียว แต่แบ่งโดยการอยู่อาศัย พอผ่านมาสักพักเมื่อรัฐชาติและชาตินิยมมันเข้มข้นขึ้น องค์กรกีฬาระดับนานาชาติจึงมีกฎเรื่องนี้ว่าคุณจะต้องเป็นคนสัญชาตินี้ แล้วถ้าเกิดย้ายไปเล่นให้กับอีกชาติหนึ่ง ต้องพักก่อน มีงานชิ้นนึงเล่าว่าเมื่อก่อนอิตาลีเคยมีคนไม่ใช่สัญชาติหรือเชื้อชาติอิตาลีเล่นถึงเก้าคน แต่พอยุคสมัยหนึ่งความเป็นชาติแข็งแรงขึ้นมา ก็เลยครอบไปหมดถึงฟุตบอลด้วย

ชาลินี สนพลาย

ฟุตบอลลีกสำคัญกับแฟนบอลไทยอย่างไร

เรารู้สึกว่าสโมสรคือฟุตบอลมหาชนที่แท้จริง ทีมชาตินานๆ จะแข่งที ในขณะที่ฟุตบอลสโมสรทั้งของไทยแล้วก็ของทั่วโลกแข่งทุกสัปดาห์ ทำให้เกิดกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมในทุกๆ สัปดาห์

มีงานวิชาการจำนวนหนึ่งที่บอกว่า สโมสรฟุตบอลทำให้คนในชุมชนมาเจอกัน แล้วสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน มีบทความหนึ่งใช้ชื่อว่า สโมสรฟุตบอลเป็นเหมือนกาวที่เชื่อมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายในเกมฟุตบอลทุกสัปดาห์ คนจำนวนมากสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นได้ ถึงฐานแฟนบอลไม่เยอะ แต่ฟุตบอลลีกมันขายทั้งลีก มีคนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะกว่าทีมชาติ แต่แน่นอนพอทีมชาติแข่ง จำนวนคนที่สนใจก็จะมากกว่าจำนวนคนที่สนใจสโมสรหนึ่งๆ เพียงแต่ว่าทีมชาตินานๆ มาที ไม่ได้เป็นประจำสม่ำเสมอ

ถ้ามองฟุตบอลในแง่ความบันเทิงชนิดหนึ่ง อาจพิเศษกว่าสื่อบันเทิงชนิดอื่น เช่น การดูหนัง ดูละคร ฟุตบอลเป็นกิจกรรมที่ active ในขณะที่การดูหนังเป็นกิจกรรมที่ passive กว่า คุณไม่ได้มีส่วนร่วมในการดูหนังนอกจากนั่งดูเฉยๆ ขณะที่ฟุตบอล เมื่อคุณเข้าสนามฟุตบอลคุณมีส่วนร่วมกับมันตลอด

ทั้งการมีส่วนร่วมกับแฟนบอลด้วยกันเอง สร้างความสัมพันธ์ สร้างตัวตนขึ้นมา ในอีกแบบหนึ่งที่สัมพันธ์กับสโมสรฟุตบอล ดังนั้นการไปสนามฟุตบอล คนไม่ได้ไปเพื่อหาความบันเทิงจากเกมกีฬาอย่างเดียว เราคิดว่าอันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต่อให้ผลงานไม่ดี ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ดูอยู่

ถ้าทีมท้องถิ่นไม่เก่งแต่คนก็ยังเชียร์ มีคำอธิบายไหมว่าความสามารถกับความเป็นท้องถิ่นนิยมอะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ชอบนึกถึงกรณีทีมศรีสะเกษ เป็นทีมที่อาจจะผลงานไม่ค่อยดี แต่ว่าแฟนบอลเหนียวแน่นพอสมควร เมื่อก่อนตอนศรีสะเกษอยู่ไทยลีก พอมาแข่งเป็นทีมเยือนพวกแฟนศรีสะเกษก็จะเกือบเต็มหรือเต็มอัฒจันทร์ตลอด หรือทีมท่าเรือก็มีวันเวลาที่ผลงานร่วงโรย แต่แฟนบอลก็ยังสนับสนุนอยู่ สโมสรอื่นๆ อย่างสโมสรชลบุรีก็จะมีพวกแฟนเดนตายที่ยังดูอยู่ ในขณะที่คนที่ดูเพื่อความบันเทิงอาจจะหายไป

ปีนี้บอลไทยมันไม่ค่อยบูมเท่าไหร่ แต่ทีมอย่างชลบุรี เมืองทอง ท่าเรือ เชียงราย พวกนี้มีแฟนบอลเหนียวแน่น แล้วผนวกเอาฟุตบอลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตัวเอง บางคนพอตารางบอลออกมาก็เตรียมดูว่าจะต้องลางานวันไหนเพื่อตามไปแข่งเป็นทีมเยือน สมมุติไปเชียงรายก็จะดูว่าตั๋วเครื่องบินถูกไหม มันมีคำพูดเล่นๆ ของพวกแฟนบอลที่บอกว่า “อย่าเอาเรื่องงานมาทำให้เรื่องดูบอลมันเสีย” (หัวเราะ)

ส่วนตัวชอบฟุตบอลลีก เพราะว่ามันทำให้เกิดอัตลักษณ์หรือสำนึกร่วมกันอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ชาติ คล้ายๆ เป็นศูนย์กลางที่ก่อให้เกิดสำนึก หรือกระตุ้นเราให้มีสำนึกอีกแบบหนึ่ง คือสำนึกที่ผูกตัวเองเข้ากับท้องถิ่น หรือชุมชนที่ไม่ใช่ชาติ เราไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติอย่างเดียว เพราะเวลาพูดถึงผลประโยชน์แห่งชาติมักจะมีผลประโยชน์อีกหลายชนิดที่ถูกกดทับ แล้วถูกทำให้มองไม่เห็น

ชาลินี สนพลาย

บอลไทยจะได้ไปบอลโลกไหม

ฟุตบอลโลกสี่ปีครั้ง ไปหรือไม่ไปก็ไม่เป็นไร แต่ลีกคือของเรา ลีกคือของจริง ฟุตบอลลีกคือฟุตบอลของทุกคนอย่างแท้จริง รู้สึกเฉยๆ กับการที่บอลไทยจะไปบอลโลกรึเปล่า แค่รู้สึกอยากให้ฟุตบอลไทยเติบโตไปเรื่อยๆ

ลึกๆ ก็เชื่อว่าฟุตบอลลีกจะทำให้ทีมชาติแข็งแรง อย่างตอนซิโก้คุม ส่วนหนึ่งก็เป็นความสามารถของซิโก้ แต่อีกส่วนหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่นักฟุตบอลวิ่งได้ 90 นาที ไม่มีแรงหมด นักฟุตบอลแข็งแรงมีตัวสำรองให้เลือกใช้เยอะ มันเป็นผลจากการที่ลีกพัฒนาทั้งนั้น ไม่ใช่ซิโก้เรียกนักฟุตบอลมาสิบวันเพื่อมาฟิต แต่เป็นสโมสรจ่ายเงินให้นักฟุตบอลเข้าฟิตเนส สโมสรจ่ายเงินเพื่อให้นักฟุตบอลรักษาน้ำหนัก สโมสรทำให้นักฟุตบอลมีแมตช์แข่งขันสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาฝีเท้า

มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยที่ซิโก้คุมทีมชาติแล้วชอบเรียกเก็บตัวนานๆ แล้วตอนหลังก็อยากได้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้พอทีมชาติเก็บตัวนานมันก็จะส่งผลให้ลีกต้องพัก พอลีกพักยิ่งนานเท่าไหร่ พอเปิดลีกมาใหม่ เกมจะยิ่งอัดกันมากขึ้นเท่านั้น แล้วนักบอลก็จะกรอบ คือมหัศจรรย์ใจมากที่เห็นแฟนบอลจำนวนหนึ่งพูดว่า “ถ้าเพื่อให้ทีมชาติไทยจะได้ไปเล่นบอลโลกแล้วต้องเรียกร้องขนาดนี้ อาจจะทำให้ฟุตบอลสโมสรที่บ้านเขาล้มเหลว บอลลีกไม่มีดูแล้ว ไม่เอานะ”

คือถ้าจำได้เราเคยพูดว่า แรกๆ พวกแฟนบอลยุคแรกเริ่มมาเชียร์บอลลีกไทยด้วยความรู้สึกว่าอยากให้ทีมชาติไปบอลโลก แต่พอฟุตบอลลีกทำงานไปพักหนึ่ง ทำให้เกิดประโยคนี้ขึ้นมาได้ “เฮ้ย ถ้าเพื่อที่จะไปฟุตบอลโลกครั้งหนึ่ง แล้วทำให้ฟุตบอลลีกล้ม แล้วทำให้ที่บ้านไม่มีบอลดู ไม่แลกดีกว่า

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า