ชี้เป้าคณะทัวร์ ส่องร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับ ร้อนเป็นไฟ

มาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ว่า “รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง”

ถ้าหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่างกฎหมาย แม้จะมีบ้างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เคยเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น แต่ก็ไม่มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าได้นำความคิดเห็นไปใช้อย่างไร

นี่จึงเป็นที่มาของ มาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เป็นช่องทางในการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากเสียงของประชาชนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนจะออกระบบหรือระเบียบใดสักฉบับ เพื่อให้ระเบียบนั้นสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด รวมถึงยังช่วยในการยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายบางอย่างที่ล้าหลัง ไม่เป็นธรรม ให้พัฒนาเท่าทันกับยุคสมัย

ฉะนั้นถือเป็นโอกาสอันดี ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีที่เราจะสามารถแสดงออกหรือส่งเสียงแสดงความคิดเห็นต่อการร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาในบางมาตราที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยทำได้ง่ายๆ ผ่านทางออนไลน์

นับตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงวันนี้ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ทั้งสิ้น 25 ฉบับ แต่ละฉบับล้วนมีประเด็นและวาระสำคัญแตกต่างกันไป

WAY จึงสำรวจและคัดสรรร่าง พ.ร.บ. ฉบับต่างๆ ที่จัดว่าเป็นประเด็นร้อนมาให้ทุกท่านได้เข้าไปทัวร์และร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมืองของประเทศ

คำเตือน ร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ แม้ไม่มีตัวเลือกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตนเอง โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการยืนยันตัวตน

#สมรสเท่าเทียม

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….

สาระสำคัญ

  • ให้ใช้คำว่า ‘ผู้หมั้น’ และ ‘ผู้รับหมั้น’ แทนคำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’
  • ในการสมรส เปลี่ยนการใช้คำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็นคำว่า ‘บุคคล’
  • เปลี่ยนจากคำว่า ‘สามีและภรรยา’ เป็นคำว่า ‘คู่สมรส’
  • แก้อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปีขึ้นไป
  • คู่สมรสทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์คู่สมรสได้ เช่น การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การยินยอมให้รักษาพยาบาล การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การรับมรดก ฯลฯ

ผลักดันกันมานาน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคม และที่ผ่านมาไม่นานนี้ก็เพิ่งมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งรับรองสิทธิแก่กลุ่ม LGBTQI แต่สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ยังถูกมองว่าไม่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการหมั้นและเป็นคู่สมรสกัน สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิการดำเนินการอุ้มบุญ รวมถึงสิทธิรับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรส ส่งผลให้หลายคนออกมาคัดค้านผ่านแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต

นอกจากร่าง พ.ร.บ. เจ้าปัญหา ยังมีอีกมูฟเมนท์นั่นคือการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สิทธิในการหมั้นและการสมรสเป็นสิทธิของทั้งคู่ต่างเพศและคู่เพศเดียวกัน ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังให้สิทธิที่จะได้รับสวัสดิการร่วมจากรัฐในฐานะคู่สมรสเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ซึ่งเป็นสภาพปัญหาที่กลุ่ม LGBTQI ต้องเผชิญ เนื่องจากการไม่มีข้อรับรองทางกฎหมายในสิทธิที่จะได้รับ เช่น สิทธิเซ็นยินยอมรักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส สิทธิของคู่ต่างชาติอีกฝ่ายในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย สิทธิในการขอวีซ่าในฐานะคู่สมรส

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขข้อความอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น เปลี่ยนจากคำว่า ‘ชายหรือหญิง’ เป็น ‘ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น’ ในการหมั้น และเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ชาย’ ‘หญิง’ เป็นคำว่า ‘บุคคล’ ในการสมรส บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศทำการหมั้นได้ตั้งแต่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ และปรับให้เป็นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจึงจะทำการสมรสได้

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเพศใด มีรสนิยมทางเพศอย่างไร ได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตคู่กันได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเสมอกับคู่สมรสชายหญิง เพื่อความเปิดกว้างจากกรอบของสถาบันครอบครัวแบบเดิมๆ

ขอเชิญคณะทัวร์ไปร่วมแสดงความคิดเห็น

#ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….

สาระสำคัญ

  • แก้ไขให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนการรับราชการทหารจาก ‘หน้าที่’ เป็น ‘สิทธิ’ ในการสมัครตามความสมัครใจ ยกเว้นในยามสงคราม
  • แก้ไขหลักการเกี่ยวกับอาชีพทหาร เช่น ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกทหารกองประจำการ ปรับเปลี่ยนเงินเดือน สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนของทหารกองประจำการ ห้ามไม่ให้ทหารกองประจำการทำงานรับใช้ส่วนตัวหรือการถูกละเมิดต่อร่างกาย จิตใจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปรับช่วงอายุของทหารกองหนุนประเภทที่ 1
  • ให้มีมาตรฐานการฝึกที่หลักสูตรเพิ่มความรู้ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหารแบบสากล และกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับการทหาร

‘ถ้าไม่เรียน รด. ก็ต้องเกณฑ์ทหาร’ – สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของชายไทยทุกคน เพื่อนนักเรียนชายในวัยมัธยมปลายจำนวนไม่น้อย หรือถ้าพิจารณาดูดีๆ ก็เกือบทั้งห้อง จึงจำใจเรียนวิชาทหารเพื่อแลกกับอิสรภาพที่ไม่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ในอนาคต ไหนจะอาการดีใจสุดชีวิตเมื่อจับได้ใบดำที่เราเห็นชินตาตามข่าว หรือบางอาชีพที่จำต้องทิ้งงานหรือหยุดงานระยะยาวเป็นปี หลังปลดประจำการกลับมาทำงานต่อก็ขาดความต่อเนื่องแทบจะต้องเริ่มต้นกันใหม่

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้แก้ไขให้เปลี่ยนการรับราชการทหารจากที่เคยกำหนดว่าเป็น ‘หน้าที่’ ของชายไทยทุกคนให้กลายเป็น ‘สิทธิ’ ในการเลือกที่จะสมัครด้วยความเต็มใจหรือไม่สมัครก็ได้

ในขณะเดียวกัน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อ ‘ “เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา” การละเมิดทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย’ ที่มีเนื้อหาพูดถึงทหารเกณฑ์ที่ต้องเผชิญกับพฤติกรรมการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างป่าเถื่อน

อีกทั้งยังมีบทความ ‘ “น้ำหวานในค่ายทหาร” บำเรอรับใช้และชายเป็นใหญ่ ทุกเรื่องถึง ผบ.ทบ. ’ ที่สำนักข่าวออนไลน์ Decode ได้เผยแพร่ออกมาหมาดๆ สร้างความหดหู่และสะเทือนใจต่อประสบการณ์ของ กอล์ฟ-พงศธร จันทร์แก้ว บุคคลที่เปิดเผยตัวตนว่ามีความหลากหลายทางเพศในวันแรกของการเป็นทหารเกณฑ์ และถูกคุกคามทางเพศทั้งทางคำพูด ทั้งการกระทำ ถูกลดค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงทหารรุ่นใหม่อย่าง เต้ย ที่เคยใช้ชีวิตกับกองทัพในต่างประเทศ เปรียบเทียบกับกองทัพไทยว่าควรใช้ระบบสมัครใจ เพื่อให้ได้กำลังพลที่มีประสิทธิภาพ เพราะทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ ซึ่งระบบที่เป็นอยู่ยังขาดการปลูกฝังสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า กลไกการเกณฑ์ทหารนั้นมีปัญหาในการสร้างมาตรฐานของการฝึกทหารอาชีพ

ร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้ต่อต้านอาชีพทหารแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อหวังพัฒนาศักยภาพของกองทัพไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วยการส่งเสริมให้หลักสูตรการฝึกมีมาตรฐานเดียวกัน โดยให้ความสำคัญในเรื่องความรู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หยุดการใช้แรงงานพลทหารในกิจส่วนตัว หรือเป็นเสมือนคนรับใช้ของนายพล รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่กองทัพด้วยผลตอบแทนด้านสวัสดิการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขณะปฏิบัติงานอยู่ในกองประจำการ

เร็วๆ นี้ใกล้จะถึงกำหนดการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการ หรือวันเกณฑ์ทหาร ประจำปี 2563 ที่ถูกเลื่อนมาเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในวันที่ 26 กรกฎาคม – 23 สิงหาคมนี้ ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการทบทวนระบบการเกณฑ์ทหารกันอีกครั้ง ด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฉบับนี้

ขอเชิญคณะทัวร์ไปร่วมแสดงความคิดเห็น

#สุราก้าวหน้า

ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….

สาระสำคัญ

  • ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีเพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถผลิตสุราเพื่อขายได้อย่างเสรี เนื่องจากข้อกำหนดเดิมมีเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินกว่าเหตุ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ที่มีข้อกำหนดไว้ว่าใครจะผลิตสุราให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
  • กำหนดให้การผลิตสุราเพื่อการบริโภคสามารถทำได้โดยทั่วไป
  • แก้ไขคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตฯ เกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน หรือประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต
  • กรณีที่เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ควรกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย

เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมาหลายปีสำหรับวงการนักดื่ม โดยเฉพาะอุปสรรคในการทำธุรกิจเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากกฎหมายมีเงื่อนไขในลักษณะกีดกันผู้ค้ารายเล็กในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุรา ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตสุราในไทยถูกผูกขาดอยู่แค่ไม่กี่เจ้าใหญ่ๆ

ถามว่าเป็นอุปสรรคอย่างไร ก็เพราะในกฎหมายกำหนดไว้ว่าใครที่จะผลิตสุราต้องยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีและต้องทำตามเงื่อนไขของกฎกระทรวง ซึ่งข้อกำหนดที่ว่านั้นได้กำหนดขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน ประเภทบุคคลที่มีสิทธิขออนุญาต รวมถึงจำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทที่จะผลิตขาย โดยเป็นข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อผู้ค้ารายย่อย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงเกินไปสำหรับผู้ค้ารายย่อยที่จะเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้เบียร์ไทยหลายยี่ห้อต้องหันไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำเข้ามาขายในไทยแทน นับเป็นการสูญเสียรายได้โดยตรงของรัฐ

ตัวอย่างข้อกำหนดในการขออนุญาตผลิตสุราในปัจจุบัน เช่น

“สุราแช่ชุมชน หมายความว่า ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ สุราแช่ผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่น ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่าเจ็ดคน หรือกรณี ใช้เครื่องจักรและคนงาน เครื่องจักรต้องมีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้าและคนงานต้องน้อยกว่าเจ็ดคนซึ่งมีแรง แอลกอฮอล์และคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด”

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอโดย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ในฐานะ สส. ที่เคยมีประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกจับเมื่อ 3 ปีก่อน โทษฐานที่หมักข้าวบาร์เลย์เพื่อจำหน่าย ได้เสนอแก้ไขกฎหมายให้การผลิตสุราเป็นเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ และเปลี่ยนข้อกำหนดในการขออนุญาตผลิตสุราให้ไม่เอื้อแค่นายทุนรายใหญ่ ซึ่งหากร่างฯ นี้ผ่านก็จะไม่ใช่แค่คราฟท์เบียร์ไทยเท่านั้นที่จะสามารถผลิตได้ง่ายขึ้น และราคาถูกลง แต่รวมถึงสุราพื้นบ้านประเภทอื่นอีกด้วยที่จะได้รับประโยชน์จากการแก้กฎหมายครั้งนี้ และเป็นการเปิดเสรีให้กับวงการสุราในบ้านเรานั่นเอง

ขอเชิญผู้ที่นิยมชมชอบในการดื่ม มาร่วมแสดงความคิดเห็น

#คุ้มครองแรงงาน

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….

สาระสำคัญ

  • เพิ่มนิยามคำว่า ‘การจ้างงานรายเดือน’ เป็นการจ้างงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ซึ่งรวมถึงค่าจ้างวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด และ 1 เดือนในที่นี้หมายถึง 30 วัน
  • แก้ไขให้ลูกจ้างทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 40 ชั่วโมง
  • หยุดสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 2 วัน
  • ใครที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้ปีละไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนให้ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้
  • หญิงมีครรภ์ให้มีสิทธิลาคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกันไม่เกิน 180 วันต่อบุตร 1 คน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน

ทุกคนรู้ แรงงานรู้ เศรษฐกิจไม่ดีมาหลายปีแล้ว ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการใช้ชีวิตทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ค่าครองชีพสูงผกผันกับค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้ยังมีโควตาวันหยุดที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น ให้หญิงมีครรภ์ลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน โดยรวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย

ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เสนอให้แก้ไขบางข้อกฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานในการพัฒนาตนเอง

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การเพิ่มเวลาในหญิงมีครรภ์สามารถลาคลอดหรือเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 180 วันต่อบุตร 1 คน โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 90 วัน ได้รับประกันสังคมอีก 90 วัน และสามารถยกสิทธิลาให้กับผู้ที่เป็นพ่อเด็กหรือผู้ปกครองตามกฎหมายได้ 90 วัน

นอกจากนี้ยังแก้ไขข้อกำหนดให้นายจ้างจัดสรรวันหยุดพักผ่อนให้ลูกจ้างหรือแรงงานในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบหรือกดขี่การใช้แรงงานมากเกินไปอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

#ปฏิรูปการศึกษาภูมิภาค

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. ….

สาระสำคัญ

  • แก้ไขข้อกำหนดจากคำสั่ง คสช. ให้ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ.
  • ให้ยกเลิกอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
  • อ.ก.ค.ศ. ไม่ต้องมอบอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน

หลังจากที่มีปัญหาคาราคาซังเรื่องการจัดการการศึกษาในส่วนภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและสั่งสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งก็มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2560 ได้มากำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการแก้ไขที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ.

ด้วยเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นว่าคำสั่ง คสช. นั้นส่งผลกระทบต่ออำนาจในการจัดการบุคลากร ทั้งในด้านคุณภาพการปฏิบัติงาน การจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนถูกลดทอนลง ขาดการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา สิ้นเปลืองงบประมาณ และเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน รวมถึงยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงและขาดการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กร

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงต้องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง โดยการเปลี่ยนอำนาจที่รวมอยู่ในศึกษาธิการจังหวัดให้กระจายอำนาจไปสู่อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้บริหารงานบุคคลตามระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องมอบอำนาจให้กับทางศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน

ติดตามรายงานผลการแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องการเสียงของประชาชน

นอกจากร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 5 ที่ยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ. ด้านอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะในด้านการเกษตร ยาเสพติด ภาษี หรือการแก้ปัญหาผลกระทบจากโรคระบาด เช่น การแก้ไขอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาจากผลกระทบ COVID-19, การแก้ไขระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ, เงินบำนาญประชาชน, พืชกระท่อมไม่เป็นยาเสพติด, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฯลฯ

อ่านทั้งหมดที่นี่ 

Author

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร
ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดีๆ ก็หยุดพักมาฝึกงาน เรียนสื่อสารมวลชนใกล้จะจบในไม่ช้า ชอบออกกอง เป็นผู้อ่านมานาน อยากเป็นผู้เขียนที่ดีบ้างจึงมาฝึกกับกองบรรณาธิการ WAY สนใจงานสารคดี มักจะเติมพลังด้วยการไปดูหนัง ไปงานเทศกาลดนตรี และฟังเสวนา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า