บำนาญแห่งชาติ…นี้

หลายพรรคการเมืองชูนโยบายให้เงินอุดหนุนประชากรวัยเกษียณในนาม ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ และ ‘บำนาญแห่งชาติ’ เพื่อรองรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถึงอย่างนั้น หลายคนยังคงมีคำถามว่านโยบายเหล่านี้สามารถทำได้จริงหรือไม่ งบประมาณมาจากไหน จัดสรรอย่างไร ใครควรได้ประโยชน์บ้าง

WAY และ ยังแจ่ม เชิญ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ในฐานะผู้ผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ 

สวัสดิการถ้วนหน้าไม่เกี่ยวกับการวางแผนการเงินในบั้นปลาย

“สถิติของประชากรในประเทศ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ที่มีเงินออม บางคนรับค่าจ้างเป็นรายวัน รายฤดูกาล เช่น เกษตรกร แล้วคนเหล่านี้จะออมได้อย่างไร” นิมิตร์ตอบ ข้อสงสัยแรกว่า หากสักวันหนึ่งทุกคนต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ เหตุใดจึงไม่ออมเงินไว้ เพื่อใช้ในวันข้างหน้า

นิมิตร์มองว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะออม เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ประชาชนที่ไม่มีศักยภาพในการออมเงินไว้หลังเกษียณ จึงต้องการหลักประกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านค่าครองชีพ

เดชรัต เสริมประเด็นเงินออมหลังเกษียณว่า หากแบ่งประชากรไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่รวยที่สุดถึงจนที่สุด กลุ่มละ 20 เปอร์เซ็นต์ จะพบว่ามีประชากรเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดเท่านั้น ที่มีความสามารถในการออมเงิน จนเพียงพอสำหรับการยังชีพเมื่อชราภาพ ขณะที่มีประชากรสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่มีศักยภาพออมเงินจนถึงวัยเกษียณ เนื่องด้วยค่าแรงที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ 

จัดสรรงบประมาณอย่างไร ให้เพียงพอต่อเงินบำนาญถ้วนหน้า

นิมิตร์กล่าวว่า หากเป็นสวัสดิการของประชาชน ในฐานะรัฐบาลต้องบริหารจัดการงบประมาณ จนสามารถจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชน และตนมองว่ารัฐบาลมีทรัพยากรที่สามารถทำได้

“ผมเชื่อว่า ถ้าเราได้รัฐบาลที่ดี เราได้พรรคการเมืองที่มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น ภายใน 3 ปี กฎหมายบำนาญพื้นฐานจะต้องเกิดขึ้น และประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีหลักประกันรายได้” นิมิตร์เสริมต่อไปว่า เดิมการจัดเก็บภาษีจาก 11 หมวด จะอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ หากเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบางหมวด อาทิ ภาษีสรรพสามิตรและภาษีค่าสัมปทาน ขึ้นมาเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลใหม่มุ่งมั่นตั้งใจ ไม่เกิน 4 ปี บำนาญ 3,000 บาท ถ้วนหน้าก็จะเกิดขึ้นได้จริง 

เงินบำนาญถ้วนหน้า ช่วยเศรษฐกิจอย่างไร

“การบริโภคของผู้สูงอายุ ยังคงเป็นอัตราการบริโภคที่มีความเหมาะสม ถ้าผู้สูงอายุจะนำไปใช้ดูแลสุขภาพ ดูแลตัวเอง ดูแลบ้าน พักผ่อน ทานอาหาร ก็จะใช้เงินส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น” เดชรัตกล่าวถึงประเด็นการให้เงินบำนาญ แล้วสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยเดชรัตมองว่า การบริโภคของผู้สูงอายุ ยังคงสามารถทำให้เงินและเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ 

เดชรัตชี้ว่า ประเด็นสำคัญคือ ต้องมองบำนาญถ้วนหน้าเป็น ‘การลงทุนจากภาครัฐ’ เมื่อรัฐมีกำลังทางเศรษฐกิจ ลงทุนไป 4 แสนล้าน ให้กับผู้สูงอายุทุกคนจำนวน 3,000 บาท ผู้สูงอายุเหล่านั้นก็จะนำเงินจำนวนดังกล่าว ไปซื้อของอุปโภคบริโภค เม็ดเงินเหล่านั้นจะหมุนเวียน กระจายสู่ตัวชุมชน ตัวบุคคล ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล 

นอกจากนี้ นิมิตร์ยังเสริมว่า เบี้ยยังชีพจะทำให้ผู้สูงอายุมั่นใจว่า เขาสามารถวางแผนชีวิตได้ เช่น การตัดสินใจว่าจะทำอะไร ลงทุนอย่างไร ผู้สูงอายุไม่ได้นำเงินไปเก็บ พวกเขานำเงินเหล่านั้นไปใช้ จะทำให้รัฐมีเงินสดกว่า 4 แสนล้านบาท เข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจ กระตุ้นให้ GDP เติบโต 3-4 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ 

บำนาญผู้สูงอายุ (ไม่) ถ้วนหน้าได้หรือไม่

“เมื่อรัฐให้ภาษีมาจัดสวัสดิการ เราจึงว่าเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องถ้วนหน้า เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ควรได้รับการตอบแทนจากการเสียภาษีให้รัฐ” นิมิตร์กล่าว ก่อนเสริมว่า สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อดูแลเฉพาะคนจน แต่ทำเพื่อคนทุกคน เมื่อนำเงินจากการเสียภาษีมาจัดสรรเป็นสวัสดิการ ทุกคนที่เสียภาษีจึงมีสิทธิเข้าถึงบำนาญ ถ้าไม่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า รัฐต้องเสียเวลานั่งแบ่งแยกคนจนคนรวย นำไปสู่ระบบอุปถัมภ์ เป็นช่องทางให้อำนาจนิยมเกิดขึ้น ดังนั้นการจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า จึงเป็นทางออกที่สามารถตัดตอนปัญหาเหล่านี้ 

หลังเลือกตั้ง บำนาญถ้วนหน้าจะไปต่ออย่างไร

นิมิตร์เสนอว่านอกเหนือจากการทวงถามเรื่องนี้กับพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำคือ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีปัดตกกฎหมายจากประชาชน เปิดทางให้สภามีโอกาสพิจารณานโยบายที่เป็นประโยชน์ นโยบายที่เป็นสวัสดิการประชาชน เพื่อให้เกิดการพิจารณาเรื่องของบำนาญถ้วนหน้าอย่างเป็นระบบ 

เดชรัตกล่าวว่า  หากพรรคที่นำเสนอบำนาญผู้สูงอายุได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องถามถึงความเป็นไปได้ และเน้นย้ำถึงความพอดี พอเหมาะ และสอดคล้องกับค่ายังชีพของผู้สูงอายุหรือไม่ บำนาญพื้นฐานแห่งชาติจะต้องมีการปรับอัตราทุกๆ 3 ปี ตามเส้นความยากจน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งกลไกการพิจารณาไม่ควรถูกผูกขาดโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ควรมีการแต่งตั้งกรรมการพิจารณาจากทุกภาคส่วน

ในช่วงท้าย นิมิตร์ฝากข้อความถึงประชาชนทุกคน ว่าเราไม่ควรตกหลุมพลางคำว่า ‘วินัยทางการเงิน’ งบประมาณแผ่นดินจำนวนไม่น้อยถูกใช้จ่ายไปกับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในขณะที่สวัสดิการเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ

“ประเทศเรามีทรัพยากรมากพอ เพียงแต่เราต้องจัดสรรอย่างเป็นธรรม อย่าตกหลุมพลางคำว่าวินัยทางการเงิน จนมองว่าเรื่องนี้จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ ไม่ใช่เพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อทุกคนในสังคมนี้” นิมิตร์เน้นย้ำ

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า