วงเสวนา ‘เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ’ โดยไทยพีบีเอสและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 จัดขึ้นเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนจนเมือง การศึกษา คนไร้สถานะ คนพิการยากจน รวมถึงผู้สูงอายุโดดเดี่ยว ที่ยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
สำหรับปัญหาผู้สูงอายุโดดเดี่ยวในสังคมไทย คล้ายจะเป็นฉากสุดท้ายจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหมด ความยากจนและสวัสดิการชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้บั้นปลายชีวิตของผู้สูงวัยหลายคนต้องประสบปัญหาคุณภาพชีวิตตกต่ำ และต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขณะที่ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ปัญหาคาราคาซังจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจึงควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
ประเด็นผู้สูงอายุโดดเดี่ยว ได้รับการถ่ายทอดปัญหาและชี้แนะแนวทางแก้ไข โดยนักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมผู้สูงอายุ 2 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
13 สาเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ บั้นปลายชีวิตผู้สูงอายุในสังคมไทย
ศ.ดร.วรเวศม์ เริ่มต้นวงเสวนาด้วยการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้มีผู้สูงอายุโดดเดี่ยวในสังคมไทยผ่านมุมมองคุณภาพชีวิต โดยจำแนกไว้ทั้งหมด 13 ข้อด้วยกัน คือ
1) คุณภาพชีวิตที่แตกต่างตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของชีวิต การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วัยชรา ครอบครัว ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
2) ครอบครัว ซึ่งมีจุดสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับผู้สูงวัยว่ามีความแน่นแฟ้นเพียงใด
3) รายได้ โดยแบ่งลักษณะรายได้ของผู้สูงอายุออกเป็น 4 ประเภท คือ รายได้จากการทำงาน รายได้จากสินทรัพย์ รายได้จากลูกหลาน และรายได้จากสวัสดิการของรัฐ ความมากน้อยของรายได้จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยแตกต่างกัน
4) ความมั่งคั่ง หมายถึงสินทรัพย์ที่เกิดจากการออมในอดีต การลงทุนในอดีต รวมถึงการบริหารจัดการในปัจจุบัน
5) ความเจ็บป่วย
6) ภาวะพึ่งพิง คือภาวะที่ผู้สูงวัยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
7) สารสนเทศ การเข้าถึงข่าวสารที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น
8) การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีของผู้สูงวัย ที่จะช่วยทำให้ผู้สูงวัยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสังคมได้สะดวกยิ่งขึ้น
9) การเข้าถึงระบบสนับสนุนที่ไม่เป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชน เพื่อนบ้าน ซึ่งผู้สูงวัยบางคนไม่มีระบบสนับสนุนในส่วนนี้
10) การเลือกปฏิบัติ หรือมายาคติที่คนในสังคมมองผู้สูงวัย
11) สภาพถิ่นที่อยู่ ไม่ว่าจะลักษณะทางกายภาพ การบริหารราชการแผ่นดิน ไปจนถึงวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ ว่า เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยมากน้อยเพียงใด
12) บทบาทของรัฐ เช่น การสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม การช่วยเหลือดูแลระยะยาว
13) บริการสาธารณะ หมายถึงการบริการที่รัฐจัดให้ เช่น การฝึกอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมได้
“หากจะทำให้เรื่องของผู้สูงอายุฟังดูเข้าใจง่าย เราต้องมองจากคุณภาพชีวิตว่า ท้ายที่สุดทำไมผู้สูงอายุถึงมีบั้นปลายชีวิตที่แตกต่างกัน ที่ผมพูดมาทั้งหมดคือสิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งสิ้น และท้ายที่สุดจะเป็นเครื่องชี้ว่าผู้สูงอายุในสังคมจะโดดเดี่ยวหรือไม่”
นิยามความโดดเดี่ยวกับผลกระทบทั้งกายและใจ
รศ.ดร.ศุทธิดา กล่าวถึงนิยามของคำว่า ‘ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว’ ในมุมมองทางวิชาการของนักประชากรศาสตร์ที่เน้นในแง่การอยู่อาศัย โดยพิจารณาว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นอาศัยอยู่ตามลำพังหรือมีบุตรหลานอาศัยอยู่ด้วย หากมองไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ผู้สูงอายุเหล่านี้จะถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อความเหลื่อมล้ำมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากไม่มีคนดูแล
“การที่ผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล ทำให้เราต้องมองต่อไปว่า แล้วลูกหลานอยู่ไหน นี่คือสิ่งสำคัญ อยู่คนเดียวแล้วลูกหลานอยู่ใกล้หรือไม่ อยู่คนเดียวแล้วอาจจะมีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ กัน ในจังหวัดเดียวกัน หรืออยู่คนเดียวโดยไร้ญาติขาดมิตร ซึ่งกลุ่มไร้ญาติขาดมิตรถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุด เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวในแบบอื่นๆ”
ปัญหาการไร้ญาติขาดมิตรของผู้สูงวัย นอกเหนือจากการไม่มีคนดูแลคือ เรื่องสภาพจิตใจ เมื่อผู้สูงอายุโดดเดี่ยวแล้วมักทำให้เกิดความรู้สึก เหงา เศร้า หวาดกลัว จากการลงพื้นที่สำรวจ รศ.ดร.ศุทธิดา พบว่า ผู้สูงวัยหลายคนต้องการให้มีคนคอยแวะเวียนมาเยี่ยม หรือมาพูดคุยด้วย
และหากมองปัญหาเหล่านี้ในแง่สภาพแวดล้อมของผู้สูงวัย ปัญหาความโดดเดี่ยวมักไม่ได้มีแค่ในพื้นที่ชนบทเท่านั้น สังคมในเมืองก็เช่นกัน ด้วยสภาพสังคมของคนเมืองที่มักอยู่อาศัยกันแบบไม่มีระบบพึ่งพา เช่น การอาศัยในคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้าน ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านยากขึ้น
รศ.ดร.ศุทธิดา วิเคราะห์ถึงผลที่ตามมาจากความโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุได้ว่า เมื่อผู้สูงอายุจำเป็นต้องอยู่คนเดียว การเข้าถึงบริการต่างๆ อาจเป็นไปได้ยาก เช่น การไปโรงพยาบาล การไปทำธุระต่างๆ สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมทั้งสิ้น
“เรามองว่า ต่อไปควรมีระบบดูแลผู้สูงอายุในเรื่องการพาผู้สูงอายุไปทำกิจกรรม ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองมากขึ้นจากการไปไหนมาไหนและทำอะไรต่างๆ ได้”
‘แก่ก่อนรวย’ ความจริงแท้ในสังคมเหลื่อมล้ำ
ทางด้าน ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวเพิ่มว่า ปัญหาของการที่ผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ มาจากปัญหาในอดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้แล้วเป็นอย่างแรก กล่าวคือ การวางแผนชีวิตของแต่ละบุคคลนั้นต่างกัน จึงทำให้ผู้สูงอายุแต่ละคนมีบั้นปลายชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้และควรเดินหน้าแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่สองคือ ปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เช่น ครอบครัว ชุมชน ในเชิงนโยบายอาจจะไม่ง่ายนักที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การแก้ไขปัญหาก็ต้องเริ่มจากระบบ คือ
หนึ่ง – ระบบคุ้มครองทางสังคม สามารถแตกย่อยได้เป็นระบบบำนาญ การรักษาพยาบาล และการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยยังประสบอยู่ แม้ว่าสังคมไทยจะมีการบริหารจัดการระบบเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สอง – ระบบการคลังท้องถิ่น แม้ว่าบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังคมไทยจะชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ระบบการคลังท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นภาษีท้องถิ่น งบจากรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่น และบุคลากร ก็เป็นปัญหาเชิงระบบที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม
สาม – บริการสังคม และระบบย่อยต่างๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่ตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงเร็วเกินไป ซึ่งระบบควรจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้านได้ (Active Ageing) สิ่งนี้คือบริการสังคมที่แฝงด้วยนัยยะว่า หากผู้สูงวัยออกมาจากบ้านก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้
สามประเด็นที่กล่าวมานั้น นำไปสู่ประเด็นต่อมาคือการจัดหางบประมาณสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นภาษีอากร ประกันสังคม ระบบการออม เพื่อจะนำมาใช้ในการจัดการกับเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในแต่ละวิธีการหาเงินสนับสนุน จะทำให้ภาระตกอยู่กับแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกันไป
“บางคนอาจจะบอกว่าควรเป็นรัฐสวัสดิการ บางคนบอกว่าควรเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบตัวเองในฐานะปัจเจก เราก็ต้องมาคิดว่าจุดร่วมระหว่างสองอย่างนี้มันมีหรือไม่”
ประเด็นสุดท้ายคือ ตลาดแรงงาน โดยปกติผู้สูงอายุในสังคมไทยร้อยละ 40 ยังคงประกอบอาชีพอยู่ ซึ่งมักจะเป็นอาชีพอิสระ ทำให้การจ้างงานในระบบมีไม่มาก ซึ่งศ.ดร.วรเวศม์ มองว่าปัญหาส่วนหนึ่งอาจมาจากตลาดแรงงานของไทยที่มุ่งเน้นแรงงานหนุ่มสาวหรือแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ทำให้การผลักดันแรงงานผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
ปัญหาผู้สูงวัยในวันที่สังคมไทยยังไม่ตื่นรู้
ศ.ดร.วรเวศม์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับความตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อปัญหาสังคมผู้สูงวัยว่า เป็นเหมือนสำนวน ‘ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา’ ในบางครอบครัวอาจไม่มีผู้สูงอายุ หรือไม่ได้มีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง จึงทำให้การรับรู้ปัญหาเป็นไปได้ช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่นที่มีความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างเต็มที่
“เนื่องจากญี่ปุ่นมีหลายระบบที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงกระทบกระเป๋าสตางค์ของทุกคนทันที เช่น ระบบบำนาญแห่งชาติ ระบบเกษียณอายุ ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้ระบบเชิงโครงสร้างที่จะทำให้คนรับรู้ถึงผลกระทบไปพร้อมๆ กันอย่างนั้นได้”
ขณะที่ รศ.ดร.ศุทธิดา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ผู้สูงอายุโดดเดี่ยวยังไม่ถูกมองว่าเป็นภารกิจของสังคม ทำให้ไม่มีการเฝ้าระวัง ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้สูงวัยโดดเดี่ยวเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แม้ประเทศไทยจะมีระบบส่งเสริม เช่น การเยี่ยมบ้าน แต่ไม่ได้เป็นระบบแบบบูรณาการ กล่าวคือ ยังเข้าไม่ถึงจิตใจของผู้สูงวัย โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความต้องการที่แตกต่างกัน
“ในประเทศจีนมีระบบเยี่ยมบ้าน เขาทำในเชิงบูรณาการเพื่อจะดูแลผู้สุงอายุให้ดีขึ้น แต่กว่าที่เขาจะเข้าถึงใจผู้สูงอายุ กว่าผู้สูงอายุจะยอมรับได้ว่ามีคนมาช่วยเหลือ มาช่วยทางด้านจิตใจ เขาต้องใช้เวลา ซึ่งเราต้องหันกลับทบทวนว่า ระบบการเยี่ยมบ้านของไทยจะทำให้สมบูรณ์ครบวงจรแบบนั้นได้หรือไม่”
รศ.ดร.ศุทธิดา ย้ำถึงหน่วยงานเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีบทบาทในสังคมผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่จะช่วยดูแลผู้สูงวัยที่ไร้ญาติขาดมิตรคือชุมชน ดังนั้น การทำระบบเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หากผู้สูงวัยมีระบบเพื่อนบ้านที่ดีจะทำให้ภาพรวมในการดูแลง่ายดายกว่าเดิม อีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง เพราะมาจากการให้เพื่อนบ้านดูแลเพื่อนบ้านด้วยกัน หรืออาสาสมัคร ซึ่งยังคงต้องอาศัยการออกแบบระบบให้เอื้ออำนวยมากขึ้น
ศ.ดร.วรเวศม์ เสริมทิ้งท้ายว่า คนหนุ่มสาวควรเตรียมความพร้อมให้ตนเองก่อนจะเข้าสู่วัยเกษียณ ทั้งในด้านการเงินที่จะต้องวางแผนการออม การลงทุน ด้านสุขภาพ และด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ส่วนในระดับประเทศ การจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น อาจจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์จากสาเหตุ 13 ข้อ ดังที่กล่าวไปตอนต้น และจินตนาการว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมผู้สูงอายุในประเทศควรเป็นเช่นไร จากนั้นจึงวางแผนว่าจะรับมืออย่างไรในลำดับต่อไป นอกจากนี้จำเป็นต้องหาเงินสนับสนุนเพื่อสร้างระบบที่ดีด้วย ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม รวมไปถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
“เนื่องจากสังคมผู้สูงวัยมีหลากหลายมาก ทั้งผู้สูงวัยจนเมือง พิการ ไร้บ้าน ทำให้การอาศัยภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ในบางครั้งภาคเอกชนก็มีการแข่งขันจนทำให้ระยะของความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ในต่างประเทศเขาจึงมีภาคส่วนตรงกลางที่จะเข้าไปช่วยจัดบริการที่ต่ำกว่าราคาตลาด องค์กรในลักษณะนี้อาจจะเข้ามาช่วยได้โดยที่ไม่ต้องรอภาครัฐ”