อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์: ถึงเวลาวางไม้เรียว สร้าง ‘เด็กดี’ ผ่านพื้นที่ปลอดภัย

การลงโทษเด็กด้วยการตี เป็นแนวทางการเลี้ยงดูที่เคยถูกยอมรับและปฏิบัติตามกันมาตั้งแต่อดีต ไม่เพียงแค่ในสถาบันครอบครัว แต่ยังเกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ซึ่งถูกมอบหมายให้เป็นสถานที่ดูแลฟูมฟักมนุษย์วัยเยาว์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นอนาคตของชาติ 

แม้การควบคุมพฤติกรรมของเด็กผ่านการเสริมแรงทางลบ (negative reinforcement) อย่างการลงโทษ จะสามารถยับยั้งไม่พึงประสงค์ได้ แต่ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวก ผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และความเจริญงอกงามทางจิตใจ มองว่า การเสริมแรงทางบวก (positive reinforcement) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าในการดูแลและพัฒนาชีวิตของเด็กอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางซึ่งต้องการการเติมเต็มในทุกๆ ด้านเป็นพิเศษ

ภายหลังเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ยิ่งตอกย้ำว่า หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลเด็กจำเป็นต้องทำความเข้าใจและสร้างแนวทางในการเลี้ยงดูเด็กๆ เหล่านั้น โดยไม่ซ้ำเติมบาดแผลที่เด็กเคยมีให้เจ็บลึกลงกว่าเดิม

“เราไม่ได้ต้องการฮีโร่ที่จะมาช่วยเด็กให้รอดด้วยการรู้ทุกเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงคือ เราไม่มีสิทธิ์ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก”

นั่นคือบทสนทนาช่วงต้น ก่อนที่อรุณฉัตรจะพา WAY ไปทำความรู้จักกับแนวทางการดูแลเด็กผ่านแนวคิดที่เจ้าตัวผลักดันส่งเสริมและนำไปประยุกต์ใช้จริงอย่างจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)

จากเหตุการณ์ที่ครูยุ่นใช้ความรุนแรงลดโทษเด็กในมูลนิธิฯ คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เห็นข่าวนี้ 

ช่วงที่มีข่าวครูยุ่น เป็นช่วงที่ผมเตรียมทำเวิร์กช็อปกับครู ซึ่งในกิจกรรมเรามีหลายเรื่องที่อยากชวนคุณครูมาทำงานร่วมกัน รวมถึงมีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมชวนทุกคนมาดูพร้อมกัน เป็นหนังอินเดียชื่อว่า Like Stars on Earth (2007)

ครึ่งแรกของหนังเป็นเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่โดนครูด่า โดนทุกคนโจมตี ทำลายความรู้สึกดีของตัวเองไปจนไม่เหลือร่องรอยของความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ทำให้เด็กคนนั้นไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว เราก็ใช้หนังเรื่องนี้มาชวนคุยกับคุณครู แล้วเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของครูยุ่นด้วย 

ช่วงครึ่งหลังของหนัง ปมปัญหาในเรื่องคลี่คลายลงเมื่อมีครูอีกคนเข้ามาช่วยเคลียร์ให้ ในตอนนั้นก็มีคุณครูที่ร่วมเวิร์กช็อปตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เราต้องการครูที่เป็นฮีโร่หรือเปล่า”

คำตอบของผมคือ “ไม่ได้ต้องการฮีโร่ที่จะมาช่วยเด็กให้รอดด้วยการรู้ทุกเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงคือ เราไม่มีสิทธิ์ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก”

หนึ่งชั่วโมงครึ่งของหนังเรื่องนี้ ได้ถ่ายทอดให้เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ค่อยๆ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กไปทีละนิดๆ จนเด็กไม่เหลือความรู้สึกดีต่อตัวเอง หากจะอธิบายเรื่องนี้ในเชิงวิชาการคือ เมื่อคนไม่เหลือความรู้สึกดีในตัวเอง เขาก็จะไม่รู้สึกว่าเขาจะต้องทำอะไรในชีวิตให้ดีขึ้น นั่นหมายความว่า พฤติกรรมหรือวิธีการมองโลกของเด็กในแต่ละวัน มันก็จะวนลูป อยู่ในภาวะที่เขารู้สึกว่า ทำแบบนี้ไปก็โอเคแล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิมหรอก เพราะยังไง คนรอบตัวก็ไม่ได้เห็นว่าเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงพอ

บทสัมภาษณ์หนึ่งของครูยุ่นที่ผมรู้สึกเสียใจตอนที่ได้ยินคือ “เด็กพวกนี้มันแย่กว่าที่คิด” มันคือการลดค่า คือการสบประมาทเด็กที่ตัวเองกำลังดูแลอยู่ มันทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าเขาจะดีขึ้นกว่านี้ได้ ทั้งในสายตาของครูยุ่นและสายตาคนทั่วไป เมื่อเกิดภาวะแบบนั้นซ้ำไปซ้ำมา เด็กก็จะมีความรู้สึกว่า ฉันไม่ได้ภูมิใจในความเป็นฉัน ฉันไม่ได้ภูมิใจในความเป็นคนชายขอบของสังคมแบบที่ฉันเป็นอยู่ตอนนี้ 

เราต้องยอมรับว่า เด็กที่เข้าไปสู่บ้านครูยุ่นหรือสถานสงเคราะห์อื่นๆ เขามีความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว การที่เราไปทำให้ความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองเด่นชัดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกไม่ดีนั้นถูกเยียวยาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ 

สิ่งที่ผมรู้สึกเป็นห่วงมากที่สุดตอนได้ฟังข่าวนี้ คือการไม่รู้สึกรู้สาของคนที่เป็นผู้ใหญ่ว่ากำลังทำอะไรที่ผิดพลาดอยู่ เพราะความเชื่อที่ว่าหากเรามีบุญคุณกับใคร เราก็เปรียบเหมือนเจ้าของชีวิตเขา ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งจึงเชื่อว่าตัวเองจะทำอะไรกับเด็กก็ได้ ภายใต้ความรู้สึกว่า ฉันกำลังสอนเขาอยู่ ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นห่วงหรือหวังดีของผู้ใหญ่ มันไม่เพียงพอในการทำงานด้านเด็ก แต่จำเป็นต้องมีความรู้ด้วย 

คนทำงานด้านเด็กจำนวนมากในประเทศไทยยังขาดความรู้ ขาดการออกแบบกระบวนการที่เพียงพอจะช่วยฟื้นฟูเด็ก หรือทำงานกับเด็กด้านจิตใจ ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนนะ แต่รวมถึงบ้านพักเด็กของรัฐด้วย ผมเจอคนที่ทำงานในสถานสงเคราะห์หลายๆ ที่ พบว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีทางเลือกอื่นในการทำงานกับเด็ก นอกเหนือจากการบังคับให้เด็กอยู่ในร่องในรอยอย่างการตีเส้น ตีกรอบ แล้วให้เด็กอยู่ในกรอบนี้ หรือเดินไปตามเส้นที่ตีไว้ เขาเข้าใจว่านี่คือวิธีการที่เพียงพอแล้วในบทบาทหน้าที่ของเขา

จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) มีแนวคิดเกี่ยวกับการลงโทษเด็กหรือการดูแลเด็กกรณีที่เขาทำผิดอย่างไร 

ในทางจิตวิทยาเชิงบวก จะมีคำว่า ‘punishment’ คือการลงโทษ​ และคำว่า ‘reinforcement’ คือการเข้าไปเสริมอะไรบางอย่าง

ศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวกจะไม่เน้นไปที่การลงโทษ เพราะการลงโทษ คือการกำจัดบางอย่างในตัวของคนออกไป เช่น ปกติแล้วเด็กได้กินข้าวมื้อนี้ แต่การลงโทษ คือคุณจะไม่ได้กินข้าว

จิตวิทยาเชิงบวกเชื่อในการ reinforcement คือเราต้องเติมอะไรบางอย่างเข้าไป ผ่านวิธีคิดว่า คนที่ยังไม่สามารถแสดงพฤติกรรมได้อย่างเข้าร่องเข้ารอย เป็นเพราะว่าเขาขาดทักษะการแสดงออก หรือขาดการฝึกฝนที่เพียงพอในบางเรื่อง เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการฝึกฝนพฤติกรรมเหล่านั้นให้แสดงออกอย่างเพียงพอ และตรงต่อสถานการณ์มากขึ้น 

เครื่องมือของจิตวิทยาเชิงบวกที่จะนำมาใช้ในด้านนี้ คือเราจะแบ่งคุณลักษณะของเด็กออกเป็น 24 อุปนิสัยตามจุดแข็งของบุคคล (character strength) เช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งมีความกล้า (bravery) ที่มากเกินไป ตัวอย่างเช่นกรณีบ้านครูยุ่น ที่เด็กออกไปเล่นน้ำที่แม่น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต จิตวิทยาเชิงบวกจะไม่นิยามว่าเขาดื้อดึงหรือผิดปกติทางจิตใจ แต่เราจะมองว่า เด็กคนนี้มีความกล้าหาญมากไปหน่อย หรือแสดงความกล้าหาญไม่ตรงเวลาและสถานที่

สิ่งที่เราจะทำต่อคือ เราจะชวนเขาคิดว่า “ครูเห็นว่าเธอมีความกล้าหาญนะ แต่ความกล้าของเธอมันอาจสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมาได้ เป็นไปได้ไหมที่เราจะแสดงความกล้าหาญนี้ให้ถูกที่ถูกเวลามากขึ้น” และอาจจะชวนเด็กมาช่วยกันคิดว่า เราจะแสดงความกล้าหาญที่มีในตัวเองให้ถูกที่ถูกเวลาได้อย่างไรบ้าง

หากเรามีคำถามส่งไปถึงเด็ก สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ เด็กจะหยุดทำ และเริ่มคิดตามคำถามนั้น การ ‘หยุด’ และ ‘คิด’ จะทำให้เด็กประเมินได้ว่า สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของเขามันสร้างความเสี่ยงให้กับใครหรือเปล่านะ มันสร้างผลลัพธ์เชิงลบหรือเปล่านะ ถ้าฉันจะเปลี่ยน ฉันมีทางเลือกอะไรบ้าง และเมื่อผู้ใหญ่มอบคำถามเหล่านี้ให้เขา จนเด็กเกิดการคิดตามแล้ว สิ่งต่อมาคือจะต้องมอบพื้นที่ปลอดภัยในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กับเด็กด้วย 

ผลลัพธ์ที่จะเกิดจากกระบวนการเหล่านี้ คือการที่เด็กจะตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองว่ามันไม่ได้หายไปไหน เช่น ความกล้าหาญของเขาสามารถเป็นวัตถุดิบเชิงบวกในจิตใจของเขาได้ เพียงแค่ต้องเอามาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

สถานสงเคราะห์ทั้งของรัฐและเอกชน ใช้เครื่องมืออะไรในการงานเชิงจิตใจกับเด็ก

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรอรับจากอาสาสมัคร ถ้ามีกลุ่มนักศึกษาอยากจัดกิจกรรมอะไร ก็จะยกให้เป็นหน้าที่ของกลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นในการดำเนินการ หรือกลุ่มคณะมาดูงานอยากเอากิจกรรมสนุกสนานหรือกิจกรรมที่มีประโยชน์บางอย่างมาทำงานกับเด็ก ก็จะให้การจัดการส่วนนั้นเป็นความรับผิดชอบของผู้มาเยือน

สิ่งเหล่านี้เป็นดาบสองคมสำหรับเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์ แม้มันจะช่วยให้แต่ละวันของเด็กไม่น่าเบื่อหน่าย แต่การที่เขาไม่สามารถคาดเดาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันถัดๆ ไปได้ จะทำให้เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์รู้สึกเครียดมากกว่าเดิม สมมุติถ้าเขาเคยได้รับคำสัญญาว่าจะมีพี่ๆ จากด้านนอกมาจัดกิจกรรมให้ แต่พอดีว่าวันนั้นรถติดหนัก พี่ๆ มาไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่ได้จัด เด็กก็จะรู้สึกผิดหวัง และมันจะกลายเป็นความเครียดสะสมของเด็ก

เพราะฉะนั้น สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ การออกแบบกระบวนการที่เป็นกิจวัตรประจำวัน (routine) ของบ้านแต่ละบ้านด้วยตัวเองก่อน แล้วให้อย่างอื่นเป็นเพียงกิจกรรมเสริม โดยที่กิจกรรมเสริมต้องไม่เข้ามาทำลายวิถีปกติภายในบ้านด้วย คนที่ดูแลเด็กจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างกิจกรรมภายในและภายนอกบ้าน แล้วให้เด็กๆ มาร่วมตัดสินใจด้วยว่า กิจกรรมเสริมเหล่านั้นจะเข้ามาแทรกได้ไหมในวันที่เราทำกิจกรรมหลักอยู่ 

สิ่งนี้จะทำให้เด็กเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นในการที่จะเติบโตในแต่ละวัน เวลาเขาคิด วิเคราะห์ หรือกลายไปเป็นคนต้นน้ำในอนาคต เขาก็จะจัดการตัวเองได้ดีขึ้นด้วย

นอกจากจิตวิทยาเชิงบวก มีแนวทางใดอีกบ้างในการทำงานกับเด็ก

ออกแบบแนวทางบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เด็กเผชิญ​ เช่น การทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบางที่มีชุดประสบการณ์ไม่เพียงพอในการเอาตัวรอดในชีวิตปกติ และอาจมีทรัพยากรและการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอด้วย สิ่งที่เราจะทำงานกับเขาได้คือการสร้างชุดประสบการณ์จำลอง เสมือนกับให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก เช่น เอาสถานการณ์มาเป็นตัวตั้งในการสนทนา หรือชวนคุยว่าเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เราจะตัดสินใจอย่างไร เราจะทำยังไงกันดี พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการชวนคิดชวนคุยบนพื้นฐานของความเข้าใจใน ‘ความขาด’ ในบางเรื่องของเด็กๆ เพื่อให้เกิดการเติมเต็มตรงนั้น สิ่งนี้เรียกว่า positive reinforcement (การใช้แรงเสริมเชิงบวก) ซึ่งทั้งหมดอาจไม่สามารถทำได้โดยการสร้างกิจกรรมอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากการมีต้นแบบด้วย คนที่ทำงานตรงนั้นต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เวลาเจ้าหน้าที่เจอปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีวิถีในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาด้วยการชวนคิดชวนคุย 

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดูแลและฟื้นฟูเด็ก แต่มันจำเป็นต้องทำ ต่อให้เรามีเจตนาดี มีความหวังดีในการดูแลเด็ก แต่ต้องยอมรับตรงๆ ว่า แค่ความหวังดียังไม่พอในการช่วยให้เด็กรอด หากเราดูแลเด็กสัก 100 คน แต่สามารถเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองได้เพียง 30 คน สุดท้ายแล้วคนที่จะเสียใจที่สุด คือคนที่ใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อดูแลเด็กทั้ง 100 คนนั้น โดยที่ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ดีกว่านี้ได้ 

หัวใจสำคัญที่สุดในการทำงานกับเด็กคืออะไร

เป็นคำถามที่ยาก เพราะมันไม่มีคำว่า ‘ที่สุด’ ในการทำงานเพื่อการดูแลเด็ก แต่คิดว่าเรื่องหนึ่งที่อยากให้ตระหนักมากที่สุด คือเราต้องไม่คิดว่ามันเป็น ‘สังคมสงเคราะห์’ 

ผมอยากให้สังคมไทยก้าวข้ามคำว่าสังคมสงเคราะห์ได้สักที เพราะที่ผ่านมา คำคำนี้สร้างบาดแผลให้กับงานพัฒนามนุษย์ในประเทศไทยอย่างมหาศาล เมื่อใดก็ตามที่เรามองว่ามันคือการสงเคราะห์ เราจะมีอำนาจเหนือคนที่เราพัฒนาเขาทันที นำมาซึ่งการละเลยสิ่งสำคัญพื้นฐานที่สุด นั่นคือการให้เกียรติ และทำให้เราละเลยการหาแสวงหาความรู้เพื่อช่วยกันพัฒนาด้วย 

จริงๆ สิ่งที่ผมรู้ ก็พอๆ กับสิ่งที่คนทำงานด้านเด็กหลายคนรู้ ไม่ใช่สิ่งที่มหัศจรรย์อะไรเลย ไม่จำเป็นต้องจบด็อกเตอร์จากเมืองนอกมาเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้ คุณเสิร์ช Google ก็เจอแล้วว่าจะดูแลเด็กเชิงบวกได้อย่างไร มันมีเป็นร้อยแนวทาง เพียงแต่ว่าหากเรายังมีกรอบคิดแบบสังคมสงเคราะห์ เราก็จะไม่พยายามควานหาความรู้ใหม่ๆ เพราะเราคิดว่าเรามีอำนาจเพียงพอในการทำอะไรก็ได้กับคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เพราะเขาติดหนี้บุญคุณเรา 

แต่เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่า เด็กๆ ก็เป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องได้รับการเติบโตอย่างดี เราจะหาความรู้ เราจะหาทางเลือก แล้วเราจะไม่ทำอะไรที่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ของเด็กที่อยู่ตรงหน้าเราแม้แต่น้อย

ในบรรดากลุ่มเด็กเปราะบางที่เคยทำงานด้วย เคยมีเคสไหนบ้างที่เห็นว่าเด็กคนนั้นอาจเปลี่ยนไม่ได้แล้ว แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้

ผมเคยเข้าไปสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก วันแรกๆ ที่ผมไปคุย เขาน่าจะเพิ่งเข้ามาอยู่ได้แค่เดือนกว่า เขามองผมตาขวาง ถามคำตอบคำ ดูไม่ค่อยอยากจะคุยกับเรา และดูมีปมในใจเยอะมากจนไม่อยากจะเรียนรู้อะไรแล้ว 

เราติดตามเขาไปเรื่อยๆ เขาก็เข้าร่วมกิจกรรมไปเรื่อยๆ โดยที่การเข้าร่วมของเขาไม่ได้เกิดจากเวทย์มนตร์ใดๆ แต่เกิดจากกระบวนการที่ถูกทำให้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ในบ้านกาญจนาภิเษก เช่น ทุกวันตอนเช้าจะมีกิจกรรมให้คุยกันเวลา 9 โมง บ่าย 3 มีการวิเคราะห์ข่าว ทุกวันพฤหัสบดีมีการดูหนังร่วมกันโดยมีโจทย์ให้วิเคราะห์ ผมพบว่าจากที่เขาเคยเคอะเขินในช่วงแรก พอนานเข้าเขาก็เริ่มกล้าแลกเปลี่ยนมากขึ้น 

ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ตรงกับทฤษฎีการเรียนรู้ของ เลฟ วีกอตสกี (Lev Semyonovich Vygotsky) นักจิตวิทยาและนักการศึกษา ซึ่งอธิบายไว้ว่า มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถก้าวข้ามระดับการเรียนรู้ของตัวเองได้ก็ต่อเมื่อได้คุยกับคนอื่น เพราะมนุษย์โดยทั่วไปจะมีขอบเขตการเรียนรู้อยู่ระดับหนึ่ง แต่เมื่อใดที่ได้คุยกับคนอื่นที่สามารถตั้งคำถามดีๆ กับเราได้ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดที่แตกต่างกับเราได้ ก็จะช่วยให้ก้าวข้ามระดับการเรียนรู้เดิมของตัวเองขึ้นไปได้

ในเคสนี้ก็เช่นกัน เวลาเราเห็นเขาเริ่มแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในบ้าน ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลงเรื่อยๆ จน 3 เดือนผ่านไป เรามาสัมภาษณ์เขาอีกครั้ง มันเหมือนเขาถอดตัวตนเดิมออกไปแล้ว ความอัดอั้นที่เคยฝังอยู่ในหัวเขาน้อยลง เขาสามารถอธิบายความคิดความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้น เห็นได้ชัดว่าวันหนึ่งที่สิ่งเหล่านี้เข้าไปเป็นวิถีประจำวันของเด็ก สุดท้ายก็จะกลายเป็นความปกติในการแลกเปลี่ยน การคิด การคุย 

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลานานเลย เราเคยวิเคราะห์ว่าถ้าเด็กคนหนึ่งที่เคยมองโลกด้วยความรู้สึกมืดมนมากๆ แล้วเข้าไปอยู่บ้านกาญจนาภิเษก เขาจะเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการใช้ชีวิตได้ในช่วงเวลา 6 เดือนถัดมา โดยมีเกณฑ์เทียบกับเด็กทั่วไปในบ้านกาญจนาภิเษกที่จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในเวลาประมาณ 3 เดือน มันเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากมนุษย์ถูกปฏิบัติด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริง

เด็กทุกคนมีความแตกต่างและเป็นปัจเจก การทำความเข้าใจพวกเขาควรเริ่มต้นจากอะไร

เริ่มจากการเป็นผู้สังเกต และต้องเป็นการสังเกตความแตกต่างของเด็กโดยไม่ตัดสิน

เหตุผลหนึ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่สามารถทำงานกับเด็กที่แตกต่างจากตัวเองได้ เพราะผู้ใหญ่เอาคุณค่าของตัวเองไปยัดให้เด็กเร็วเกินไป จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่จะเอื้อมถึงคุณค่าเหล่านั้นตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ การที่เด็กสักคนจะเป็นเด็กที่ดีในสายตาของผู้ใหญ่ จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นข้อๆ 1, 2, 3, 4, 5 … ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไปก็ถือว่าไม่ใช่เด็กดีแล้ว พอเด็กรู้เกณฑ์เหล่านี้ของผู้ใหญ่ สิ่งที่เขาคิดก็คือ “ยังไงฉันก็ทำได้ไม่ครบหรอก งั้นฉันไม่เอาตั้งแต่ข้อแรกเลยแล้วกัน”

ในทางจิตวิทยาเชิงบวกจะมีคำว่า engagement หรือ ความรู้สึกมีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำ โดยที่ engagement ไม่ใช่การทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรม แต่คือการเชื่อมโยงกิจกรรมให้เข้ากับกับสิ่งที่เด็กทำในชีวิตประจำวัน ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่ากิจวัตรประจำวันของเด็กเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดความดีของผู้ใหญ่มากน้อยขนาดไหน

หากวันนี้เด็กเริ่มพูดความจริงเป็นครั้งแรก สิ่งที่เราปฏิบัติกับเขาคืออะไร เราจะมีคำสร้อยต่อท้ายตอนพูดกับเขาไหมว่า “เธอก็พูดความจริงได้แค่ครั้งเดียวแหละ” ถ้าเรามีคำสร้อยแบบนี้ แปลว่าเรากำลังทำลายความซื่อตรงต่อตัวเองของเด็ก และเด็กก็จะเริ่มไม่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม เด็กจะรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวฉัน ฉันทำไม่ได้หรอก 

เรามักจะเห็นหลายๆ แนวทางที่ถูกจัดขึ้นในสถานดูแลเด็กเปราะบาง อย่างเช่นการเอากิจกรรมทางศาสนาเข้าไปหาเด็กในสถานพินิจอย่างรวดเร็ว การเอาหนังสือธรรมะไว้ในห้องสมุดแล้วหวังให้เด็กไปอ่าน คำถามคือมันทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมได้จริงๆ ไหม ผมไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดีนะ แต่มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวเขา จนเขารู้สึกว่าเป็นคนละคนกับตัวเขาเอง

หากผู้ใหญ่จะเข้าใจเด็ก เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาทำได้ดีก่อน หากเราให้อาหารด้านสว่างกับเขาบ่อยๆ ตัวเขาก็จะสว่างขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่ต้องเอาคุณค่าบางอย่างที่ตัวเองยึดถือวางลงก่อน แล้วเดินหน้าผลักดันคุณค่าที่แท้จริงในตัวเด็กออกมา เมื่อคุณค่าของเขาเด่นชัดขึ้นทีละคน มันก็จะกลายเป็นคุณค่าของพื้นที่นั้นๆ ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสภาวะปกติของการอยู่ร่วมกัน และเด็กทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่รู้สึกว่าลำบากจนเกินไป ถึงวันนั้นคุณค่าที่ผู้ใหญ่เคยยึดถือก็จะกลับมาเอง

ในฐานะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียนและครอบครัวของเยาวชน มีข้อเสนอเรื่องการออกแบบองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กยังไงบ้าง

ผมมองว่าสิ่งที่อาจจะขาดหายไปในบ้านครูยุ่น รวมถึงในหลายๆ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก คือ กระบวนการทำงานก่อนที่จะเกิดปัญหา เพราะการทำงานแก้ปัญหาเด็กในประเทศไทยมักเป็นลักษณะ ‘วัวหายล้อมคอก’ เรามักคิดว่าการให้อาหารและให้ที่พักก็เพียงพอในการเติบโตแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันไม่พอ ยิ่งกับเด็กเปราะบาง เขายิ่งต้องการการสนับสนุนทางความคิดและจิตใจที่มากกว่าเด็กทั่วไป 

จิตวิทยาเชิงบวกจะเปรียบเทียบว่า มนุษย์ที่ไม่ทำตามความต้องการของสังคม หรือต้องการที่จะบิดออกไปจากกติกาสังคม โดยส่วนใหญ่มักเป็นการกระทำที่มาจากการไม่สามารถอธิบายความต้องการลึกๆ ของตัวเองให้ออกมาเป็นภาษาปกติได้ ซึ่งข้อกำกัดที่ว่านี้มีที่มาจากหลายเหตุผล ทั้งการที่มีคลังคำศัพท์ไม่เพียงพอ ทำให้ขาดทักษะที่จะแปลความเรื่องราวที่เจอมาให้ตรงกับความจริงทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจึงต้องแปลความเพื่อการเอาตัวรอดแทน หรืออาจมาจากการมีพื้นที่ปลอดภัยไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถอธิบาย พูดคุย หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาในการคิด และเปลี่ยนสมองจากโหมดเอาตัวรอดมาเป็นสมองส่วนคิดยังไม่เพียงพอ 

พอเป็นแบบนั้น เขาจึงไม่สามารถตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง และไม่มีโอกาสได้ลองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองด้วย เนื่องจากกระบวนการนี้เป็น 2 สเต็ปสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน แต่ถ้าหากเราใช้วิธีคิดแบบ positive reinforcement มันจะไม่มีคำว่า “ถ้าทำไม่ได้ ฉันจะลงโทษเธอ” มันจะมีแค่คำว่า “ถ้าขาดอะไร ฉันจะเติมให้” การฝึก 2 สเต็ปนี้จะเป็นการเติมให้เขาไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น การออกแบบกระบวนการที่ชวนให้เด็กได้คิด คุย วิเคราะห์ โดยฝึกทุกๆ วันของการเติบโต จะช่วยสร้างสภาวะที่เป็นปกติและเป็นธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิยาที่เก่งกาจเข้ามาช่วยออกแบบก็ยังได้ อย่างที่บ้านกาญจนาภิเษก ป้ามล (ทิชา ณ นคร – ผู้อำนวยการ) ก็ใช้การออกแบบการดูแลเด็กๆ ผ่านวิธีการที่ไม่ยากจนเกินไป เช่น การเอาข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมาให้เด็กวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นระหว่างกัน 

นี่คือตัวอย่างหนึ่งในการฝึกเด็กให้อยู่ในวิถี เพราะจะทำให้เวลาที่เด็กเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม เขาจะไม่รีบบุ่มบ่ามเข้าไปตัดสินเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยมุมมองของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดคำถามห้อยท้ายมาว่า “ฉันคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้บ้าง” สิ่งเหล่านี้เมื่อถูกฝึกฝนไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กค่อยๆ เติมเต็มตัวเอง และเด็กจะรับมือกับเหตุการณ์คับขันได้ง่ายขึ้น

จากเหตุการณ์ของครูยุ่นซึ่งเกิดในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก คุณมีข้อเสนออะไรถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบบ้าง 

ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สุดคือ พม. ต้องไม่มองว่าการดูแลเด็กเป็นเรื่องของสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการบ่มเพาะมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตขึ้น ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคือต้องทำให้การดูแลเด็กเกิดขึ้นภายใต้ความรู้ความเข้าใจ มากกว่าการบริจาค มากกว่าการดูแลแค่เนื้อตัวร่างกาย 

สิ่งที่ พม. ต้องคำนึงอยู่เสมอคือ กระบวนการที่ใช้ฟูมฟักเด็กเปราะบางจำเป็นต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับบริบท มันไม่สามารถกำหนดได้ว่ากระบวนการนี้จะต้องใช้ทั่วทั้งประเทศในมิติเดียวกัน แต่ควรถูกออกแบบอย่างชัดเจน โดยมี พม. เป็นผู้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ พม. จะสร้างการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอให้กับกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก มีการเพิ่มเติมความรู้ซึ่งกันและกัน โดยการเติมเต็มความรู้จะต้องมาจากการใช้เวลาศึกษาและทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่กิจกรรมอบรมระยะสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากนี้ต้องยื่นเครื่องมือและตัวช่วยให้หน่วยงานด้วย เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น

ผมว่าข้ออ่อนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ พม. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงไม่ได้จริงจังกับการตรวจสอบดูแล ไม่จริงจังกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือองค์ความรู้ที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มคนที่ทำงาน แนวทางในปัจจุบันจึงเป็นการทำงานในเชิงรับ ผลก็คือปัญหาที่เคยกองอยู่ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ขณะเดียวกันก็มีปัญหาใหม่มาพอกพูนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ 

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ไม่ควรจะปรับตัวแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ ในลักษณะที่ไปตามจี้หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ควรจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะเจ้าหน้าที่ พม. ไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลเด็กทั้งหมดด้วยตัวเองได้อย่างแน่นอน กระบวนการเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งคราว อย่าทำให้เป็นแค่ one time off ทำแล้วจบไป มันไม่ใช่ มันมีพลวัตและเรื่องราวของมัน เด็กรุ่นหนึ่งอาจต้องใช้วิธีการดูแลแตกต่างกัน เมื่อเด็กเปลี่ยนรุ่น วิธีการและเครื่องมือก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย

โครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่คุณกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีการนำประเด็นความรุนแรงต่อเด็กไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในกระบวนการอย่างไรบ้าง

ตอนนี้มีโครงการที่กำลังพยายามผลักดันร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) คือการนำเอาชุดเครื่องมือ GRIS (Growth and Resilience Interventions for vulnerable children) ไปทำให้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก สถานพินิจ เพื่อให้เขามีเครื่องมือที่จับต้องได้และรู้วิธีการใช้เบื้องต้น เพื่อสร้าง routine ใหม่กับการจัดกิจกรรมในวันปกติ เพราะเราไม่เชื่อว่าเราจะตามแก้ปัญหาได้ทุกจุด แต่เราต้องช่วยกันส่งเสริมเครื่องมือที่ดี ส่งเสริมวิธีคิดที่ถูกต้องต่อการดูแลเด็กให้เกิดขึ้นในสถานที่เหล่านั้น โดยต้องเป็นการปฏิบัติภายใต้การให้เกียรติเจ้าหน้าที่ที่ทำงานตรงนั้นด้วย 

ส่วนการทำงานร่วมกับโรงเรียน เราก็มีโครงการ ‘FamSkool’ ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้พื้นที่ในโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อเด็กและครอบครัวของเด็ก ผ่านการทำงานร่วมกับครู ให้ครูสามารถสร้างบรรยากาศเชิงบวก ส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับเด็ก ครูกับครู ครูกับครอบครัวเด็ก ให้เกิดขึ้นได้จริง

เราอยากให้สิ่งนี้เป็นเหมือน first aid มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ใช้ได้ในทุกบริบท แต่ก็สามารถเอาไปประยุกต์เข้ากับบริบทของแต่ละที่ แต่ละเคสได้ อย่างน้อยก็เป็นความรู้พื้นฐานที่คนทำงานด้านเด็กสามารถจะหยิบใช้ได้อย่างสะดวก

สุดท้ายแล้ว แนวคิดและวิธีการเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงต่อเด็กลงได้จริงไหม

เรื่องความรุนแรงต่อเด็กมันเป็นเรื่องที่ใหญ่ และอาจจะไม่ได้จำกัดแค่ในสถานที่ที่มีแต่เด็กเปราะบางด้วย ในสถาบันครอบครัวก็มี ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ได้ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากๆ อาจจะไปถึงการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของประเทศเลยก็ได้ 

เวลาเราพูดถึงเด็กคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัว ก็ไม่ต่างอะไรกับการพูดถึงเด็กเปราะบางในประเทศนี้ เพราะเด็กที่กำลังเติบโตในครอบครัวก็คือคนที่มีอำนาจในการต่อรองในครอบครัวน้อยที่สุดเหมือนกัน เขาถูกออกชีวิตให้ต้องเชื่อฟังเป็นส่วนใหญ่ เราก็ต้องมาคิดว่า จะทำยังไงให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและมองเห็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจของตัวเอง ได้เรียนรู้จากการตัดสินใจของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะทำให้เขาเติบโตด้วยความเข้าใจว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ นี่คือพื้นฐานที่จำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย 

ในทางจิตวิทยาเชิงบวก ถ้าเราอยากจะทำให้คนคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ดี เราต้องทำให้เขารู้สึกดีกับการทำสิ่งดีๆ ให้ได้ ตรงนี้คือสิ่งสำคัญมาก ถ้าเขารู้สึกแย่ต่อการกระทำที่ดี เขาจะไม่อยากทำมันในระยะยาว การทำให้เขาตระหนักถึงผลลัพธ์ในการกระทำตัวเอง ออกแบบทางเลือกเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการได้ มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเองได้ มันจะช่วยสร้างประสบการณ์เชิงบวกต่อการกระทำที่ดีได้ ถ้าเขาทำสิ่งเหล่านี้ได้ คนรอบตัวเขาจะเริ่มให้เกียรติเขามากขึ้น

สิ่งสำคัญของผู้ใหญ่คือ จะต้องไม่สบประมาทเด็ก และต้องไม่ใช้อำนาจที่เหนือกว่าของตัวเองไปลดทอนคุณค่าของเด็ก 

แนวทางเหล่านี้จำเป็นต่อทั้งคนที่ปฏิบัติและคนที่ถูกปฏิบัติด้วย ถ้าผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก เด็กจะเรียนรู้และซึมซับไปด้วย วันหนึ่งที่เขาโตเป็นพ่อเป็นแม่ เขาก็จะไม่ส่งต่อความรุนแรงให้ลูกของเขา มันเป็นการสร้างให้เกิดความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่ทำ เป็นการทำให้คนที่มีอำนาจน้อยกว่าเราเข้าใจถึงความหมายและผลลัพธ์ของการกระทำของตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เยอะกว่าและยั่งยืนกว่าอย่างแน่นอน

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า