เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อารยา คงแป้น
“จากเดิมที่เคยคิดว่าเราเข้าใจโลกของผู้สูงอายุดีที่สุด เคยคิดว่าการทำงานด้านนี้คือการพาผู้สูงอายุออกกำลังกาย ดูเรื่องอาหารโภชนาการ และคิดว่าญาติผู้ป่วยต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลผู้สูงวัย แต่การทำงานด้วยการลงพื้นที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 56 ได้เปลี่ยนมุมคิดของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง”
คำ ‘จากเดิม’ ของ ดร.ศิราณี ศรีหาภาค อาจารย์และพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น หมายความถึงช่วงความคิดและประสบการณ์ที่ขั้นกลางระหว่าง ‘ประสบการณ์การพยาบาล’ และ ‘การลงพื้นที่ด้านผู้สูงวัย’ ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อจบปริญญาตรีในปี 2536 และหลังจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยในหัวข้อ ‘ผลกระทบและภาระการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวภายใต้วัฒนธรรมไทย’
ซึ่งหัวข้อวิจัยดังกล่าวก็ทำให้ ‘โลกผู้สูงวัย’ ของ ดร.ศิราณี พังทลายและก่อตัวใหม่
“เราไม่ได้มองผู้สูงวัยเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอีกต่อไป แต่การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ต้องมองไปถึงคนดูแลซึ่งเป็นคนรอบข้างคนแก่ และตัวระบบที่ต้องมาซัพพอร์ทคนกลุ่มนี้ในการดูแลผู้สูงวัยด้วย” ดร.ศิราณี กำลังหมายถึงความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโลกของผู้สูงวัย
13 ตำบล 9 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภูมิภาคประเทศไทย ตั้งแต่มิถุนายน 2555 – พฤษภาคม 2556 เธอพบว่า บางทีเธออาจเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกของผู้สูงวัยได้ไม่หมดทุกซอกมุม
ด.ช. กตัญญู ถูกสังคมทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย
บางครั้งความกตัญญูก็เป็นดาบสองคม
ศิราณีไม่ได้ต่อต้านวัฒนธรรมของสังคมไทย เธอเพียงพูดจากประสบการณ์ case by case เพราะปัญหาสุขภาพไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน
ปัญหาสุขภาพเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างและส่งผลกระทบต่อเชื่อมกันเป็นลูกโซ่ เช่น จากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเมืองโตเดี่ยว ที่ทุกคนมุ่งหน้าไปทำงานที่เมืองหลวง เพื่อตั้งใจส่งรายได้ (ที่อาจน้อยหรือไม่พอกิน) กลับมาให้คนที่บ้าน ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทมีประชากรหลักเพียงสองช่วงวัย คือ ตายาย/ปู่ย่า และหลานๆ ปัญหาที่เกิดจากตัวระบบสุขภาพเอง และอื่นๆ ที่เราอาจพออนุมานได้จากตัวอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล หรือประสบการณ์โดยตรงจากเราเอง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ภาระของการดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ตกเป็นหน้าที่ระยะยาว และอาจหมายถึงชีวิตที่เหลือจนกว่าใครจะตายจากกัน ของลูกหลานและคนที่อยู่รอบข้าง ภายใต้ความกดดันของคำว่า ‘กตัญญู’
ไม่ใช่ว่าเขาไม่กตัญญู ไม่รัก เพราะแต่ละเคสที่เจอ เราพบว่าคนที่ดูแลเขาใช้ความพยายามอย่างมากที่จะ caring ผู้ป่วย แต่หลายๆ กรณีก็ซับซ้อนมากกว่านั้น เช่น ผู้ป่วยจิตเภทต้องเป็นผู้ดูแลแม่สามีติดบ้านติดเตียง หรือเป็นกรณีง่ายๆ แค่ภรรยาต้องดูแลสามีที่มีน้ำหนักมาก เวลาอาบน้ำต้องอุ้มยก ผู้หญิงคนนั้นก็บาดเจ็บจากการพยาบาลสามี
“ฉะนั้นโลกของผู้สูงอายุไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วยและคนที่ดูแล แต่เป็นเรื่องระบบ และต้องเป็นระบบที่ถูกสร้างให้เหมาะกับท้องถิ่นชุมชน” ดร.ศิราณีกล่าว
ระบบการเงินท้องถิ่น ที่หน่วยงานราชการตามไม่ทัน
เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องแต่เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนเรื่องหนึ่งคือ ‘ความตาย’ แต่อีกเรื่องคือ ‘การอยู่’
นั่นคือคำว่า ‘กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน’ กับ ‘การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว’
ในนิยามเรื่องคุณภาพของผู้สูงวัยที่ศิราณีเห็น ต้องประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตของผู้ดูแล และคุณภาพของระบบสุขภาพ ซึ่งเธอเห็นว่าการจะเข้าไปแก้ไขตัวระบบใหญ่ ต้องแก้ไขสองส่วนหลัก คือ ตัวระบบต้องถูกพัฒนามาจากระบบวัฒนธรรมของ ‘แต่ละ’ ชุมชน และระบบประกันสุขภาพใหญ่ที่ต้องมั่นคง
แต่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าไปแก้ระบบที่แก่นกลางเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ เธอเห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพได้เกิดอยู่ก่อนแล้วในชุมชน
“นี่ไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานสาธารณสุขเป็นผู้คิดขึ้น เราไปค้นพบว่ามันมีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านเขาทำกันเองด้วยซ้ำ และเราก็ใช้ระบบนั้นเป็นโมเดล นั่นคือ ‘กองทุนฌาปนกิจหมู่บ้าน’ เป็นคล้ายเงินประกันว่า ถ้าเขาเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จะมีเงินกลุ่มนี้มาจัดงานศพได้”
จากนั้นทีมพยาบาลสาธารณสุข จึงกลับไปคิดต่อในที่ประชุม แล้วหันกลับไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน เสนอแนวคิดเรื่องการขยายกองทุนและเงินออม ให้ไม่เป็นแต่เพียงกองทุนฌาปนกิจ แต่ขยายกองทุนให้กลายเป็นกองทุนกู้ยืมฉุกเฉินยามสมาชิกป่วยไข้
ยกตัวอย่าง ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ และ ‘ระบบเงินออม’ ของหมู่บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะโมเดลต้นแบบที่ทีมวิทยาลัยพยาบาลใช้ศึกษาเป็นโมเดล
และใช่…หมู่บ้านโคกเครือเขาจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงวัยกันจริงๆ
โรงเรียนก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ระเบียบปฏิบัติคือ นักเรียนผู้สูงวัยต้องมาเข้าแถวเคารพธงชาติให้ทัน 8 โมงเช้า สวดมนต์เมื่อเพลงชาติจบ เริ่มกิจกรรมวงสนทนาเพื่อถามข่าวคราวกันว่า ตอนนี้มีเพื่อนผู้สูงวัยคนใดที่ป่วย อยู่บ้านไหน ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง หลังจากนั้นคือการชวนกันเดินเท้า (หรือขี่รถเครื่อง) พากันออกไปเยี่ยมเยียน
และหากในช่วงเวลานั้นไม่มีเพื่อนร่วมห้องคนไหนเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาจะเปิดเพลงและเริ่มร้องเล่นเต้นรำ เปิดคอร์สหรือวิชาเรียนเรื่องการดูแลสุขภาพ วิชาการจักสาน หรือวิชาใดๆ ตามที่นักเรียนจะโหวตเลือกกัน หากโมเดลของธนาคารออมเงินเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นราวปี 2557 ด้วยความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น, สำนักงานประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น และกลุ่มสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ ธงคือ การขยายหลักประกันสุขภาพผู้สูงวัย ด้วยการใช้ฐานความเข้มแข็งชุมชนและโมเดลกองทุนฌาปนกิจหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม
“ฉันอยากถามพ่อๆ แม่ๆ ในที่นี้” ดร.ศิราณี กล่าวกับบรรดาผู้สูงวัยที่นั่งล้อมเธออยู่ “ใครคิดบ้างคะ ว่าหากตัวเองเจ็บป่วย แต่มีเงินเพียงพอรักษาตัวเองบ้าง” นักเรียนผู้สูงวัยยกมือกันพรึ่บทั้งห้องเรียน
“โอเค พ่อๆ แม่ๆ คิดว่าตัวเองมีพอ ฉันถามต่อนะ แล้วถ้าวันหนึ่งต้องป่วยไข้แบบต้องนอนอยู่บ้านเป็นเวลานานเลย คิดว่าลูกๆ มีเงินพอที่จะดูแลไปตลอดไหม” คำถามของ ดร.ศิราณี เรียกร้องความสนใจจากผู้สูงวัย เธอรับฟังความเห็นของ ‘พ่อ’ คนนั้น ‘แม่’ คนนี้ แทบไม่ทัน
“ผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่ก็คือคนกลุ่มข้าราชการ แต่สำหรับชาวบ้าน หรืออย่างประชากรในอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ยังไม่มีความมั่นคงมารองรับมากเท่าไร การเปลี่ยนแปลงทางระบบที่เราว่า คือการสร้าง public policy คือการสร้างหลักประกันทางสุขภาพที่มั่นคงและต้องถูกกำหนดมาจากแต่ละท้องถิ่นเอง”
คำกล่าวของ ดร.ศิราณี ทำให้มองเห็นความไม่ทั่วถึงของระบบประกันทางสุขภาพของสังคมไทย ขณะเดียวกันเธอก็ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องรอ – ลงมือสร้างมันขึ้นมาเอง
ชาวบ้านนั่นแหละ ที่เป็นเจ้าของปัญหา
“ต้องยอมรับว่าการทำงานทางสาธารณสุข ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามีกรอบคิดที่ครอบงำเจ้าหน้าที่ ให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจ และจากนโยบายที่กำหนดมาจากศูนย์กลาง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจชาวบ้าน ไม่เข้าใจปัญหา เพราะคิดแต่ว่า…ทำไมชาวบ้านไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่เข้าใจธรรมชาติของชาวบ้านเลย แต่หลังๆ ที่เริ่มมีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมแนวคิดสุขภาพชุมชน
“มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนเราจากความคิดว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหา กลายไปเป็นผู้ทำงานสนับสนุนและเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการ เข้ากับความรู้ ปัญหา และความต้องการของชาวบ้าน ทุกวันนี้พวกเราจะพูดกันว่า ‘สุขภาพเป็นของชุมชน ประชาชนเป็นเจ้าของปัญหา’ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่”
เกี่ยวพันกับความหมายของคำว่า ‘public policy’ เพราะระบบสุขภาพที่เกิดจากความต้องการของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองว่า ไม่ใช่ผู้แนะนำวิธีการให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี แต่เป็นผู้จัดหาทรัพยากรมาตอบสนองความต้องการของ ‘เจ้าของปัญหา’ ซึ่งก็คือตัวชาวบ้านเอง
นอกจากนี้ ดร.ศิราณี ยังเผยให้เห็นปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขเองที่เป็นวัฒนธรรมครอบงำความคิดของผู้ปฏิบัติงาน และทั้งเป็นนโยบาย (policy) ที่อาจกักกันไม่ให้ชาวบ้านเป็นผู้บอกปัญหาและวิธีแก้ของตัวเองได้
ปัญหาการเบิกจ่ายและให้เงินกับงบประมาณใดๆ ก็ตาม การเบิกจ่ายมันค่อนข้างยากและเป็นในเชิงอีเวนต์ไม่ใช่แพ็คเกจ เงินมันจะไปอยู่ที่อีเวนต์การออกกำลังกาย จัดงานสงกรานต์ งานปีใหม่ ถ้าไม่มีอีเวนต์ก็จบ มันไม่ยั่งยืน
ดร.ศิราณี เปรียบเทียบวิธีคิดการจัดสรรงบประมาณระหว่างการให้งบตามรายอีเวนต์อย่างไทย กับโปรแกรมคุ้มครองเป็นแพ็คเกจอย่างต่างประเทศ เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะได้โปรแกรมที่ครอบคลุมหญิงคนนั้นไปกระทั่งคลอดลูก วัคซีนเด็ก การตรวจสุขภาพ และอื่นๆ เพราะเรื่องสุขภาพคือโปรแกรมที่ต้องดูแลสนับสนุนระยะยาว ไม่ใช่การกำหนดให้ดูแลกันตามอีเวนต์
อีกหนึ่งปัญหาเชิงระบบ คือภาพการทำงานแบบราชการที่เราคุ้นชิน การทำงบเบิกจ่ายต้องเขียนรายงานอย่างละเอียด ต้องตรงกับลิสต์รายการที่มีโครงการให้เบิกจ่ายได้ (ตามอีเวนต์) และผู้ที่มีอำนาจเบิกจ่าย คือเจ้าหน้าที่ราชการที่มีโต๊ะทำงานอยู่นอกชุมชน ซึ่งอาจไม่ใช่คนที่รู้เห็นปัญหาที่ลึกซึ้ง เมื่อรวมกับระเบียบวิธีในการให้งบประมาณตามระเบียบราชการ จึงทำให้ระบบที่ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ ถูกปัดตกออกไปเพราะเป็นวิธีที่ไม่อยู่ในกรอบที่วางไว้ของราชการ
“ไม่ได้บอกว่า สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่ดีนะคะ แนวคิดของเขาดีมากทีเดียว แต่มันต้องการการพัฒนาและการออกแบบระบบให้เข้าใจปัญหามากอีกนิด อาจจะต้องปรับวิธีที่ให้เข้ากับระบบที่มีอยู่ของชุมชน”
การเมืองเรื่องคนแก่
ในการพูดคุยเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ร้านกาแฟ เราถกกันเรื่อง ‘เป็นไปได้ไหมที่คนแก่อาจสมัครใจไปสถานดูแลคนชรา?’
เพราะถ้าที่นั่นมีเพื่อน มีคนดูแลให้บริการ อุปกรณ์สะดวกพร้อมครัน และมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกมาเพื่อ caring ผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะ หรือในบางกรณีอาจดีกับผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีญาติและทุนทรัพย์ในการดูแลตัวเองโดยลำพัง
ความเห็นของ ดร.ศิราณี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ได้ไปดูงานทั้งในต่างประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่สถานการณ์ทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเมืองไทย
เธอเห็นว่าตัวเลือกแบบนั้นเป็นไปได้ แต่ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงตาม
“ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการก็สามารถทำได้ เพราะเขามีระบบเก็บภาษีที่มาก จัดเก็บภาษีท้องถิ่น และท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรเอาไปบริหารกันเอง ซึ่งทำให้เขามีอำนาจที่จะทำ public policy ได้หลากหลาย ซึ่งแตกต่างกับทั้งระบบวัฒนธรรมและระบบสวัสดิการของเรา”
เธอให้ความเห็นต่อว่า ยังไม่นับรวมกับปัญหาเฉพาะตัวของบ้านเรา ที่เป็นสังคมขยาย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมือง ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเข้าไปหางานในเมืองแล้วทิ้งให้ผู้เฒ่าผู้แก่อาศัยอยู่ที่บ้าน และด้วยความจำเป็นอีกครั้งที่ต้องทิ้งลูกหลานให้ตายายเลี้ยง ทั้งหมดนี้สะท้อนระบบเศรษฐกิจทางสังคมที่ทำให้รากของปัญหายิ่งกว้างและลึกลงไปอีก
เธอยกตัวอย่างการจัดการด้านท้องถิ่นของต่างประเทศให้เห็นภาพว่า เพราะระบบการปกครองของเขาได้กระจายอำนาจไปยังระดับท้องถิ่น ให้อำนาจจัดเก็บภาษีท้องถิ่น และสามารถออกแบบการจัดการระบบด้วยตัวเองได้ ภาษีส่วนหนึ่งเขานำไปใช้กับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ไม่เฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วย หากเป็นสวนสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน สถานที่ออกกำลังกาย
มากขึ้นไปอีก เขามีสถานพักของคนชราไว้รับรอง ซึ่งเธอย้ำว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีราคาสูง และมีปัจจัยทางสังคมหลายอย่างเกื้อหนุนกัน ซึ่งอาจเหมาะหรือไม่เหมาะกับประเทศไทยก็ได้
คำว่า ‘เพราะอะไร’ ตัวใหญ่ๆ หลุดออกมา เราสงสัยว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรและเก็บภาษีเองไม่ได้เพราะอะไร
เพราะถ้ามุมมองของสาธารณสุขที่ว่า ‘สุขภาพเป็นของประชาชน’ ก็ต้องให้แต่ละท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รู้ว่าปัญหาของตัวเองคืออะไร มีอำนาจในการออกแบบการจัดการกันเอง
เธอให้คำตอบสั้นๆ ที่ไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “เพราะเขากลัวว่าท้องถิ่นจะคอร์รัปชันอย่างไร” เป็นอันจบข่าว
ศิราณีคือใคร
กลับไปตรวจสอบความฝันและอุดมการณ์ส่วนตัวของเธอ ดร.ศิราณี เล่าว่า เธอเรียนจบพยาบาลในปี 36 ด้วยตั้งใจว่าจะทำงานในหอผู้ป่วย หากสุดท้ายกลับพบว่าการจะทำงานด้านสุขภาพในระยะยาวให้เป็นจริงได้ ต้องกลับไปตั้งต้นที่ชุมชน
“สิ่งที่ทำให้เราผูกพันกับงานผู้สูงอายุจริงๆ คือตอนที่กลับไปทำงานเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยที่จังหวัดเชียงราย เพื่อทำรายงานจบปริญญาโทที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งเป็นชมรมผู้สูงอายุที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี มากไปกว่านั้น เพื่อนที่เราผูกพันเขาก็ติดเชื้อด้วย โดยมีพ่อแม่ของเขาเป็นคนดูแล พอเขาเสียชีวิต พ่อแม่เขาก็ต้องดูแลหลานต่อไป มันเป็นความสะเทือนใจที่ยังติดอยู่ ทำให้ผูกพันและยึดติดกับงานด้านนี้ไปโดยปริยาย
“นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นพยาบาล ที่สนใจงานด้านผู้สูงวัยระยะยาว”
แต่ครั้งที่ทำให้เธอรู้จักตัวเองอย่างเด็ดขาด คือครั้งที่ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วันนั้นเธอตั้งใจว่า ตัวเองน่าจะสามารถเรียนและตัดสลับไปเข้าเวรในหอผู้ป่วยได้
แต่เธอพบว่ามันไม่ใช่ความฝันที่ทำให้จริงได้ เพราะ หนึ่ง-เป็นการยากที่จะทำงานไปด้วยและเรียนด้วยความหนักหน่วงในเวลาเดียวกันได้ และสอง-มันยากยิ่งกว่า ที่จะหาพยาบาลสลับเวรให้เธอสามารถเข้าห้องเรียนได้ทัน
ชั่วระยะเวลาหนึ่งเทอม เธอตัดสินใจกลับบ้าน บ้านที่เธอเป็นผู้เลือกว่าจะลงหลักปักฐานและทำงานที่จังหวัดขอนแก่น กลับมาทำงานด้านงานผู้สูงวัยระยะยาวอีกพัก แล้วจึงกลับมาสานต่อความฝันการเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจนสำเร็จ
“ตลอดการทำงานตั้งแต่ปี 36 จนปัจจุบัน ตอนนั้นเราคิดว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงวัยแล้ว แต่อย่างที่ได้บอกไป การทำวิจัยในปี 56 ครั้งนั้นเปลี่ยนโลกของเราไปเลย การทำงานหลังจากนั้นมา จึงไม่ได้มุ่งไปที่ตัวของผู้สูงอายุ แต่พยายามกลับไปสร้างระบบให้ครอบคลุมบริบทของผู้สูงวัยมากขึ้น
แม้จะไม่ได้ใส่ชุดกาวน์ตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วยใน แต่เธอยังถูกระบุอยู่ในเอกสารราชการว่า เธอคือนางพยาบาล หากเป็นพยาบาลที่สวมชุดสาธารณสุขสีขาวขึ้นรถตู้เดินทางไปตามชุมชน และยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือ การเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น
“ตอนนี้เราไม่แน่ใจว่าจะวัดความดันเป็นไหมด้วยซ้ำ (หัวเราะ) หน้าที่พยาบาลแขนงนี้คือการทำงานในชุมชน เป็น coaching และเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างข้อมูลทางวิชาการ นโยบายจากรัฐ และความต้องการของชุมชน”
สามวันเธอจะสอนที่วิทยาลัยสองวัน ต่อมาจะลงชุมชน และแอบพ่วงท้ายว่า ในบางครั้งอาจต้องอยู่ในชุมชนลากเกี่ยวไปในวันเสาร์และอาทิตย์
ครั้งที่กองบรรณาธิการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อสัมภาษณ์และตามติดชีวิต ดร.ศิราณี เพื่อดูว่าเธอทำอะไรบ้าง หนึ่งวันเธอชวนเพื่อนพยาบาลนั่งรถข้ามจังหวัดไปกาฬสินธุ์ เพื่อขอความรู้กับชาวบ้านเรื่องงานกองทุนฯ วันต่อมาเธอชวนเพื่อนพยาบาลร่วมกันจัดประชุม ทั้งจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยในตัวเมืองและโรงพยาบาลชุมชน โดยที่ทั้งหมดเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่มาจากหลายจังหวัดและอำเภอรอบๆ จังหวัดขอนแก่น
ในงานประชุมดังกล่าว เธอเปิดวงคุยด้วยการให้ทุกคนแนะนำตัวจนครบ โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเปิดทางให้ทุกคนได้ย้ำกับตัวเองว่า ทุกคนต่างมีหน้าที่และเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการทำงาน”
จากนั้นเธอสร้างกิจกรรมให้ตัวแทนแต่ละอำเภอและจังหวัดจับกลุ่มเพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากนโยบาย วัดผลจากความทรงจำย้อนหลังสี่ปี ทั้งหมดเพื่อการประเมินผลและตรวจสอบความคิดเชื่อของตัวพนักงานเอง
ในวงประชุมวิชาการนั้น ประโยคที่ได้ยินบ่อยครั้งคือประโยคที่ว่า
“ช่วงหลังมา เราเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดและเชื่อจริงๆ ว่า สาธารณสุขประจำอำเภอหรือท้องถิ่นสามารถออกแบบการทำงานเองได้ และต้องใช้ข้อมูลจากท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้การทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น แต่จะแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพได้ตรงจุด คนไข้กับเจ้าหน้าที่เข้าใจกันมากขึ้น ไม่เป็นศัตรูกัน”
และประโยค “เจ้าของปัญหาคือชุมชน”
ระหว่างที่แต่ละกลุ่มพรีเซนต์งาน ดร.ศิราณี อัดเทปและพิมพ์ข้อมูลให้กลายเป็นแผนผังต้นไม้ฉายขึ้นจอ
ความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมีอยู่จริง หลักฐานคือบทสนทนาในวงประชุมนั้น (และคำบ่นจากคนใกล้ตัวในฐานะผู้ป่วย) แต่สำคัญที่เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าใจและได้กลิ่นว่าปัญหานั้นมาจากโครงสร้างและอำนาจเร้นลับที่อยู่ในตัวเจ้าหน้าที่เอง
“นี่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ทำคือต้องสกัดและทบทวนบทเรียนจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องยอมรับว่าการทำงานในพื้นที่ชุมชนไม่ใช่ทางออกเดียว แต่ต้องทำงานควบคู่กันไประหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ” – ผู้ศึกษาและให้คำปรึกษาด้านความชรากล่าว