เพราะรัก…ต้องตบ

เรื่อง: ธัญธิดา รวงกาญจน์

 

หญิงนางหนึ่งถูกชายนายหนึ่งจับตัวไปด้วยสาเหตุอะไรสักอย่าง

ขณะเดินทางผ่านป่า ฝ่ายหญิงสะดุดรากไม้เตี้ยเรี่ยดินล้มลง ฝ่ายชาย (ซึ่งบทเป็นโจรชัดๆ จับตัวเขามานี่หว่า) ปรี่เข้ามาช่วย

“อย่ามาถูกตัวชั้นนะ” สายตาที่จ้องกลับไปยังฝ่ายชายเจ็บแค้นและเกรี้ยวโกรธ

หลายวันผ่านไป ความสัมพันธ์ในที่ตกระกำลำบากร่วมกันเริ่มก่อตัว ครั้นฝ่ายชายล่าสัตว์มาทำปิ้งย่างกลางป่าให้กิน ประโยคที่ตามมาคือ

“แหม ชั้นก็เพิ่งรู้นะ ว่านายน่ะ ทำของกินเป็นกับเค้าด้วย แถมอร่อยอีกตะหาก”

ไม่งง… ละครทีวีมาฉากแบบนี้ให้เห็นบ่อยไป ตั้งแต่ละครหัวค่ำยันเวอร์ชั่นรีรันช่วงสายๆ ก็ยังไม่พ้นชายป่ากันสักที

นี่ยังน้อย ย้อนกลับไปยุคก่อน ละครสไตล์ พิศาล อัครเศรณี นอกจากจะฉุดกระชากยังซ้ำด้วยการตบ เรียกเป็นศัพท์ติดปากว่า ‘ตบ-จูบ’ รสชาติดราม่าโรแมนติก ฝ่ายหญิงพยายามดิ้นรนขัดขืนการปลุกปล้ำของชายฉกรรจ์ที่ดูเหมือนคนร้ายแต่ดันเป็นพระเอก “แก ปล่อยชั้นนะ” แต่เมื่อเธอถูกผู้ชายตบกลิ้ง ทั้งคู่ก็ต่อสู้ดิ้นรนบนเตียงพักหนึ่ง จากนั้นก็บรรเลงเพลงจูบดูดดื่ม

ไม่งง… ละครทีวีมาฉากแบบนี้ให้เห็นบ่อยไป ตั้งแต่ละครหัวค่ำยันเวอร์ชั่นรีรันช่วงสายๆ ก็ยังไม่ยอมหยุดตบดิ้น ตบ-จูบกันสักที

นี่หรือคือรูปแบบของความรัก ความสัมพันธ์ของคนหนึ่งคู่ที่ต้องมีความรุนแรง ไม่ยินยอม ขัดขืน เพราะรักจึงตบ เพราะรักจึงยอมโดนตบ หรือโดนตบจนรัก ความสัมพันธ์ที่ต้องใช้ความรุนแรง (abusive relationship) แบบนี้มีฉากแฮปปี้เอนดิ้งกุมมือสวีทวีดวิ้วเหมือนละครว่าไว้เช่นนั้นหรือ

ถ้าคุณเคยได้ชิมรสเลือดในปากตัวเองที่ต้องเจ็บปวดเพราะโดนตบ คุณคงไม่คิดแบบนี้แน่ๆ ใช่ไหม แต่หลายคนก็ยังนิยามมันว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของความรัก รักแล้ว ‘ต้องตบ’ นี่น่ะนะ

ข้อเท็จจริงของการทำร้ายร่างกาย

ชีวิตจริงไม่จบแค่ตบก่อนแล้วจูบตามเหมือนละคร ความสัมพันธ์ที่ถูกทำร้ายมีความเจ็บปวดต่อเนื่อง ฉากแฮปปี้เอนดิ้งคืออะไร? ไม่รู้! ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการขว้างปาสิ่งของ ตบ ดึงกระชากผม กดไว้กับเตียง บังคับมีเซ็กส์

หากคุณมีความสัมพันธ์กับ ‘นักตบ’ รูปแบบการแสดงออกว่ารักในแบบของเขา (หรือเธอ) มักมีจุดร่วมคล้ายกัน เช่น

  • นักตบมักลงมือในที่ส่วนตัว รโหฐาน ในบ้าน ในรถ
  • นักตบมักปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เริ่มลงมือ
  • นักตบมักบอกว่าเป็นเพราะคุณนั่นแหละ
  • นักตบมักเริ่มต้นสบถด่าทอแรงขึ้น
  • คำด่าของนักตบจะเริ่มทำลายตัวตนของคุณ
  • นักตบมักความรู้สึกไว เซนสิทีฟมากมาย พร้อมตอบโต้ด้วยการทำร้ายทันที
  • นักตบมักยืนยันว่าเป็นฝ่ายถูก และพยายามควบคุมทุกอย่าง
  • นักตบมักไม่ชอบให้คุณสุงสิงกับเพื่อน ครอบครัว หรือเข้าสังคมมาก จนคุณรู้สึกโดดเดี่ยว

นักตบเป็นคนแบบไหน

  • เขามักอ้างประมาณว่า โอย ไม่เคยรู้สึกถึงความรักแบบนี้จากใครมาก่อน ทำให้คุณกดดันและยอมรับเขาเป็นคน exclusive ทันทีทันใด
  • เขามักเป็นคนแสนงอนและอิจฉาคนที่เข้าใกล้คุณ ต้องการครอบครองคุณ ตามจิกคุณทุกฝีก้าว
  • เขาต้องการควบคุมคุณทุกอย่าง คุณคุยกับใคร อยู่ที่ไหน ตรวจเช็คจนคุณแทบต้องขออนุญาตเขาเวลาจะทำอะไร
  • เขามักมีความคาดหวังฝันเฟื่องไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง เช่น ต้องการให้คุณเพอร์เฟ็คท์ตามที่เขาต้องการตลอดเวลา
  • เขามักพยายามกันคุณออกจากครอบครัวและเพื่อน ทั้งชีวิตคุณต้องมีแต่เขาเท่านั้น
  • เขามักโทษคนอื่นถ้าทำอะไรผิดสักอย่าง โดยเฉพาะคุณ
  • เขามักพูดประมาณว่า “คุณทำให้ผมโกรธแล้วนะ” “ตอนนี้ผมกำลังหัวเสีย และจะโกรธมากกว่านี้ถ้า…”
  • เขามักบอกว่า บางเรื่องในชีวิตมันช่างไม่แฟร์กับเขาเลย
  • เขามักทำร้ายสัตว์ บังคับให้เด็กทำนู่นทำนี่
  • สำหรับเขา ระหว่างมีเซ็กส์ต้องใช้กำลังบังคับกันพอหอมปากหอมคอ
  • เขามักด่าทอคุณหยาบๆ คายๆ ลดคุณค่า เรียกคุณแบบ ไอ้ อี ขุดปมด้อยของคุณทับถมถากถาง
  • เขามักสร้างชั้นอำนาจทางเพศ เช่น คุณเป็นผู้หญิง ต้องเป็นฝ่ายรับใช้ เชื่อฟัง ทำตาม
  • เขามักอารมณ์แปรปรวน สวิงไปมาง่ายๆ เหมือน Jekyll and Hyde เป็นนักตบสายทรู
  • เขามักมีประวัติทุบตีทำร้ายผู้หญิงมาก่อน
  • เขาจึงชอบขู่คุณว่า “เดี๋ยวตบ”

แค่รัก จึงทนโดนตบ?

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้หลายคนยังทนต่อการถูกทำร้าย psychologytoday ประมาณไว้ว่าผู้หญิง 1 ใน 4 และผู้ชาย 1 ใน 7 เคยมีประสบการณ์แบบนี้ แถมเหยื่อก็ยังทนถูกทำร้ายไม่ต่ำกว่าเจ็ดครั้ง และเมื่อโดนมากๆ คุณจะไม่กล้าบอกใคร ไม่มีเพื่อน สูญเสียความมั่นใจ อาย กลัว ถูกทอดทิ้งลำพัง และมนุษย์คนเดียวที่จะทำให้คุณไม่รู้สึกโดดเดี่ยวคือ นักตบ ที่พร้อมเข้ามาปลอบโยน ทะนุถนอม มอบความรักและอ้อมกอดอันอบอุ่น – ใช่ คนเดียวกับที่ตบคุณเมื่อกี๊นั่นแหละ ซึ่งแน่นอนว่า เขาเติมเต็มในสิ่งที่คุณขาด แม้เป็นความรักที่เจ็บปวด และคุณทนได้ไม่ใช่เหรอ สิ่งนี้ไม่ใช่ ‘ปัญหา’ ใหญ่เหมือนที่คิดมั้ง

เพราะเขาคือ The One ที่คุณรัก คุณจึงอยู่กับวงจร ‘เริ่มหาเรื่องทะเลาะ > ตบ > สำนึก > ขอโทษ > สัญญาว่าจะไม่ทำอีก’ ซ้ำๆ วนๆ ไปไม่ได้ผุดได้เกิด

เบเวอร์ลี กูเดน (Beverly Gooden) นักกิจกรรมด้านความสัมพันธ์ที่รุนแรง (abusive relationship) พยายามหาคำตอบของผู้หญิงที่โดนทำร้ายว่า “ทำไมต้องทน” เธอตั้งแฮชแท็ก #WhyIStayed ในทวิตเตอร์เพื่อรับฟังเหตุผลของหลายๆ คนว่า ทำไมต้องทนอยู่กับความสัมพันธ์แบบรักต้องตบ นี่คือบางตัวอย่างของการรีทวีต

“ฉันพยายามจะออกจากบ้านครั้งหนึ่งหลังการถูกทำร้าย แต่เขาห้ามฉันไว้ แล้วเขาก็นอนหลับขวางประตูตลอดคืนเลย #WhyIStayed

ฉันยังอยู่เพราะบาทหลวงบอกว่าพระเจ้าเกลียดการหย่าร้าง ฉันไม่เคยคิดเลยว่าพระเจ้าจะเกลียดการตบตีด้วยเหมือนกัน #WhyIStayed

#WhyIStayed เพราะเวลาเขาบอกว่าเขาเสียใจ ฉันเชื่อว่านั่นหมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว อีกแล้ว อีกแล้ว อีกแล้ว อีกแล้ว

#WhyIstayed เขายิงหมาของฉันแล้วขู่ว่าฉันจะเป็นรายต่อไปถ้าฉันพยายามจะทิ้งเขาอีก เหยื่อ 75 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสถูกฆ่ามากถ้าพยายามจะหนีไป

เขาทำให้ฉันรู้สึกไร้ค่าที่สุด ฉันเคยคิดว่าเขาคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันเคยมี ฉันคิดว่าหากฉันพยายามมากกว่าเดิม ฉันคิดว่าเขาอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ #WhyIStayed

#WhyIStayed เพราะฉัน ‘รู้’ ว่าไม่มีใครอีกแล้วที่ต้องการฉัน ฉัน ‘โชคดี’ ที่เขาเลือก แต่สุดท้ายฉันก็หนี เพราะเขาเกือบจะฆ่าฉัน

เขาบอกว่าการแต่งงานนี้คือชั่วนิรันดร์ ฉันไม่อยากให้มันล้มเหลว #WhyIStayed

ฉันคิดว่ามันคือ ‘ความรัก’ ฉันคิดว่ามันเป็นความผิดของฉัน และมันก็สมควรแล้ว ฉันคิดว่ามันธรรมดา และฉันมีคำอธิบายสำหรับการกระทำของเขาทุกครั้ง #WhyIStayed

รักเธอแทบตาย นายนักตบ

เว็บไซต์ psychologytoday บอกว่า ปัญหาของความรักนี้ไม่ได้อยู่ที่ปัจจุบัน แต่อยู่ที่ปมอดีตต่างหาก มันคล้ายกับความรักที่คุณให้พ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา แม้พวกเขาจะลงไม้ลงมือจนเลือดตกยางออกแค่ไหน นี่คือความสัมพันธ์ในอดีตกาลที่ความรักทำร้ายคุณมาจนปัจจุบัน และช่างเป็นเรื่องโชคร้ายของวัยเยาว์ เมื่อสมองจะทำการจับ ‘ความรัก’ ให้เป็นของคู่กันกับ ‘การทำร้าย’ – รัก ต้องตบ

psychologytoday ยกตัวอย่างประโยคที่อ่านแล้วสตั๊นไปเฮือกหนึ่ง “ฉันจะรู้ได้ยังไงว่าเขาแคร์ ถ้าเขาไม่ตบฉัน?”

นักจิตวิทยา เคิร์ท เลวิน (Kurt Lewin) และ บลูมา ไซการ์นิค (Bluma Zeigarnik) พูดถึงทฤษฎีของความรู้สึกที่ยังตกค้างจากอดีต ที่ถูกนำมาเติมเต็มในปัจจุบัน ไซการ์นิคทำการค้นคว้าหัวข้อนี้และเผยแพร่ในปี 1927 เกี่ยวกับการยึดติดและความรู้สึกที่ยังตกค้างอยู่ในใจนี้ มันถูกเรียกว่าเป็น ‘The Zeigarnik effect’

การยึดติดความรักที่ผูกกับการทำร้าย ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งหนีโดยไม่ยอมปลดปล่อยพันธนาการที่มัดขาตัวเอง ทางออกที่ดีคือค่อยๆ ก้าวถอยหลังกลับไปแก้ปมด้วยกระบวนการทำจิตบำบัด เพราะหากยังดิ้นรน ถึงแม้คุณจะสามารถหยุดรักและทิ้งนักตบเบอร์ 1 ได้ ไม่นานคุณก็ต้องรับนักตบเบอร์ 2 เข้ามาในชีวิตคุณอยู่ดี

กักขังฉันเถิด กักขังไป…

เรื่องวุ่นๆ ของความรักที่มาคู่กับการถูกทำร้ายยังมีอีกรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่ามีละครไทยๆ รองรับสถานการณ์แบบนี้ เมื่อหญิงสาวถูกชายโฉดฉุดกระชากลากถูไปตกระกำลำบากในที่รกร้างกลางป่าสองต่อสอง แรกๆ ก็ขัดขืน โดนตบสลบเหมือด ผ่านไปไม่นานเห็นความดีงามจากไหนไม่รู้ ก็ยอมใจพ่ายรักได้เสียเป็นเมียผัวครองรักสืบไปหน้าตาเฉย

ชุดความคิดแบบ ‘ตบจนรัก’ ไม่ได้เป็นแค่ stereotype ในทีวี เพราะมันมีคำอธิบายที่ว่าด้วยอาการผิดปกติที่ชื่อว่า Stockholm Syndrome

ย้อนไปปี 1973 ที่มีเหตุปล้นธนาคารที่สต็คโฮล์ม สวีเดน คนร้ายจับตัวประกันไว้สี่คน ผ่านมาไม่นาน ตัวประกันกลับช่วยปกป้องคนร้ายหลังถูกปล่อยตัว พฤติกรรมย้อนแย้งกลายเป็นเห็นอกเห็นใจ

ย้อนไปเช้าวันที่ 23 สิงหาคม 1973 ยาน-เอริค โอลส์สัน (Jan-Erik Olsson) บุกปล้นธนาคาร Sveriges Kreditbank เขายิงปืนข่มขู่ “ปาร์ตี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง!”

โอลส์สันจับพนักงานธนาคารเป็นตัวประกันสี่คน ข้อแลกเปลี่ยนคือให้นำตัวเพื่อนของเขา คลาร์ค โอลอฟส์สัน (Clark Olofsson) นักปล้นมือฉมังที่เคยรู้จักกันในคุกมาที่ธนาคาร เรียกร้องเงินสามล้านโครเนอร์ ปืน เกราะกันกระสุน หมวกกันน็อค ฟอร์ดมัสแตงพร้อมน้ำมันเต็มถังหนึ่งคัน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในธนาคารคือ โจรโอลส์สันถอดเสื้อคลุมให้ คริสติน เอนมาร์ค (Kristin Ehnemark) ที่กำลังตัวสั่นเทา คอยปลอบตอนที่เธอขวัญผวา กระทั่งมอบกระสุนปืนเป็นของที่ระลึก และยังคอยให้กำลังใจ เบอร์กิตตา ลุนด์แบลด (Birgitta Lundblad) ที่พยายามโทรกลับแต่ติดต่อไม่ได้

เอลิซาเบธ โอลด์เกรน (Elisabeth Oldgren) เป็นโรคกลัวที่แคบ เธอได้รับอนุญาตให้เดินออกนอกห้องเก็บเงิน แต่ต้องมีเชือกผูกไว้ ต่อมาเธอบอกกับนักข่าวของ New Yorker ว่า “ฉันจำได้ว่าเขาใจดีมากที่ปล่อยให้ฉันออกมาเดิน” ตัวประกันอีกคน สเวน ซัฟสตรอม (Sven Safstrom) บรรยายถึงวิธีปฏิบัติที่ดีของโจรปล้นธนาคาร ถึงขนาดบอกว่า “We could think of him as an emergency God”

เหตุปล้นธนาคารจับตัวประกันไว้หกวันคือดราม่าระดับชาติ เพราะตัวประกันเริ่มกลัวตำรวจมากกว่าโจร มีการโทรศัพท์เจรจาโดยนายกรัฐมนตรี โอลอฟ พัลมี (Olof Palme) คู่สนทนาคือเอนมาร์คบอกว่า “ฉันไว้ใจคลาร์คเต็มที่ ฉันไม่รู้สึกสิ้นหวังเลย พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเรา ไม่ใช่แค่นั้นนะ พวกเขาดีมาก แต่คุณรู้ไหม โอลอฟ สิ่งที่ฉันกลัวคือการที่ตำรวจบุกเข้ามานั่นแหละที่จะทำให้พวกเราตาย”

ต่อมามีการขู่ทำร้าย โอลส์สันขู่จะยิงขาซัฟสตรอม ตัวประกันยังบอกว่า เขารู้สึกดีมากที่โอลส์สันบอกว่า “แค่ขาของผมเท่านั้น”

คืนวันที่ 28 สิงหาคม หลังจาก 130 ชั่วโมงผ่านไป (หกวัน) ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ห้องเก็บเงินที่พนักงานธนาคารทั้งสี่พยายามยืนป้องกัน โอลส์สันออกมา ตัวประกันกับโจรจับมือและสวมกอดกัน เมื่อตำรวจมารวบตัว ตัวประกันหญิงสองคนพยายามร้องบอกว่า “อย่าทำร้ายพวกเขา พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเราเลย” และเอนมาร์คยังตะโกนบอก คลาร์ค โอลอฟส์สัน ว่า “คลาร์ค ฉันจะพบกับคุณอีก”

สุดท้าย ความผิดของโจรสองคนก็ไม่มีข้อหาทำร้ายร่างกาย

เมื่อเหตุการณ์นี้จบลง โอลด์เกรนถามจิตแพทย์ว่า “นี่มันมีอะไรผิดปกติกับฉันหรือเปล่า ทำไมฉันไม่รู้สึกเกลียดพวกเขาเลยล่ะ”

Stockholm Syndrome กลายเป็นศัพท์เฉพาะทางหลัง แพตตี เฮิร์สต์ (Patty Hearst) ทายาทหนังสือพิมพ์ในแคลิฟอร์เนียถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มฝ่ายซ้าย Symbionese Liberation Army ในปี 1974 ขั้นแรกเธอก็เห็นอกเห็นใจฝ่ายจับตัวประกัน หนักกว่านั้นเธอกลับกลายเป็นหนึ่งในกลุ่ม และโดนจับไปด้วย เหตุการณ์นี้ถูกอธิบายว่าเป็น Stockholm Syndrome

ที่สตอคโฮล์ม ตัวประกันยังคงไปเยี่ยมโอลส์สันและโอลอฟส์สันที่เรือนจำสม่ำเสมอ หลังพ้นโทษ 10 ปี โอลส์สันยังเป็นเพื่อนที่ดีของครอบครัวเอนมาร์ค ต่อมา ยาน-เอริค โอลส์สัน แต่งงาน ย้ายมาอยู่ประเทศไทย 15 ปี ก่อนกลับไปใช้ชีวิตวัยเกษียณที่เฮลซิงบอร์ก และออกหนังสืออัตชีวประวัติในนาม Janne Olsson ชื่อ Stockholmssyndromet

วิธีรับมือนักตบ

เมื่อต้องใช้ชีวิตคู่ แฟน หรือเป็นสามีภรรยากับนักตบ วิธีที่คุณต้องใช้เพื่อจัดการความรู้สึกของตนเองเมื่อถูกละเมิด โดนตบ โดนทำร้าย คือ หนึ่ง-รู้จักสิทธิ์ของตัวเอง คุณมีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพเท่าเทียม คุณมีสิทธิ์เปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ทำร้ายคุณ และคุณก็มีสิทธิ์ที่จะตอบปฏิเสธ แม้มันจะขัดแย้งกับความคิดของเขาก็ตาม

สอง-ยอมรับว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ การยอมรับที่ถูกทำร้ายไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ อย่าให้เขาเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ อย่าคิดว่า โอ๊ย มีแต่ฉันคนเดียวในโลกเท่านั้นแหละที่เข้าใจเขาในแบบนี้ นั่นไม่ดีเลย มันไม่ใช่เรื่องที่จะพรวดพราดเข้ามาเป็นฮีโร่ในสถานการณ์ที่คุณต้องเจ็บตัว

สาม-อย่าตอบโต้ แม้ว่าการตบตีจะเริ่มขึ้นแล้ว เพราะเขาจะเริ่มโทษคุณว่าเป็นผู้ก่อเรื่อง แล้วสถานการณ์จะควบคุมได้ยาก โปรดจำไว้ว่านี่คือกับดักที่คุณจะต้องทนทุกข์ทรมานกับความซวยที่ตามมาเพียงคนเดียว และอย่าตอบโต้ทางกายแม้คุณโดนตบไปแล้ว เดินหนีไป หายใจลึกๆๆ ตัดบทสนทนา นาทีนี้สิ่งที่ต้องดูแลและเคารพมากที่สุดคือความรู้สึกของตัวเอง

สี่-ต้องเข้าใจความเสี่ยงของการอยู่ร่วมกันแบบรักต้องตบ นอกจากจะทำให้คุณได้รับบาดเจ็บทางกาย จิตใจคุณจะบอบช้ำ มีอาการซึมเศร้า PTSD สับสน จนต้องหันไปพึ่งเหล้าและยา

ห้า-บางครั้งคุณอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าคุณจะถูกโดดเดี่ยว คุณควรพยายามติดต่อเพื่อนหรือครอบครัว กระทั่งนักจิตบำบัด เพื่อปรึกษาและขอความช่วยเหลือ บอกพวกเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าอยู่แล้วเจ็บ คุณต้องเรียกสติ จำกลิ่นเลือดตอนโดนตบไว้ และหาทางหนีออกจากสถานการณ์นั้นให้ได้


อ้างอิงข้อมูลจาก:
psychologytoday.com
history.com
bbc.com
mentalfloss.com
yourtango.com

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า