คืนวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563
วัดปทุมวนาราม สยามพารากอน ซอยรางน้ำ กระทรวงกลาโหม และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อาคารและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองทั่วกรุงเทพมหานคร ถูกแสงจากโปรเจ็คเตอร์สาดเข้าผนังปรากฏเป็นข้อความปริศนา #ตามหาความจริง ขึ้นมา
เวลาเพียงข้ามคืนข้อความปริศนาดังกล่าวสร้างความฮือฮาไปทั่ว โดยเฉพาะผู้คนในสังคมโลกออนไลน์ที่ต่างตั้งคำถามถึงความหมายของข้อความนี้ บ้างก็พยายามตีความ บ้างก็พยายามคาดเดาว่าใครอยู่เบื้องหลัง จนทำให้แฮชแท็กนี้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ไปจนถึงเช้าวันจันทร์
หลังจากนั้นไม่นาน ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ออกแถลงว่า #ตามหาความจริง เป็นหนึ่งในแคมเปญกิจกรรมของคณะก้าวหน้าเพื่อทวงถามความจริงที่เกิดขึ้น ในวาระครบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
การฉายเลเซอร์ #ตามหาความจริง พ้องพานกับการฟื้นคืนชีพให้กับความจริงในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นการกระทำของกลุ่มคนในนิยายเรื่อง เบสเมนต์ มูน ของ ปราบดา หยุ่น การก่อความไม่สงบทั้งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและในนิยายนั้น เป็นแค่การนำข้อมูลชุดหนึ่งมาแสดงในที่สาธารณะ ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้มีอำนาจ ‘ไม่สบายใจ’
ในแง่นี้งานสร้างสรรค์ต่างๆ จึงมีบทบาทเป็นเครื่องมือแสดงออก บ้างเป็นภาพสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา บ้างโยนคำถามกระตุ้นความสงสัย บ้างเป็นการพยากรณ์ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ทั้งหมดนั้นคือการพยายามต่อรองกับอำนาจอย่างเข้มแข็งกับรัฐหรือผู้ควบคุมความสงบ
ย้อนไปในประวัติศาสตร์ ศิลปะมักถูกนำมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความต้องการในด้านต่างๆ ของมนุษย์ เช่นเดียวกันกับการแสดงออกทางการเมือง
‘Liberty Leading the People’ (1830) โดย เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Ferdinand-Victor-Eugène Delacroix) ภาพวาดที่สะท้อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ในรูปภาพปรากฏเป็นหญิงสาวที่มือขวาชูธงไตรรงค์ประจำชาติฝรั่งเศส มือซ้ายถือปืนคาบศิลา กำลังวิ่งนำฝูงชนผ่านร่างของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ภาพนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่บันทึกเพื่อจดจำบรรยากาศการประท้วงและเรื่องราวเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชัดเจน
แม้ภาพนี้ศิลปินตั้งใจบันทึกการโค่นอำนาจของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 มิใช่เหตุการณ์การล้มอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่พลังของภาพนั้นทำให้เป็นที่จดจำและเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติโดยประชาชน ภาพนี้จึงมีผลต่อประวัติศาสตร์เพราะเป็นแนวคิดที่สะเทือนแพร่กระจายไปทั่วโลก
(อ่านที่มาของภาพเพิ่มเติมได้ที่ Liberty Leading People หัวใจฝรั่งเศสในภาพวาด)
จากยุคที่ประชาชนบันทึก ‘ความจริง’ ลงบนผืนผ้าใบด้วยสีน้ำมัน สู่ยุคที่ความจริงแปรผันเป็นข้อมูลดิจิตอลมหาศาลโยงใยไปทั่วในระบบอินเทอร์เน็ต การฉายเลเซอร์ #ตามหาความจริง ลงบนพื้นผิวที่มีความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้น จึงมีคอนเซ็ปต์และความตั้งใจไม่ต่างจากภาพวาด ‘เสรีภาพนำประชาชน’ โดยศิลปินชาวฝรั่งเศสเสียเท่าไรนัก ต่างเพียงจริตของผู้ชม รูปแบบ เทคนิควิธีการสร้าง ที่พัฒนาและวิวัฒน์ไปตามยุคสมัย ดังนั้นภาพของข้อความปริศนาที่เกิดจากลำแสงของโปรเจ็คเตอร์ ที่ถูกผลิตซ้ำด้วยการแชร์อย่างกระหน่ำในโลกออนไลน์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ #ตามหาความจริง จะสร้างความไม่สบายใจต่อรัฐ แม้การฉายเลเซอร์จะไม่ผิดกฎหมายข้อใดก็ตาม
ในวันที่ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ถูกนำมาใช้ในการแสดงออกทางการเมือง เราจึงประมวลงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นกึ๋นในการสื่อสารและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแสดงเจตจำนง ไม่ว่าจะเป็น เพลง ม็อบออนไลน์ ภาพยนตร์ กราฟฟิตี้ หรือแม้แต่กิจกรรมการชวนออกมาอ่านหนังสือ
เพลง
‘ประเทศกูมี’ โดย Rap Against Dictatorship (2018)
เพลงฮิปฮอป จังหวะไรม์ลื่นไหล ด้วยรากของรูปแบบการไซเฟอร์ (cypher การที่แรปเปอร์แต่ละคนแรปในบีทเดียวกัน เล่าประเด็นเดียวกัน แต่คนละเนื้อหา แสดงมุมมองปัจเจกที่ต่างออกไป) ในบีทหนักหน่วงของกลุ่มแรปเปอร์ชาวไทย Rap Against Dictatorship เนื้อหาเพลงอันดุเดือดว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและการเสียดสีสังคมในมุมมองของแรปเปอร์แต่ละคน บวกกับฉากหลังของ MV ที่เป็นภาพจำลองการแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้เพลงนี้ยอดวิวขยับพุ่งไปถึง 9 ล้านวิว ภายใน 24 ชั่วโมง ตัวเพลงนี้จึงเร้าให้ผู้ชมแต่ละคนอยากเขียนไรม์เล่าว่าประเทศกูมีอะไร ในแบบของตัวเอง
ม็อบ
ม็อบ from home (2020)
#NoCPTPP #อย่าฉวยโอกาส #ไม่เอาCPTPPการค้าล้าหลัง #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม #MobFromHome
คือแฮชแท็กที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch และองค์กรพันธมิตร เชิญชวนทุกคนร่วมชุมนุมออนไลน์ โดยให้ถ่ายภาพพร้อมข้อความโพสต์ลงช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเองพร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว ในกรณีต่อต้านคณะรัฐมนตรีลงมติเข้าร่วม CPTPP เพราะการลงมติครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหารและยา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็กของไทย รวมทั้งเกิดการจำกัดพื้นที่สาธารณะของรัฐในการคุ้มครองประชาชน
บันทึกไว้ว่าการแสดงพลังของประชาชนในยามเกิดโรคระบาดนั้น แม้การรวมกลุ่มทางกายภาพเป็นเรื่องพึงหลีกเลี่ยงด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุข แต่ใช่ว่าการรวมพลังเพื่อแสดงเจตจำนงนั้นจะกระทำไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีการใช้ #MobFromHome เพื่อส่งเสียงเรียกร้องในประเด็นทางสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น เรียกร้องให้หยุดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เรียกร้องให้หยุดการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม รวมถึงการประท้วงขับไล่รัฐบาล
เกม
Chubby Hand Game (2018)
‘มือป้อม’ หรือ ‘Chubby Hand’ เป็นเกมอินเตอร์แอคทีฟที่ใช้สัญลักษณ์จากประเด็นทางสังคมในองค์ประกอบต่างๆ โดยเกมมีมิชชั่นเป็นการวิ่งเก็บนาฬิกาให้ครบเพื่อให้ผ่านด่าน โดยผู้เล่นจะต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถถัง เครื่องตรวจจับระเบิด GT200 และเรือดำน้ำ โดยเกมนี้เป็นผลงานของ ป๋อง แท่งทอง ที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการผลงานศิลปะ ‘ลมหลง’
ภาพยนตร์
‘ตั้งวง’ โดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี (2013)
แน่นอนว่าคลิปหรือฟุตเทจสั้นๆ ที่บันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่น้อยนักที่เราจะเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นบนจอภาพยนตร์ เนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง ตั้งวง บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงการสลายการชุมนุมเมื่อพฤษภา 2553 เอาไว้ ประหนึ่งการบันทึกประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม ลง pop culture ร่วมสมัย ฉากหนึ่งในเรื่องฉายให้เห็นตัวละครชื่อเบสท์ที่กำลังออกไปตามหาพ่อที่ไปชุมนุม ในคืนหลังจากการประกาศของ ศอฉ. และนั่นเป็นครั้งแรกที่เด็กหนุ่มอย่างเบสท์ออกไปปะทะกับการเมืองโดยตรง ได้ลิ้มรสชาติของชีวิตนอกเหนือจากการเป็นวัยรุ่นทั่วไป
Graffiti
Headache Stencil (2014)
Headache Stencil ศิลปิน Political Arts เขาใช้ความถนัดในแขนงศิลปะสร้างงานไปตามท้องถนน หรือที่เราเรียกกันว่าสตรีทอาร์ต โดยผลงานของเขาแสดงออกถึงการขัดขืนต่ออำนาจรัฐ-กฎหมาย เสียดสี แฝงด้วยประเด็นการเมืองและตั้งคำถามกับความไม่ชอบธรรมต่างๆ ในสังคม ผลงานของ Headache Stencil มักถูกสร้างด้วยเทคนิคพ่นสเปรย์ งานที่โด่งดังเช่นภาพนาฬิกาที่มีใบหน้า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
Illustration
#SaveThaiDemocracy (2020)
ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มนักวาดและนักออกแบบก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืนและความเห็นทางการเมืองผ่านการวาดรูปหรือทำกราฟิก โดยในงานศิลปะของพวกเขาจะแฝงการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ที่หมายถึง ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ เอาไว้ ก่อนโพสต์รูปภาพในช่องทางออนไลน์ของตนเองและติดแฮชแท็ก #SaveThaiDemocracy เห็นผลงานวาดของเหล่านักวาดทั้งอาชีพและสมัครเล่นมากมาย บ้างก็ไม่มีผลงานด้านสังคมการเมืองมาก่อน การติดแฮชแท็กจึงเป็นเสมือนการจัดตั้งนิทรรศการศิลปะขึ้นมาในโลกเสมือน
ละครเวที
Being Paulina Salas and the Practice (2016)
ละครเวทีที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง Death and the Maiden ของ แอเรียล ดอร์ฟแมน (Ariel Dorfman) กำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ จากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร
เรื่องราวคร่าวๆ ของ Death and the Maiden มาจากชีวิตจริงของผู้เขียน ซึ่งเป็นคนอาร์เจนตินา ที่ย้ายไปอยู่ชิลี แต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดย นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ทำให้ต้องอยู่ภายใต้เผด็จการทหารนานนับสิบปี ระหว่างนั้นจึงตัดสินใจหลบหนีออกมาไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาอยู่ยาวนาน กระทั่งชิลีกลับสู่ประชาธิปไตย
ละครเวทีเรื่องนี้มีการใช้เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยมาเป็นองค์ประกอบ เช่น การวางหนังสือ 6 ตุลาฯ เกลื่อนเต็มพื้นที่ของการแสดง เพื่อโยงเรื่องการตั้งคำถามถึงความทรงจำการยึดอำนาจโดยรัฐ ความเจ็บปวด บาดแผล และความรุนแรงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเล่าคู่ไปกับเหตุการณ์รัฐประหารโดยนายพลปิโนเชต์
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เขียนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาด้วยละคอนฯ)
Performance
ชวนกินแซนด์วิชและอ่าน 1984 (2014)
ย้อนไปในหนึ่งเดือนแรกของการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป เราจึงเห็นกิจกรรมเกิดขึ้นในเชิงภาษาสัญลักษณ์ที่ประชาชนสร้างสรรค์ขึ้นมา มีทั้งที่ตั้งใจต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน หรือเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความ absurd ของคณะรัฐประหาร เช่น กิจกรรมการกินแซนด์วิชที่จัดโดยนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย หรือการชวนอ่านหนังสือ 1984 นวนิยายคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน โดยทั้งสองกิจกรรมนี้ จัดขึ้นได้เพียงไม่นานก็ต่างถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกควบคุมตัว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เราประมวลให้เห็นการแสดงออกถึงแนวคิดทางการเมืองโดยใช้ศิลปะ เราพบว่าประเทศไทยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มีงานศิลปะอีกจำนวนมากที่ใช้เทคนิคอันแพรวพราวสร้างงานที่เต็มไปด้วยความงามและความหมายที่สะท้อนมุมมองต่ออำนาจรัฐ
หากจะพูดถึงข้อได้เปรียบ ศิลปะอาจจะลื่นไหล กำกวม และยืดหยุ่นกว่างานตัวอักษรในวิจัยหรือตำราวิชาการ ศิลปะจึงพาไปสัมผัสอารมณ์ ชวนให้เกิดการตีความ และกระแทกความรู้สึกในแบบที่งานวิชาการทำไม่ได้
ยิ่งในภาวะที่ความจริงถูกปิดกั้นแล้ว
ความจริงบางอย่างที่ควรพูด ก็กลายเป็นว่าพูดไม่ได้ ศิลปะจึงต้องพูดแทน