Hegel ใน Attack on Titan และ Titan ใน Hegel: ใครกันแน่และใครกันบ้างที่ต้องถูกโจมตี?

“ในอีกฟากฝั่งของกำแพงคือมหาสมุทร …และถัดออกไปจากมหาสมุทร …คือเสรีภาพ นั่นคือทั้งหมดที่ฉันเคยเชื่อ …แต่ฉันคิดผิด – เป็นศัตรูต่างหากที่อยู่ถัดออกไป – ทั้งหมดเป็นไปตามที่ฉันเห็นในความทรงจำของพ่อ – ถ้าเราฆ่าศัตรูที่อยู่ที่นั่นทั้งหมด พวกเราก็จะเป็นอิสระใช่ไหม?”

เอเร็น เยเกอร์

จิตในปรัชญาของเฮเกล

‘จิต’ (Spirit/Mind) หรือ Geist ในภาษาเยอรมัน เป็นหัวใจสำคัญในระบบปรัชญาของเฮเกล (Hegel)[1] สำหรับเฮเกลนั้น ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการไล่ตามสำนึกแห่งเสรีภาพ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องพัฒนาการของจิต[2] กล่าวคือ เสรีภาพจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำพาให้จิตหลุดออกจากกรงขังแห่งข้อจำกัด ไปสู่การบรรลุจิตขั้นสัมบูรณ์ในท้ายที่สุด 

สำหรับเฮเกล จิตยังอยู่ในฐานะเป็นความคิด (Idea) อันจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ (History) สภาพความเป็นจริง (Reality) ตลอดจนถึงความจริง (Truth) กล่าวอย่างง่ายคือ จิตจะเป็นตัวผลักดันให้มนุษยชาติก้าวไปข้างหน้า

หากว่ากันตามวิภาษวิธีแบบเฮเกล (Hegelian dialectic) จิตไม่ใช่เพียงแค่สิ่งนามธรรม แต่ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกด้วย[3] สำหรับเฮเกลแล้ว สัตตะ/การมีอยู่ (being) และความคิดนั้นเหมือนกัน เพราะจิตไม่ได้มีอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในโลกระดับความเป็นอยู่ (existential)[4] ตามนัยนี้ สิ่งที่อยู่ภายในยังเป็นวัตถุที่อยู่ภายนอกด้วยในเวลาเดียวกัน

ข้อเสนอในระบบปรัชญาของเฮเกลเป็นการแก้ปัญหาของคานท์เทียน (Kantian Problem) ที่ไม่สามารถบรรลุความจริงสัมบูรณ์ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องตัวกลาง (medium)[5] เช่น เมื่อมนุษย์เข้าถึงสรรพสิ่งได้ด้วยความรู้ ความรู้จึงเป็นตัวกลาง/ตัวเชื่อมในการเข้าหาสรรพสิ่ง ซึ่งตัวความรู้เองก็ไม่ใช่สรรพสิ่งนั้น และเมื่อสรรพสิ่งมีการดำรงอยู่ได้ในตัวมันเอง (thing-in-itself) คำอธิบายผ่านความรู้หรือตัวกลางจึงพร้อมเสมอที่จะบิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดต่อสรรพสิ่งนั้นไป 

กล่าวได้ว่า ถ้าความจริงของคานท์เป็นเสมือนพระเจ้าที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าถึงได้ (จากปัญหาเรื่องตัวกลาง) ข้อเสนอของเฮเกลก็เป็นการดึงพระเจ้าลงมาจากสรวงสวรรค์ และทำให้มนุษย์เข้าถึงและเป็นหนึ่งเดียวกับมันได้ ส่งผลให้ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือตัวมันเอง (nothing beyond itself) ความเป็นจริงจึงสามารถรับรู้ได้โดยตรงและรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านจิต เฮเกลเรียกสภาวะที่จิตรู้ตัวว่ามันถูกก่อรูปจากตัวเอง ว่าเป็น ‘ความรู้สัมบูรณ์’ (absolute knowledge)[6]

พระเจ้าของเฮเกลจึงไม่ได้ดำรงอยู่นอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์ แต่ดำรงอยู่ในโลกปรากฏการณ์ตรงหน้า และเป็นทั้งส่วนที่อยู่ทั้งในตัวมนุษย์และธรรมชาติ ตลอดจนในทางกลับกัน (vice versa) เมื่อพระเจ้าและมนุษย์ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในโลกนี้ พระเจ้าจึงดำรงอยู่ในมนุษย์ และมนุษย์ดำรงอยู่ในพระเจ้า พระเจ้าของเฮเกลจึงไม่ทำให้จิตวิญญาณ (soul) ของมนุษย์เกิดความแปลกแยก (alienation)[7] เหมือนกับที่เป็นในคริสต์ศาสนาหรือปรัชญาของคานท์ ที่วางให้พระเจ้าอยู่นอกเหนือโลกการรับรู้ของมนุษย์ ทั้งหมดนี้เหมือนกับในการ์ตูนเรื่อง Attack on Titan ที่เอเร็นสามารถเข้าถึงพลังของไททันได้อย่างสมบูรณ์ ดังจะกล่าวต่อไป

สำหรับเฮเกลแล้ว จิตเป็นสิ่งที่อยู่ภายในและอยู่สำหรับตัวมันเอง (in and for itself) เป็นเหตุผลในตัวเอง (being-for-self) สิ่งที่อยู่ภายในจิต คือ ความรู้และประวัติศาสตร์โลก (คล้ายกับพลังของไททันก่อกำเนิด) โดยจิตพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนผ่านในตัวเอง และเพื่อตัวมันเอง ไปยังระดับที่สูงขึ้นอีกต่อไป (next higher stage)[8] เมื่อทุกอย่างพัฒนาถึงขีดสุดแล้ว จะเกิดเป็นจิตสากล (universal spirit) 

ในทัศนะของ อองรี เลอแฟบร์ (Henri Lefebvre) เห็นว่า สำหรับเฮเกลนั้น การที่เหตุผล (ที่อยู่ในตัวมันเอง) จะทำงานได้ จำเป็นต้องมีรัฐคอยกำกับ เพราะรัฐเป็นจุดสูงสุดของเหตุผล (และประวัติศาสตร์) และ “เป็น ‘ซับเจ็คต์’ สัมบูรณ์ในทางปรัชญาที่เหตุผลก่อรูปขึ้นมา โดยที่เหตุผลในตัวมันเองก็เป็นการก่อรูปของความคิด (Idea)”[9] เมื่อเกิดรัฐซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเหตุผลแล้ว ก็เท่ากับเป็นการมาถึงของจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ (The End of History)[10] โดยที่รัฐแบบเฮเกลจะมีการผลิตในตัวมันเอง คงอยู่ได้ด้วยตนเอง และออกกฎระเบียบโดยตนเอง หรือที่เลอแฟบร์เรียกว่าเป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์แบบ (perfect autonomism)[11] ในแง่นี้ รัฐจึงไม่แตกต่างอะไรกับพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นสาเหตุในตัวมันเอง (causa sui) ในแง่ที่ว่ามันไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่นที่จะมาให้กำเนิด หรือเพื่อมายืนยันการดำรงอยู่ของมัน 

จิต (แบบเฮเกล) ใน Attack on Titan 

จิตของเฮเกลเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ทั้งภายในและภายนอก มันกลืนกินกัน (mesh) จนเกิดเป็นความจริงรูปธรรม (Concrete Truth)[12] ในขณะที่ความรู้สึกภายใน (inner feeling) เป็นแกนกลางสำคัญของ Attack on Titan[13] ความรู้สึกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรัก โกรธแค้น เกลียดชัง กลัวตาย ศรัทธา หรือการโหยหาเสรีภาพ ล้วนเป็นส่วนในการขับเคลื่อนตัวละครหลักทุกตัวในเรื่องนี้ อันจะนำไปสู่การสร้างความจริงตามวิถีทางของตัวละครแต่ละตัว 

เมื่อเป็นเรื่องของความรู้สึกภายในก็ยากที่จะแยกออกจากจิต จิตในฐานะที่มีส่วนหนึ่งดำรงอยู่ภายใน จึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญใน Attack on Titan โดยในตอน ‘OVA’ จะเห็นว่า เอลเซ่ ลัง สมาชิกหน่วยสำรวจที่ 34 ได้พบเข้ากับไททันตัวหนึ่ง และหลังจากถูกมันกินส่วนหัวไป ไททันตัวนั้นกลับนำร่างของเอลเซ่ไปเก็บไว้ในโพรงต้นไม้ อาจเพื่อพูดคุย ไม่ก็เคารพบูชา ทั้งนี้ เมื่อสืบต่อไปแล้วจะได้ข้อมูลว่า เมื่อครั้งไททันตัวนั้นยังเป็นคนอยู่ มันเป็นหญิงสาวที่อยู่ภายใต้ลัทธิความเชื่อหนึ่ง (ที่มียูมิลอ้างเป็นเจ้าลัทธิ)[14] ในแง่นี้สันนิษฐานได้ว่า แม้ร่างกายของคนจะถูกทำให้แปรเปลี่ยนไปเมื่อได้กลายเป็นไททัน แต่จิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตที่แรงกล้า อย่างจิตของผู้ที่มีความเชื่อในลัทธิหนึ่งๆ จิตของคนเป็นแม่ (แม่ของคอนนี่ที่กลายเป็นไททัน พูดกับคอนนี่ตอนกลับไปบ้านเกิด) หรือจิตของความเป็นมนุษย์ (อันเป็นเหตุผลให้ไททันต้องคอยกินคน เพราะมันต้องการที่จะกินคนที่ครอบครองพลังไททันเพื่อจะได้กลับไปเป็นมนุษย์)[15] หรือแม้กระทั่งจิตของการเป็นทาสก็ยังคงตามติดไปแม้จะได้กลายเป็นไททันแล้ว (จิตของทาสที่ชัดที่สุดคือ ยูมิล ฟริทซ์ ที่แม้จะมีพลังไททัน แต่ก็ยังกระทำตัวเป็นทาส กระโดดเข้ารับหอกแทนราชา หรือแม้จะตายไปอยู่ในโลกกระแสธาร (path) แล้ว ยูมิลก็ยังคงรับคำสั่งของเอเร็นอยู่ดี) 

ยูมิล ฟริทซ์

การส่งต่อพลังไททันที่วิ่งเข้าหาความเป็นองค์รวมเสมือนหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าก็มีความเป็นวิภาษวิธีอย่างมาก เนื่องจากพลังของไททันประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์/ความทรงจำ (ที่เป็นเรื่องนามธรรม) และพละกำลัง/ตัวตน (ที่เป็นเรื่องรูปธรรม) ซึ่งประสานกลืนกินกัน จนกลายเป็นความจริงรูปธรรมขึ้นมา โดยความทรงจำและตัวตนที่ได้รับการส่งต่อมาพร้อมพลังนี้ จะกลายมาเป็นสิ่งที่กำหนดตัวตนของผู้ที่ได้รับพลังมาอย่างมีเอกภาพ วิธีคิดดังกล่าวได้ถูกอธิบายไว้อย่างชัดเจนผ่านปากของ เอเร็น เยเกอร์ ในมังงะตอนที่ 112 

การสังเคราะห์ของสองสิ่งที่ไม่ได้ทำลายสภาวะเดิมของทั้งสองสิ่ง แต่ยังคงรักษาสภาวะบางส่วนขององค์ประกอบเดิมไว้ และยกระดับไปอยู่ในสวาวะใหม่นี้ เป็นสิ่งที่เฮเกลเรียกว่า Aufheben

กระบวนการ Aufheben ยังชัดมากใน EP.44 Season 3 ชื่อตอน ‘Wish’ ที่ให้ข้อมูลจากปากคำของ ร็อด เรสส์ พ่อของฮิสตอเรีย (Historia) ว่าการส่งผ่านพลังไททันก่อกำเนิด (The Founding Titan) ของราชวงศ์ “เป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงความทรงจำของมวลมนุษย์ และทำให้พวกเขาลืมอดีตไปอย่างสิ้นเชิง” และยังเสริมอีกว่า “มนุษย์ที่เหลือจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับโลกเมื่อศตวรรษที่ผ่านมาหลงเหลืออยู่เลย” โดยความทรงจำซึ่งหายไปนั้นจะไปบรรจุอยู่ในไททันก่อกำเนิด 

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการเข้าถึงพลังของไททันก่อกำเนิด หรือความทรงจำนี้ คือ จะมีแค่เพียงผู้มีสายเลือดราชวงศ์เท่านั้นที่จะเข้าถึงประวัติศาสตร์โลกนี้ได้ และต่อให้ผู้มีสายเลือดราชวงศ์ถือครองพลังไททันก่อกำเนิดได้ แต่เจตจำนงที่ต้องการให้โลกถูกปกครองโดยไททันของกษัตริย์องค์แรก ก็ยังคงครอบงำผู้ถือครองรุ่นหลังๆ อยู่ดี

ทั้งหมดนี้สะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์นิยม (Historicism) ในปรัชญาของเฮเกล ที่เน้นการพัฒนาที่เป็นเส้นตรง (unilinear) และเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเป้าหมาย (telos) อยู่แล้วในอนาคต อันจะเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวต่างๆ ของปัจจุบันและอดีต ส่งผลให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องตายตัวและถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว การถูกกำหนดอย่างตายตัวไว้ก่อนแล้วยังสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน อย่างน้อยๆ ในเรื่องอายุขัยของผู้ครอบครองพลังไททัน ที่จะมีอายุขัยเพียง 13 ปี นับแต่ได้รับพลังไป หรือจะเป็นการรับรู้อนาคตล่วงหน้า (ผ่านความทรงจำของผู้ที่จะมารับพลังในรุ่นถัดไป) ของไททันจู่โจม ในการรู้ได้อย่างแน่นอนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หรือรู้ว่าเวลาใดที่ความตายจะมาถึง หมายความว่า อนาคตเป็นเรื่องตายตัว และยากจะเปลี่ยนแปลง (ชื่อตอนที่ 1 ของซีรีส์ที่ว่า ‘To You, 2000 Years from Now’ จึงน่าจะมีนัยยะสำคัญบางประการ เพราะอย่างน้อยที่สุด มังงะตอนที่ 122 ก็ใช้ชื่อว่า ‘From You, 2,000 Years Ago’)

ไททันใน Attack on Titan และไททันของเฮเกล

เยเลน่า สมาชิกกลุ่ม Anti-Marleyan Volunteers กล่าวถึง ซีค เยเกอร์ ผู้ครอบครองพลังไททันสัตว์ป่า ในมังงะตอนที่ 106 (เทียบเท่าอนิเมะ season 5 EP.68) ชื่อตอน ‘Brave Volunteers’ ว่า “มาเลย์ได้พรากบ้านของพวกเราไป และเกณฑ์พวกเราเป็นทหาร – พวกเราจวนจะหมดหวังที่จะเอาคืน จนกระทั่งเราได้พบเขา ไททันที่คนทั้งโลกหวาดกลัว และต่างพากันเรียกว่าปีศาจ – แต่ฉันกลับเห็นต่างออกไปโดยสิ้นเชิง [ฉันมองเห็นเขาเป็น] ‘พระเจ้า’ – เขาเข้ามาในยามที่เราไร้อำนาจและแสดงให้เห็นถึงความหวัง”

เยเลน่ายังได้ยืนยันความคิดข้างต้น ในมังงะตอนที่ 116 ผ่านการกล่าวถึงซีคและเอเร็น เยเกอร์[16] สองพี่น้องต่างมารดา ผู้ครอบครองพลังไททันว่า “พี่น้องคู่นี้จะถูกพูดถึงในฐานะหมุดหมายในอีกพันๆ ปีข้างหน้า เหมือนกับที่ทุกวันนี้เราพูดถึงพระเจ้ายุคโบราณ – และแม้ว่าทั้งคู่จะตายไปแล้ว พวกเขาก็จะยังแผดแสงราวกับดวงอาทิตย์ – [พวกเขาจะ] เป็นผู้กอบกู้ซึ่งสาดส่องนำทางสว่างให้แก่มนุษยชาติ” 

สองกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งของผู้ครอบครองพลังไททันในสายตาของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง (โดยยังอาจพิจารณาไปถึงกรณีของ ร็อด เรสส์ ที่เห็นว่าการครอบครองพลังไททันจะทำให้ผู้ครอบครองมีสถานะไม่ต่างกับพระเจ้าได้อีกด้วย)

คำพรรณนาดังกล่าวของเยเลน่า คล้ายกับสิ่งที่เฮเกลกล่าวถึง นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) เมื่อครั้งกองทัพของนโปเลียนเข้ายึดเมืองเยนา (Jena) ที่เขาอาศัยอยู่ในขณะนั้น เฮเกลเห็นว่าการปรากฏตัวของนโปเลียนเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ‘ในรอบร้อยปีพันปี’ โดยเฮเกลได้บรรยายไว้ในจดหมายที่ส่งถึงมิตรสหายนาม Niethammer ว่า “ข้าพเจ้าได้ประจักษ์กับองค์จักรพรรดิ – ผู้เป็นจิตวิญญาณแห่งโลกนี้ – ควบม้าออกลาดตระเวนไปทั่วเมือง มันช่างเป็นความรู้สึกสุดแสนวิเศษอย่างแท้จริงที่ได้เห็นปัจเจกคนหนึ่ง ผู้เป็นจุดศูนย์รวมหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง นั่งคร่อมอยู่บนหลังม้า เหยียดขยายไปทุกสารทิศทั่วโลก และพิชิตมัน”[17] ในแง่นี้ คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า สำหรับเฮเกล นโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่มีสถานะไม่ต่างอะไรกับไททันที่ผู้คนทั้งโลกหวาดกลัว และต่างพากันเรียกขานว่าเป็นปีศาจ 

John D. Caputo (จอห์น ดี. คาปูโต) กล่าวถึงความชื่นชมที่เฮเกลมีต่อนโปเลียนว่า “สำหรับเฮเกลแล้ว สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้า (God) ในศาสนาได้ลงมายังผืนโลก ดำรงอยู่ในกาลเทศะ และกำลังขี่ควบม้าอยู่”[18] กล่าวคือ นโปเลียนเป็นรูปธรรมสำคัญของ ‘จิต’ โดย “จิตของเฮเกล หมายถึง การที่ปัจเจกแต่ละคนไม่ได้เป็นหน่วยแยกขาดออกจากกัน หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของส่วนที่ใหญ่กว่า [สิ่งที่เฮเกลเรียกว่า] Zeitgeist หรือจิตแห่งยุคสมัยนั้น เป็นพลังที่รองรับอยู่ข้างใต้ หรือไม่ก็เป็นพลังงานทางประวัติศาสตร์ที่กระตุ้นให้มันขับเคลื่อนไปข้างหน้า”[19] 

อย่างไรก็ดี สำหรับเฮเกล นโปเลียนก็ไม่ใช่พระเจ้า หากแต่เป็นเพียงการเผยตัวอย่างเป็นรูปธรรมของพระเจ้าหรือจิต (อาจเปรียบได้กับพระเยซูในคริสต์ศาสนา) เป็นเพียงแค่ ‘วีรบุรุษทางประวัติศาสตร์’ (historical hero) จากการที่เขาได้ลงมือสร้างประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าประวัติศาสตร์ที่เขาสร้างนั้นหน้าตาเป็นเช่นไร[20] กล่าวคือ นโปเลียนเป็นได้อย่างมากก็แค่มนุษย์กึ่งเทพ (demigod) ไม่ใช่พระเจ้า เขาเป็นเพียงหุ่นเชิดทางประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็เป็นเครื่องมือของจิตสัมบูรณ์ (Absolute spirit)[21]

ภาพจำลองเหตุการณ์เฮเกลและนโปเลียนในเมืองเยนา (ทั้งนี้ ในความเป็นจริงทั้งคู่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันแต่อย่างใด)

ในขณะที่เรื่องราวใน Attack on Titan ดูจะเป็นเรื่องเล่า (fiction) ปรัชญาของเฮเกลที่อาจสมบูรณ์แบบมากกว่าเรื่องราวในยุคร่วมสมัยของเฮเกลเสียอีก เพราะ Attack on Titan ไม่ได้เพียงแสดงให้เห็นเฉพาะแต่วีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหุ่นเชิดของจิต เหมือนอย่างในกรณีของนโปเลียนเพียงเท่านั้น แต่กลับแสดงให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งกับจิตสัมบูรณ์ ในกรณีของเอเร็นอีกด้วย 

เอเร็นในฐานะผู้ครอบครองทั้งพลังไททันก่อกำเนิดซึ่งมีพลังในการเข้าถึงอดีต และไททันจู่โจมที่มีพลังในการเข้าถึงอนาคต อีกทั้งยังสามารถควบคุมมันได้แม้ไม่ได้มีสายเลือดราชวงศ์ ทำให้ ‘ดูเหมือน’ ว่าเป็นการเข้าถึงจิตสัมบูรณ์แบบเฮเกลที่อยู่เหนือกาลเวลา หนำซ้ำ เอเร็นยังเป็นตัวละครที่โหยหาเสรีภาพมาตั้งแต่ต้น ในทำนองเดียวกับที่เฮเกลเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นการไล่ตามสำนึกแห่งเสรีภาพดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

สังคมที่มีเหตุผล (rational community) เป็นสังคมแบบที่เฮเกลวาดฝันไว้ โดยที่จะต้องมีผู้ถืออำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย (ultimate decision) ผ่านการใช้เหตุผลอย่างเสรี ด้วยเหตุนี้ ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) จึงเป็นสิ่งที่เฮเกลเห็นว่าเหมาะสม[22] ทั้งนี้ เอเร็น เยเกอร์ ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับจิตสัมบูรณ์สามารถถูกนับเป็นกษัตริย์ได้หรือไม่?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร การเป็นกษัตริย์ก็ไม่ใช่สิ่งที่เอเร็นโหยหา ‘เสรีภาพ’ ต่างหากที่เป็น สำหรับเฮเกลแล้ว เสรีภาพไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในเรื่องการเมือง แต่เสรีภาพคือการเลือกได้อย่างเสรีในทุกๆ เรื่องโดยปราศจากการบังคับ ไม่ว่าจากผู้อื่น ธรรมชาติ หรือสภาพแวดล้อมทางสังคม ซึ่งการเลือกนี้จะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลตามหลักสากล[23] ทั้งนี้ การทำลายล้างมนุษยชาติของเอเร็นเป็นการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผลหรือไม่? มันเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากตัวเอเร็นเอง หรือเป็นสิ่งที่เกิดจากเจตจำนงของผู้ครอบครองพลังไททันรุ่นก่อนๆ? และถึงที่สุดแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ หากข้อสันนิษฐานที่ว่าการทำลายล้างมนุษยชาติของเอเร็นเกิดจากเจตจำนงของผู้ครอบครองพลังไททันรุ่นก่อนๆ เป็นความจริง และเอเร็นได้ตัดสินใจอย่างเสรีและสมเหตุสมผลที่จะยอมทำตามเจตจำนงของรุ่นก่อนๆ นั้นด้วย[24]

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดแบบเฮเกลเลียนยังสามารถกลายเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมได้[25] เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นเอกภาพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหตุผลแบบเฮเกลเลียน (Hegelian logos) จะนำพาไปสู่การผลิตรัฐประชาชาติ (nation-state)[26] ซึ่งคล้ายเป็นการยกระดับให้สูงยิ่งขึ้นของจิต อันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านในตัวเองและเพื่อตัวมันเอง

ในการเป็นรัฐประชาชาติ ‘ชาติพันธุ์’ (ethnic) หรือการเป็นสายเลือดราชวงศ์ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ (หากสำคัญก็เป็นความสำคัญในลำดับรอง) ความสำคัญอย่างแรกๆ ของการเป็นรัฐประชาชาติ คือการมีจิตวิญญาณประชาชาติ อันจะนำไปสู่การแบ่งพวกเขา/พวกเรา คนใน/คนนอก อีกรูปแบบหนึ่ง อย่างเช่น การแสดงตนว่า ‘ฉันเป็นคนชาติ x’ ‘ฉันเป็นคนมาเลย์’ หรือ ‘ฉันเป็นคน/ปีศาจจากเกาะพาราดีส์’ มิใช่การบอกว่า ‘ฉันเป็นคนเชื้อชาติ y’ หรือ ‘ฉันเป็นคนเชื้อสายเอลเดียน’ ดังนั้น การที่เอเร็นนำไททันพสุธาสะเทือน (The Rumbling) ไปเหยียบย่ำสังหารหมู่ผู้คนบนทวีปภาคพื้น โดยไม่สนใจแม้กระทั่งว่าจะมีคนชาติพันธุ์เอลเดียนอยู่ ก็นับเป็นการก้าวเข้าสู่การสถาปนารัฐประชาชาติที่ชาติพันธุ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ 

หากยึดตามนัยนี้ เอเร็นก็อาจไม่ต่างจากนโปเลียนในแง่ว่า ทั้งคู่ต่างก็ตกเป็นเครื่องมือของจิต (สัมบูรณ์) หรือในที่นี้คือ รัฐประชาชาติ ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วปีศาจตัวจริงที่จะต้องถูกโจมตีและทำลาย ก็ไม่ใช่เพียงแค่เพียงเอเร็นหรือไททัน หากแต่คือปีศาจที่อ้างตัวเองว่าเป็นเจ้า (master) ผู้อยู่เหนือกาลเวลา และเรียกร้องให้ผู้คนสละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี นามว่า ‘รัฐ (ประชาชาติ)’[27] 

เชิงอรรถ

[1] Singer, Peter. 2001. Hegel: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press. P. 60.

[2] Singer, Peter. 2001. P. 63.

[3] Caputo, John D. 2016. “Hegel’s Critique of the Enlightenment” in “Truth: The Search for Wisdom in the Postmodern Age”. Penguin. P.127.

[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. “ประวัติศาสตร์นิยม: จากวิโก้สู่กรัมชี่.” รัฐศาสตร์สาร (3) 20. หน้า 55.

[5] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. หน้า 50-51.

[6] Singer, Peter. 2001. P. 93.

[7] Singer, Peter. 2001. P. 105.

[8] Hegel, G. W. F. 2008. Outlines of the Philosophy of Right. trans. by David Fernbach. New York: Oxford University Press. P. 316-317.

[9] Lefebvre, Henri. 2020. Hegel, Marx, Nietzsche: Or the Realm of Shadows. New York: Verso. P. 5-6.

[10] โครงการปรัชญาของเฮเกลเป็นการมุ่งไปสู่จุดสิ้นสุดและสภาวะที่กำลังจะมาถึง (becoming) ดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. หน้า 59.

[11] Lefebvre, Henri. 2020. P. 8-9.

[12] คำว่า concrete มาจากคำละตินคำว่า con แปลว่า ระหว่าง และ crescere แปลว่า ที่จะเติบโต concrete จึงแปลว่า เติบโตไปด้วยกัน ในแง่นี้ความจริงจึงเกิดจากการประสานกันระหว่างสิ่งนามธรรมและรูปธรรม

[13] George Wada โปรดิวเซอร์ของ Attack on Titan ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “Attack on Titan ไม่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตก แต่เป็นมนุษยชาติและสังคมในแบบองค์รวมต่างหาก มันเป็นการมุ่งสนใจไปยังความรู้สึกภายในของปัจเจกแต่ละคน แทนที่จะเป็นเฉพาะแต่วัฒนธรรมตะวันตก” (ดู Interview: George Wada, Producer of Attack on Titan) ทั้งนี้ ด้วยความชัดเจนของสภาวะองค์รวมใน Attack on Titan ข้อเขียนชิ้นนี้จึงให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวมในปรัชญาของเฮเกล มากกว่าความเป็นตะวันตกของปรัชญาเฮเกล เพราะถึงที่สุดแล้วแนวคิดเรื่องการแบ่งตะวันตก/ตะวันออก ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตะวันตกด้วยเช่นกัน

[14] Talking Titan (780–849)

[15] Attack On Titans: Why Titans Eat Humans Explained

[16] เป็นเรื่องน่าสนใจที่นามสกุล ‘เยเกอร์’ ยังสะท้อนถึงเชื้อชาติเยอรมัน โดย “ประวัติศาสตร์นิยมแบบเยอรมันตกอยู่ภายใต้เงาความคิดของเฮเกล ซึ่งเป็นปรัชญาที่ครอบงำปรัชญายุโรปตั้งแต่กลางศตวรรษที่สิบเก้าจนถึงเกือบต้นศตวรรษที่ยี่สิบ” ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. หน้า 48.

[17]  Hegel to Niethammer October 13, 1806

[18] Caputo, John D. 2016. P. 128.

[19] Caputo, John D. 2016. P. 126.

[20] NAPOLEON, HEGELIAN HERO

[21] Lefebvre, Henri. 2020. P. 52.

[22] Singer, Peter. 2001. P. 52.

[23] Singer, Peter. 2001. P. 53.

[24] คำถามในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ได้รับการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยมีตัวอย่างสำคัญ เช่น ความขัดแย้งระหว่าง Albert Camus และ Jean-Paul Sartre ที่ฝ่ายแรกเห็นว่าไม่ควรมีมนุษย์คนใดต้องเสียเลือดเนื้อให้กับการเปลี่ยนแปลง ผ่านงาน The Rebel (1951) ในขณะที่ฝ่ายหลังเห็นว่าในการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือการปฏิวัติ ย่อมต้องมีการสูญเสียเลือดเนื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ดู How Camus and Sartre split up over the Question of How to be Free) หรือจะเป็นกรณีของ Eric Hobsbawm ที่เห็นว่าการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ หลีกเลี่ยงการสังเวยชีวิตของผู้คนไปไม่ได้ (ดู A Question of Faith และ The Late Show – Eric Hobsbawm – Age of Extremes (24 October 1994))

[25] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. หน้า 49.

[26] Lefebvre, Henri. 2020. P. 53.

[27] ในแง่นี้จึงไม่แปลกที่ หลุยส์ อัลธุสแซร์ พยายามไล่ผีหรือ spirit ของเฮเกลออกจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ เพราะระบบปรัชญาของเฮเกลทั้งระบบเป็นการวิ่งเข้าหาองค์รวม เป็นการรวบอำนาจและเสริมกำลังให้องค์กรทางการปกครองอย่างรัฐ เป็นต้น (ดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541.) “‘ผีของมาร์กซ์’ และ ‘ผีในมาร์กซ์’ ข้อวิจารณ์ประวัติศาสตร์นิยมของพ็อพเพอร์และอัลธุสแซร์.” รัฐศาสตร์สาร 20 (2): หน้า 1-55. โดยอัลธุสแซร์ (วัยหนุ่ม) เห็นว่าการหันกลับมาให้ความสนใจเฮเกล เป็นผลมาจากความพยายามทำลายฐานทางปรัชญาของมาร์กซ์ (ดู Althusser, Louis. 2014. “The Return to Hegel: The Latest Word in Academic Revisionism (1950)” in The Spectre of Hegel: Early Writings. ed. by François Matheron; trans. by G. M. Goshgarian. London: Verso. P. 177-189.)

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า