ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองชูนโยบายเรื่องบำนาญแห่งชาติ แต่ตอนนี้ประเด็นเรื่องบำนาญกลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันก็ยังมีภาคประชาชนและนักวิชาการเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน (We Fair) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และประชาชนทั่วไป ยื่นรายชื่อเพื่อเสนอ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยวัตถุประสงค์หลักที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การปรับปรุงเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ
วงเสวนาออนไลน์ ‘Action Plan บำนาญแห่งชาติ ไม่ว่าปีนี้หรือปีไหน ถึงอย่างไรก็ต้องทำ’ จึงตั้งวงสนทนาพูดคุยกันท่ามกลางสถานการณ์สังคมสูงวัย และแนวโน้มผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เรื่องบำนาญแห่งชาติกลับยังไม่มีจุดหมายปลายทาง
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในวงเสวนานี้ ได้แก่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
การหนุนเสริมของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อบำนาญแห่งชาติ
สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคเองได้มีโอกาสสนับสนุนเครือข่ายที่ทำงานเรื่องรัฐสวัสดิการต่างๆ โดยได้เผยแพร่ให้เห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุที่ไม่มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ และปัญหาของระบบสวัสดิการในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือทำสื่อเผยแพร่มุมมอง ความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ต่อระบบบำนาญประชาชน
และหากยังจำกันได้ รัฐบาลที่แล้วพยายามตัดงบผู้สูงอายุให้เหลือเฉพาะคนจน ซึ่งทางสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำหนังสือถึงทั้งกระทรวงมหาดไทย และองค์กรพัฒนาสังคม เพื่อที่จะให้เดินหน้าเหมือนเดิม คือจ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนผ่านการทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า งบประมาณสำหรับจัดทำบำนาญควรมาจากไหน ซึ่งงานวิจัยชัดเจนว่าเรามีแหล่งเงินเพียงพอที่จะหามาทำบำนาญประชาชนได้ รวมถึงมีข้อค้นพบว่าถ้าทำระบบบำนาญประชาชน โดยใช้เงินประมาณ 457,000 ล้านบาท จะทำให้ GDP เพิ่มสูงขึ้นไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำขณะนี้คือ การเสนอแนะนโยบายต่อ ครม. เกี่ยวกับบำนาญประชาชน ในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค และอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำทันทีเพื่อหนุนเสริมการสร้างระบบบำนาญประชาชน คือ การขอแรงสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้มีบทบาทในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงให้พรรคการเมืองมีบทบาทในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
สารีเน้นย้ำว่า “ต้องเป็น ‘บำนาญถ้วนหน้า’ เพราะจะได้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากเราให้เฉพาะบางกลุ่ม คนจนจะยิ่งเข้าไม่ถึง ดังนั้นระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาติต้องให้กับทุกคนจริงๆ”
หากไม่ทำบำนาญแห่งชาติ อะไรจะเกิดขึ้น
ทางด้าน ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ระบุว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารมาตลอดในการเรียกร้องให้เกิดระบบบำนาญถ้วนหน้า คือการนำเสนอหลักเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่เรามีสวัสดิการคือการลงทุนให้กับอนาคตของประเทศ ลงทุนให้กับชีวิต และแน่นอนว่างบประมาณต้องสูงขึ้น ในส่วนนี้ทีปกรจึงเสนอว่าอาจเป็นโอกาสที่รัฐจะต้องคิดถึงการเพิ่มรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด อย่างสวัสดิการที่ข้าราชการได้รับ กับสวัสดิการที่ประชาชนได้รับ
หากมองภาพรวมในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองของประเทศไทยจะเห็นว่า เราพัฒนาเศรษฐกิจมาด้วยการกดขี่ขูดรีดค่าแรง ด้วยการที่กลุ่มทุนกระจุกอยู่บนยอดพีระมิดไม่กี่ตระกูลเอารัดเอาเปรียบคนไทย ทางออกคือการทำให้การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายลงมาส่วนอื่นได้ ซึ่งก็มีข้อเสนออยู่มากมาย ท้ายที่สุดอยู่ที่รัฐบาลจะหยิบยกมาทำหรือไม่
“คำถามที่ว่าถ้าเราไม่ทำ จะเกิดอะไรขึ้น สภาวะที่เราไม่ทำอะไร น่าจะจินตนาการได้ว่าสังคมไทยกำลังจะเดินหน้าไปสู่อนาคตที่สิ้นหวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ โดยสรุปรวมๆ คนจนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขาดความสามารถในการปรับตัว ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง”
แม้แต่ธนาคารโลกยังออกมาเตือนเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทย และเน้นย้ำเรื่องการไม่ทำรัฐสวัสดิการ เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นว่างบสวัสดิการของเราน้อยเกินไป อัตราคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงอายุต่ำเกินไป เงินลงทุนที่จะปรับสภาพ เตรียมพร้อมรับมือกับ climate change แทบไม่เห็นอะไรเลย
ความเป็นไปได้ของบำนาญแห่งชาติ ในเชิงเศรษฐศาสตร์
ถ้าย้อนหลังไปสักสิบปี มีข้อเสนอที่จะหาเงินเพิ่มงบประมาณเพื่อสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนเยอะแยะมากมาย เหมือนเป็นการรีดไขมันจากส่วนต่างๆ เพื่อให้มีงบประมาณเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารโลกได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า เราจะต้องขึ้น VAT (Value-Added Tax) เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทีปกรเห็นว่ารัฐควรนำเงินที่เพิ่มขึ้นตรงนี้มาจัดสวัสดิการ เนื่องจากการขึ้น VAT เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ รัฐก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นหลักแสนล้าน และที่สำคัญต้องคุมการฉวยโอกาสขึ้นราคาของนายทุนในทุกมิติเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน
“นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่โดดเด่นจะมีเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และแจกเงินดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลใช้พลังงานไปกับอะไรอย่างนี้ ในขณะที่เรื่องสำคัญอย่างสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญญาประดิษฐ์ ผมไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม หรือความพยายามที่จะทำอะไรอย่างนี้เลย”
สรุปแล้วประเทศไทยไม่ได้ยากจนถึงขนาดที่ไม่สามารถทำบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงได้ เรามีแหล่งเงินเพียงพอที่จะจัดทำระบบบำนาญได้ ท้ายที่สุดอยู่ที่เจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
We Fair ดันร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
เมื่อกล่าวถึงเจตจำนงทางการเมืองแล้ว คนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนกระตุ้นเจตจำนงของฝ่ายการเมืองให้ขานรับเจตจำนงประชาชน คือ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair
นิติรัตน์กล่าวว่า หลังจากการยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ทาง We Fair มีทั้งหมด 4 แนวทาง 1) ติดตามกฎหมายกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับรองกฎหมายเข้าสู่สภา 2) ทำงานร่วมกับอนุกรรมาธิการจัดวางระบบบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ จัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และบำนาญพื้นฐานแห่งชาติอีกหนึ่งฉบับ 3) ร่วมกับ P-move ผลักดันเรื่องบำนาญและสวัสดิการผู้สูงอายุ และ 4) ติดตามกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีนโยบายเกี่ยวกับบำนาญช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายได้สะท้อนสิ่งที่ประชาชนต้องการจะเห็นในสวัสดิการถ้วนหน้า คือ 1) การมีหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ 2) การพัฒนาเบี้ยยังชีพจากระบบสงเคราะห์เป็นระบบถ้วนหน้า 3) อัตราของบำนาญประชาชน จะใช้ตัวเลขที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน มุ่งเน้นทำให้ผู้สูงอายุทุกคนหลุดออกจากความยากจนทันที ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีหลักประกันรายได้
นอกจากนี้ นิติรัตน์ยังได้กล่าวถึงงบประมาณเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุและบำนาญว่า จากจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน รัฐต้องใช้งบ 80,000-90,000 ล้าน เท่ากับว่าผู้สูงอายุได้ 600 กว่าบาทต่อหนึ่งคนโดยประมาณ ในขณะที่บำนาญข้าราชการต่อคน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท
“โจทย์สำคัญคือต้องมีการวางงบประมาณกันใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญมาก เพราะหน่วยราชการมักจะมองว่าสวัสดิการประชาชนเป็นภาระงบประมาณ ทั้งที่เมื่อเทียบกันแล้ว สวัสดิการของข้าราชการสูงกว่าประชาชนมาก ซึ่งมันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ”
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ โดยจะต้องจัดลำดับความสำคัญของจำนวนเงินที่ได้เพิ่มขึ้นให้เหมาะสม
ในตอนนี้มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณการจัดสวัสดิการในเรื่องการคุ้มครองทางสังคม (ยกเว้นเรื่องสุขภาพ) ของประเทศเราอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ และเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เองก็สะท้อนถึงการจัดลำดับความสำคัญของสวัสดิการประชาชนที่ต่ำมาก
ความหวังในรัฐสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้า
เมื่อถามถึงความหวังและความเป็นไปได้ นิติรัตน์เสนอว่า ในปีงบประมาณ 2567 เราสามารถทยอยปรับเงินผู้สูงก่อนไปถึง 3,000 บาท ในปี 2570 ซึ่งในส่วนนี้พอที่จะเป็นไปได้ และสอดคล้องกับนโยบายของเกือบทุกพรรค
ทีปกรกล่าวเสริมถึงเรื่องความจำเป็นของบำนาญประชาชน บำนาญผู้สูงอายุ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงกับภาวะวิกฤตยากจนของผู้สูงอายุในอนาคต และงานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราเอาเงินไปใส่ในกระเป๋าประชาชนจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากสามารถจัดสรรทรัพยากรให้คนถึงคนยากจนได้ลืมตาอ้าปากในระยะยาว จะมีผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมหาศาล แต่หากเราไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นความเสียหายต่อประเทศอย่างแน่นอน
“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่ในวันนั้น ต้องยอมรับว่ามันเกิดจากการผลักดันของภาคประชาชนและภาควิชาการ พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญ จนกระทั่งสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เห็นความสำคัญและหยิบไปทำเป็นสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงได้ สร้างผลดีให้กับประชาชน รวมถึงเป็นผลงานที่เรียกคะแนนนิยมได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหากทำบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงได้ในรัฐบาลชุดเศรษฐา ก็จะเป็นผลงานที่สร้างคะแนนนิยมได้ดีเช่นกัน” ทีปกรให้ความเห็น
ทางด้านเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างสารีให้คำตอบว่า หลังจากได้ตรวจสอบนโยบายบำนาญของแต่ละพรรคการเมืองพบว่า ไม่มีชื่อพรรคเพื่อไทยอยู่ในรายชื่อพรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องมีเจตจำนงต่อเรื่องดังกล่าว
‘บำนาญถ้วนหน้า’ สารถึงนายกฯ และผู้มีอำนาจ
ทีปกรเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ต้องไม่กระจุกทรัพยากรอยู่ที่ยอดพีระมิด ที่ทำให้คนไทยส่วนมากที่ทำงานมาทั้งชีวิตไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทั้งที่ร่วมจ่ายภาษีการบริโภคมาตลอดชีวิต ในขณะที่เราเห็นอยู่ว่ามีเพียงไม่กี่ตระกูลที่เอาเปรียบจากการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด
“ในความเป็นจริง รัฐก็ต้องหารายได้เพิ่มอยู่แล้ว คุณควรจะใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปงบประมาณ ปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษี จะได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าคุณมีอำนาจและสามารถทำได้สำเร็จ คุณเองก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า และเกิดประโยชน์กับประเทศได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานระยะยาวให้กับประเทศ”
ในด้านสารีกล่าวว่า “ตอนนี้เจตจำนงส่วนอื่นค่อนข้างชัดเจน อาจจะรอดูเจตจำนงจากฝั่งการเมือง แน่นอนว่าพรรครัฐบาลมีบทบาทอย่างมากในการบริหารงาน และพรรคเพื่อไทยเคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากการทำในสิ่งที่หลายคนบอกว่าทำไม่ได้ อย่างการสร้างระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นถ้าเพื่อไทยจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ก็กินบุญไปได้อีกนานทีเดียว ซึ่งอาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นที่นิยมได้อย่างต่อเนื่อง”
สุดท้าย นิติรัตน์อยากให้ทบทวนนโยบายของพรรคครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าการพัฒนาประเทศมีช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ คนยากจนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ตระกูลที่ร่ำรวยไม่กี่ตระกูลสะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“แนวทางของทุนนิยมเสรีคือความล้มเหลว เพราะฉะนั้นต้องตั้งหลักให้ดี ในช่วงที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จจากนโยบายหลักประกันสุขภาพ และนโยบายอื่นๆ ที่ครองใจประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นตรงนี้เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของท่านเอง ที่จะทำให้พรคการเมืองของท่านมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างความเท่าเทียมในสังคม โดยการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ”
ในตอนท้ายนิติรัตน์ได้เน้นย้ำว่า งบประมาณที่รัฐมีอยู่สามารถนำมาใช้ได้ทันที ในการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในบันไดขั้นแรก คือปรับจาก 600-1,000 บาท เป็น 1,200-1,500 บาท ได้ทันที ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย